จิราพร สินธุไพร ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณี ใช้มาตรา 44 และมติ ครม. 10 พฤษภาคม 2559 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำอัคราจนผิดพลาดเสียหาย แม้อนุญาโตตุลาการเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่ยุติ และมีแนวโน้มลุกลามบานปลาย ทั้งยังระบุว่า เรื่องนี้เคยถูกนำมาเป็นหัวข้ออภิปรายในสภามาแล้วหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน ทว่าปัญหานี้กลับยังไม่มีทางออก
จิราพรกล่าวว่า นับแต่การก่อตั้งบริษัทอัคราฯ ผ่านมากว่า 30 ปี ไม่เคยมีรัฐบาลใดถูกเอกชนต่างชาติฟ้องร้อง ยกเว้นรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งได้ใช้มาตรา 44 กระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยใช้อำนาจเผด็จการ ซึ่งกรณีออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำอัครานั้น ซึ่งขณะนั้น มีหน่วยงานอย่างน้อยสองกระทรวงคือ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ คัดค้านการใช้มาตรา 44 เหตุเพราะหน่วยงานที่พลเอกประยุทธ์มอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงขณะนั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เหมืองทองอัคราสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่มีหลักฐานชัดเจน การใช้มาตรา 44 เช่นนั้น จึงทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง และพลเอกประยุทธ์ก็ไม่ได้ฟังเสียงคัดค้านเรื่องนี้แต่อย่างใด
หลังจากพลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองทองคำ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด จำกัด ของออสเตรเลีย ได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับประเทศไทย และหากการไกล่เกลี่ยไม่คืบหน้า บริษัทคิงส์เกตจะนำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศภายใต้ข้อตกลง TAFTA
ต่อเรื่องนี้ หลายหน่วยงานได้ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงแพ้คดีสูงและมีโอกาสต้องชดเชยค่าเสียหายจำนวนมาก รัฐบาลจึงควรเจรจากับบริษัทคิงส์เกตเพื่อระงับข้อพิพาทให้ได้มากที่สุด แต่พลเอกประยุทธ์กลับยืนยันหนักเเน่นว่าไม่สามารถเจรจาตามข้อเรียกร้องของบริษัทคิงส์เกตได้ ที่สุดบริษัทคิงส์เกตจึงฟ้องร้องประเทศไทยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560
หลังจากที่บริษัทคิงส์เกตนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ละความพยายามที่จะช่วยระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยจิราพรได้เปิดเผยเอกสารลับจากองค์กรอิสระแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกร่างขึ้นโดยสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ไทยถูกฟ้องร้องจากการใช้มาตรา 44 ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่ให้ความเห็นและว่าความให้รัฐบาลในฐานะทนายแผ่นดิน และพลเอกประยุทธ์ต้องรับความเห็นไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ
เอกสารลับด่วนที่สุด เรื่องแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด จำกัด และพวก กับราชอาณาจักรไทยมีหลายเป็นประเด็นน่าสนใจ นั่นคือความคืบหน้าในการหาหลักฐานมาสนับสนุนการใช้มาตรา 44 ระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อจริงยังไม่สรุปได้ว่า การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า ระดับโลหะหนักและสารเคมีที่ใช้จากการตรวจตัวอย่างชีวภาพ เกิดจากการปนเปื้อนจากเหมืองทองคำของบริษัทอัคราฯ
ข้อเท็จจริงในเอกสารฉบับนี้ สอดคล้องกับหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รายงานสถานการณ์ข้อพิพาทนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ตุลาคม 2562 ระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอในการนำไปต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ
นั่นหมายความว่า นับตั้งแต่วันที่พลเอกประยุทธ์ได้มีบัญชาให้ 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้องตรวจสอบปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองทอง จนถึงวันที่บริษัทคิงส์เกตตัดสินใจฟ้องร้องนั้น ผ่านไปกว่า 4 ปี รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาสนับสนุนการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ได้ มากกว่านั้น หนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้ยังชี้ว่า พลเอกประยุทธ์มีความคิดที่จะสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ทำให้ที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยเตือนว่า จะเป็นอันตรายมาก เพราะบริษัทคิงส์เกตจะอ้างได้ว่า รัฐบาลพยายามสร้างความเดือดร้อนให้เหมืองทองอัคราเพิ่มขึ้น และขัดขวางกระการพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการ
ตั้งแต่ปี 2559 – 2565 มีการเตือนพลเอกประยุทธ์ทุกปีกรณีคดีเหมืองทองหลายครั้ง แต่พลเอกประยุทธ์จงใจทำผิดซ้ำซาก ไม่รีบหาทางแก้ไข ปล่อยให้คำสั่งมาตรา 44 จากคำสั่งชั่วคราวกลายเป็นคำสั่งชั่วนาตาปี ส่งผลให้ปัญหาคดีเหมืองทองอัคราบานปลาย เกิดความเสียหายต่อประเทศ กระทบงบประมาณแผ่นดิน เสี่ยงแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งพลเอกประยุทธ์พยายามหนีความผิดโดยการเอาทรัพย์สมบัติของชาติไปประเคนให้กับบริษัทเอกชนเพื่อให้ตนเองรอดคดี
แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการออกมา แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว นั่นคือใบเสร็จที่เกิดจากการใช้มาตรา 44 ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยและบริษัทคิงส์เกต ปีงบประมาณ 2560-2564 จำนวน 731,130,000 ล้านบาท
- ค่าภาคหลวงที่ควรจัดเก็บจากการทำเหมืองทองคำ ก็ไม่สามารถจัดเก็บได้ ตั้งแต่ปี 2560- ปัจจุบันราว 3,000 ล้านบาท (ตัวเลขอาจสูงกว่านั้น)
- ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อพนักงานของบริษัทและครอบครัวประชาชนในพื้นที่ รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และจังหวัดใกล้เคียงหลายหมื่นชีวิต
- ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย กระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
จิราพรชี้ว่า หากในอนาคตประเทศไทยแพ้คดี จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 720 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ความเห็นจากนักกฎหมายระหว่างประเทศหลายท่านมองว่า ค่าเสียหายที่แท้จริงนั้น อาจจะเฉียดถึงหนึ่งแสนล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีค่าเสียหายจากการที่บริษัทคิงส์เกตทำกับบริษัทประกันความเสี่ยงทางการเมือง (Zurich Australia Insurance Limited) ซึ่งศาลเมืองนิวเซาท์เวลส์ได้ตัดสินแล้วว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยทำกับบริษัทคิงส์เกตเป็นความเสี่ยงทางการเมือง และต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,700 ล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันภัยดังกล่าวสามารถมาไล่บี้เอากับรัฐบาลไทยในภายหลังได้หากประเทศไทยแพ้คดี
หลังจากมีการสืบพยานพิจารณาคดีทีประเทศสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมมีหนังสือลับที่สุด ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 เรื่องรายงานสถานณ์ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกต ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า อนุญาโตตุลาการให้ไทยกับบริษัทคิงส์เกตทำแบบจำลองค่าเสียหาย แสดงว่า ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายแน่นอน สรุปว่า ค่าชดใช้ความเสียหายแบ่งเป็นสองกรณี
- กรณีบริษัทอัคราฯ ไม่ดำเนินการต่ออีกเลย ประเทศไทยต้องจ่ายค่าชดเชย
- กรณีบริษัทอัคราฯ ยังดำเนินการต่อ ประเทศไทยต้องจ่ายค่าชดเชย
“สรุปคือ ไม่ว่าบริษัทอัคราฯ จะทำเหมืองหรือไม่ทำเหมือง ไทยก็ต้องจ่ายค่าเสียหายทั้งสิ้น เท่ากับว่า ที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยกำลังบอกพลเอกประยุทธ์ว่า เตรียมเงินไว้นะ ไทยกำลังจะแพ้คดี”
มากกว่านั้น พลเอกประยุทธ์ ได้เริ่มเจรจากับบริษัทคิงส์เกตหลังรู้ตัวว่าตนเองกำลังจะแพ้คดี โดยได้พยายามทำตามข้อเรียกร้องของบริษัทคิงส์เกตบางข้อ เช่น ข้อเรียกร้องที่ 2 บริษัทคิงส์เกตขอให้ไทยต่ออายุใบอนุญาตสำรวจที่เพื่อเข้าถึงพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้ไม่พร้อมใช้งาน แต่มีโอกาสสูง ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 บริษัทอัคราฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง เนื้อที่กว่า 397,226 ไร่ จากเดิมที่บริษัทอัคราฯ ได้รับแค่ 3,000 กว่าไร่ อีกทั้งยังมีคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ที่รอการอนุมัติจากไทยอีกเกือบ 6 แสนไร่
หลังจากไทยอนุมัติ 44 แปลงดังกล่าว ทนายของบริษัทคิงส์เกตได้ส่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ถึงอนุญาโตตุลาการ ระบุว่า ได้ขอถอนการเคลมค่าเสียหายข้อเรียกร้องที่ 13 และ ข้อเรียกร้องที่ 14 หลังจากประเทศไทยได้เปิดทางให้นำผงเงินผงทองคำมูลค่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐออกไปขายได้ อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยอนุญาติให้บริษัทอัคราฯ สำรวจแร่ทองคำบนเนื้อที่ทั้งหมด 44 แปลง กว่า 3 แสนกว่าไร่ ยังไม่ได้ทำให้บริษัทคิงส์เกตพอใจจนถึงขั้นยกเลิกการเรียกร้องคำสั่งค่าเสียหายตามคำสั่งฟ้องทั้งหมด เพราะถึงให้สิทธิ์สำรวจ 44 แปลง แต่บริษัทอัคราฯ ก็ยังไม่สามารถประกอบกิจการได้เพราะยังไม่ได้รับการต่ออายุบัตรประทานเหมือง 4 แปลง ซึ่งจะทำให้เหมืองชาตรีที่ถูกปิดไปเมื่อปี 2560 กลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง
“เพราะเขาขี่คอรัฐบาลอยู่อย่างนี้ ต่อมารัฐบาลจึงต้องประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงเพิ่ม เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 เพื่อเปิดทางให้บริษัทอัคราฯ เปิดเหมืองแร่ชาตรีได้อีกครั้ง
“การที่ประเทศไทยต้องทำตามแต่ละรายการที่คิงส์เกตเรียกร้อง เท่ากับเอาทรัพย์สบบัติของประเทศไปชดใช้ค่าเสียหายแทนตัวเงิน แลกกับการถอนฟ้อง เพื่อไม่ให้พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องชดใช้ความผิดในคดีนี้ใช่หรือไม่”