เสรีหรือจองจำ?

wonders-of-freedom-4
เรื่อง: อรปมน  วงค์อินตา
ภาพ: ชิน เอกก้านตรง

 

เสรีภาพในปัจจุบันมีจริงหรือไม่

ความสำคัญของเสรีภาพคืออะไร

คำถามนี้ถูกตั้งขึ้นในวงเสวนา ‘เสรีภาพของคนรุ่นใหม่’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘ปล่อยปีก’ (Wonders of Freedom) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันของเรา พร้อมๆ กับฉุกให้เราคิดขึ้นมาว่า คนรุ่นใหม่มองว่าเสรีภาพที่พวกเขาต้องการนั้นควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร

wonders-of-freedom-1

เสรีภาพในการเลือกบริโภค

ในเรื่องอาหารการกิน บางคนอาจจะคิดว่าเราสามารถเลือกจะกินอะไรก็ได้ตามใจ เพราะมีอาหารมากมายให้เราเลือกสรร แต่สำหรับ แอคชั่น-อนุกูล ทรายเพชร CEO Folk Rice ผู้สนับสนุนให้เกิดทางเลือกอันหลากหลายของการบริโภค เขากลับคิดว่าแท้จริงแล้วคนเราไม่ได้มีตัวเลือกมากมายนักในการบริโภค

ในอดีตนั้นการกินอาหารของมนุษย์อยู่ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยน คนที่มีเสรีภาพทางอาหารที่สุดคือคนที่ทำมาหากินเองได้ “ณ ตอนนี้คนที่ควบคุมเสรีภาพในการเข้าถึงอาหารเปลี่ยนจากคนรู้จักปลูกเป็นคนมีเงินเยอะ” แอคชั่นกล่าว

เจ้าใหญ่ที่ครองตลาดเลือกแต่เพียงสินค้าและอาหารที่คิดว่าดี แอคชั่นเล่าว่ามีช่วงหนึ่งที่คนบอกว่ากล้วยน้ำว้านั้นดี ช่วยป้องกันรักษาโรค แต่กลับมีเพียงกล้วยหอมที่ถูกนำมาขายให้กับผู้บริโภค ไม่มีกล้วยน้ำว้าเลย เพราะกล้วยหอมขายได้ราคาดีกว่า

“สังคมเราเริ่มเป็นเมืองมากขึ้น ซึ่งคนอยู่ในเมืองต้องการความสะดวกสบาย มีคนหยิบยื่นให้ผ่านการซื้อมาสต็อคไว้เพื่อรอคนเหล่านี้ เราจึงไม่รู้ว่าอาหารที่เราบริโภคนั้นมาจากที่ไหน”

เสรีภาพในการบริโภคอาหารจึงอยู่เฉพาะในมือของคนที่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรเท่านั้น เราไม่ได้มีเสรีภาพในการเลือกบริโภคอาหารอย่างแท้จริง

เสรีภาพทางการศึกษา

“ในมหาวิทยาลัย เราคิดว่ามันน่าจะมีจุดที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงได้ มหาวิทยาลัยน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เราอยากคุยกับอาจารย์ แนะนำว่าเนื้อหาการเรียนน่าจะเข้มข้นกว่านี้ แต่เราก็อกหักทางการศึกษา เมื่อเราพยายามคุยกับอาจารย์และเพื่อนๆ แล้วพบว่าโซ่มันตึง”

นี่คือความคิดเห็นของ บิ๊ว-กชกร ความเจริญ นิสิตปีที่ 4 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บิ๊วทำนิตยสารเล็กๆ ร่วมกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยโดยพูดเรื่องพื้นที่ทางการศึกษา

เธอเล่าว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยทำให้เธอรู้สึกผิดหวังอย่างมาก เมื่อเธอคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียน แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ภาวะ ‘โซ่ตึง’ ที่บิ๊วหมายถึงก็คือ ทุกคนต่างคุ้นชินกับสภาวะถูกล่ามโดยไม่อยากทำอะไร เพราะคิดว่าคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

สำหรับตัวเธอรู้สึกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยทำให้อึดอัด เธอจึงเริ่มหันมาสนใจคำว่าเสรีภาพ นั่นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เธอลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้

wonders-of-freedom-2

เสรีภาพในการจัดการทรัพยากรและชาติพันธุ์

“เมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่เชียงใหม่เกิดปัญหาหมอกควัน แล้วคนที่โดนห้ามเผาเยอะที่สุดเป็นคนบนดอย ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นบนดอยเพิ่งทำไร่”

ถ้อยคำจากปากของ เหน่งสุขศรี ชิติพัทธ์ ชาวปกาเกอะญอที่ทำประเด็นทรัพยากรในพื้นที่ เหน่งเล่าว่าเมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ คนพื้นที่สูงจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกพูดถึงในนามผู้ก่อปัญหา

“เสรีภาพคือมีอิสระในการคิด การทำแต่ไม่กระทบกับผู้อื่น ทุกวันนี้เราแทบไม่มีสิทธิ์นั้นเลย เราพูดนิดเดียวเหมือนไปกระทบ ซึ่งผู้ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ผู้ที่ไม่คิดว่าตัวเองทำให้คนอื่นเดือดร้อน หรือคนที่คิดว่ามีเสรีภาพจัดการด้วยตัวเองกลับเป็นคนทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วยซ้ำ” เหน่งกล่าว

การถูกมองว่าเป็นคนทำลายทรัพยากรทำให้คนบนดอยต้องตกอยู่ในสภาวะถูกแช่แข็ง ไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวจะโดนจับกุม ทั้งๆ ที่นั่นเป็นชีวิตประจำวันของพวกเขา เหน่งกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างเจ็บปวดว่า

“ทุกวันนี้จะมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานทำหน้าที่รับผิดชอบและเข้ามาดูแล เวลาเจอใครก็ตามเข้ามาโดยไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ชาวบ้านก็ต้องกลัว เพราะเขาคิดว่าเขาทำผิดหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เขาไม่ผิด เขาก็จะรู้สึกว่า ฉันไปทำผิดอะไรอีก ฉันต้องอยู่เฉยๆ ฉันต้องไม่ทำอะไรทั้งนั้น ฉันต้องฟังคำสั่งอย่างเดียว”

วิธีการหนึ่งที่เหน่งเสนอเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันได้อย่างเป็นมิตร ก็คือการทำความเข้าใจในวิถีและจารีตของกันและกัน เพราะเชื่อว่าทรัพยากรมีเพียงพอและสามารถหล่อเลี้ยงทุกคนได้

เสรีภาพของคนตัวเล็ก

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการรู้ว่าคนไร้บ้านกำลังโดนอะไรจากสังคม และคนในสังคมจะมีท่าทีอย่างไรต่อคนไร้บ้าน จึงเป็นที่มาของการทดลองเป็นคนไร้บ้านของ ทิว-ธรรมนิจ ศุภกิจเจริญ

ทิวเล่าว่า แต่ละวันเขาจะเห็นปฏิกิริยาของคนในสังคมต่อคนไร้บ้านไม่เหมือนกัน “วันแรกที่ไป คนในสังคมก็มีทั้งพร้อมพูดคุย ให้ความช่วยเหลือ และเหยียดหรือรังเกียจอย่างชัดเจน” ทิวกล่าว

คนไร้บ้านเหล่านี้เลือกที่จะใช้ชีวิตของตนด้วยการอยู่อย่างไร้บ้าน เพราะการอยู่ในห้องทำให้เขารู้สึกว่าถูกขัง ไม่เป็นอิสระ แต่เขากลับถูกมองอย่างแปลกแยก ทิวเสนอแนะว่า

“จุดตรงกลางที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ ก็อยากให้คิดว่าเขาก็เป็นคนหนึ่งในสังคมเช่นกัน แล้วสิ่งที่เขาทำ ถ้าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเขาก็ไม่ผิด เราไม่ควรไปดูถูกหรือไปตัดสินเขาว่านี่ไม่ดี ในเมื่อเขาไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน จริงๆ เขาควรจะได้รับสวัสดิการจากรัฐที่ดีกว่านี้”

เสรีเพศสภาพ

เรื่องเพศสภาพในสังคมไทยแม้ได้รับการพูดถึง แต่ก็ยังไม่รอบด้าน เฟรม-ศศิประภา ไร่สงวน ตระหนักถึงประเด็นนี้ เธอรู้สึกว่าเพศสภาพยังไม่มีเสรีภาพมากเท่าที่ควร เพราะรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ถึงแม้จะพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างมากมาย แต่มุมมองยังไม่กว้างขวาง

ส่วนใหญ่มีการถ่ายทอดเฉพาะการทำให้คนเหล่านี้เป็นคนตลก พวกเขาถูกสร้างขึ้นมาเป็นผู้ให้ความบันเทิงมากกว่าเป็นคนคนหนึ่งที่มีคุณค่าและมีอะไรที่เหมือนๆ กับเรา

“เราไม่สามารถบังคับว่าคนทั่วไปจะมองคนเหล่านี้เช่นไรได้ สิ่งที่เราเรียกร้องจึงไม่ต้องชอบก็ได้ แค่เคารพ เคารพเขาเหมือนที่ให้ความเคารพเพื่อนมนุษย์” เฟรมกล่าว

เฟรมเล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้ไปสำรวจพัฒน์พงศ์ซอย 2 ด้วยตัวเอง เธอได้ไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับคนแสดงโชว์ในบาร์ เธอถามคนเหล่านั้นว่าทำไมเขาเลือกอาชีพนี้ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าเพราะมันสุจริต ไม่ได้ฆ่าใคร และเป็นการใช้เสรีภาพในร่างกายของตัวเอง แต่ก็ยอมรับว่าไม่สามารถบอกที่บ้านได้ว่ามาเป็นนายโชว์ในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ส่งเงินกลับไปให้ทุกเดือน

“มันทำให้เรามีมุมมองที่เปลี่ยนไป แต่ก่อนเรามองว่าคนทำงานแบบนี้เป็นคนทำงานใต้ดิน อยู่อีกระดับกับคนใช้แรงงาน เขาคิดว่ามันคืองานสุจริตแต่ก็ทำให้เขาไม่ได้รู้สึกภูมิใจ เพราะสังคมทำให้เขารู้สึกไม่ภูมิใจ” เฟรมกล่าว

เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก

“สังคมเรากลัวความขัดแย้ง เราถูกทำให้คิดว่า ความขัดแย้งคือสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวที่ต้องถูกขจัดออกไป วิธีการแก้จึงห้ามไม่ให้มีความขัดแย้ง อาจจะใช้ความรุนแรง กฎหมาย แต่สำหรับผมความขัดแย้งมันเกิดขึ้นตลอดเวลา ความขัดแย้งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ก้าวขึ้นในทุกระดับ”

เป็นคำพูดของ ต้อม-ยุทธนา ลุนสำโรง จากมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งทำงานกับคนรุ่นใหม่ทางการศึกษา และมีความสนใจในประเด็นทางสังคม ได้ร่วมพูดคุยถึงประเด็นเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก

ต้อมเล่าถึงประเด็นการแสดงออกที่ไม่เท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น การแชร์รูปในเฟซบุ๊คประเด็นว่ามีผู้หญิงใส่ชุดไทยเข้ารับปริญญาในต่างประเทศ เราก็ชื่นชมกันมากว่าแสดงความเป็นไทยในเวทีโลก แต่เมื่อผู้หญิงท่านนี้มารับปริญญาที่ไทย มีรูปออกไปอาจจะโดนไล่ออกจากห้องประชุม หรือทุกคนก็จะเข้าไปรุมประณามว่าเป็นความไม่เหมาะสม

“หลายคนไปชื่นชม แต่ต้องลองมองย้อนกลับมาว่าถ้าการแสดงออกแบบนี้หรือการจะสร้างสรรค์ตัวเองกับชุดแบบนั้นในประเทศไทย สามารถทำได้จริงไหม ถ้าคนแต่งตัวประหลาดในงานรับปริญญาที่ไทยก็จะโดนด่าว่าไม่เคารพสถานที่ ถ้าทำเช่นนี้ในไทยก็จะเป็นอีกรูปแบบ เพราะมันถูกทำให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ต้อมกล่าว

เช่นเดียวกับอีกประเด็นที่ต้อมเล่าถึงคือ นักร้องคนหนึ่งในบ้านอคาเดมีได้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองบางอย่าง แล้วถูกหลายคนประณามว่าแสดงออกไม่เหมาะสม แต่ถ้าย้อนไปก่อนหน้ารัฐประหาร เหล่าดารานักแสดงกลุ่มใหญ่ขึ้นเวทีที่ราชดำเนิน โดยใช้สัญลักษณ์เป็นธงชาติกลับได้รับเสียงชื่นชม

สองเหตุการณ์นี้ทำให้เขาตั้งคำถามว่า การแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจน ทำไมกลุ่มหนึ่งได้รับการชื่นชม ขณะที่อีกกลุ่มได้รับการประณาม

หรือกรณีที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในงานปล่อยปีก เขาติดตั้งผลงานเป็นผนังห้องน้ำจำลองเล่าเรื่องราวรัฐประหารปี 2557 หนึ่งในนั้นเป็นอินโฟกราฟิกให้ข้อมูลว่ามีคนถูกดำเนินคดีเพราะเขียนฝาห้องน้ำ ชิ้นงานตั้งอยู่สองสามวัน ก็ไปสร้างความไม่สบายใจให้เจ้าหน้าที่ เขาจึงได้รับคำถามว่าจะเอาห้องน้ำไว้หรือเอาทั้งงานไว้

wonders-of-freedom-3

“บางคนบอกว่าคุณก็ไปชูป้ายหน้าหอศิลป์ได้ แต่คำถามคือไปชูแล้วโดนอะไร” เหตุการณ์ทั้งหมดที่เล่ามา ต้อมบอกว่าการแสดงออกไม่ใช่แค่การพูด แต่มันคือการเขียน การแสดง การถ่ายทอดทุกอย่าง สุดท้ายมันมาจากความคิดของเราที่ต้องการแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาในรูปแบบใดก็ได้

ต้อมกล่าวว่าเสรีภาพจะมีหรือไม่มีอยู่นั้น อยู่ที่เรามองเสรีภาพในด้านใด ซึ่งเสรีภาพมันอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด และไม่สามารถหยุดมันไว้ชั่วคราวได้ ถึงแม้ไม่แสดงออกมาแต่เราก็ยังคิดถึงมัน

“จะหนักกว่านั้นคือเพดานที่ทำได้ค่อยๆ ลดลง คือการที่เราไม่ได้กลัวที่จะแสดงออก แต่เรากลัวจะผิดที่เราคิดแบบนี้ ถ้าเพดานนั้นยังลดต่ำแล้วเราไปยินยอมให้มันต่ำได้อีกเรื่อยๆ เพื่อความปรองดองหรืออะไรก็ตาม จนสุดท้ายเราไม่กล้าคิดว่าเราต่างกับคนนี้

“มันคือความน่ากลัวของประเทศนี้ ถ้าทุกคนเห็นด้วยกันหมด ประเทศของเราจะไปต่ออย่างไร” ต้อมทิ้งคำถามเอาไว้ แต่ดูเหมือนไม่จำเป็นต้องตอบอะไร

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า