เมื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลกถูกคุกคาม

AIR2016

เรื่อง: อรปมน  วงค์อินตา
ภาพ: Amnesty International Thailand

 

สิทธิของประชาชนกำลังถูกคุกคาม จากการปราบปรามของรัฐบาลหลายๆ ประเทศทั่วโลก

“การคุกคามสิทธิมนุษยนชนนั้น ทำให้ผู้คนหลายล้านต้องพบกับความทุกข์ทรมาน” หนึ่งในแถลงการณ์ของ ซาลิล เซ็ตตี เลขาธิการใหญ่ Amnesty International กล่าวในวาระเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก

ชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ประเทศไทย กล่าวแถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2558-2559 (Amnesty International Annual Report 2015/16) โดย Amnesty International สรุปภาพรวมสิทธิมนุษยชนทั่วโลกไว้ว่า การคุกคามสิทธิมนุษยชนในขณะนี้สามารถพบได้ทั่วโลกและเป็นปัญหาที่กำลังลุกลาม

“ในช่วงเวลาที่หลายประเทศพบกับสงครามและความอดอยาก ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐาน บางประเทศก็ให้การต้อนรับอย่างดี แต่ในบางประเทศพบว่า มีผู้ลี้ภัยมากกว่า 3,400 คน ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการพยายามเข้ามาในยุโรปทางเรือ แต่ต้องจมน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีเจ้าหน้าที่เรือลาดตระเวนเขตน่านน้ำของออสเตรเลียข่มขืนผู้อพยพ”

ปัญหาสิทธิมนุษยชนรอบโลก

จากรายงานระบุว่า ประเทศฮังการีปิดพรมแดนไม่ให้ผู้อพยพเข้ามาในประเทศและขัดขวางไม่ให้เกิดการช่วยเหลือในระดับภูมิภาค ส่วนรัสเซียมีการใช้กฎหมายความมั่นคงที่กำกวมและสุดโต่งเพื่อมุ่งปราบปรามภาคประชาสังคมในประเทศ แต่ยังคงปฏิเสธการสังหารพลเรือนในซีเรีย

สหรัฐเองก็ถูกประณามว่า ยังปล่อยให้มีศูนย์ควบคุมตัวที่กวนตานาโมทั้งที่เป็นสถานที่ต้นแบบอันเลวร้าย พร้อมกับการถูกตำหนิว่าล้มเหลวในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย

ในซาอุดิอาระเบีย กองทัพได้นำเครื่องบินทิ้งระเบิดในเยเมน ในประเทศจีน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกปราบปรามโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยมีการอ้างว่ากระทำเพื่อ ‘ความมั่นคงของชาติ’

มีหลักฐานยืนยันว่า ประชาชนในอังกฤษและอเมริกาต่างถูกสอดแนมโดยรัฐบาลของพวกเขา “ประเทศอังกฤษถูกสอดแนมข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยรัฐ ข้ออ้างคือการต่อต้านสงครามและการก่อการร้าย”

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และปัญหาเพศสภาพ แต่อินเดียเริ่มเปิดให้ผู้หญิงมีบทบาทในกองทัพได้แล้ว แม้อินเดียจะเป็นหนึ่งในประเทศมีความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ สิทธิมนุษยชนในหลายๆ ด้านยังคงถดถอย แต่จากกรณีที่ศาลสูงสุดอินเดียมีคำวินิจฉัยให้กฎหมายที่จะปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกทางอินเทอร์เน็ตเป็นโมฆะ ต้องนับว่าอินเดียให้ความสำคัญกับเสรีภาพการแสดงออกในโลกออนไลน์และมีพัฒนาการด้านนี้อยู่ตลอดเวลา

การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในหลายๆ ประเทศก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ในเมียนมาร์ สถานการณ์ยังน่ากังวล มีการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกอย่างรวดเร็ว นักโทษทางความคิดถูกคุมยังเกือบ 100 คน ชาวโรฮิงญายังคงถูกเลือกปฏิบัติ และยังไม่มีสัญญาณว่าความขัดแย้งในประเทศกับกลุ่มชาติพันธุ์จะลดลง” ชำนาญกล่าว

ชำนาญ amnesty

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จากรายงานแสดงให้เห็นว่า มีความน่ากังวลอย่างมาก

ชำนาญกล่าวว่า “ปี 2558 มีการพยายามปิดกั้นและปราบปรามผู้มีความเห็นทางการเมืองแตกต่าง และยังใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อปิดกั้นเสียงที่เห็นต่างในระดับรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

เรื่องการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลไทย แม้จะเป็นการโพสต์สเตตัสบนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ค ก็อาจมีความผิด และหากมีการตัดสินว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือเข้าข่ายความผิดในมาตรา 112 ก็จะถูกนำขึ้นศาลทหารแทนที่จะขึ้นศาลพลเรือน ซึ่งการพิพากษาจะถือเป็นที่สิ้นสุด โดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา

นอกจากนี้ ปัญหาที่ว่าใครก็สามารถฟ้องร้องคดีนี้ได้ อีกทั้งตุลาการก็มาจากนายทหาร ทำให้ไม่เป็นอิสระในการพิจารณาคดี ขณะที่ขั้นตอนการพิจารณาคดี 112 เป็นแบบปิดลับ และไม่ให้สิทธิ์ในการประกันตัว การตัดสินให้จำคุกโดยศาลทหารถี่ขึ้น โทษจำคุกมีระยะเวลานานขึ้น

ส่วนเรื่องการทรมานในประเทศไทย มีการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน หนึ่งในผู้ต้องหาคดีวางระเบิดศาลอาญา เล่าว่าถูกทุบตีและช็อตไฟฟ้ากว่า 40 ครั้ง

นอกจากนี้ ในประเด็นผู้อพยพ ไทยได้ส่งกลุ่มคนเชื้อสายเตอร์กิชจำนวน 109 คนกลับไปยังจีน ถึงแม้กลุ่มคนเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิในจีน

สำหรับเรื่องเหตุการณ์ในพื้นที่สามชายแดนภาคใต้ ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในเดือนมกราคม ศาลได้ยกฟ้องกรณีทหารพรานสองนายที่ถูกตั้งข้อหาสังหารเด็กชายสามคนที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 ซึ่งทำให้จำเลยทั้งสองไม่ได้รับโทษทางกฎหมายแต่อย่างใด

ข้อเรียกร้องที่ Amnesty International ยื่นต่อรัฐบาลไทย

ในฐานะตัวแทน Amnesty International ประเทศไทย ชำนาญ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการในประเด็นการปราบปรามผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐในเรื่องต่างๆ (โดยสรุป) ดังต่อไปนี้

การปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ

– ไม่ลงโทษผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงการกดไลค์และแชร์

– ยกเลิกคําสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง 5 คนหรือมากกว่า

– ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีของพลเรือนในทุกกรณี

– ยุติการควบคุมตัวโดยพลการ และรับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนที่เป็นธรรมและชอบธรรม

– ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม การชุมนุมโดยสงบ และการเดินทาง

การต่อสู้ด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้

– สืบหา ทนายสมชาย นีละไพจิตร และบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย

– สอบสวนการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในทุกกรณี โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง

– รับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความ ญาติพี่น้อง การรักษาพยาบาล และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน

การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

– สอบสวนการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระและรอบด้าน

– ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …

นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

– ยุติการโจมตีการทํางานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

– ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (The International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICCPED)

ผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

– สอบสวนการบังคับชาวโรฮิงญาให้เดินทางกลับ และลงโทษผู้กระทำผิด

– ไม่ขับไล่ ส่งกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับไปยังต้นทางที่ผู้ลี้ภัยเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

– รับรองว่าผู้แสวงหาที่พักพิงจะเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงและติดต่อข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ได้

– ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 (CSR) และพิธีสารปี 1967 ของอนุสัญญาดังกล่าว

โทษประหารชีวิต

– พักใช้การประหารชีวิตในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นทางการ

– ลดจํานวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตลง

– ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)

ชุติมา

เสรีภาพสื่อเกือบติดลบ กรณีภูเก็ตหวาน

ข้อมูลสถานการณ์สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน พบว่าเกือบ 3 ใน 4 หรือ 113 ประเทศ มีการจำกัดสิทธิในการแสดงออก กำจัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน ในหลายๆ ที่การจำกัดสิทธิมีอย่างกว้างขวางและรุนแรง อาทิ การสั่งปิดหนังสือพิมพ์หรือการข่มขู่คุกคามนักข่าว

กรณีประเทศไทย ชุติมา สีดาเสถียร  ผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ภูเก็ตหวานที่เปิดดำเนินการมาเป็นเวลาแปดปี ถูกกองทัพเรือฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการนำเสนอข่าวค้ามนุษย์โรฮิงญาและอ้างอิงรายงานบางส่วนจากสำนักข่าว Reuters ก่อนจะถูกยกฟ้อง เธอเล่าถึงการถูกฟ้องร้องและถูกคุกคามจากเหตุการณ์นี้ว่า

“ระยะเวลาในการต่อสู้คดีสองปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนมาก รัฐเลือกที่จะใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการคุกคามสื่อ คุกคามเสรีภาพในการทำงาน”

หลังจากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว คนในพื้นที่รู้สึกหวาดกลัวและไม่กล้าออกความเห็นใดๆ

“เนื่องด้วยในพื้นที่ภูเก็ต เจ้าหน้าที่กองทัพเรือมีฐานอยู่ที่นั่น ทุกคนก็รู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น รู้สึกช็อก แต่หลายคนก็เลือกที่จะเงียบ เลือกที่จะไม่นำเสนอข่าวตรงนั้น แต่ก็อาจจะมีการสนับสนุนส่วนตัว ตรงนี้ถือว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ซึ่งอาจจะได้ผล”

ด้วยรูปแบบการคุกคามทางอ้อม อาจจะไม่ถึงกับต้องการชีวิต ในเคสของชุติมา พบการคุกคามทางโทรศัพท์ และมีการนำรูปภาพเธอไปติดหน้ากองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 หลังจากถูกฟ้อง ชุติมา ตั้งคำถามกับตัวเองว่า

“เราควรนำเสนอข่าวในลักษณะไหน มันไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าตรงไหนพูดได้หรือพูดไม่ได้ มันเกิดการชะงักงัน ซึ่งส่งผลต่อการนำเสนอเนื้อข่าว ท้ายที่สุดก็จะกระทบต่อประชาชนผู้รับสาร”

ชุติมาเคยยื่นหนังสือไปยังกองทุนยุติธรรมเพื่อขอค่าประกันตัว เพราะขณะนั้นไม่มีเงินสองแสนบาทสำหรับใช้ประกันตัว แต่ได้รับการปฏิเสธ

“คำตอบที่ได้จากกองทุนยุติธรรมที่มีหน้าที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพ กลับทำให้เราหวาดกลัว จะพึ่งใครได้ เราถูกตัดสินตั้งแต่ยังไม่ขึ้นศาล ตรงนี้เหมือนกับการซ้ำเติมให้เรารู้สึกแย่ ทำให้ไม่มีกำลังใจในการทำงาน ซึ่งจะกระทบมาก”

อาทิตย์

ควบคุมข่าวสารในนามความห่วงใย

เมื่อการใช้โซเชียลมีเดียในปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว จึงไม่แปลกที่จะมีความเป็นห่วงจากภาครัฐ ซึ่งแสดงออกด้วยการเสนอวิธีการดูแลการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างใกล้ชิด

แต่มากไปกว่านั้น อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการควบคุมข้อมูลข่าวสาร ด้วยการที่รัฐพยายามเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพและละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนอย่างชัดเจน

ในปี 2556 ทางสำนักปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เริ่มตระหนักว่าประชาชนสื่อสารกันทางไลน์เยอะเกินไป และทาง ปอท. คิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอาชญากรรมที่เรียกว่าอาชญากรรมทางความคิด

“รัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต้องควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของคนที่สื่อสารทางไลน์ จึงได้ขอข้อมูลกับบริษัทไลน์เมื่อปี 2556 แต่ไลน์ได้ปฏิเสธกลับมาบอกให้ไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งสุดท้ายแล้วประเทศไทยไม่ได้ถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายไทย แต่ถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายของต่างประเทศ” อาทิตย์กล่าว

พฤษภาคม 2557 หลังรัฐประหาร มีคำสั่งหลายฉบับที่เกี่ยวกับการตรวจตราการใช้งานโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชน

ธันวาคม 2557 มีเอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการเฝ้าตรวจสอบออนไลน์ แต่ในเอกสารมีความกังวลว่าเนื่องจากเว็บไซต์โซเชียลมีเดียมีการเข้ารหัสลับ จึงยากในการตรวจตรา ตรวจสอบ จึงได้ให้คณะกรรมการทดสอบเครื่องมือที่จะถอดรหัสลับดังกล่าว

เดือนมิถุนายน 2558 มีข้อมูลเรื่องการสั่งซื้อซอฟท์แวร์ remote control system เพื่อให้สามารถควบคุมอุปกรณ์ ฝังตัวพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในอุปกรณ์ได้ อาทิตย์ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีผลต่อระบบยุติธรรม เพราะต่อไปหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีความน่าเชื่อถือเพียงใด หากมีการใช้ RCS อาจจะโดนสร้างและใส่ข้อมูลเข้าไปได้

หรือเมื่อเดือนกันยายน 2558 แนวคิด single gateway เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลคิดว่ามีความจำเป็นบางอย่างที่จะตรวจสอบและควบคุมข้อมูลที่เข้ามาในประเทศไทย

นับเป็นความพยายามของรัฐที่จะจำกัดสิทธิ์ในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในประเทศไทย ขณะที่โลกก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนไปทั่วโลก จนทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถรับรู้ข่าวสารได้พร้อมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความคิด และการดำรงชีวิต แต่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศก็ยังมีความพยายามจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงจำกัดสิทธิมนุษยชนเป็นบางส่วน โดยอ้างว่าเพื่อ ‘ความมั่นคงของประเทศ’

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์
iLaw.com
voanews.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า