ก่อนจะไปถึงพื้นที่ บ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ฉันนึกภาพเอาไว้อีกแบบ แน่นอนว่าภาพที่เราจินตนาการ ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น (แต่ฉันขอสงวนจินตนาการนั้นไว้เป็นความลับดีกว่า)
กอล์ฟ น้องชายที่เพิ่งรู้จักกันเมื่อไปลงพื้นที่ในครั้งนี้ เขาเพิ่งเรียนจบใหม่หมาด และเลือกมาทำงานด้านสิทธิที่ดินพื้นที่ภาคเหนือได้เพียงสี่เดือน เล่าให้ฟังระหว่างทางที่รถกระบะโขยกเขยกสั่นคลอนไปตามถนนเส้นเล็กๆ ว่า “ชาวบ้านที่นี่น่ารักมากพี่ ผมมาลงพื้นที่บ่อย นั่งกินเหล้ากับชาวบ้านนี่แหละ แต่ต้องนั่งกินเงียบๆ เงียบมากเลยนะพี่ แม่หลวงดุมาก” พูดจบน้องก็หัวเราะเบาๆ
ระยะทางประมาณ 16 กิโล ตามที่กอล์ฟให้ข้อมูล แต่เป็น 16 กิโลดอย ใครบางคนเอ่ยขึ้น รถพาเรามาถึงหมู่บ้านกลาง (ที่แอบเห็นป้ายข้างทางเขียนในวงเล็บว่า ‘บ้านก๋าง’)
ก่อนไปลงพื้นที่ปลูกข้าว เราแวะพูดคุยกันที่ศูนย์การเรียนรู้ใจกลางหมู่บ้านก่อน โดยมี พ่อหลวงสมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ให้ข้อมูลความเป็นอยู่ ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่
พ่อหลวงบอกว่า เราอยู่กันมา 300 กว่าปี ใช้ชีวิตกันมาแบบนี้
“เป็นหนี้บุญคุณผืนป่า กินจากป่า ก็ต้องคืนบุญคุณให้ป่า”
ในหมู่บ้านจึงได้มีวิธีการจัดการดูแลทรัพยากรที่ให้คุณ ให้ชีวิต และเสมือนเป็นลมหายใจและเลือดเนื้อของพวกเขา โดยการตอบแทนตามแบบฉบับของตนเอง
‘กองทุนหน่อไม้’ คือรูปแบบที่พวกเขาจัดตั้งขึ้น ทุกครัวเรือนจะหักรายได้จากการหาหน่อไม้-ต้มหน่อไม้ขาย เข้ากองทุน การเก็บหน่อไม้จะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของทุกปี ส่วนสำคัญที่สุดที่นำเงินจากกองทุนมาจัดทำก็คือ การทำ ‘แนวกันไฟป่า’
ตามถ้อยคำเรียบง่ายแต่หนักแน่นของพ่อหลวงสมชาติ “กินจากป่า ก็ต้องคืนบุญคุณให้ป่า”
พ่อหลวงไม่ได้หลุดคำว่ารักออกมาสักนิด แต่เหมือนมีบางอย่างในแววตาที่ส่องประกายชัดเจน และอย่างสัมผัสได้เป็นรูปธรรม คือสิ่งที่ปู่ย่าตาทวดกระทำสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นลูกหลานปกาเกอะญอยุคปัจจุบัน กับผืนป่าที่อยู่อาศัย
มื้อกลางวันเรานั่งกินข้าวกันริมทุ่งนา ก่อนหน้านี้มีใครบางคนสงสัยว่าทำไมจึงไม่เห็นผู้หญิงในหมู่บ้านนี้เลยสักคน พ่อหลวงสมชาติกล่าวยิ้มๆ “พวกผู้หญิงเขาต้องไปทำอาหารมาให้พวกคุณกินกันไง”
ความจริงส่วนหนึ่งก็ตามนั้น แต่อีกบางส่วน วันที่เราไปเยี่ยมหมู่บ้านเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งหมู่บ้านอื่นมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ และเหล่าสุภาพสตรีแห่งหมู่บ้านต้องไปร่วมงาน จึงดูเหมือนว่าทั้งหมู่บ้านมีแต่สุภาพบุรุษ
ตอนได้รับแจกห่อข้าว ทุกคนจะได้เหมือนกัน คือหนึ่งชุดประกอบด้วยห่อใบตองสามห่ออวบๆ มัดด้วยเชือกกล้วย กับอีกหนึ่งห่อน้อย
ห่อที่หนึ่ง – ข้าวก่ำผสมกับข้าวแดง ลุงคนหนึ่งบอกว่ามันคือข้าวกอฮอ ถามย้ำอยู่หลายครั้ง จนลุงเกือบมองบน และบอกว่า “กะคือข้าวแด๋งนั่นละเนาะ”
ห่อที่สอง – หมูทอดเสียบไม้ จำนวนสามไม้ รสเค็มจางๆ จ้ำกับข้าวเหนียวพอดีกันมาก และไม่มันเลยสักนิด แต่ก็ลืมถามสูตรมาว่าทอดยังไงถึงได้เนียนกริ๊บอย่างนี้ (ไม่อมน้ำมัน)
ห่อที่สาม – ผักต้ม มีทั้งถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ และผักที่เพิ่งรู้จักอีกสองชนิด ฉันกินด้วยความสงสัย จนพี่ชายคนหนึ่งเดินผ่านมาเป็นผู้ไขความกระจ่างให้ ลูกกลมรีเล็กๆ เรียกว่า ‘มะนอย’ เป็นบวบขนาดเล็ก กับผักใบเขียวลวกมาทั้งก้าน รสชาติออกเผ็ด จึงได้ชื่อเรียก ‘ผักเผ็ด’ ตามรสของมัน
ห่อน้อย – น้ำพริกมะกอก ที่อร่อยจนน้ำตาไหล (ไม่ได้เผ็ด มันอร่อยจริงๆ)
พี่ชายคนนั้นไม่เพียงเล่า เขายังเดินตามหาต้นผักเผ็ดในละแวกนั้นด้วย หาอย่างจริงจังและตั้งใจ จนฉันนึกเกรงใจ เดินเข้าไปบอกว่าไม่เป็นไรค่ะพี่ เดี๋ยวไปหารูปดูในอินเทอร์เน็ตก็ได้
สักพักเขาก็กลับมาพร้อมใบไม้ในมือ ฉันตาโต ในที่สุดเขาก็หามาจนได้ แต่เขากลับบอก
“อันนี้ผักเผ็ดปลอม ฮ่าๆๆๆ … หาไม่เจอ แต่มันคล้ายใบนี้แหละ”
มื้อนั้นจบลงเมื่อบ่ายคล้อย และเราต้องนั่งรถกระบะคันเดิมออกมาจากหมู่บ้าน ช่วงเวลาแสนสั้น แต่รอยยิ้มที่เจืออยู่บนใบหน้าของทุกคนที่นี่เหมือนเป็นยิ้มดึกดำบรรพ์ที่สืบต่อกันมายาวนาน เป็นของมีค่าหายากยิ่งในเมือง ฉันคิดว่ารอยยิ้มและแววตาแบบนี้ เป็นของธรรมชาติที่ธรรมชาติให้เรามา และชาวบ้านที่นี่ยังคงรักษามันเอาไว้ได้เหมือนพืชพรรณและผืนดินที่พวกเขาดูแลกันมา
อากาศดี น้ำดี ดินดี อาหารอุดมสมบูรณ์ดีแม้ไม่หลากชนิด หลอมรวมจนเป็นชีวิตที่ผ่องใส เพียงยิ้มเดียวก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้
การต่อสู้เพื่อผืนดินทำกินที่พวกเขาอยู่กันมา “ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน” คำพูดของพ่อหลวงสมชาติยังติดอยู่ในใจ
และหากคุณได้มาเห็นรอยยิ้มจับใจที่นี่ หวังว่าคุณจะเข้าใจความหวงแหนในผืนดินที่พวกเขาเปรียบว่า เป็นดั่งเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตวิญญาณ ของพวกเขาขึ้นมาบ้าง
หวังว่าจะเป็นแบบนั้น.