ย้อนอดีต 11 ปี คดีฆาตกรรมชาวจีนริมโขง 13 ศพ ส.ส.สุรินทร์ แฉประยุทธ์ปกป้องทหารผู้ต้องหา กระทบสัมพันธ์ธุรกิจชายแดนไทย-จีน

ศึกอภิปรายวันสุดสุดท้าย สมบัติ ศรีสุรินทร์ ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในข้อกล่าวหาปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร้คุณธรรม ไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์กับต่างชาติ คดีความดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2554 บริเวณสามเหลี่ยมทองคำใกล้ริมแม่น้ำโขง มีลูกเรือชาวจีน 13 คนถูกฆาตกรรม ในจำนวนนี้หายสาบสูญ 1 คน โดยคดีความยังไม่เป็นที่สิ้นสุด  

ขณะนั้นนายสมบัติเป็นคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญหลายหน่วยราชการร่วมเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ โดยรัฐบาลชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนั้น ได้ประสานกับรัฐบาลจีนโดยตรงเพื่อสืบหาความจริงในคดีดังกล่าว ทุกฝ่ายต่างให้ความสนใจเพราะเกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ต่อมาบนเรือที่พบในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตรวจค้นเจอยาบ้าทั้งหมด 920,000 เม็ด ซึ่งกองกำลังผาเมือง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)  ได้ทราบก่อนแล้วว่าคือยาเสพติด จึงมีการยิงต่อสู้กันจนกัปตันเรือเสียชีวิต เมื่อทางการจีนมาสอบสวนด้วยตนเองก็พบศพทั้ง 12 ลอยอยู่ในแม่น้ำ สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวจีนเป็นอย่างมาก 

จากกรณีนี้ ทำให้ทหารที่มีส่วนในปฏิบัติการดังกล่าวต้องขึ้นศาลทหาร มีผู้ต้องสงสัยคือ พ.ต.เชิดพงศ์ ช่วยบำรุง นายจำรัส สมพงษ์พรรณ และผู้ต้องหาอื่นๆ ทั้งหมดรวมแล้ว 9 คน เตรียมส่งฟ้องศาลจังหวัดเชียงราย ทว่าไม่สามารถส่งฟ้องได้ เนื่องจากต้องนำผู้ต้องหามามอบตัวด้วย 

ส.ส.สมบัติ ระบุว่า ขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และมี พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.ประยุทธ์ เช่นเดียวกับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ณ ขณะนั้น ได้ร่วมมือกันนำตัวผู้ต้องไป ขณะที่ผู้ต้องหาอีกคนคือ นายหน่อคำ ถูกส่งตัวให้แก่ประเทศจีน และถูกตัดสินประหารชีวิตพร้อมผู้ร่วมขบวนการอีก 4 คน   

“ปัญหาคือเรื่องเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 11 ปี มีผู้ต้องหาที่เหลือครบถ้วน แต่ไม่สามารถส่งตัวข้าราชการทหารไปสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เพราะทางการไทยปกปิดและไม่ให้ความร่วมมือกับทางการจีน” สมบัติกล่าว

สมบัติกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน พล.ท.วรรณทิพย์ ก็ตรอมใจเพราะต้องส่งผู้ใต้บังคับบัญชา 9 คน มอบให้แก่ตำรวจและอัยการ หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ต่อว่า พล.ท.วรรณทิพย์ อย่างรุนแรง จนไม่ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน กระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถดำเนินคดีผู้ต้องหาได้ เพราะกองทัพไม่ให้ความร่วมมือ 

“ข้อหาแรกคือการซ่อนเร้นศพ ก็หมดอายุความไปแล้ว เพราะเรียกตัวผู้ต้องหามาไม่ได้ ความยุติธรรมจึงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากความยุติธรรมนั้นล่าช้า ทั้งที่ควรทำให้ชัดเจน หากคนของเราทำผิดก็ต้องลงโทษ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน จะได้กลับมา” 

ทั้งนี้ ส.ส.สมบัติ ระบุว่า อายุความของคดีฆาตกรรมอยู่ที่ 20 ปี เมื่อกองทัพรู้ว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จึงรีบนำตัวผู้ต้องหาส่งให้อัยการและเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องได้สำเร็จ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ซึ่งล่าช้าไปกว่า 11 ปี สร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจชายแดนไทย-จีนเป็นอย่างมาก 

“ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากสอบตกมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้า และไม่เคารพหลักสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงยังทำลายระบบยุติธรรมภายในหน่วยงานราชการทหารอีกด้วย” 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า