‘พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม’ ปฏิบัติการของรัฐไทยสวนทางสิทธิมนุษยชน สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง

“รัฐได้เพิ่มความพยายามเพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ทางการใช้กฎหมายโดยพลการในการคุกคามและควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร่างกฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับให้สูญหายที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณา ยังมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการได้เพิ่มการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และดำเนินคดีอาญากับบุคคลอย่างน้อย 100 คน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีด้วย”

นี่คือส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2564/65 ที่นำเสนอโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีหลายประเด็นที่ยังคงต้องจับตามอง เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สิทธิเสรีภาพในการสมาคม สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การบังคับบุคคลให้สูญหาย สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น 

นอกจากการเปิดตัวรายงานประจำปี 2564/65 แล้วยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในหัวข้อ ‘เสรีภาพในการสมาคมท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม’ โดย ตัวแทนภาคประชาสังคมที่กำลังถูกจับตามองจากภาครัฐ

นอกจากนี้ แอมเนสตี้จะเปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับโลก เพื่อเรียกร้องให้มีการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และทวงคืนพื้นที่ของภาคประชาสังคมกลับคืนมา

เหตุผลด้านความมั่นคงบนความหวาดระแวง

ตลอดระยะเวลาช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ไทยเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รัฐบาลปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธฺมนุษยชน ทั้งการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ การใช้กฎหมายคุกคามและจับกุมคุมขัง โดยเฉพาะสถิติการดำเนินคดีอาญามาตรา 112 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในสถานการณ์ที่ผ่านมา 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามองและแอมเนสตี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในขณะนี้คือ การที่รัฐบาลเห็นชอบต่อ ‘ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร’ โดยมีเนื้อหาที่ค่อนข้างกว้างเกินไปและอาจครอบคลุมถึงการสั่งห้ามดำเนินงานที่ชอบธรรม รวมถึงกิจกรรมที่ควรได้รับการคุ้มครอง หากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบและผ่านมติคณะรัฐมนตรี องค์กรภาคประชาสังคมอาจถูกบังคับให้ต้องรายงาน รวมถึงเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดภายใต้การให้อำนาจที่กว้างขวางและเกินขอบเขตแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

“สิทธิในการรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ภาค NGO หรือภาคประชาสังคมเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การรวมกลุ่มกันจะทำให้เสียงของประชาชนถูกรับฟังในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากกว่า แต่สิทธิในการรวมกลุ่มมักถูกจำกัด ซึ่งรัฐบาลพยายามใช้กฎหมายเพื่อมาจำกัดสิทธิในส่วนนี้ ในมุมนี้ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องของการให้เหตุผลด้านความมั่นคงบนความหวาดระแวง หรือการอ้างศีลธรรมเพื่อมาควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม”

อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวในเวทีเสวนาในฐานะอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ถูกฟ้องร้องถึง 2 คดี ฐานปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ 

นอกจากนี้ อังคณา ได้กล่าวเน้นย้ำถึงประเด็นมาตราที่ 21 ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ระบุถึงการรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันองค์กรระหว่างประเทศเองได้ให้การสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา โดยการสนับสนุนนั้นเป็นการให้ความช่วยเหลือที่รวมไปถึงภาครัฐด้วย มิใช่เพียงแค่ NGO หรือภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ เช่น ทุนการศึกษาการสนับสนุนในด้านวิชาการ การสนับสนุนเงินทุนในองค์กรเอกชนต่างๆ และองค์กรรัฐ ครอบคลุมถึงองค์กรศาสนาและสถาบันการศึกษา ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้นจึงทำให้เรื่องนี้กระทบต่อการตรวจสอบการใช้ธรรมาภิบาลของรัฐ เช่น กรณีของการค้ามนุษย์ การขูดรีดแรงงาน การล่วงละเมิดทางเพศ การค้าประเวณีเด็ก ซึ่งบทบาทในการตรวจสอบกรณีเหล่านี้เป็นบทบาทที่หน่วยงานเอกชนสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ซึ่งเน้นย้ำว่าในทุกขั้นตอนของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน ดัง ชนั้นการเขียนกฎหมายให้หน่วยงานเหล่านี้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลกระทบต่อความร่วมมือ OECD ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อังคณาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นองค์กรศาสนาหรือองค์กรเอกชนที่ทำงานในเรื่องของการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมไปถึงการหนีภัยจากการสู้รบ รัฐก็ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนหรือสมทบทุนเพื่อการทำงานขององค์กรดังกล่าว

ทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากต่อรัฐบาลไทยในช่วงที่รัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลทะเยอทะยานและมุ่งมั่นที่จะให้ไทยเป็นเจนีวาในเอเชีย แต่ร่างกฎหมายที่ออกมากลับดูย้อนแย้งกับเป้าหมายนั้น

สิทธิมนุษยชนที่หล่นหาย เมื่อรัฐตีกรอบเสรีภาพในการรวมกลุ่ม

จีรนุช เปรมชัยพร กรรมการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (ประชาไท) ได้แสดงทัศนะต่อร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ว่า 

“เราขอเรียกมันว่า พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม ซึ่งมันเป็นเรื่องเดียวกับขบวนการทำลายประชาธิปไตยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เรื่องการพยายามจะปิดกั้นหรือทำลายองค์กร NGO องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ใช่แค่การทุบแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกันซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การปิดกั้นพื้นที่เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และตอนนี้ก็มาถึงเสรีภาพและการสมาคม 

“ในมุมของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน Foundation for Community Educational Media (FCEM)  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรตามกฎหมายของสื่อประชาไท ถ้ามีการปิดพื้นที่สื่อก็จะขาดการตรวจสอบการทำงานและธรรมาภิบาลของรัฐหรือตรวจสอบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลในสังคม เราก็ไม่รู้ว่าสังคมจะดำเนินไปอย่างไร กระบวนการสร้างความไว้วางใจและการดำเนินการให้ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยปกติจะเกิดขึ้นอย่างไร”

หากรัฐไทยยังใช้อำนาจในการเลือกปฏิบัติและจงใจมุ่งร้ายเช่นนี้ สื่อที่ทำหน้าที่ตามหลักเสรีภาพสื่อก็จะไม่สามารถทนอยู่เฉยต่อการปฏิบัติเช่นนี้ของรัฐได้ นี่อาจเป็นสัญญาณอ่อนๆ ของความขัดแย้งหากมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จริง และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่รัฐใช้เครื่องมือของสรรพากรมาควบคุมและคุกคามเสรีภาพของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรยอมให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ จีรนุชได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ถูกนำมาใช้จริง เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม อีกทั้งมองว่าเป็นการาใช้อำนาจแบบเหวี่ยงแห และถึงแม้จะมีการบังคับใช้อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อถึงเวลาจริงก็จะมีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนได้จากมาตรา 18 ของร่าง พ.ร.บ. ที่ระบุว่า อนุญาตให้ผ่อนผันได้ เพราะฉะนั้นนี่คือกฎหมายที่จะออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติและคุกคามบางองค์กรที่ไม่ใช่เด็กดีของรัฐ 

จากการอภิปรายในเวทีเสวนา จะเห็นได้การร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เต็มไปด้วยข้อสงสัยและข้อกังวลเกิดขึ้นมากมาย ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้จึงได้ร่างหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมี เรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว 

ในร่างหนังสือสามารถสรุปใจความได้ว่า แอมเนสตี้พิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอดถอนร่างกฎหมายทันที เพื่อยืนยันถึงพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนในการปกป้อง ส่งเสริม และปฏิบัติตามสิทธิในการสมาคมและสิทธิอื่น

สิทธิมนุษยชนในเอเชีย-แปซิฟิก สถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นวิกฤติ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ร่วมกันนำเสนอภาพรวมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อชวนตั้งคำถามให้นำไปสู่การเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงการวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตและประเด็นที่ต้องจับตามองดังนี้

ประเด็นแรกคือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ถือประเด็นหลักที่หากถูกละเมิดหรือจำกัดสิทธิในด้านนี้ ก็จะเป็นชนวนของการละเมิดสิทธิในด้านอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามผู้เห็นต่าง การจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมและการสมาคม การคุกคามหรืออาจรวมไปถึงการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ เมื่อสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาถูกจำกัด ประชาชนรวมถึงภาคประชาสังคมก็จะไม่สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

ถัดมาคือประเด็นที่เป็นปัญหาตามมาภายหลังจากการที่สิทธิเสรีภาพที่กล่าวมาข้างต้นถูกจำกัด ได้แก่ การจำกัดสิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้อพยพ สิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง อาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย และการลอยนวลพ้นผิด แม้ประเด็นทั้งหมดที่ถูกนำเสนอมาจะมีพัฒนาการในเชิงบวกอยู่บ้าง แต่การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงมีแนวโน้มที่อ่อนแอลง ความถดถอยดังกล่าวสามารถเห็นได้จากตัวอย่างกรณีสถานการณ์การละเมิดและจำกัดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมาที่จะนำเสนอถัดจากนี้

เมียนมา: ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน

นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์ความรุนแรงก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถสรุปได้เป็นประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ 

  • การจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม การปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

รัฐบาลทหารได้ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาที่สามารถเอาผิดทางอาญากับพยายามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ รวมถึงการเพิ่มเติมเนื้อหาตามมาตรา 505(a) เพื่อเอาผิดทางอาญากับความเห็นที่รัฐตัดสินว่าจะก่อให้เกิดความหวาดกลัวและถือเป็นการเผยแพร่ข่าวเท็จ อีกทั้งยังมีการสั่งปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศเป็นครั้งคราวและปิดกั้นเครือข่ายโทรคมนาคม

นอกจากนี้ รัฐได้สั่งปิดสำนักข่าวอิสระอย่างน้อย 5 แห่ง รวมถึงยกเลิกใบอนุญาตสื่อ 8 องค์กร มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 98 คน ถูกจับกุมหลังการทำรัฐประหาร และมีนักข่าวต่างชาติเสียชีวิตระหว่างการจับกุมถึง 3 ราย นอกจากนี้ มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รวมไปถึงกระสุนจริง โดยสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) ได้นำเสนอข้อมูลว่า รัฐบาลทหารได้สังหารบุคคลเป็นจำนวนอย่างน้อย 1,384 คน เด็ก 91 คน และจับกุมอีกจำนวน 11,289 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564)

  • การล่มสลายของระบบสุขภาพและระบบการศึกษาภายหลังการยึดอำนาจ

สิทธิด้านสุขภาพและสิทธิด้านการศึกษา กลายเป็นอีกประเด็นที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ในเมียนมา จากการนำเสนอข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่ามีการใช้กำลังโจมตีสถานพยาบาลและเจ้าหน้าที่กว่า 286 ครั้ง นับตั้งแต่ภายหลังการยึดอำนาจ การโจมตีส่วนใหญ่เป็นผลงานของกองทัพ แม้จะมีรายงานการโจมตีระเบิดของคนร้ายไม่ทราบฝ่ายด้วยก็ตาม ส่งผลให้เจ้าหน้าที่อย่างน้อย 26 คนถูกสังหาร และ 64 คนได้รับบาดเจ็บในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นการศึกษา มีเด็กและเยาวชนเกือบ 12 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ โดยมีสาเหตุมาจากการสั่งปิดสถานศึกษาในทุกๆ ระดับชั้น เนื่องจากมาตรการโควิด-19 และตามปฏิบัติการอื่นๆ ของกองทัพทหาร 

  • การจำกัดสิทธิของผู้พลัดถิ่นในประเทศและการปฏิเสธการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

การโจมตีทั้งอย่างไม่เลือกเป้าหมายและการโจมตีโดยมีเป้าหมาย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกองทัพ รวมถึงเกิดขึ้นระหว่างการสู้รบของกองทัพ องค์กรชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธ และกองกำลังปกป้องประชาชน ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 284,700 คน รวมทั้งเด็กจำนวนกว่า 76,000 คน

รัฐบาลทหารยังจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของผู้พลัดถิ่นในประเทศ มีรายงานการปิดกั้นถนนและรถยนต์ส่งความช่วยเหลือถูกทหารบังคับให้เดินทางกลับ รวมถึงกองทัพได้ทำลายรถพยาบาล เผายุ้งฉางที่เก็บข้าว และเวชภัณฑ์ที่มีไว้เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้พลัดถิ่น โดยรัฐบาลได้เพิ่มเงื่อนไขที่หน่วยงานบรรเทาทุกข์ต้องปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน นั่นคือ ต้องมีการขออนุญาตเดินทางเข้าพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าอย่างมากต่อการจัดส่งความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเปราะบาง

ที่มา:

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า