“เธอก็ไปเที่ยวประเทศมุสลิมสิ หากไม่อยากเหงาๆ เห็นคนฉลองคริสต์มาสกับครอบครัว”
ช่วงคริสต์มาสถึงปีใหม่ในยุโรปเป็นช่วงหยุดยาวของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา นักศึกษาไทยส่วนใหญ่มักหาเรื่องเดินทางไปไหนไกลๆ และใช้เวลาหลายวันข้ามปี เนื่องจากเป็นเทศกาลในฤดูหนาวที่ทุกคนควรพักผ่อนและเฉลิมฉลอง เช่นเดียวกับฉัน ซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทลัยอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์ ที่มาร่ำเรียนอยู่ตั้งแต่ปลายปี 2011
วัฒนธรรมของคนดัตช์ ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นของเนเธอร์แลนด์ก็เช่นเดียวกัน พวกเขามักใช้เวลาฉลองคริสต์มาสกับครอบครัว และถือว่าเทศกาลนี้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของพวกเขากับญาติสนิท หรือคนวงในที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ได้รับการชักชวนร่วมรับประทานอาหารในคืนก่อนวันคริสต์มาส ฉันเคยมีโอกาสร่วมฉลองกับเพื่อนต่างชาติในวันคริสต์มาสอยู่บ้าง แต่ไม่บ่อยนัก อย่างที่บอกว่าหากไม่สนิทกันจริงคงหาคนมาชวนร่วมฉลองด้วยยากหน่อย บางปีฉันไปหาเพื่อนคนไทยในเมืองอื่นๆ แบบคนไม่ได้อินอะไรกับเทศกาลนี้เท่าไร อย่างมากก็ทำกับข้าวกินกัน ไม่มีมาแลกของขวัญเหมือนประเพณีของคนที่นี่ เรียกว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อคลายเหงาของคนอยู่ไกลบ้าน บางปีอาจเลยอยู่ดูพลุหรือประทัดที่จุดหลังปีใหม่ต่างเมืองก่อนกลับฐานที่มั่นที่อัมสเตอร์ดัม
แต่ปลายปี 2015 ฉันคิดต่างไปจากปีที่ผ่านมา ด้วยไม่อยากสัมผัสบรรยากาศเหงาหงอยในคืนคริสต์มาสที่ร้านรวงปิดเร็วกว่าปกติในวันที่ 24 และวันที่ 25 ธันวาคม นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็ปิดด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้คนอยู่ร่วมกับครอบครัว คนอย่างฉันซึ่งครอบครัวอยู่เมืองไทย จึงคิดหาเรื่องออกนอกประเทศอีกครั้ง แต่คราวนี้เกิดคิดอยากไปที่ที่คนไม่ได้เฉลิมฉลองคริสต์มาส หากไม่มีเทศกาล ก็แปลว่าบ้านเมืองไม่เหงา ร้านค้าไม่ปิด และคนไม่ได้อยู่กับครอบครัว เพื่อนเยอรมันคนหนึ่งเคยเปรยกับฉันแบบไม่ตั้งใจว่า “เธอก็ไปเที่ยวประเทศมุสลิมสิ หากไม่อยากเหงาๆ เห็นคนฉลองคริสต์มาสกับครอบครัว”
คำพูดนี้เป็นแรงกระตุ้นอย่างดีให้ฉันหาข้อมูลว่าควรไปที่ไหน ตาไล่กวาดแผนที่ยุโรปทั้งทวีป ด้วยความที่ฉันมีบัตรพำนักอาศัยระยะยาว ที่เรียกว่า resident permit ของประเทศฮอลแลนด์ บัตรพลาสติกแข็งฝังชิปขนาดเท่าบัตรประชาชน เอกสารตัวนี้เป็นเหมือนกับมีวีซ่าเข้าออกประเทศในความตกลงเชงเกน (Schengen) เช่น โปแลนด์ สาธารณรัฐเชค และฮังการี ได้อย่างไม่มีปัญหา ตราบใดที่บัตรพำนักนี้ยังไม่หมดอายุ
ข้อดีของการมีบัตรพำนักนี้ทำให้ฉันสามารถเดินทางไปยังประเทศที่มีข้อตกลงร่วมกับสหภาพยุโรปได้ แม้จะยังไม่เป็นสมาชิกเต็มตัว เช่น ประเทศที่อยู่ในเขตยุโรปตะวันออกหรือทางใต้ เช่น โรมาเนีย บัลแกเรีย หรือเกือบทุกประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan Peninsula) หรือประเทศอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (ต่อไปจะใช้คำว่า ‘ยูโกสลาเวีย’ แทน) เช่น โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มาซิโดเนีย และมอนเตเนโกร (Montenegro)
ประเทศที่เอ่ยชื่อมาหลังๆ คงไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับคนไทยเท่าไรนัก หลายคนอาจใช้เวลาคิดว่ามันอยู่ตรงไหนของทวีปยุโรป เอาเข้าจริงฉันเองก็ไม่มีความรู้มากนัก รู้แต่เพียงคร่าวๆ ก่อนไปว่าอยู่ในยุโรปใต้ หรือจะให้ชัดไปอีกคือยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ฉันยังเรียนปริญญาตรี ก็ได้ยินข่าวสารเกี่ยวกับสงครามโคโซโวกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO) อยู่บ้าง แต่ก็เพียงผ่านหูจากข่าวโทรทัศน์หรือผ่านตาจากพาดหัวหน้าข่าวต่างประเทศในหนังสือพิมพ์ ไม่เคยรู้ว่าใครเป็นใครในสงคราม เกิดความขัดแย้งอะไรขึ้นจนทำให้ต้องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน และประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการอย่างไรในประวัติศาสตร์
ต่อมใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเหล่านี้ที่ได้ยินชื่อมานานเริ่มกระตุ้นให้หาข้อมูลเดินทาง
ฉันตัดสินใจเลือกไปประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (ต่อไปจะใช้คำย่อว่า ‘บอสเนียฯ’) และเซอร์เบีย เพื่อตอบสนองความต้องการเบื้องต้นคือการไปประเทศมุสลิมในช่วงคริสต์มาส ซึ่งบอสเนียฯ เป็นประเทศที่มีมุสลิมเชื้อสายบอสนิแอก (Bosniac/ Bosniak) กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 3.8 ล้านคน ส่วนเซอร์เบียผู้คนส่วนใหญ่เป็นคริสต์นิกายออธอดอกซ์ที่ฉลองคริสต์มาสหลังปีใหม่สากลไปแล้ว และเหตุผลก็ไม่ใช่แค่ต้องการตามรอยสงครามที่เกิดขึ้นมากว่าสองทศวรรษเท่านั้น แต่เพราะการเดินทางไปที่ไหนไม่ใช่แค่สถานที่ที่เลือกไป สถานที่ที่ไปเหมาะกับช่วงเวลาที่จะเดินทางด้วยหรือไม่ด้วย
การเดินทางไปยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ในหน้าหนาวไม่ใช่สิ่งที่คนนิยมกัน เพราะอากาศที่หนาวเหน็บด้วยภูมิประเทศที่อยู่ตอนในของทวีป บางส่วนเป็นพื้นที่สูงและภูเขา ทำให้หน้าหนาวนั้นหนาวกว่าในหลายพื้นที่ในทวีป อุณหภูมิอาจติดลบถึง 20 องศา และเมื่อไม่มีใครนิยมไป ตั๋วเครื่องบินจากเนเธอร์แลนด์ที่บินตรงไปเมืองใหญ่ของ 2 ประเทศนี้จึงเป็นราคาที่พอจ่ายได้สำหรับนักศึกษาที่ได้ทุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางนอกฤดูกาลท่องเที่ยวจึงเป็นอีกเหตุผลสนับสนุนให้ฉันเลือกปักหมุดบอสเนียฯ และเซอร์เบียลงในแผนที่
เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ฉันหาข้อมูลจากหนังสือท่องเที่ยวของห้องสมุดประชาชนในเมืองอัมสเตอร์ดัม และเลือกไปเยือนเพียงเมืองหลักๆ ของ 2 ประเทศ เพราะมีเวลาจำกัดเพียง 7 วัน และต้องการไปลองเปิดหูเปิดตาดูก่อนว่าประเทศแถบบอลข่านนั้นเป็นอย่างไร ฉันออกจากอัมสเตอร์ดัมวันที่ 22 ธันวาคม ด้วยสายการบินราคาต่ำเข้าเมืองตุซลา (Tuzla) ที่ประเทศบอสเนียฯ จากนั้นนั่งรถโดยสารไปยังซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนียฯ และพักค้างคืนอยู่ที่เมืองนี้สามคืน ในระหว่างนั้นฉันเดินทางไปอีกเมืองชื่อมอสตาร์ (Mostar) ก่อนที่จะข้ามแดนไปยังเบลเกรด (Belgrade) เมืองหลวงของเซอร์เบีย ด้วยรถตู้โดยสารรับจ้าง ใช้เวลาอยู่ที่นี่สองคืน ก่อนออกจากเบลเกรดในวันที่ 28 ธันวาคม เพื่อไปสมทบกับเพื่อนบางส่วนที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และกลับเข้าอัมสเตอร์ดัมอีกครั้งหลังปีใหม่ไปแล้ว
ฉันไม่ได้ชวนใครร่วมเดินทางไปด้วย เนื่องจากมีประสบการณ์และเคยชินกับการเดินทางคนเดียวมาบ้างแล้วทั้งในประเทศยุโรปและเอเชีย อีกส่วนหนึ่งคิดว่ามันท้าทายไปหน่อยในการชักชวนเพื่อนร่วมเดินทางไปในที่ที่ไม่ค่อยมีใครได้ยินมาก่อน และยังไม่เริ่มเป็นที่นิยมของคนไทยด้วย เนื่องจากยังไม่เคยมีภาพยนตร์ชื่อดังที่คนไทยรู้จักเลือกประเทศเหล่านี้เป็นที่ถ่ายทำ ยกเว้นโครเอเชียซึ่งอยู่ในคาบสมุทรบอลข่าน ที่เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวไทยจากภาพยนตร์ซีรีส์ Game of Thrones ที่เลือกเมืองชายฝั่งทะเลในโครเอเชียเป็นฉากหลัง
นอกจากนี้ ฉันเจอข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศของไทย ที่ระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า มีคนจากประเทศบอสเนียฯ มาเที่ยวเมืองไทยในปี 2013 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการบันทึก เพียง 1,300 คน ส่วนคนจากเซอร์เบียมาท่องเที่ยวเมืองไทยในปีเดียวกันประมาณ 8,000 คน ข้อมูลระบุอีกว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ที่บอสเนียฯ 4 คน ส่วนในเซอร์เบียมีคนไทยราว 30-40 คน แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าทั้งคนไทยและคนจากประเทศบอสเนียฯ และเซอร์เบียรู้จักกันน้อยมาก
หากต้องชักแม่น้ำทั้งห้า ให้ใครมาร่วมเดินทางด้วยคงไม่ดีแน่ และเมื่อจบการเดินทาง ฉันพบว่าตัดสินใจถูก เพราะสถานการณ์ในช่วงเดินทางไป ฉันต้องจัดการและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้อยู่ แต่หากต้องแบกรับความตื่นตระหนก ความกังวล หรือถึงขั้นผิดหวังของคนร่วมทางที่ไม่แน่ใจว่าจะแบกรับได้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย
การเดินทางไป 2 ประเทศที่อยู่ในคาบสมุทรบอลข่านกระตุ้นให้ฉันกลับมาหาข้อมูลต่อเกี่ยวกับภูมิภาคนี้อีกเป็นปี ต้องยอมรับว่าระหว่างที่เดินทางและพบเจอสิ่งต่างๆ ฉันเข้าใจอะไรบางอย่างไม่กระจ่างนัก ฉันเริ่มค้นคว้าโดยการอ่านหนังสือวิชาการบ้าง รวมทั้งหาภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับภูมิภาคนี้มาดู ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ในที่สุดจึงกลายเป็นบทความกึ่งสารคดีที่มาจากการเดินทางชิ้นนี้ ที่ต้องการบอกเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองพบเห็น การพบปะและพูดคุยกับผู้คนในช่วงเวลาสั้นๆ เท่าที่ทำได้บวกกับเรื่องราวต่างๆ ที่เขียนเพิ่มเติมและสอดแทรกให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น
สิ่งที่ฉันหรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปที่นั่นรู้สึกหรือมีประสบการณ์ร่วมกันคือ ร่องรอยของสงครามและความเจ็บปวดที่คนต้องอยู่กับมัน ขณะที่ก็ต้องเดินไปข้างหน้า งานเขียนชิ้นนี้จึงไม่สามารถแนะนำการเดินทางหรือแหล่งท่องเที่ยวที่รื่นรมย์หรือสวยงาม เพราะข้อมูลเหล่านี้ คนที่สนใจหรืออยากไปจริงๆ สามารถหาอ่านได้จากหนังสือท่องเที่ยวภาษาอังกฤษที่มีการทำข้อมูลได้ดีกว่าฉันมากนัก
สารคดีกึ่งบทความนี้จึงเน้นเรื่องราวที่ฉันต้องการสื่อสารหลังจากที่สัมผัสทั้งความสวยงามของภูมิประเทศและวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นในช่วงเวลาหนึ่ง ฉันแค่รู้สึกได้ว่าเขารู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามและผลพวงที่ตามมา แต่ฉันก็ไม่อาจเข้าใจเพียงพอ การเดินทางครั้งนี้กระตุ้นให้ฉันหาความรู้เพิ่มเพื่อเกิดความเข้าใจ และกลายเป็นดอกผลของการเดินทาง ที่การเดินทางจบลงแล้ว แต่ความกระหายใคร่รู้ไม่ได้จบลงหลังเครื่องบินทะยานขึ้นน่านฟ้าและทิ้งผืนดินที่เราเพิ่งไปเหยียบไว้ข้างหลัง หากแต่กำลังเดินทางไปข้างหน้า และไต่ระดับลงบนพื้นดินของความเข้าใจจากสถานที่ที่เพิ่งจากมา
สงครามในบอลข่านเกิดขึ้นได้อย่างไร คงไม่ใช่เป้าหมายหลักที่ฉันต้องการอธิบาย หากแต่ต้องการเปิดมุมมองในมิติอื่นๆ ซึ่งเป็นผลพวงหลังสงครามกลางเมือง และสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้ง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าคนที่นั่นอยู่ รับรู้และรู้สึกกับปัจจุบันอย่างไร