บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการสิ้นสภาพ สส. ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ
  • ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้เฉพาะกรณีการตรวจสอบการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ‘แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง‘ ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว โดยที่ผู้สมัครนั้นได้รับการเลือกตั้ง
  • คำวินิจฉัยเป็นการวางทับ ‘มาตรหรือบรรทัดฐานใหม่’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเอง โดยเห็นว่าผู้ถูกร้อง ‘ควรทำ’ หรือ ‘อาจทำได้’ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ ‘ต้องทำ’ ตามกฎหมาย
  • ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างอิง ‘ตัดต่อ’ บทบัญญัติแห่งกฎหมายบางมาตรามาเพียงบางท่อนบางส่วนเพื่อประกอบให้สอดรับกับธงแห่งคดี

 

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่ 14/2562 เรื่องพิจารณาตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ผู้ถูกร้องใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ทำให้สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

หลังจากได้พิจารณาคำวินิจฉัยดังกล่าวซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญในวันถัดมาโดยละเอียดแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ต่อสาธารณชนทั่วไปนั้น สมควรที่จะเสนอบทวิเคราะห์ทางกฎหมายแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าว ในประเด็นดังต่อไปนี้

 

1. การเสนอคำร้องและอำนาจพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยการสิ้นสุดลงซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ) ย่อมเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแยกระหว่างกลไกทางกฎหมายในการตรวจสอบ ‘คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับความชอบด้วยกฎหมายในการเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ และการตรวจสอบ ‘คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพลงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ออกจากกันอย่างชัดเจน

การตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น เป็นการตรวจสอบข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นก่อนบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะมีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติกลไกและผู้มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวเอาไว้ จะมีก็แต่เฉพาะใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส. เท่านั้นที่บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่พบเห็นการขาดคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามว่าเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และขึ้นอยู่กับว่าเป็นกรณีของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ

โดยเมื่อพิจารณาจากมาตรา 52, 53, 54 และ 61 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้เฉพาะกรณีการตรวจสอบการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว โดยที่ผู้สมัครซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเท่านั้น

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส. ไม่ได้มีการกล่าวไว้ถึงกรณีที่ปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครพรรคการเมืองแบบบัญชีรายชื่อปรากฎขึ้นหลังวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ก็ตาม ว่าองค์กรใดจะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวได้

ในส่วนของการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพลงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นการตรวจสอบข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งดำรงสมาชิกสภาพความเป็นผู้แทนราษฎรแล้ว

กล่าวคือ ‘เป็นการตรวจสอบปัญหาข้อเท็จจริงเรื่องการขาดคุณสมบัติหรือการมีลักษณะต้องห้ามนับแต่ช่วงเวลาที่เข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นต้นไป’

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือหากเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่ามีเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย อันเป็นคดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (5)

อย่างไรก็ตาม คดีนี้เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยผู้ร้องเสนอคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ร้องเห็นว่าผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)” ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า “กรณีนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย”

จะเห็นได้ว่า ผู้ร้องและศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ยึดถือหลักการและกลไกตามที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส. บัญญัติเอาไว้เลย แต่กลับผสมปนเปให้ทั้งสองเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะอธิบายไว้ในคำวินิจฉัยว่าเป็นกรณีที่ ‘รัฐธรรมนูญบัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาใช้เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ซึ่งหมายความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ที่บัญญัติให้เอาลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 98 เป็นลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ตาม

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเอาปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ถูกร้องจะมีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาใช้ในการวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้ ย่อมเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้บิดผันรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) เสียใหม่ให้กลายเป็นว่า ‘การมีลักษณะต้องห้ามในฐานะที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง’ นั้นเป็น ‘ลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ อันส่งผลให้สมาชิกภาพต้องสิ้นสุดลงด้วย

หากจะอธิบายว่าเป็นการตีความขยายเขตอำนาจเพื่อให้ครอบคลุมไปถึงกรณีที่ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติเอาไว้ ก็ย่อมขัดต่อ ‘หลักการมีเขตอำนาจจำกัดของศาลรัฐธรรมนูญ’ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 210 ประกอบ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 7 บัญญัติไว้ว่า ต้องเป็นคดีที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นเท่านั้น

หรือหากจะอธิบายว่าเป็นการตีความบนฐานของรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ก็จะหมายความต่อไปว่า บรรดากลไกทั้งหลายที่บัญญัติไว้ใน พรป.เลือกตั้ง สส. นั้นย่อมไม่จำเป็น และกลายเป็นหมันไป เพราะต่างล้วนแต่อยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ประกอบมาตรา 101 (6) และมาตรา 98 (3) แล้วทั้งสิ้น การตีความเช่นนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้จัดทำร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส. ซึ่งก็คือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเอง

เมื่อไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญหรือ พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส. ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครพรรคการเมืองแบบบัญชีรายชื่อที่ปรากฎขึ้นหลังวันเลือกตั้งได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องที่เสนอให้ศาลตรวจสอบ ‘คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ของผู้ถูกร้องผ่านช่องทางการตรวจสอบ ‘การสิ้นสุดสมาชิกภาพลงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม’ ซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกัน

คำร้องและคำสั่งรับคำร้องในคดีนี้จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตลอดถึงหลักการพื้นฐานเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

 

2. เจตนารมณ์หรือหลักการที่ควรจะเป็น ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติให้ ‘เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ’ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) บัญญัติให้สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อเป็น ‘เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ’ โดยศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเจตนารมณ์ของเรื่องนี้ไว้ในคำวินิจฉัยว่า “เพื่อมิให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่บุคคลใดเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง และเพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจครอบงำสื่อมวลชน อันจะทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง”

โดยเมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจากนิยามความหมายของคำว่า ‘หนังสือพิมพ์’ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ประกอบกับการจดทะเบียนวัตถุประสงค์และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้จดทะเบียนเป็น “ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550” ซึ่งแม้จะ “หยุดกิจการโดยยุติการผลิตนิตยสารและเลิกจ้างพนักงานบริษัท” แล้ว แต่ “ตราบใดที่ยังมิได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการ” ก็ “ยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่”

แม้ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้ให้ความหมายของ ‘หนังสือพิมพ์’ โดยอ้างอิงตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 แต่อย่างไรก็ตาม ความหมายของ ‘สื่อมวลชน’ นั้นก็ยังคงไม่ชัดเจนว่ามีขอบเขตเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่สื่อออนไลน์ต่างๆ ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นมาก

ภายใต้ขอบเขตของถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การตีความให้ความหมาย ‘หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน’ ที่เป็นลักษณะต้องห้ามซึ่งจำกัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดและประกอบกันไปกับการพิจารณาสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมาย (มาตรา 34) สิทธิในทรัพย์สิน (มาตรา 37) และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ (มาตรา 40)

โดยข้อจำกัดดังกล่าวนอกจากจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองอิสระของสื่อมวลชนแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองการตัดสินใจอย่างอิสระของประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยปราศจากการครอบงำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะกระทบต่อหลักการเลือกตั้งอย่างเสรีที่เป็นคุณค่าพื้นฐานของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยด้วย ในการวินิจฉัยแต่ละกรณีจึงต้องชั่งน้ำหนักคุณค่าทั้งหลายนี้ประกอบกันไป หากมุ่งแต่จะตีความอย่าง ‘ล้นเกิน’ ก็จะเป็นการสะท้อนทัศนคติว่า ผู้ใช้กฎหมายนั้นไม่เคารพในวิจารณญาณหรือความมีเหตุมีผลในตัวเองของประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

3. ดุลพินิจในการรับฟังและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเพื่อโต้แย้งหักล้างข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า “แม้ผู้ถูกร้องจะมีพยานหลักฐานมาแสดง” และ “แม้ผู้ถูกร้องจะได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานจากข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” และ “แต่เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายจุดหลายประการ ประกอบกับพยานหลักฐานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่สอดรับกันอย่างแน่นหนาแล้ว ย่อมมีความน่าเชื่อถือได้มากกว่าพยานหลักฐานของผู้ถูกร้อง ข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อมที่เป็นพิรุธน่าสงสัยหลายประการประกอบกันมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องได้”

อย่างไรก็ตาม หากลองไล่เรียงประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลโต้แย้งปฏิเสธพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องและชั่งน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานทางกฎหมายในแต่ละกรณีนั้น ผู้เขียนเห็นว่า เหตุสนับสนุนและผลสรุปของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความบกพร่องและมีปัญหาในเชิงนิติศาสตร์อย่างร้ายแรงในสองประเด็นใหญ่ กล่าวคือ

3.1 ในการหักล้างพยานหลักฐานการโอนหุ้นของผู้ถูกร้องซึ่งได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม และมาตรา 1141 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหรืออ้างพยานหลักฐานใดเลยที่เป็นการโต้แย้งปฏิเสธพยานหลักฐานการโอนหุ้นของผู้ถูกร้องโดยตรง มีก็แต่เพียงการสอดแทรกวิสัยที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ผู้ถูกร้อง มารดาผู้ถูกร้อง หรือภริยาผู้ถูกร้อง ‘ควรทำ’ หรือ ‘อาจทำได้’ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ไม่ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) โดยเร็ว “ทั้งๆ ที่การโอนหุ้นครั้งนี้มีความสำคัญต่อการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ถูกร้องอย่างยิ่ง” หรือเป็นเรื่องที่ “สามารถกระทำได้โดยไม่มีความยุ่งยากแต่ประการใด” หรือ “ไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง” แต่ “สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนได้” ตลอดไปจนถึงการสร้าง “ปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป” และแนวทาง “การดูแลกิจการในครอบครัว” ตามแบบฉบับของศาลรัฐธรรมนูญเองขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรวินิจฉัยความน่าเชื่อถือในคดีนี้

การอธิบายแนวทางหรือทางเลือกอื่นที่อาจเป็นไปได้ตามวิสัย ทัศนคติ รสนิยม หรือจริตของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่นิติวิธีเชิงตรรกะที่เป็นการโต้แย้งข้อสันนิษฐานตามกฎหมายซึ่งผู้ถูกร้องได้รับประโยชน์แต่อย่างใด แต่เป็นการวางทับ ‘มาตรหรือบรรทัดฐานใหม่’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเอง โดยเห็นว่าผู้ถูกร้อง ‘ควรทำ’ หรือ ‘อาจทำได้’ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ ‘ต้องทำ’ ตามกฎหมายก็ตาม

กรณีจึงกลับกลายเป็นว่า เมื่อผู้ถูกร้องไม่ได้ทำตามวิสัย ทัศนคติ รสนิยม หรือจริตของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีพยานหลักฐานที่เข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ซึ่งเป็นไปตามบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ผู้ถูกร้องก็ต้องหลุดไปจากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รับรองไว้

ปัญหาของแนวทางการโต้แย้งดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นการกลับหัวกลับหาง ผลักผู้ที่ได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานทางกฎหมายให้กลายเป็นผู้มีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์แล้ว ยังเป็นการกำหนดบรรทัดฐานที่เกิดจากการแปลงเอาทัศนคติของศาลรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นมาตรหรือหลักเกณฑ์ซึ่งส่งผลต่อการวินิจฉัยทางกฎหมายขึ้นมาใหม่ในขณะพิจารณาวินิจฉัย เพื่อใช้ย้อนกลับไปตัดสินข้อเท็จจริงซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้วในอดีตอย่างเป็นโทษอีกด้วย

3.2 ในขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างอิง ‘ตัดต่อ’ บทบัญญัติแห่งกฎหมายบางมาตรามาเพียงบางท่อนบางส่วนเพื่อประกอบให้ ‘เจือสม’ หรือสอดรับกับธงแห่งคดีอย่างบิดเบือน กล่าวคือ มีการอ้าง “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเช็คคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 ให้ผู้ทรงเช็คมีหน้าที่ต้องนำเช็คไปยื่นต่อธนาคารตามเช็คเพื่อให้มีการใช้เงินภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน หากเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกันกับเมืองที่ธนาคารตามเช็คที่มีหน้าที่จ่ายเงินตั้งอยู่” เพื่ออธิบายว่าผู้ถูกร้องมี ‘หน้าที่’ นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินภายในหนึ่งเดือน เพื่อตั้งพิรุธถึงการนำเช็คไปขึ้นเงินล่าช้า เพื่อประกอบกับข้อโต้แย้งอื่นๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกขึ้นมาในคำวินิจฉัยทั้งก่อนและหลังการวิเคราะห์ในประเด็นนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับการอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม และมาตรา 1141 ในคำวินิจฉัยหน้าที่ 26 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้คัดลอกเอาถ้อยคำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาโดยตรงอย่างครบถ้วน จะเห็นได้ว่าการอ้างบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 ที่ปรากฏในคำวินิจฉัยหน้าที่ 22 ในเรื่องนี้มีความแตกต่างออกไป กล่าวคือ ศาลไม่ได้ใช้วิธีการคัดลอกมาโดยตรง แต่กลับใช้การสรุปและเทรกเพิ่มคำว่า ‘หน้าที่’ ลงไปในประโยค ทั้งๆ ที่คำดังกล่าวไม่ได้ปรากฏอยู่ในกฎหมาย

ซึ่งเมื่ออ่านประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990 ให้ครบทั้งมาตราจะพบว่า แม้มาตราดังกล่าวจะบัญญัติไว้ให้ “ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น” ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็น ‘หน้าที่’ อย่างเคร่งครัดหรือคอขาดบาดตายอันส่งผลต่อความสมบูรณ์ของเช็คหรือสิทธิในการขึ้นเงินกับธนาคารหรือสิทธิต่อผู้สั่งจ่ายอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างใด

มาตรา 990 กำหนดต่อไปไว้แต่เพียงว่า “ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น” เท่านั้น กล่าวคือ หากพ้นระยะเวลาหนึ่งเดือนไปแล้ว ถ้าได้นำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินแล้ว ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น จะไม่สามารถไปไล่เบี้ยเอาจากผู้สลักหลังได้ หรืออาจเรียกเอาจากผู้สั่งจ่ายได้ไม่ทั้งหมดเท่านั้น หากเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายเสียหายจากการล่าช้าดังกล่าว ทั้งนี้ ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีการเทียบเคียงถึงกรณีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารในกรณีอื่นๆ ซึ่งแม้จะล่วงพ้นเกินระยะเวลาหนึ่งเดือนไปแล้ว ก็สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้โดยไม่มีปัญหา

ด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเหตุและผลที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีนี้อย่างสิ้นเชิง และเห็นว่านี่เป็นอีกคดีหนึ่งที่ไม่ใช่การตัดสินวินิจฉัยไปตามนิติวิธีการใช้การตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่เป็น ‘คำวินิจฉัยทางการเมือง’ ดังเช่นหลายๆ คดีของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา

 

Author

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านทฤษฎีรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยเมือง Münster ประเทศเยอรมนี เจ้าของผลงานหนังสือ 'ตลกรัฐธรรมนูญ' และเคยมีบทบาทในฐานะหนึ่งในสมาชิก 'กลุ่มนิติราษฏร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร'

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า