1. ถนนในเสียมเรียบ
😵
หากคุณเลือกวิธีเดินทางเที่ยวชมกลุ่มปราสาทในเมืองเสียมเรียบด้วยวิธีปั่นจักรยาน สิ่งที่ควรรู้ลำดับแรกคือ ที่นี่รถช้าวิ่งชิดขวา รถยนต์ใช้พวงมาลัยซ้าย ตามการวางระบบถนนของฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม
สิ่งที่ควรรู้ลำดับถัดมาคือ ขณะที่คุณปั่นจักรยานชิดขวา คุณอาจเผชิญหน้ากับมอเตอร์ไซค์วิ่งสวนมาได้ทุกวินาที คนขับมอเตอร์ไซค์จะทำสีหน้าเรียบเฉยราวกับไม่มีอะไรผิดบาป (สีหน้าอาการคล้ายๆ กับมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งบนฟุตบาทในประเทศกรุงเทพฯ)
ข้อควรระวังมีอยู่ว่า หากคุณคิดจะเบี่ยงซ้ายหักหลบมอเตอร์ไซค์คันที่วิ่งสวนเข้ามา คุณอาจถูกรถยนต์ขนาดใหญ่เฉี่ยวชนล้มกลิ้งกลางถนน ไม่ใช่แค่เสียบุคลิก แต่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่ายๆ
ประชากรรถยนต์ในเสียมเรียบประกอบด้วยสองชนเผ่าหลัก เผ่าแรก มอเตอร์ไซค์ สามล้อพ่วงข้างบรรทุกผักปลา และจักรยานชาวบ้าน อีกเผ่าคือรถยนต์ขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ รุ่นยอดนิยมได้แก่ Toyota Camry และ Lexus SUV เราจะไม่ค่อยเห็นรถยนต์ขนาดเล็กและรถกระบะ
ถ้าพฤติกรรมบนท้องถนนคือข้อตกลงอารยธรรมสมัยใหม่ ประชากรรถบนถนนก็คือภาพแทนกลุ่มประชากรในประเทศ มันให้ข้อมูลเบื้องต้นกับเราว่า ที่นี่มีทั้งคนที่รวยมากและคนที่จนมาก
2. ใบหน้าของเสียมเรียบ
🤔
เราไม่ได้อยู่ในเสียมเรียบนานพอที่จะพูดอะไรได้มาก ที่เราเห็นคือเสียมเรียบเอียงหน้าให้เราเห็นอย่างน้อยสองด้าน
ด้านที่หนึ่ง ที่นี่คือเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ นับจากต้นปีจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม มีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่นี่ราว 1.5 ล้านคน เสียมเรียบจึงมีร้านเบอร์เกอร์เจ้าดัง มีร้านกาแฟหน้าตาชิคๆ มีถนนข้าวสารให้นั่งจิบเบียร์ฟังเสียงกลองเสียงเบสตื๊ดๆ และมีคนท้องถิ่นที่สามารถผนวกตัวเองเข้ากับคลื่นธุรกิจท่องเที่ยวในยุค 20 ปีก่อนหน้านี้ กระทั่งกลายมาเป็นคนรวยในปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่ง เสียมเรียบก็เหมือนจังหวัดท่องเที่ยวตามชนบทอื่นๆ ชาวบ้านก็เป็นชาวบ้าน หากเราไม่ไปคาดหวังเพ้อเจ้อว่าพวกเขาจะต้องใสซื่ออินโนเซนส์ คิดกำไรขาดทุนไม่เป็น เราก็จะพบว่าพวกเขาก็คือคนชนบทที่น่ารัก ยิ้มง่าย ขี้อาย แต่มีน้ำจิตน้ำใจ และซื่อตรงเท่าที่จะซื่อตรงได้
3. เวลาในเสียมเรียบ
😌
ใครที่เกิดและโตจากต่างจังหวัดในช่วง 40-50 ปีก่อน ฉากและชีวิตในเสียมเรียบจะดึงคุณไปสู่ภวังค์ความหลัง จมดิ่ง ดื่มด่ำ ร้าวรันทด ตามแต่ประสบการณ์ส่วนตัวของใคร
ตลอดแนวคูน้ำขนาดใหญ่รอบนครวัดในช่วงเย็นย่ำ จะมีชาวเสียมเรียบหอบลูกจูงหลาน ปูเสื่อหย่อนใจ (ยังเข้าใจภาวะอารมณ์ที่เรียกว่า ‘หย่อนใจ’ กันอยู่ใช่ไหม) รถเข็นเร่ขายถั่วทอดเคลือบรสหวาน เด็กๆ ร้องบอกแม่จะกินขนมทอดทำจากแป้ง ถั่ว และน้ำตาล คนหนุ่มสาวมากันเป็นคู่ มีกระป๋องเบียร์ Angkor เสียบอยู่ตะกร้าหน้ามอเตอร์ไซค์ พ่อค้าขับมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างบรรทุกถาดหอยขมหอยแครงแบบยำทั้งเปลือก เสนอขายเป็นกับแกล้ม
เมื่อราว 40 กว่าปีก่อน เราพักผ่อนกันแบบนี้ กินขนมแบบนี้ และมีความสุขด้วยวิธีการเช่นนี้
แต่ไกลถัดออกไปอีกไม่กี่ร้อยเมตรเป็นลานกิจกรรม มีเสียงซอ เจรียง ดังแว่ว สลับขับเบียดกับเสียงเพลงประกอบการเต้นแอโรบิคหมู่
4. แผลเป็นจากสงคราม
🤕
เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว คนที่เคยไปกัมพูชาจะพูดเหมือนกันว่า ที่นี่อุดมด้วยร่องรอยความหดหู่สูญเสียจากสงคราม
คนที่เพิ่งกลับจากปั่นจักรยานที่นั่นเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ยังรู้สึกไม่ต่างกัน
เราควรรู้สึกอย่างไรกับวงดนตรีพื้นเมืองหัวถนน Pub street สมาชิกสูญเสียอวัยวะเกือบทั้งวง ขาปลอมวางอยู่ข้างๆ ม้านั่ง คนเมาเดินเซผ่านไปมา
เราควรรู้สึกอย่างไรเวลาปั่นจักรยานผ่านหญิงชราสวมชุดดำ ผู้นั่งสนทนากับท้องฟ้าอยู่บนพื้นถนนริมทาง ถัดจากนั้นอีกไม่กี่กิโลเมตร เราก็พบผู้หญิงอีกคนอยู่ในลักษณาการคล้ายคลึงกัน เพียงแต่เธอพูดคุยกับมวลอากาศ และปรากฏเส้นทางน้ำตาบนแผ่นแก้มกร้านแดดยับย่น
เราควรรู้สึกอย่างไร เมื่อเดินวนออกจากปราสาทบันเตียสเรยในยามบ่ายคล้อย ถนนทางออกเป็นทางอ้อมผ่านป่าละเมาะ ไม้ใหญ่ขึ้นครึ้มบังแสงแดดเกือบมิด ฝนเพิ่งหยุดตก อากาศชื้นเย็น ระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรเบื้องหน้ามีผู้หญิงนั่งอยู่กับพื้น ก้มหน้าเหมือนกำลังคุ้ยหาอะไรสักอย่าง เมื่อเดินเข้าไปใกล้จึงเห็นว่าเธอกำลังใช้หวีสีชมพูเขี่ยพื้นผิวทางเดินเล่น พอรู้สึกตัวว่ามีคนเดินเข้ามาใกล้ เธอจึงเงยหน้าขึ้นมาสบตา
ใบหน้าเธอสูญหาย ไม่มีจมูก แผลเป็นบริเวณส่วนที่เคยเป็นริมฝีปาก ดึงรั้งผิวหนังใบหน้า ส่งผลให้รูปปากฉีกยาวเปิดถึงแก้ม ลามไปถึงใบหูแหว่งวิ่น ดวงตาที่มองประสานเหลือเพียงข้างเดียว มันเป็นรอยแผลของคนที่รอดชีวิตจากการถูกไฟไหม้อย่างรุนแรง
เราไม่รู้หรอกว่าเธอผ่านอะไรมา ที่พอรู้คือไม่กี่สิบปีก่อนแถวนี้คือดินแดนสังหารหมู่ที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติสมัยใหม่
5. ขนาดของปราสาท
😱
สำหรับผู้คนในประเทศที่นิยมสร้างสิ่งของใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อบันทึกลงกินเนสส์บุ๊ค การปะทะกับนครวัดตรงๆ ซึ่งหน้าเป็นครั้งแรกอาจทำให้บังเกิดอาการเอ่อท้นน้ำตาซึม อย่างที่อาร์โนลด์ ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษพูดไว้น่ะถูกแล้ว – See Angkor Wat and die.
วลีนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ East to West: A Journey Around the World ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2501 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ภายหลังจาก อาร์โนลด์ ทอยน์บี มีโอกาสมาเยือนนครวัดครั้งแรก พ.ศ. 2499 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้นำเสนองานเล่มนี้ของทอยน์บีมาสู่สังคมไทย ตั้งข้อสังเกตว่าต้นฉบับเดิมเขียนว่า See Angkor and die. ดังนั้นความหมายวลีนี้ของทอยน์บี ไม่น่าจะเป็นตัวปราสาทนครวัดเดี่ยวๆ แต่น่าจะหมายถึงกลุ่มปราสาทต่างๆ ในพระนครที่มีอยู่รวม 30 แห่ง
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ปราสาทนครวัดก็ยังคงเป็นเทวสถานที่ก่อสร้างด้วยหินขนาดใหญ่อลังการ อาณาบริเวณที่ยอมรับกันในระยะหลังคือ 402 เอเคอร์ หรือราว 1.6 ตารางกิโลเมตร ผังรูปแบบปราสาทจำลองเขาพระสุเมรุ ผู้สร้างคือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 นับถือฮินดูนิกายวิษณุเวฎ คือเชื่อว่าพระวิษณุเป็นเทพสูงสุดในบรรดาเทพฮินดูทั้งปวง
นัยของการสลักรูปพระวิษณุในปราสาท ก็คือภาพแทนสุริยวรมันที่ 2 ในฐานะวิษณุอวตารลงมาปกครองโลก เวลาประชาชนเข้ามาทำพิธีบูชาเทวสถานแห่งนี้ จึงเสมือนแสดงความเคารพต่อพระวิษณุ และสุริยวรมันที่ 2 ผู้เป็นอวตารของพระวิษณุไปพร้อมกัน จิตร ภูมิศักดิ์ ระบุว่าสมัยนั้นเรียกนครวัดว่าวิษณุโลกหรือพิษณุโลก
นครวัดสร้างในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 สุริยวรมันที่ 2 ครองราชย์ช่วงปี ค.ศ. 1113-1150 หรือ พ.ศ. 1656-1693 ก่อนความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรสุโขทัยราว 100 ปี (อาณาจักรสุโขทัย พ.ศ. 1792-2126) ในยุคที่ขัดสนเครื่องกลทุ่นแรงนั้น ต้องขนส่งหินทรายจากแหล่งพนมกุเลนซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 50 กิโลเมตร จำนวนกว่า 600,000 ลูกบาศก์เมตรเพื่อใช้ในการก่อสร้าง
ระหว่างครุ่นคิดจินตนาการวิธีเคลื่อนย้ายหินทราย การตัดแต่ง คำนวณ และจัดวางเป็นปราสาท ควรพิจารณารูปแกะสลักนูนต่ำที่มีชื่อเสียงในปราสาทนครวัดควบคู่กันไปด้วย ทั้งนางอัปสราผู้มีรายละเอียดเสื้อผ้าหน้าผมแตกต่างกันกว่า 1,700 นาง ลวดลายบนเสาหิน เรื่องเล่าบนผนังกำแพงระเบียงคด ภาพสลักการกวนเกษียรสมุทรเกษตร ฉากรบในทุ่งคุรุเกษตรในวรรณคดีมหาภารตะยุทธ ฯลฯ
แน่นอนว่า ย่อมต้องอาศัยศรัทธาแรงกล้ามหาศาล มนุษย์จึงวิริยะอุตสาหะสลักหินทรายได้ละเอียด ประณีต อ่อนช้อยปานแทงหยวก แต่ลำพังศรัทธาของปัจเจกบุคคล ช่างผู้เป็นเอตทัคคะอย่างมากก็ทำได้แค่สลักเสาหิน หน้าบัน ทับหลัง ได้แค่คนละไม่กี่ชิ้น
สิ่งประกอบสร้างอาณาปราสาทอันยิ่งใหญ่จึงมิใช่อะไรอื่น แต่มันคือหลักฐานสะท้อนระบบการปกครอง การบังคับบัญชาทางสังคมที่ทรงประสิทธิภาพถึงขีดสุด ระบบที่ทำให้ทุกคนทำงานตามสั่งอย่างเคร่งครัด ไม่มีพื้นที่ให้กับความลังเลสงสัย
ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบไหนเล่า จึงจะสั่งคนได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเยี่ยงนี้
ดังนั้นแล้ว เวลาที่เราเดินเข้าไปปะทะกับสิ่งปลูกสร้างในยุคโบราณที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ความรู้สึกที่บังเกิดอย่างฉับพลันมันจึงไม่ใช่เพียงความซาบซึ้งตื่นตะลึง หากเป็นความเยียบเย็น สยดสยอง มองเห็นระบบเกณฑ์แรงงานทาสในอดีตอันน่าหวั่นสะพรึง
6. อายุของความเชื่อ
😇
เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สวรรคต ราชสำนักและพราหมณ์ทำพิธีบรรจุพระศพฝังลงใต้เทวรูปพระวิษณุ ผนวกรวมกษัตริย์ผู้เป็นสมมุติเทพเข้ากับพระวิษณุผู้เป็นใหญ่อย่างสมบูรณ์ ตามความเชื่อนี้ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จะถือกำเนิดใหม่ เป็นอมตะ และคงอยู่นิรันดร
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงถัดจากนั้นมีอยู่ว่า ภายหลังสิ้นสุดยุคสุริยวรมันที่ 2 ผู้นับถือฮินดูนิกายวิษณุเวฎ ศาสนาพุทธได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนแห่งนี้แทนที่ฮินดู กระทั่งนามเดิมที่เรียกเทวสถานนี้ว่าวิษณุโลกหรือพิษณุโลก ถูกแทนที่ด้วยคำว่าพระนครวัดหรืออังกอร์วัด ซึ่งมีความหมายเป็นพุทธศาสนสถาน เริ่มมีการนำพระพุทธรูปเข้าไปประดิษฐานในปราสาท
พุทธศาสนาลัทธิมหายานเบ่งบานขีดสุดในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ย้ายศูนย์กลางราชธานีจากปราสาทบาปวนซึ่งเป็นเทวสถานลัทธิไศวนิกาย (นับถือพระศิวะเป็นใหญ่) สถาปนาศูนย์กลางอาณาจักรใหม่ในนามพระนครหลวงหรือนครธม อันมีปราสาทบายน สลักรูปหน้าชัยวรมันที่ 7 เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าที่มีชีวิต หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ดูแลทุกข์สุขปัดเป่าเภทภัยให้แก่ปวงอาณาประชาราษฎร์
สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลังชัยวรมันที่ 7 ก็คือ เมื่อกษัตริย์รัชกาลถัดๆ ไป หันมานับถือฮินดู ชะตากรรมของรูปสลักนูนต่ำพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตามหน้าบัน ทับหลัง ที่ปรากฏอยู่ในปราสาทที่สร้างในยุคชัยวรมันที่ 7 อาทิ ปราสาทตาพรหม ที่สร้างให้แม่ ปราสาทพระขรรค์ ที่สร้างให้พ่อ รวมถึงพระพุทธรูป ต่างถูกสกัดทุบทิ้งโดยคำสั่งผู้มีอำนาจในยุคหลังเกือบทั้งหมด
7. เรื่องเล่าของเจ้าผู้ปกครอง
😈
จริงอยู่ว่า ปราสาทบายนมีใบหน้าชัยวรมันที่ 7 สลักเป็นภาพจำ ในฐานะพระพุทธเจ้าที่มีชีวิต หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอันขรึมขลัง อลังการ ภาพสลักบางใบหน้าสำแดงความลึกลับอย่างจงใจ
บุญของการได้ไปเดินชมปราสาทบายนกับ กฤช เหลือลมัย ก็คือ แทนที่จะเดินบุ่มบ่ามข้ามธรณีประตูพรวดพราด ด่วนป่ายปีนเข้าไปชมใบหน้าบายนอย่างนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ เราได้รับคำแนะนำให้เดินชมภาพสลักบนแนวระเบียงคดรอบปราสาทเสียก่อน
มนุษย์แถวนี้ชอบเล่าเรื่อง ปราสาทที่สร้างก่อนหน้ายุคนครธม อาทิ บันเตียสเรย อังกอร์วัด มักจะมีภาพสลักเล่าเรื่องจากฉากเด่นๆ ในวรรณคดีฮินดู ไม่ว่าจะเป็นรามายณะ หรือมหาภารตะ แต่ภาพสลักเรื่องเล่ารอบปราสาทบายน ซึ่งเป็นปราสาทประจำรัชสมัยของชัยวรมันที่ 7 กลับเล่าเรื่องฉากชีวิตสังคมในยุคนั้น ทั้งวิถีชีวิต การหากินหาอยู่ แสดงถึงการแบ่งแยกหน้าที่อันชัดเจน และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรถึงขีดสุด
แน่นอนว่า ฉากใหญ่คือผลงานการรบพุ่งอันเกรียงไกรของทัพขอมนำโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งการรบบนบก บนหลังช้างหลังม้า การรบทางเรือที่โตนเลสาบ ชัยชนะเหนือทัพจาม ใบหน้านักรบจามบางคนที่ทำหน้าเหมือนถูกบังคับให้มารบ บทบาทของนักรบตาตี่ที่สู้บนหลังช้าง การล้มตายของไพร่ราบทหารเลวตามสำนวนเลือดนองท้องช้าง ฯลฯ ความเพลิดเพลินระดับน้องๆ การเสพซีรีส์ Netflix อยู่ที่รายละเอียดของเรื่องเล่าที่สลักเสลาอยู่บนแผ่นหิน
ถ้าเราเชื่อว่าทุกเรื่องเล่าย่อมมีเจตจำนง หน้าที่ของภาพสลักบนระเบียงคดรอบปราสาทบายนก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากคือการบันทึกประวัติศาสตร์ความรุ่งโรจน์แห่งยุคสมัย บันทึกชัยชนะในการสู้กับอาณาจักรอื่น รวมถึงทำหน้าที่บอกเล่าตำแหน่งแห่งที่ ลำดับช่วงชั้นของพลเมืองในสังกัดสังคมที่มีอำนาจบังคับใช้แรงงานไพร่พลอันทรงประสิทธิภาพสูงสุดยุคหนึ่งของอารยธรรมขอม
หมดยุคชัยวรมันที่ 7 อารยธรรมขอมก็เข้าสู่ช่วงขาลง ปราสาทบายนกลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งสุดท้ายของความรุ่งโรจน์
8. ขอมผู้เสกดินให้เป็นหิน
🙄
ในบรรดากลุ่มปราสาท 30 แห่งในพระนครวัด เราเลือกชมปราสาทบันทายศรีหรือบันเตียสเรยเป็นแห่งแรก เหตุผลของมัคคุเทศก์คือ – – เล็กๆ แต่แน่น
บันเตียสเรยสร้างโดยพราหมณ์ยัชญวราหะ เชื่อว่าเสร็จในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1554) วัตถุประสงค์การสร้างเพื่อถวายแด่พระศิวะ จุดเด่นของปราสาทขนาดเล็กอายุหนึ่งพันกว่าปีเก่าแก่กว่านครวัด-นครธมก็คือ ภาพแกะสลักบนหินทรายสีชมพูเกรดพรีเมียมที่ยังคมชัดแม้นผ่านร้อนผ่านฝนมายาวนาน
มัคคุเทศก์กฤช เหลือลมัย เล่าเรื่องซุบซิบในหมู่นักเรียนโบราณคดีว่า ความละเอียด อ่อนช้อย ประณีตระดับเทพพนมของงานแกะสลักหินฝีมือช่างขอม ทำเอาช่างไทยทำใจยอมรับไม่ได้ พวกเขาบอกว่าขอมใช้เล่ห์เหลี่ยมแกะสลักดิน จากนั้นจึงใช้น้ำยาพิเศษสาดเข้าไปหลังจบงาน น้ำยาพิเศษชนิดนั้นจะทำให้ดินแข็งกลายเป็นหิน ไม่เช่นนั้นไม่มีทางทางแกะได้ละเอียดเยี่ยงนี้เป็นแน่
ถ้าเรื่องเล่านี้เป็นจริง มันก็สะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานได้พอสมควร
ระหว่างการตั้งคำถามว่า พวกเขาทำได้อย่างไร กับ พวกเขาโกงอย่างไร มันก็มักจะบอกอนาคตของผู้ถามได้ไม่ยาก
9. เส้นทางของปราสาทหิน
😃
บ่วงกรรมประการหนึ่งของผู้ถือสัญชาติไทยเวลาไปดูปราสาทหินถิ่นกัมพูชาก็คือ เราต้องออกแรงว่ายข้ามห้วงมหรรณพแห่งนิยามความเป็นชาติ และทลายจินตนาการเกี่ยวกับพรมแดนตามที่เรียนหนังสือมาให้ได้ เพราะบรรดาปราสาทหิน 30 แห่งในเขตพระนครวัด เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ล้วนแล้วแต่เคยเห็นชินตาคลับคล้ายคลับคลามาแล้วทั้งสิ้น
นึกเร็วๆ รูปหน้าของปราสาทหน้าพนมรุ้ง – พิมาย – ปรางค์สามยอด – เมืองสิงห์ ก็ลอยเด่นขึ้นมาทันใด เปิดวิกิพีเดียก็เห็นแนวเขตอิทธิพลจักรวรรดิขแมร์ยุค พ.ศ. 1443 ที่มีแนวเขตชิดอาณาจักรจามปาหรือเวียดนามปัจจุบัน เส้นทางสร้างปราสาทวางหมุดหมายสัญลักษณ์การแผ่อิทธิพลอารยธรรมขอม ลากตามรอยการเดินทางของดวงตะวันจากทิศตะวันออกนครวัด-นครธม จังหวัดเสียมเรียบ จรดทิศตะวันตกที่ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี
แม้นจะมีนักโบราณคดีแย้งว่าวิธีการนับรวมเช่นนี้หยาบและมักง่ายเกินไป รูปแบบปราสาทที่พบบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางแตกต่างกับปราสาทเมืองสิงห์หลายประการ แต่ร่องรอยหลักฐานการสร้างธรรมศาลา จากจุดเริ่มต้นที่ปราสาทพระขรรค์ ด้านเหนือของนครธม ไล่เรียง 17 หลัง อยู่ในเขตกัมพูชาปัจจุบัน 8 หลัง เข้าเขตพรมแดนประเทศไทยปัจจุบันอีก 9 หลัง กระทั่งจรดวิมายปุระหรือพิมาย อย่างน้อยก็น่าจะทำให้เราเข้าใจความเลื่อนไหลถ่ายเทของอารยธรรมโบราณมากขึ้น
คล้ายๆ กับมองเห็นเราในตัวผู้อื่น และมองเห็นผู้อื่นในตัวเรา เวลาโกรธเคืองจะฆ่าจะแกงกันด้วยเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา พรมแดน จะได้มีอะไรเหนี่ยวรั้งไว้บ้าง
+1 มหาอำนาจที่แท้
😳
ยืนสูดอากาศอยู่ใจกลางอารยธรรมขอม ปราสาทจำลองผังเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล แต่พลันเมื่อลูกหลานชาวจีนกรีฑาทัพมาเยือน พวกเขาสำแดงให้เห็นว่าจีนยังคงเป็นศูนย์กลางจักรวาล และนักท่องเที่ยวจีนคือมหาอำนาจด้านการถ่ายภาพโดยแท้