ภาพการไล่ล่าจับผิดประชาชนที่ไม่ยอมอยู่ใต้มาตรการของรัฐ ภาพประชาชนที่ถูกสั่งห้ามแจกจ่ายอาหารหรือแจกของบริจาคให้กับประชาชนจำนวนมาก หรือภาพของคนที่โดนจับ ถูกขัง โดนดำเนินคดีเพราะต้องเดินทางไปทำธุระสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต ภาพเหล่านี้นอกจากสะท้อนความเข้มงวดของรัฐแล้ว มันยังสะท้อนให้เห็นภาวะ ‘สองมาตรฐาน’ ในการใช้อำนาจของรัฐด้วยเช่นกัน
‘สนามมวยลุมพินี’ คือตัวอย่างของภาวะสองมาตรฐานดังกล่าว สถานที่ดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นการทำงานของ ‘รัฐอภิสิทธิ์ชน’ รัฐที่อำนวยความสะดวกให้คนที่มีอำนาจ หรือคนที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจ พวกเขาจะได้รับสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าคนปกติ รวมถึงมีส่วนในการรับผิดชอบต่อความผิดของตัวเองเพียงเล็กน้อย ในขณะที่คนไร้อำนาจต้องตกอยู่ใต้คำสั่งของรัฐและรับผิดชอบการกระทำของตัวเองอย่างเข้มงวด
ท่ามกลางการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ ‘COVID-19’ ที่กำลังเป็นภัยคุกคามหลักของประเทศ มันได้ปอกเปลือยให้เห็นรูปร่างหน้าตาที่ซุกซ่อนอยู่ของรัฐไทย และการจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐอภิสิทธิ์ชนไปเป็นรัฐประชาชนที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างเสมอภาค คงต้องเริ่มจากการจัดวางโครงสร้างอำนาจกันใหม่นับตั้งแต่วันนี้
ในรัฐอภิสิทธิ์ชน คนมีอำนาจทำอะไรก็ไม่ผิด
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 นายกฯ ได้มีข้อสั่งการเป็นมติ ครม. ให้ส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาด เช่น “ให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และให้พิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมต่างๆ อย่างรอบคอบ”
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย ของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาการติดเชื้อโคโรนาไวรัส โดยอ้างคำสั่งตามมติ (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมาย ให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมเช่นการจัดการแข่งขันกีฬา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
แต่ทว่า ในวันที่ 6 มีนาคม 2563 สนามมวยเวทีลุมพินียังคงมีการจัดการแข่งขันชกมวยต่อไป แม้จะมีมติ ครม. ที่ระบุถึงข้อสั่งการของนายกฯ และหนังสือขอความร่วมมือจาก กกท. จนสุดท้าย สนามมวยลุมพินีก็ได้กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อให้กับประชาชนกว่า 160 คน และมีผู้ป่วยเดินทางไปต่างจังหวัดถึง 13 จังหวัด เกิดเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของประเทศไทย
หลังการระบาดใหญ่ที่ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและประธานสนามมวย ได้สั่งการให้ พลโทอยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว และมีคำสั่งย้าย พลตรีราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินีที่มีหน้าที่กำกับดูแลสนามมวยให้เข้ามาช่วยราชการภายในกองทัพ
เรื่องราวดูเหมือนจะจบลงแบบมีคนต้องรับผิดชอบ แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น นี่คือโทษฐานที่เบาและเป็นการรับผิดชอบที่น้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าสนามมวยลุมพินีแตกต่างจากสนามมวยแห่งอื่นๆ ตรงที่เป็นสนามมวยภายใต้การดูแลของกองทัพ ที่มี พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ประธานสนามมวย ซึ่งควบตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้ดูแล
กล่าวคือ สนามมวยดังกล่าวอยู่ในมือของคนที่อยู่ใกล้ใจกลางอำนาจรัฐ แต่กลับบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายต่อประเทศ การย้ายเจ้าหน้าที่เพียงหนึ่งคน จึงสะท้อนภาวะ ‘อภิสิทธิ์ชน’ ที่กล้าฝ่าฝืนอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ และเมื่อเกิดความผิดร้ายแรงก็รับโทษเพียงน้อยนิด ในขณะที่ประชาชนต้องปฏิบัติตัวตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนก็ต้องรับโทษซึ่งมีตั้งแต่โทษปรับไปจนถึงโทษจำคุก
รัฐอภิสิทธิ์ชน คนไม่มีอำนาจทำอะไรก็ผิด
เรื่องตลกร้ายในสังคมไทยก็คือ ความถูกผิดในสังคมบางครั้งขึ้นอยู่กับอำนาจ และคนจนหรือคนที่ไร้อำนาจก็ล้วนเป็นเหยื่อของกฎหมายที่เคร่งครัดและเข้มงวดอย่างไร้สติและไร้หัวใจ โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า มีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ออกนอกเคหสถาน อย่างน้อย 482 ราย และมีการตักเตือน 72 ราย แต่ทว่า ในการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ ก็มีกรณีอย่าง ‘จ่าทหาร’ ถูกสั่งขัง 45 วัน หลังโต้คารม ‘ผู้ว่าฯ ตรัง’ เหตุข้ามด่านเยี่ยมแม่ป่วย หรือ หรือกรณีจับชาวประมงอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่กำลังเดินทางไปออกเรือวางอวน ในทะเลจะนะ และการจับกุมพนักงานขับรถฉุกเฉิน ของ อบต.สะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่กำลังเดินทางเพื่อไปเข้าเวรขับรถ
อย่างกรณีการจับชาวประมง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยิ่งสะท้อนให้เห็นภาวะ ‘เหยื่อ’ ของคนไร้อำนาจในมือรัฐอย่างชัดเจน เขาถูกจำกัดสิทธิอย่างร้ายแรง ไม่ได้รับสิทธิในการติดต่อญาติ ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว และจะถูกส่งตัวไปยังศาลเพื่อดำเนินคดี ทั้งที่ในข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 3 มีข้อยกเว้นการปฏิบัติตามเคอร์ฟิวให้กับการประกอบอาชีพซึ่งจำเป็นต้องกระทำภายในช่วงเวลาพิเศษ เช่น ผู้ประกอบอาชีพประมง
หรือในกรณีเจ้าหน้าที่ยึดอาหารที่มีผู้มาบริจาคบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เพราะในขณะนั้นมีประชาชนจำนวนหลายร้อยคนมายืนรอของ แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการรวมกลุ่มกัน จึงได้เข้าไปเจรจากับผู้บริจาคเพื่อนำโจ๊กไปแจกตามชุมชนแออัดในเขตเทศบาลแทน
กรณีข้างต้นมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า แม้จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อจริง แต่สาเหตุของการรวมตัวที่แท้จริงไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบริจาคแจกจ่ายข้าวของแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ขาดรายได้ เข้าไม่ถึงสิ่งของจำเป็น รวมกรณี คนไร้บ้านเชียงใหม่ถูกจับส่งฟ้องศาล ข้อหาออกจากบ้านเพราะฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ที่สะท้อนให้เห็น การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แบบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และผิดฝาผิดตัว และสะท้อนให้เห็นแต่ความเข้มงวดที่รัฐกระทำต่อประชาชนผู้ไร้อำนาจ
การยกเลิกรัฐอภิสิทธิ์ชน ต้องรื้อโครงสร้างใหม่
ปัญหาของการรับมือสถานการณ์วิกฤติที่มีสำนึกต่อความทุกข์ยากของประชาชนที่ต่ำนั้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะหากผ่าโครงสร้างอำนาจของรัฐไทยออกมา จะพบว่า มันแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ‘อำนาจส่วนบน’ หรืออำนาจสั่งการที่ถูกครอบงำโดยกองทัพ ชนชั้นนำ ส่วน ‘อำนาจในระดับปฏิบัติการ’ ถูกรวมศูนย์ไว้ที่ระบบราชการ ซึ่งทั้งสองส่วนล้วนมีความห่างไกลจากประชาชน
สำหรับอำนาจส่วนบน หรืออำนาจสั่งการนั้นถูกครอบงำโดยกองทัพและชนชั้นนำมาเป็นเวลานาน แต่เริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัด หลังการรัฐประหารในปี 2557 ที่อำนาจทางการเมืองถูกกุมไว้โดยผู้นำเหล่าทัพหรือบรรดาข้าราชการระดับสูง ซึ่งพวกเขาได้วางรากฐานของประเทศใหม่ผ่านการตรากฎหมายและใช้อำนาจพิเศษรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ระบบราชการ ให้ระบบราชการเป็นกลไกหลักในการทำงาน ปฏิเสธอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่น สภาที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อีกทั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 คณะรัฐประหารที่เป็นปีกกองทัพและข้าราชการได้ร่วมมือกับชนชั้นนำออกแบบรัฐธรรมนูญ ให้กองทัพและระบบราชการยังกุมอำนาจทางการเมืองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร การแทรกแซงการเลือกนายกฯ รวมถึงการวางกลไกรัฐซ้อนรัฐ โดยให้กองทัพแทรกซึมไปในวุฒิสภา และอยู่ในโครงสร้างเหนือรัฐบาลอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่ออำนาจในระดับปฏิบัติการถูกรวมศูนย์ไว้ที่ระบบราชการ ซึ่งมีจุดอ่อนในแง่ของความไม่เป็นเอกภาพไปจนถึงความไร้ประสิทธิภาพเพราะผูกโยงไว้ด้วยกฎระเบียบจำนวนมหาศาล และขาดความเข้าใจพื้นฐานต่อปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นการทำงานแบบเพิ่มภาระให้กับประชาชน
สุดท้ายแล้ว รัฐไทยคงไม่อาจหลีกหนีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง และปฏิรูปกลไกการทำงานของระบบราชการไปได้ แต่คำถามสำคัญในตอนนี้คือ ‘เมื่อไร’ เพราะในขณะที่การปฏิรูปของเราเป็นไปอย่างล่าช้า วิกฤติถัดๆ มาก็เตรียมรอคอยเราอยู่