รู้จัก ‘ส.ส. ปกรณ์วุฒิ’ จากมือเบสวง Basher สู่ร็อคสตาร์ในสภาไทย

นอกจาก ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล หรือ ‘ส.ส. เอิร์ธ’ จะดำรงตำแหน่งผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในอีกมุมเขาคืออดีตมือเบสแห่งวง Basher เจ้าของบทเพลง ‘เสียดายของ’ ที่โด่งดังถล่มทลายและติดชาร์ตเพลงฮิตบนคลื่นวิทยุนานหลายเดือน และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Bitcoin Center Thailand สถาบันให้ความรู้ด้านการเรียนรู้และศึกษาด้าน Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัลอีกด้วย

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด พ่อและแม่เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนทั่วไป ไม่มีธุรกิจส่วนตัวของครอบครัว ฐานะไม่ได้ยากจน แต่ก็ไม่มั่งคั่งมากมาย เขาจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์บัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปกรณ์วุฒิเริ่มต้นการทำงานด้านเทคโนโลยีจากการชักชวนของเพื่อนในบริษัท ซึ่งต่อมากลายเป็น Fintech Startup ผู้สร้าง Mobile Application ในการวิเคราะห์ และซื้อขายหุ้นรายแรกๆ ของเมืองไทย โดยเขาดำรงตำแหน่ง Managing Partner เขาเคยกล่าวถึงช่วงชีวิตนี้ไว้ว่า

“สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกเราไปในทางที่ดีได้อย่างมหาศาล หากเราใช้มันอย่างถูกวิธี เทคโนโลยีเป็นวิธีเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ เพิ่มความสะดวกให้กับการดำเนินชีวิตของทุกคนได้มากมาย … แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยดูเหมือนจะมีอาการ ‘กลัว’ เทคโนโลยี เรากลัวการเป็นผู้บุกเบิก กลัวการทดลองอะไรใหม่ๆ เราได้แต่เฝ้ารอให้ทั่วโลกใช้กันอย่างกว้างขวางแล้วจึงทำตาม จนในบางครั้งเราเสียโอกาสในความก้าวหน้าไปอย่างมากมาย”

ส่วนชีวิตในฐานะมือเบส ถือเป็นอาชีพแรกของปกรณ์วุฒิหลังก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เขาใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีกลางคืนถึง 4 ปีในช่วงเรียนจบ แล้วจึงขยับสู่การเป็นนักดนตรีแบคอัพของค่ายเพลงใหญ่ๆ และเป็นมือเบสแห่งวง Basher เจ้าของบทเพลง ‘เสียดายของ’ ที่ฮิตติดชาร์ตบทคลื่นวิทยุนานหลายเดือน

“การเล่นดนตรีทำให้ผมได้เห็นความลำบากของ ‘แรงงานนอกระบบ’ ในประเทศไทย แรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่มีความมั่นคง ไม่มีสวัสดิการใดๆ … หลายๆ ครั้งผมคิดว่า ทำไมคนที่มีความฝันถึงต้องอดทนฝ่าฟันมากมายขนาดนี้ เพียงเพื่อให้มีชีวิตที่พอกินกับอาชีพที่ตนเองรัก ผมอยากเห็นทุกคนสามารถตามหาความฝันของตัวเองได้ โดยมีสวัสดิการรองรับให้พอดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบากเกินไป”

จากที่ชีวิตกลางวันทำงานบริหาร ตกกลางคืนก็สะบัดฝีไม้ลายมือในคราบศิลปิน กระทั่งวันหนึ่ง ปกรณ์วุฒิเลือกกระโจนเข้าสู่งานการเมืองด้วยการลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ และเมื่อพรรคถูกยุบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เขาได้ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 พร้อมโชว์ทักษะการอภิปรายและข้อมูลที่อัดแน่นแม่นยำในรัฐสภาไทยจนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงกรณีการออกกฎกระทรวงที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐล้วงข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่มีหมายศาล ในเดือนกันยายน ปี 2564 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 กรณีการซุกหุ้น และใช้นอมินีเอาบริษัทฮั้วประมูลรับงานกระทรวงคมนาคม

“3 สิ่งที่ผมยึดถืออย่างมากในชีวิตนี้ คือ เสรีภาพ ความยุติธรรม และความเท่าเทียม

“จุดแตกหักทางแนวคิดของผมเกิดขึ้นในช่วงม็อบปี 2556 ที่มีการปลุกระดมด้วยหลักการที่เห็นคน ‘ไม่เท่ากัน’ และผมได้เรียนรู้ว่า 3 สิ่งที่ผมยึดมั่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ หากเรามีการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร และยังคงมีการแทรกแซงการเมืองในทุกระดับอำนาจจากกองทัพ

“ช่วงระยะเวลา 4 ปี ก่อนที่ผมและทุกท่านได้รู้จักกับพรรคอนาคตใหม่ ผมหดหู่ สิ้นหวัง ท้อแท้กับการเมืองไทย กับการกดขี่ การลิดรอนเสรีภาพ การใช้อำนาจโดยมิชอบของเผด็จการ … เหตุผลหลักที่ผมตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะผมคิดว่า ถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดีที่สุดคือ การลุกขึ้นมาทำมันด้วยตัวเอง”

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า