แลก 44 แปลง 4 แสนไร่ ค่าโง่ ม. 44 ย้อนอ่านต้นสายถึงปลายเหตุ ข้อพิพาทรัฐบาลประยุทธ์​และ บ.คิงส์เกต กรณีปิดเหมืองทองอัครา

‘คดีเหมืองทองอัครา’ ซึ่งเป็นประเด็นที่ จิราพร สินธุไพร ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงค่ำของวานนี้ (21 กรกฎาคม) จากกรณีที่ บริษัท คิงส์เกตฯ ฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท เหตุจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 ตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา ซึ่ง บริษัท คิงส์เกตฯ อันเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัคราฯ มองว่า เป็น ‘คำสั่งปิดเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลไทย’ และเป็นคำสั่งที่ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย 

บริษัท คิงส์เกตฯ  ได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับประเทศไทยก่อนการฟ้องร้องในวันที่ 17 มิถุนายน 2560 โดยพลเอกประยุทธ์ได้ยืนยันหนักเเน่นว่าไม่สามารถเจรจาตามข้อเรียกร้องของบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ ที่สุดบริษัท คิงส์เกตฯ จึงฟ้องร้องประเทศไทยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560

ข้อมูลล่าสุด อนุญาโตตุลาการเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปอย่างไม่มีกำหนด และมีแนวโน้มลุกลามบานปลาย อีกทั้งแนวโน้มของการที่ประเทศไทยจะแพ้คดีก็ยิ่งปรากฏชัด เนื่องจากตลอดระยะเวลา 4 ปี รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาสนับสนุนการใช้มาตรา 44 ของตนเมื่อครั้งเป็นหัวหน้า คสช. ได้ เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ พลเอกประยุทธ์จึงได้เริ่มทำการเจรจากับบริษัท คิงส์เกตฯ อีกครั้ง 

ต่อมา บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ออกแถลงการณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ระบุว่า บริษัท คิงส์เกตฯ และรัฐบาลไทยได้ร่วมขอร้องให้คณะอนุญาโตตุลาการชะลอคำชี้ขาดออกไปเพื่อขยายเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทร่วมกัน โดย บริษัท คิงส์เกตฯ  ได้เสนอข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ดังนี้ 

1) การให้ใบอนุญาตดำเนินการทั้งหมดและคำขอใบอนุญาตที่จำเป็นในการเริ่มต้นใหม่และดำเนินการเหมืองทองชาตรี

2) การต่ออายุและการอนุมัติคำขอใบอนุญาตการสำรวจที่สำคัญ เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้ไม่พร้อมใช้งาน

3) การจัดตั้งปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นเกี่ยวกับการเร่งอนุมัติการเช่าเหมืองและแผนการทำเหมือง

4) การให้สิ่งจูงใจของ BOI ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและการลดหย่อนภาษีสำหรับการเริ่มดำเนินการใหม่และความต่อเนื่องในการดำเนินงาน

5) ความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนเพื่อการพัฒนา (ถ้ามี) สำหรับการปรับปรุงการขยายเหมือง

6) การตรวจสอบโดยคิงส์เกตถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานการผลิตทองคำในท้องถิ่นของไทยที่ได้รับการรับรองระดับสากล

7) การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการนำบริษัทอัคราฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหากดำเนินการแล้วจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมทองคำ

8) ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในท้องถิ่นที่ค้างอยู่ทั้งหมด ดังนี้ การให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยุติการสืบสวนบริษัทอัคราฯ, ยุติคดีของ DSI ซึ่งปัจจุบันมี 3 คดี, ยุติการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่งต่อบริษัทอัคราฯ, ยุติคดีของสำนักงานป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน เรื่องการคิดค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปจากการทำเหมืองในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, ยุติคดีของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)

9) การตรวจสอบโดยคิงส์เกตเกี่ยวกับทางเลือกในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เหมืองทองคำชาตรี

10) การจัดตั้งศูนย์การวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในท้องถิ่นโดยคิงส์เกต เพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงานของชาตรีและชุมชน

11) คืนสิทธิตามข้อผูกพันก่อนหน้านี้ โดยคิงส์เกต เพื่อสนับสนุนท้องชุมชนท้องถิ่นต่อไปผ่านโครงการด้านการศึกษา สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆฯ 

ข้อเรียกร้องทั้ง 11 ข้อข้างต้น จิราพรกล่าวว่า มีเนื้อมีความคล้ายคลึงกันกับข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เหตุใดพลเอกประยุทธ์ จึงไม่ยอมเจรจาตั้งแต่ปี 2560 แล้วปล่อยให้บริษัท คิงส์เกตฯ ฟ้องอนุญาโตตุลาการจนสุดท้ายเสี่ยงจะแพ้คดี แล้วถึงค่อยกลับมาดำเนินการ 

ซึ่งในบรรดา 11 ข้อเรียกร้องของ บริษัท คิงส์เกตฯ ข้างต้น มีบางข้อที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการแล้ว คือ

ข้อเรียกร้องที่ 2 การต่ออายุ การอนุมัติคำขอใบอนุญาตการสำรวจที่สำคัญเพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้ไม่พร้อมใช้งานแต่มีโอกาสสูง

ในข้อนี้ รัฐบาลได้ให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง เนื้อที่กว่า 397,226 ไร่ จากเดิมที่บริษัทอัคราฯ ได้รับแค่ 3,000 กว่าไร่ อีกทั้งยังมีคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ที่รอการอนุมัติจากไทยอีกเกือบ 6 แสนไร่

หลังจากรัฐบาลไทยอนุมัติ 44 แปลงดังกล่าว ทนายของบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ส่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ถึงอนุญาโตตุลาการ ระบุว่า ได้ขอถอนการเคลมค่าเสียหายข้อเรียกร้องบางข้อ หลังจากประเทศไทยได้เปิดทางให้นำ ผงเงิน ผงทอง คำมูลค่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐออกไปขายได้

จิราพรกล่าวอีกว่า การที่ประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทอัคราฯ สำรวจแร่ทองคำบนเนื้อที่ทั้งหมด 44 แปลง กว่า 3 แสนกว่าไร่ ยังไม่ได้ทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ พอใจจนถึงขั้นยกเลิกการเรียกร้องคำสั่งค่าเสียหายตามคำสั่งฟ้องทั้งหมด เพราะถึงให้สิทธิ์สำรวจ 44 แปลง แต่บริษัทอัคราฯ ก็ยังไม่สามารถประกอบกิจการได้เพราะยังไม่ได้รับการต่ออายุบัตรประทานเหมือง 4 แปลง ซึ่งจะทำให้เหมืองชาตรีที่ถูกปิดไปเมื่อปี 2560 กลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง

นำมาสู่การอนุมัติข้อเรียกร้องที่ 1 ของ บริษัท คิงส์เกตฯ ว่าด้วยการให้ใบอนุญาตดำเนินการทั้งหมด และคำขอใบอนุญาตที่จำเป็นในการเริ่มต้นใหม่และดำเนินการเหมืองทองชาตรี โดยรัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงในวันที่ 19 มกราคม 2565 เพื่อเปิดทางให้บริษัทกลับมาเปิดเหมืองทองชาตรีที่ยุติการดำเนินงานไปเมื่อปี 2560

นอกจากนั้น บริษัท คิงส์เกตฯ ยังต่อรองให้รัฐบาลแก้ปัญหาทางกฎหมายทั้งหมดในข้อเรียกร้องที่ 8 คือ ให้ ป.ป.ช., กรมการสอบสวนคดีพิเศษ, ปปง. และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ยุติการดำเนินคดีที่กำลังตรวจสอบ บริษัทอัคราฯ ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลไทยจะเอาด้วย จากการส่งข้อมูลล่าช้าให้กรมสอบสวนคดีพิเศษในบางคดี หากรัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอนี้ จะถือเป็นการทำลาย ‘หลักนิติรัฐนิติธรรม’ อย่างร้ายแรง

ผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ต่อกรณีดังกล่าวว่า บริษัทอัคราฯ ได้รับประทานบัตร รวมทั้งผลประโยชน์อื่น ๆ ที่อาจจะเกินไปกว่าข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการฯ เพื่อแลกกับรัฐบาลประยุทธ์ไม่ต้องถูกคณะอนุญาโตตุลาการฯ มีคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดี  ซึ่งต้องเสียค่าปรับประมาณ 30,000 ล้านบาท 

11 มีนาคม 2565 พรีมสินี สินทรธรรมทัช ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร – เพชรบูรณ์ พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบกับการกระทำที่ใช้ ‘อำนาจพิเศษ’ ปิดเหมืองทอง แล้วไม่ยอมต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดในชั้นอนุญาโตตุลาการ แต่กลับยินยอมอย่างง่ายดายให้กลับมาเปิดเหมืองใหม่เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลจะไม่เสียค่าโง่ โดยไม่มีการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจของคนในพื้นที่

ที่สุดแล้ว เราจะเห็นว่า ผลกระทบต่อส่งแวดล้อมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้นได้เกิดขึ้นจริง เพราะหากย้อนไปยังเดือนพฤษภาคม 2557 กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้น ทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิตได้ลงพื้นที่ตรวจเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เลือด น้ำและดิน เพื่อนำไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทอง จำนวน 738 คน เด็ก 67 คน มีสารหนูในเลือดสูง และผู้ใหญ่จำนวน 664 คน มีสารหนู 104 คน ส่วนผลตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่า ประชาชน 200 ราย มี DNA ผิดปกติ

ปิยบุตร แสงกนกกุล เคยให้ความในกรณีนี้ไว้ว่า มาตรา 44 คือกฎหมายประหลาด เพราะสามารถอนุญาตให้ยกเว้นรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแล้วมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการได้หมด อีกทั้ง ใช้แล้วไม่มีความรับผิดอะไรเลย ซึ่งกรณีปิดเหมืองทองอัคราฯ เป็นอย่างหนึ่งที่แน่นอนว่า การทำเหมืองแร่จนสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น รัฐบาลหรือกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจตามกฎหมายปกติ สามารถปิดเหมืองได้ และหากบริษัทอัคราฯ ไม่ยอม เขาก็สามารถสู้ในศาลปกครองขอเพิกถอนคำสั่ง หรือถ้าที่สุดเรื่องถึงอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ประเทศไทยก็สามารถที่จะสู้ได้อย่างมีน้ำหนัก เพราะทำตามกระบวนการปกติทั้งหมด

ทว่าความวุ่นวายและความเสียหายทั้งหมด เป็นเพราะพลเอกประยุทธ์เลือกใช้มาตรา 44 ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นที่ยอมรับของสากลโลก นำไปสู่การฟ้องร้องโดยบริษัท คิงส์เกตฯ จนคาราคาซังและสร้างความสูญเสียสมบัติชาติมหาศาลในทุกวันนี้

กรณีที่จิราพรอภิปรายถึงความความเสี่ยงและแนวโน้มที่ประเทศไทยจะแพ้คดีนั้น ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงแทนพลเอกประยุทธ์ว่า กรณีที่จิราพรอภิปรายถึงความความเสี่ยงและแนวโน้มที่ประเทศไทยจะแพ้คดีนั้น ‘ไม่เป็นความจริง’ และอ้างว่าทนายความฝ่ายของรัฐบาลไทย ประเมินว่ามีโอกาสชนะคดี 66 เปอร์เซ็นต์ และมีโอกาสแพ้คดีเพียง 34 เปอร์เซ็นต์  ไม่ใช่แพ้คดีแน่นอนตามที่จิราพรกล่าวอ้าง

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า