Beijing Walk: เดินสำรวจปักกิ่ง ในวันที่กระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดแรง

เรื่อง/ภาพ: บดินทร์ เทพรัตน์

 beijing 06

อาจเป็นด้วยชื่อเสียงที่ไม่ค่อยสู้ดีเท่าไร ทั้งในเรื่องห้องน้ำ มารยาทผู้คน ความวุ่นวายบนท้องถนน การไม่สื่อสารภาษาอังกฤษ และฝุ่นควันปริมาณสูงในอากาศ ทำให้ปักกิ่งไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่นักเที่ยวแบกเป้บ้านเราคิดถึงสักเท่าไร ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นเมืองที่เหมาะกับการเที่ยวด้วยตัวเองเป็นอย่างมาก

ด้วยความที่ปักกิ่งเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอลังการและรุ่มรวยวัฒนธรรม มีร้านอาหารและแหล่งช็อปปิ้งมากมาย มีป้ายบอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษและผู้คนสื่อสารภาษาอังกฤษได้มากกว่าเมืองอื่นๆ ในจีน มีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย เห็นได้จากรถไฟฟ้าจำนวน 16 สาย (เห็นแล้วอิจฉาหนักมาก) และรถเมล์ที่ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง สนนราคาค่าตั๋วถูกกว่าบ้านเราเสียอีก

อีกหนึ่งจุดเด่นของปักกิ่ง (รวมถึงหลายเมืองในจีน) ยังอยู่ที่ทางเท้าและทางจักรยานที่กว้างใหญ่มากๆ และใช้งานได้จริง ไม่มีรถเข็น แผงลอยหรือรถยนต์มาขวางทางให้ละเหี่ยใจ ทำให้การเดินในปักกิ่งถือเป็นกิจกรรมสบายๆ ที่ชวนให้รื่นรมย์ ไม่ได้เป็นกิจกรรมเฉียดตายหรือลุ้นระทึกเหมือนการเดินในเมืองใหญ่บางเมือง และจากคำกล่าวที่ว่า การเดินเป็นวิธีทำความรู้จักบ้านเมืองและผู้คนในเมืองนั้นๆ ได้ดีที่สุด ทำให้เราตัดสินใจเที่ยวในปักกิ่งด้วยการเดินเป็นหลัก ซึ่งน่าจะมีหลายคนที่คิดแบบเดียวกับเรา เห็นได้จากหนังสือแนะนำเส้นทางการเดินเที่ยวในปักกิ่งหลายเล่มให้เลือกอ่านมากมาย

และนั่นทำให้ตลอดช่วงเวลาแปดวันในปักกิ่งของผมนั้นจึงเต็มไปด้วยการเดิน เดิน แล้วก็เดิน ตั้งแต่ฟ้าสว่างยันฟ้ามืด เผลอๆ อาจจะมากกว่าการเดินทั้งปีรวมกันเสียอีก และนี่คือบทบันทึกความคิดที่น่าสนใจบางส่วนระหว่างการเดินในปักกิ่งของผม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นบทความที่ไม่ค่อยมีหลักการสาระ และนำไปอ้างอิงทางวิชาการที่ไหนไม่ได้

beijing 04

  1. พระราชวังต้องห้ามและจัตุรัสเทียนอันเหมิน

ด้วยความที่เป็นแฟนหนังเรื่อง The Last Emperor และหนังจีนประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ ทำให้พระราชวังต้องห้ามเป็นสถานที่สำคัญอันดับหนึ่งที่ผมขีดเส้นใต้เอาไว้ว่าห้ามพลาด ด้วยคำเตือนของมิตรสหายที่บอกเราไว้ว่า คนไปเที่ยวที่นี่เยอะในระดับวังแทบแตก ควรหลีกเลี่ยงการเที่ยวในวันเสาร์-อาทิตย์และมาให้เช้าเป็นพิเศษถ้าไม่อยากเบียดเสียดกับคณะทัวร์ นั่นทำให้เราต้องออกจากโรงแรมตั้งแต่เช้าตรู่ท่ามกลางอุณหภูมิ 7 องศาเพื่อไปยังวังต้องห้าม แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราต้องผ่านทางเข้าตรงจัตุรัสเทียนอันเหมินก่อน ซึ่งตรงทางเข้ามีการตรวจความปลอดภัยอย่างเข้มงวดแทบจะทุกซอกทุกมุม (โปรดจงลืมภาพการตรวจกระเป๋ารถไฟใต้ดินบ้านเราไปก่อน) ใครที่มีอาวุธหรือป้ายประท้วงอย่าหวังว่าจะเข้าได้ แสดงให้เห็นว่าแม้เหตุการณ์ประท้วงเทียนอันเหมินจะผ่านไปกว่า 26 ปี แต่ทางการจีนก็ยังไม่ไว้วางใจและปิดกั้นทุกหนทางที่คนจะมารวมตัวประท้วงได้อยู่ดี

ยืนรอตรวจจนขาแข็งกว่า 20 นาทีกว่าจะได้เข้าไปข้างใน พอเห็นจัตุรัสก็ต้องตกตะลึงกับความใหญ่โตของเทียนอันเหมิน เราไม่รู้หรอกว่าจัตุรัสแห่งนี้จะจุคนได้มากถึงล้านคนอย่างที่มีการอ้างหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เราสามารถใช้คำว่า ‘มันใหญ่มาก’ กับที่แห่งนี้ได้อย่างเต็มปาก ด้วยพื้นที่กว่า 440,000 ตารางเมตร ทำให้มันเป็นหนึ่งใน public space ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายครั้ง (เช่น เป็นสถานที่ที่ เหมาเจ๋อตุง ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสถานที่ทำพิธีสำคัญของชาติ รวมถึงเป็นที่ประชาชนรวมตัวประท้วงจนเกิดการล้อมปราบในปี 1989) และด้วยความที่เป็นพื้นที่เปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้ามาทำกิจกรรมหลากหลาย ทำให้สถานที่แห่งนี้มีสีสันอย่างมาก

ที่อยู่เหนือเทียนอันเหมินขึ้นไปคือทางเข้าราชวังของอดีตเจ้ามหาชีวิตอายุกว่า 600 ปี ซึ่งมีขนาดเท่าเมืองขนาดย่อมๆ เมืองหนึ่ง อาจถือเป็นเรื่องย้อนแย้งที่กำแพงประตูทางเข้านั้นแขวนไว้ด้วยรูปขนาดใหญ่ของ เหมาเจ๋อตุง บิดาแห่งประเทศจีนยุคใหม่และผู้ก่อตั้งผู้คอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นขั้วตรงข้ามกับระบบศักดินาอย่างสิ้นเชิง ข้างในกำแพงสีแดงอันสูงชันคือเมืองขนาดใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 600 ปี ภายในมีอาคารกับสิ่งก่อสร้างที่สวยงามและสลับซับซ้อน มีห้องหับนับรวมกันมากกว่าหมื่นห้อง จนถือว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรม แม้ของมีค่าส่วนใหญ่จะถูกพรรคก๊กมินตั๋งขนไปที่พิพิธภัณฑ์กู้กงที่ไต้หวัน แต่สิ่งที่เหลืออยู่ก็ยังเรียกได้ว่าอลังการจนเราเห็นแล้วต้องร้องว้าวออกมา

แต่พอเดินไปสักพักใหญ่ จากที่ร้องว้าวก็เปลี่ยนมาหอบแฮ่กๆ แทน เนื่องจากวังมันใหญ่และสลับซับซ้อนเสียจนเดินเท่าไรก็ไม่หมดสักที ยังไม่นับกับการที่ต้องแบ่งแรงไว้เบียดเสียดกับกลุ่มทัวร์และนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล

จากที่เคยเป็นพื้นที่สงวนสำหรับราชวงศ์และข้าทาสบริวารเท่านั้น ปัจจุบันพระราชวังต้องห้ามได้เปิดให้บุคคลทุกชนชั้นเข้ามาได้ – ขอเพียงแค่มีเงินจ่ายค่าตั๋วเข้า แถมสามัญชนก็สามารถกลายเป็นฮ่องเต้ได้ – ขอเพียงมีเงินเช่าชุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอันเป็นอนิจจัง แม้แต่อำนาจล้นฟ้าในระดับโอรสสวรรค์ก็สามารถล่มสลายได้สักวัน

beijing 03

  1. กำแพงเมืองจีน

ด้วยความยาวกว่า 6,000 กิโลเมตร ทอดไปตามเทือกเขาที่สูงชันซับซ้อน ทำให้กำแพงเมืองจีนถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์จนยากที่จะเชื่อว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะติดอันดับหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง

จากวัตถุประสงค์ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการถูกรุกรานจากชนเผ่าต่างๆ อย่าง มองโกล เติร์ก แมนจู ปัจจุบันมันถูกเปลี่ยนประโยชน์ให้กลายเป็นแหล่งดึงดูดเงินของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกมากมาย เรียกได้ว่าร้อยละ 90 ของคนที่มาเที่ยวปักกิ่งนั้นไม่พลาดที่จะมาเยือนกำแพงแห่งนี้ (ใครมาปักกิ่งแล้วไม่มากำแพงเมืองจีน ก็เหมือนคนที่ไปเมืองเสียมเรียบแต่ไม่ไปนครวัด หรือไปเมืองอักราแต่ไม่ไปทัชมาฮาล)

กำแพงเมืองจีนมีหลายส่วนให้เลือกชม โดยเราเลือกที่จะไปที่ปาต๋าหลิ่ง (Badaling) ซึ่งเป็นกำแพงสลับกับป้อมปราการความยาว 5 กิโลเมตร ส่วนที่ได้รับการซ่อมแซมจนเกือบสมบูรณ์ ข้อดีคือมันเป็นส่วนที่สวยและเดินง่าย ไม่ต้องคอยหลบเศษอิฐเศษปูน แต่ข้อเสียก็อย่างที่หลายคนคงเดาถูก นั่นคือ เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเยอะที่สุด จุดถ่ายรูปฮิตๆ นี่คนยืนออกันเต็มจนแทบไม่มีที่เดิน ใครที่ต้องการแสวงหาความสันโดษหรือต้องการถ่ายรูปบนกำแพงแบบเหงาๆ สไตล์ หว่องกาไว ควรหลีกเลี่ยงกำแพงส่วนนี้

จากตัวเมืองเรานั่งรถบัสออกมาประมาณชั่วโมงกว่าและเดินขึ้นเขาไปอีกหน่อย ในที่สุดเราก็ได้ขึ้นมาเหยียบบนกำแพงเมืองจีนสมใจ ภาพของกำแพงในสภาพสมบูรณ์ทอดยาวไปตามระนาบเขา โดยมีพื้นหลังเป็นใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนั้นเป็นภาพที่แทบทำให้หยุดหายใจ

แต่นอกจากความสวยงามแล้ว ทางเดินของมันก็ทำให้เราแทบหยุดหายใจเหมือนกันเพราะมันสูงชันมากจนต้องใช้มือช่วยปีนเป็นพักๆ ส่วนบันไดก็ยังเล็กและแคบจนเสียวว่ากูจะตกลงไปคอหักตายไหมนี่ นอกจากนั้นอุปสรรคยังอยู่ที่อุณหภูมิที่ลดลงถึง 8 องศาเซลเซียส และลมที่พัดโกรกอย่างรุนแรงจนหน้าชามือแข็งไปหมด ด้วยความประมาท เราเลยไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันความหนาวมาเลย แต่ทันทีที่คิดถอดใจเดินกลับกลางคัน เราก็เห็นเหล่าอาม่าและเด็กๆ เดินขึ้นกำแพงกันตัวปลิว เราจึงฮึดสู้โดยอาศัยหลักว่า ถ้าคุณแน่ อย่าแพ้อาม่า แล้วเดินต่อไปทันที

ขณะที่เดิน ในใจก็คิดยกย่องในความแข็งแกร่งของกองทัพมองโกลขึ้นมาทันที เพราะไหนจะต้องขึ้นเขาฝ่าลมหนาวปีนกำแพงมายาวนานกว่าจะบุกจีนได้ ถ้าเป็นผมคงขอเลือกนอนเฉยๆ ในกระโจมแถวมองโกเลียต่อดีกว่า

มองไปรอบกาย เห็นนักท่องเที่ยวมากมายซึ่งไม่ได้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมการเดินทาง แต่ยังมีนักท่องเที่ยวที่เป็นคนจีนวัยกลางคนไปจนถึงวัยชราซึ่งบางคนอายุไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี ดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนทุกเพศทุกวัยที่มากขึ้น เห็นได้ตามสถานที่เที่ยวต่างๆ ทั้งในจีนและทั่วโลก ทำให้เห็นได้ว่าวัฒนธรรมการท่องเที่ยวซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นชนชั้นกลางกำลังแพร่ขยายตัว และแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนกำลังรุ่งเรืองอย่างเห็นได้ชัด

เดินไปสักพักเราก็เจอกลุ่มคนไทย พอเรารู้ว่ามีน้องคนหนึ่งเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ที่ปักกิ่งมาเป็นปีแล้ว เราเลยรีบถามทันทีว่า “น้องเข้าเฟซบุ๊คอย่างไร” แม้จะเป็นคำถามที่ดูไร้สาระ แต่ตอนนั้นมันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายกับเรามากตอนนั้น ด้วยความที่พี่จีนเล่นบล็อคทุกเว็บไซต์ชื่อดังเกือบหมด ทั้ง Facebook, Google, youtube, Instagram, Line ทำให้เราติดต่อกับคนที่เมืองไทยแทบไม่ได้ (ระบบการปิดกั้นเว็บของจีนนี่แหละ นี่สิ The Great Wall ของแท้)

ระหว่างที่มองกำแพงที่ทอดอยู่ข้างหน้าไป ในใจก็คิดว่าเมื่อก่อนนั้นแค่กำแพงก็พอจะยับยั้งการโจมตีของชนเผ่าที่มารุกรานได้แล้ว ผิดกับสิ่งที่คอยรุมเร้ารัฐจีนในทุกวันนี้ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังแพร่กระจาย ซึ่งต่อให้ใช้กำแพงใหญ่แค่ไหนก็ไม่อาจขวางกั้นสิ่งที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ เรียกว่าเป็น ‘ปีศาจแห่งกาลเวลา’ เหล่านั้นได้

beijing 05

  1. หูท่งและหวังฝูจิ่ง

หลังโอลิมปิค 2008 ปักกิ่งก็พัฒนาขึ้นมาแบบก้าวกระโดด โดยมีการปรับปรุงบ้านเมืองให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็น ทางเท้า ทางจักรยาน ขนส่งมวลชน ห้องน้ำ ผังเมือง โดยปักกิ่งถือเป็นเมืองใหญ่ที่มีการจัดผังวางเมืองดีเป็นอันดับต้นๆ แต่หากมองอีกด้านจะพบว่าผังเมืองที่ดีนั้นเกิดจากการเวนคืนที่ดินคืนอย่างมหาศาล โดยที่ผู้เดือดร้อนไม่สามารถร้องเรียนอะไรได้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศเผด็จการเท่านั้นสามารถทำได้)      นอกจากนั้นจีนยังขึ้นชื่อเรื่องทำลายของเก่าเพื่อสร้างตึกและอาคารใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นความย้อนแย้งเมื่อมองว่าหลายครั้งของที่สร้างใหม่ก็เป็นการพยายามลอกเลียนของเก่า เช่น การสร้างตลาดหรือเมืองท่องเที่ยวแนววินเทจ

ด้วยความอู้ฟู่ทางเศรษฐกิจ ทำให้ตอนเดินในปักกิ่ง เราจะเห็นตึกขนาดใหญ่และสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่มากมายซึ่งเป็นไปตามสุนทรียภาพแบบจีน นั่นคือ เน้นเล่นใหญ่ เยอะ และแปลก เห็นได้จากตึก CCTV ที่ออกมาเป็นรูปกางเกง หรือตึกโรงละครที่เป็นรูปไข่ครึ่งซีก ซึ่งตึกรุ่นใหม่หลายแห่งสอดแทรกอยู่ท่ามกลางอาคารเก่าๆ เกิดเป็นการผสมผสานที่ลงตัวบ้างลักลั่นบ้าง

ตัวอย่างของการผสมผสานที่เห็นได้ชัดได้แก่ ‘หูท่ง’ ซึ่งเป็นคำเรียกตรอกเล็กๆ หลายแห่งในปักกิ่งซึ่งย้อนอายุกลับไปได้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง มักประกอบไปด้วยบ้านโบราณชั้นเดียว กำแพงปูนอิฐสีเทา ปัจจุบันบ้านในหูท่งหลายแห่งถูกดัดแปลงให้เป็นร้านสมัยใหม่ ทั้งร้าน zakka ขายของแฮนด์เมด ร้านกาแฟ เบเกอรี บาร์ เกสต์เฮาส์ ซึ่งร้านที่พยายามแต่งให้วินเทจเหล่านี้มักจะอยู่สลับกับบ้านที่เก่าจริงๆ จึงไม่แปลกใจที่เราอาจเห็นคุณป้านั่งซักผ้าข้างสุ่มไก่อยู่ในบ้านที่ติดกับร้านกาแฟดริปสุดเท่ ให้ความรู้สึกที่เหนือจริงมากๆ

beijing 01

เดินเล่นในหูท่งเสร็จแล้ว เราก็นั่งรถไฟฟ้าต่อไปยังถนนหวังฝูจิ่ง ซึ่งเป็นถนนการค้าสายสำคัญที่เต็มไปด้วยร้านค้าแบรนด์เนมราคาแพงระยับ ไม่ว่าจะเป็น Nike, Uniqlo, Zara, iStudio ซึ่งความทุนนิยมสุดขั้วของย่านนี้อยู่ในระดับที่ถ้าประธานเหมาฟื้นคืนชีพมาเห็นเข้าคงช็อกสลบจนขอลงไปนอนในหลุมอีกรอบ

เดินจนท้องหิวเราจึงเริ่มมองหาของกิน ซึ่งนอกเหนือจากร้านอาหารแบรนด์นอกอย่าง KFC, McDonalds, Starbucks, Yoshinoya (มีหลายร้านที่ตกแต่งให้ออกมาแบบจีนๆ) ยังมีร้านอาหารจีนทั้งอาหารขึ้นเหลา เสี่ยวหลงเปา เป็ดปักกิ่ง (ซึ่งต้องยืนรอโต๊ะนานกว่าสองชั่วโมงกว่าจะได้กิน) และตรอกข้างทางที่ขายของกินอย่างก๋วยเตี๋ยว ผัดหมี่ เนื้อย่าง รวมถึงเมนูแปลกตาอย่าง ปลาดาวทอด ม้าน้ำทอด แมงป่องย่าง (แน่นอนว่าข้าพเจ้าขอผ่าน)

เราเดินต่อไปที่ถนนคนเดินเพื่อซื้อเสื้อ หมวก กระเป๋า ซึ่งลายยอดนิยมที่สุดหนีไม่พ้นภาพประธานเหมา ซึ่งได้กลายเป็น pop icon สุดฮิตไปแล้ว โดยเราจะเห็นภาพลายเส้นของเขาได้ทั้งในแบบจริงจัง ล้อเลียน หรือแม้กระทั่งโมเอะ คิดไปคิดมาก็ขำ เพราะจากคนที่ต่อต้านทุนนิยม ต่อมากลับกลายเป็นสินค้าทุนนิยมให้นักท่องเที่ยวได้จับจ่ายเสียเอง (ซึ่งถือเป็นชะตากรรมเดียวกับที่ เช เกวารา และ โฮจิมินห์ ต้องเจอ)

นี่อาจเป็นภาพสะท้อนถึงจีนในยุคปัจจุบัน ที่แม้จะบอกว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ถึงอย่างไรก็หนีความเป็นทุนนิยมไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นคนตัวเล็กๆ หรือแม้แต่ผู้นำทางความคิดด้านคอมมิวนิสต์ตัวพ่อก็ตาม

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า