ท่องโลกดนตรีกัมพูชา แกะรอยประวัติศาสตร์การสร้างชาติ และการฆ่าล้างบางศิลปิน

“បើសិន​ជា​គូ ខ្ញុំ​ពី​បុព្វេ​ ​សូម​ឱ្យ​មាសស្នេហ៍​ ​នឹកឃើញ​គ្រា​ដើម ។”

“บาเซิน เจีย คู ขยม ปี บพเพ โสม เอย เมียส สแน เนือก เกิง เกียร์ เดิม”

“หากบุพเพสันนิวาสได้นำพาเรามาพบกันอีกครั้ง ฉันหวังว่าคุณจะจำอดีตของเราสองคนได้”

เพลง จำปาพระตระบอง, ขับร้อง: สิน ศรีสมุทร 

หลังจากเที่ยวท่องอยู่ในแพลตฟอร์มของโลกออนไลน์ วันหนึ่งอัลกอริทึมจึงชี้ชวนให้เข้าไปในโลกของ ‘ดนตรีกัมพูชา’ ในช่วงยุคทองทางศิลปะและวัฒนธรรมของราชอาณาจักรแห่งนี้ เหมือนเป็นบุพเพสันนิวาสสรรสร้างให้พวกเราในยุคสมัยใหม่ได้กลับมาพบเจอสิ่งที่เคยสูญหายไปในอดีตและหวนระลึกถึงอีกครั้ง เหมือนเนื้อเพลง ‘จำปาพระตระบอง’ ที่ยกมาด้านบนของ สิน ศรีสมุทร หรือ ซีน ซีซามุต (Sinn Sisamuth) เจ้าของฉายา ‘ราชาเพลงเขมร’ ที่ถูกขนานนามในเวลาต่อมาว่า ‘เอลวิสแห่งกัมพูชา’ แม้จะเป็นเรื่องราวในอดีต แต่บทเพลงเหล่านั้นก็มีความน่าสนใจไม่น้อยในเชิงประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองในยุคสงครามเย็น 

สิน สีสมุทร ผู้ได้รับการขนานนามว่า ‘เอลวิสแห่งกัมพูชา’ (photo: twitter.com/USAmbCambodia/)

อัลกอริทึมทำหน้าที่ประหนึ่งเครื่องปั๊มหัวใจ ฟื้นคืนชีพสิ่งที่ถูกหลงลืมและสูญหายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หากจำกันได้ หลายปีก่อนกระแสเพลง ‘ซิตีป็อป’ (city pop, シティ・ポップ: ชิตี้ ป็อปปุ) ของญี่ปุ่น จากการแนะนำของยูทูบ (Youtube) พาคนยุคนี้เข้าไปสู่โลกดนตรี ‘ซินธ์ป็อป’ (synth-pop) ที่ผสมผสานแนวดนตรีอย่างฟังก์ (funk) อาร์แอนด์บี (R&B) และอื่นๆ ที่มีฉากหลังคือยุคทองทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ยุคบะบุรุ’ (バブル景気: bubble economy) หรือ ‘ยุคฟองสบู่’ แต่ท้ายที่สุดบรรยากาศเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจนี้ก็จบลงด้วยความถดถอยในทศวรรษ 1990 หรือ ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ (lost decade) 

การแนะนำของยูทูบในครั้งนั้นทำให้แนวเพลงซิตีป็อปเป็นกระแสไปทั่วโลก ทาเคอุจิ มะริยะ (Takeuchi Mariya: 竹内まりや) กลับมาเป็นไอคอนของดนตรีแนวนี้ หลังจากมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อ 40 ปีก่อนในญี่ปุ่น ในฐานะนักร้องและนักแต่งเพลง

การกลับมาของดนตรีในยุคทองของกัมพูชาเป็นความพยายามในการเสาะหา ‘อัตลักษณ์’ ที่สูญหายไปภายหลังเขมรแดงครองอำนาจการปกครองในปี 1975 ที่นำมาสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในที่สุด จนก่อให้เกิด ‘วิกฤตอัตลักษณ์’ เพราะศิลปวัฒนธรรมหลากหลายแขนงที่สืบทอดมาถูกทำลายลงในช่วงเวลาดังกล่าว ศิลปินเกือบทั้งหมดเสียชีวิต เมื่อสงครามกลางเมืองภายหลังเขมรแดงสิ้นอำนาจในปี 1979 และสิ้นสุดลงในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในอดีตจากช่วงยุคทอง เปรียบเสมือนการรื้อค้นความทรงจำที่เลือนราง 

อดีตที่รุ่งเรืองของกัมพูชาหนึ่งในนั้นคือ ดนตรี ‘ร็อกแอนด์โรลด์’ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่นิยาม ‘กัมพูชาสมัยใหม่’ ที่เคยสูญหายหลังยุคเขมรแดง ถูกขุดขึ้นมาใหม่ให้ได้ฟังกันอีกครั้ง ชวนให้ดื่มดํ่าไปกับดนตรีกัมพูชาในยุคทอง อันมีฉากหลังเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่เข้มข้น นำพากัมพูชาเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ภายใต้การสถาปนาอุดมการณ์ทางการเมืองของ เจ้านโรดม สีหนุ (Norodom Sihanouk) ภายหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส รวมไปถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเวียดนาม โดยมีดนตรีเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ

เพลย์ลิสต์ประกอบการอ่าน

‘สังคมราษฎร์นิยม’ และ ‘ไข่มุกแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’

“ភ្នំពេញ រាជធានី
ជា​ទី​ប្រជុំ​ជនា
មាន​ទាំង​​មាគ៌ា
ដ៏​សឹង​ស្អាត​ៗ
ទាំង​វាំង​ប្រាសាទ
មាន​រចនា
យ៉ាង​ល្អ​ថ្លៃ​ថ្លា”

“พนมเปญ เรียชเทียนี
เจียที บรอชม ชเนีย
เมียน เตียง เมียเครีย
ดา เซิง ซาอาต
เทียง เวียง ปราสาท
เมียน รัจนา
ยังลา ไทล ทลา”

“พนมเปญ ราชธานี
เมืองแห่งความศักดิ์สิทธิ์
ที่ซึ่งผู้คนมาพบกัน
เต็มไปด้วยอาคารและถนนที่ ทันสมัย สะอาด
อีกทั้งปราสาทราชวัง
ที่เต็มไปด้วยศิลปะวัฒนธรรม
งดงามอย่างไร้ที่ติ”

เพลง พนมเปญ, พระราชนิพนธ์: เจ้านโรดม สีหนุ
เนื้อเพลง: โอก เมา
ขับร้อง: วงคอรัสมหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลปะ (Royal University of Fine Arts)

ในปี 1863 เจ้านโรดม หรือ นักองค์ราชาวดี ได้ลงนามในสนธิสัญญาการเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina) เพื่อลดอำนาจของสยามเหนือกัมพูชาที่เคยตกเป็นประเทศราชมาเนิ่นนาน 

ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส แม้สถาบันพระมหากษัตริย์กัมพูชายังคงอยู่ ทว่าอำนาจทางการเมืองทั้งหมดตกอยู่ในมือของข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสที่ปกครองเพียงผู้เดียว แม้ว่าความพยายามของฝรั่งเศสในการปฏิรูปกัมพูชาจะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นการปฏิรูปทางการเมืองที่พยายามลดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เพื่อเพิ่มอำนาจทางการเมืองเบ็ดเสร็จให้กับเจ้าอาณานิคม ชาวกัมพูชาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงได้ รวมไปถึงการสั่งห้ามไม่ให้ชาวกัมพูชานำศิลปะแบบยุโรปมาประยุกต์ใช้กับศิลปะพื้นถิ่นทุกแขนง ทว่าการสั่งห้ามนี้ ส่งผลให้ศิลปะและอัตลักษณ์ดั้งเดิมของกัมพูชาถูกอนุรักษ์ คงรูปคงแบบเดิมอย่างไม่บิดพริ้ว 

กลุ่มอาคารสากลวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ (Royal University of Phnom Pehn) ในยุคสังคมราษฎร์นิยม
(photo: skyscrapercity.com)

เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1953 เจ้านโรดม สีหนุ ‘พระบิดาแห่งเอกราชกัมพูชา’ ได้ลงมาเล่นการเมืองเต็มตัว ด้วยการสละราชสมบัติให้กับ เจ้านโรดม สุรามฤต (Norodom Suramarit) พระราชบิดา และตั้งพรรคการเมือง ‘สังคมราษฎร์นิยม’ (Sangkum Reastr Niyom: សង្គមរាស្ត្រនិយម) และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1955 การทำให้เป็นสมัยใหม่ (modernisation) ของเจ้านโรดม สีหนุ ไม่ได้วางอยู่บนกรอบการพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกเท่าไรนัก หากจะเรียกก็คงเป็นประชาธิปไตยแบบเอเชีย (asian-style democracy) ที่เน้นผู้นำที่เข้มแข็ง พรรคเด่นพรรคเดียว อีกทั้งปัจจัยภายนอกอันเกิดจากสงครามเย็นที่เพิ่งก่อตัวก็ทำให้รัฐบาลจำต้องรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองเอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม หัวใจของสังคมราษฎร์นิยมคือ การทำให้กัมพูชาเป็นสมัยใหม่ ให้แตกต่างไปจากสมัยอาณานิคม ซึ่งส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่น การเปิดกว้างทางการศึกษา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่เคยรุ่งเรืองในยุคพระนคร รวมไปถึงศิลปะสมัยใหม่ที่นำมาสู่การก่อตัวทางอัตลักษณ์ของกัมพูชา โดยมีกรุงพนมเปญเป็นศูนย์กลางหรือในยุคนั้น พร้อมกับมีการเรียกขานกันว่า ‘ไข่มุกแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’

สนามกีฬาโอลิมปิก กรุงพนมเปญ โดยสนามกีฬาดังกล่าวเปิดใช้งานในปี 1964
เป็นผลงานของ วันน์ โมลีวันน์ บิดาแห่งสถาปนิกสมัยใหม่ของกัมพูชา
ที่ได้รับแนวคิดทางสถาปนิกแบบ Le Corbusier ของฝรั่งเศส (photo: moritzhenning.de)

เจ้านโรดม สีหนุ มีความสนพระทัยด้านศิลปะมาอย่างยาวนาน พระองค์จึงสนับสนุนให้ศิลปวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในมิติสำคัญในการทำให้เป็นสมัยใหม่ แน่นอนว่ามันคือ ‘การทำให้เป็นตะวันตก’ (westernization/modernization) ในศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นวิจิตรศิลป์ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม การแสดง ภาพยนตร์ และดนตรี ผ่านการนำศิลปะแบบตะวันตกมาประยุกต์กับศิลปะพื้นเมืองดั้งเดิมของกัมพูชาเอง

Musique Et Chansons ซึ่งเป็นแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ของเจ้านโรดม สีหนุ มีแนวดนตรีแบบซิมโฟนีออร์เครสตาและคอรัสประสานเสียง

ดนตรีคือ ‘จิตวิญญาณ’ แห่งสังคมราษฎร์นิยม

เจ้านโรดม สีหนุ ทรงมีความสนพระทัยด้านศิลปะและดนตรีอย่างแรงกล้า การทำให้เป็นสมัยใหม่ของพระองค์ในด้านดนตรีนั้น พระองค์สนับสนุนให้นักดนตรีในยุคสังคมราษฎร์นิยม ได้ทดลองนำดนตรีแบบตะวันตกเข้ามาประยุกต์กับดนตรีดั้งเดิมหรือใช้รูปแบบดนตรีแบบตะวันตก 

แนวดนตรีป็อปของกัมพูชานั้น ได้รับมาจากอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส โดยมีนักร้องยอดนิยมอย่างเช่น ทิโน ฮูสซี (Tino Rossi) ชาร์กส์ เทรเน (Charles Trenet) อีดิต เพียฟ (Edith Piaf) เป็นต้น ขณะที่แนวดนตรีแบบอัฟโฟร-คูบัน (Afro-Cuban) ที่ให้จังหวะชะ-ชะ-ช่า (cha-cha-cha) สำหรับการเต้นรำและงานเลี้ยงได้รับอิทธิพลจากคิวบาโดยตรง แผ่นเสียงจำนวนมากเดินทางข้ามนํ้าข้ามทะเลมาจากดินแดนแห่งซิการ์ รวมไปถึงแนวดนตรีโซล (soul) และแนวดนตรีบลูส์ (blues) โดยมีศูนย์กลางแผ่นเสียงคือ ตลาดต็วลตัมปง หรือตลาดรัสเซีย ใจกลางกรุงพนมเปญ รวมไปถึงแผ่นเสียงจากลาตินอเมริกา และ ‘ร็อกแอนด์โรลด์’ (Rock ’n’ Roll) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในโลกตะวันตกอย่างมากในขณะนั้น รวมถึงอิทธิพลจากทั้งสหรัฐและฝรั่งเศส เช่น เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) จอห์นนี ฮอลลิเดย์ (Johnny Hallyday) หรือ ‘ราชาร็อกแอนด์โรลเมืองนํ้าหอม’ เป็นต้น แนวดนตรีเหล่านี้ เป็นต้นแบบในการหล่อหลอมวงการดนตรีกัมพูชาในเวลาต่อมาโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960 ให้มี ‘อัตลักษณ์’ เฉพาะตัวในฐานะเครื่องแสดงถึงลักษณะของชาติ เสมือน ‘จิตวิญญาณ’ ของชาวกัมพูชา 

กระแสดนตรีตะวันตกที่หลั่งไหลเข้าสู่กัมพูชาในยุคสังคมราษฎร์นิยม ได้ถูกหลอมรวมเข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองภายใต้การนำของเจ้านโรดม สีหนุ ดนตรีอยู่ในฐานะเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวกัมพูชาเห็นว่า ระบอบสังคมราษฎร์นิยม ภายใต้การนำของเจ้านโรดม สีหนุ นั้น ได้นำพากัมพูชาสู่ความทันสมัย เต็มไปด้วยศักยภาพ โดยปราศจากการครอบงำของชาติตะวันตก 

ดนตรีสมัยใหม่จำนวนมากที่ถูกผสมผสานเข้ากับดนตรีดั้งเดิม ปรากฏให้เห็นในฐานะเพลงประกอบภาพยนตร์ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง ‘อัปสรา’ (Apsara) ปี 1966 ถือเป็นโชว์เคสสำคัญของกัมพูชา กำกับโดย เจ้านโรดม สีหนุ ทั้งยังเป็นภาพยนตร์สีเรื่องแรกของกัมพูชา แม้จะเป็นภาพยนตร์ดราม่าโรแมนติกก็ตาม แต่เส้นเรื่องประกอบไปด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมเขมรโบราณด้วยการแสดง ‘ระบำอัปสรา’ ซึ่งนางรำนั้นแสดงโดย เจ้านโรดม บุปผาเทวี (Norodom Bopha Devi) พระราชธิดาในเจ้านโรดม สีหนุ เพลงประกอบภาพยนตร์ยังมีดนตรีแบบอัฟโฟร-คูบัน และแนวดนตรีแบบ ‘รอมวง’ หรือ ‘รำวง’ ซึ่งขับร้องโดย สิน สีสมุทร และ เสียง ดี (Sieng Dy) นอกจากนี้เรายังเห็นความสวยงามทางภูมิทัศน์ของกัมพูชา รวมไปถึงประเด็นการเมืองการทหารของกัมพูชาในฐานะหนึ่งในประเทศที่เป็นกลางทางการเมืองระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจคือ สหรัฐและสหภาพโซเวียต

เจ้านโรดม บุพผาเทวี ทรงแสดงเป็นนางรำระบำอัปสรา ในภาพยนตร์เรื่อง อัปสรา พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูนาฏศิลป์โบราณของกัมพูชา
(photo: youtube.com/@beeside3123)
สิน สีสมุทร และ เสียง ดี ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง อัปสรา ในฐานะนักร้องฟลอร์รอมวง (รำวง)
(ภาพ: facebook.com/keochanbo)

‘ร็อกแอนด์โรล’ กัมพูชา อัตลักษณ์แห่งยุคสมัยที่สาบสูญ

ภายใต้การปกครองด้วยระบอบสังคมราษฎร์นิยมของเจ้านโรดม สีหนุ ได้นำพากัมพูชาเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ภายหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส การเปิดรับวัฒนธรรมที่หลากหลายจากโลกตะวันตก เป็นความพยายามในการนิยามความทันสมัยทางวัฒนธรรมของกัมพูชา โดยเฉพาะในวงการดนตรีที่ทราบกันดีว่า รากฐานดนตรีจากทางตะวันตกถือเป็นพื้นฐานสำคัญของดนตรีกัมพูชาในยุคต่อมา โดยเฉพาะในทศวรรษ 1960-1970 ทว่าร็อกแอนด์โรลเป็นแนวดนตรีที่มีพลวัตมากที่สุด อันเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์โลกที่เคลื่อนตัว เปลี่ยนแปลง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็น

วงปักสี จัมกรง วงดนตรีร็อกแอนด์โรลวงแรกของกัมพูชา
เปิดการแสดงครั้งแรกที่ โรงเรียนมัธยมสีสุวัตถิ์ (Lycée Sisowath)
(photo: mprnews.org)

ดนตรีร็อกแอนด์โรลเข้ามาในกัมพูชาช่วงปลายทศวรรษ 1950 โดยมีกลุ่มวัยรุ่นจากครอบครัวรํ่ารวยในกรุงพนมเปญคือ พี่น้องตระกูลมล (Mol Brothers) ได้ก่อตั้งวงในปี 1959 ในชื่อ ‘ปักสี จัมกรง’ โดยได้รับอิทธิพลจาก เดอะ เวนเจอร์ (The Vertures) ชัค เบอร์รี (Chuck Berry) พอล แอนคา (Paul Anka) และคลิฟฟ์ ริชาร์ด (Cliff Richard) เป็นต้น การก่อตั้งวงปักสี จัมกรง ถือเป็นวงดนตรีร็อกที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการดนตรีไปโดยปริยาย เป็นที่ถูกอกถูกใจวัยรุ่นชาวกัมพูชาสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดวงดนตรีในหมู่วัยรุ่นมากมายในสไตล์เดียวกันอย่างเช่น วงบายน (Bayon) เป็นต้น 

การกำเนิดขึ้นมาของแนวดนตรีร็อกแอนด์โรลด์ในกัมพูชา ได้สร้างอิทธิพลในวงการเพลง แม้แต่ สิน สีสมุทร ราชาวงการเพลงกัมพูชา ซึ่งเคยขับร้องเพลงแนวดั้งเดิม รอมวง ป็อป และโซล ต้องปรับตัวหันเข้าหาแนวดนตรีร็อกแอนด์โรลด์ ซึ่งสินได้ขับร้องเพลงสไตล์นี้ครั้งแรกคือ เพลง อะ โกโก้ (A Go Go, À gogo เป็นภาษาฝรั่งเศสหมายถึง สถานที่เต้นรำ) ซึ่งการไปฟลอร์เต้นรำของวัยรุ่นยุคนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยสินมีคู่ขวัญดูเอต (duet) ร้องคู่เสมอ เป็นนักร้องสาวจากเมืองพระตะบอง ที่สินสนับสนุนจนโด่งดังคือ รส เสรีสุทธา (Ros Sereysothea: รส เสเรียโซเธีย) หรือ ‘ราชินีเสียงทอง’ แห่งวงการดนตรีกัมพูชา ผู้ขับร้องเพลงได้หลากหลายแนว รวมไปถึงแนวเพลงร็อกแอนด์โรลด้วย 

สถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เมื่อสหรัฐส่งทหารเข้าสู่เวียดนามในปี 1965 ทว่าสงครามที่กำลังปะทุในเวียดนามนั้น กลับทำให้วงการดนตรีในกัมพูชามีสีสันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากชาวกัมพูชาสามารถรับฟังวิทยุของกองทัพสหรัฐ (Armed Forces Vietnam Network: AFVN) ซึ่งมีศูนย์กลางการกระจายคลื่นวิทยุที่กรุงไซง่อน (Saigon ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์ซิตี หลังรวมชาติในปี 1975) เมืองหลวงของเวียดนามใต้ ทำให้ดนตรีแบบอเมริกันเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1960 ทั้งดนตรีแบบไซคีเดลิกร็อก (psychedelic rock) ฮาร์ดร็อก (hard rock) การาจร็อก (garage rock) โฟล์กป็อป (folk pop) และลาตินร็อก (latin rock) รวมไปถึงวัฒนธรรมแบบฮิปปี (hippie) สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดพลวัตทางดนตรีในกัมพูชาอีกครั้ง มีนักร้องและวงดนตรีเกิดขึ้นมากมายในหมู่วัยรุ่น ขณะที่ ‘สถานีวิทยุแห่งชาติ’ เป็นศูนย์กลางในบันทึกเสียง เพราะเป็นสตูดิโอแห่งแรกของประเทศ และทำหน้าที่เผยแพร่ โดยมี ฮวย เมียส (Huoy Meas) หรือ อีดิต เพียฟ แห่งกัมพูชา เป็นทั้งนักร้องและดีเจรายการเพลงร็อกเหล่านี้

ฮวย เมียส รับบทบาทเป็นทั้งนักร้อง ดีเจ และพิธีกรให้กับสถานีวิทยุแห่งชาติ
(photo: twitter.com/thegoldenvoicex)

วงไซคีเดลิก-ฮาร์ดร็อก ยังนำเสนอภาพแบบฮิปปีอย่าง ดรักการ์ (Drakkar) ซึ่งถือว่าเป็นวงดนตรีที่นำเสนอแนวดนตรีแปลกใหม่ในสังคมกัมพูชา จนยากที่หลายคนจะยอมรับ แต่ในหมู่วัยรุ่นกัมพูชาผู้คลั่งไคล้แนวดนตรีที่หนักหน่วงเช่นนี้ เหมือนเป็นตัวขับเคลื่อนการแสดงออกปลดปล่อยตัวตน 

วงดรักการ์ (Drakkar) มีเพลง จอมเรียง โสกา ที่มีกลิ่นไอฮาร์ดร็อก-ไซคีเดลิก
(photo: discogs.com)

ขณะที่แนวดนตรีแบบการาจร็อกที่นำโดย ยล ออลารง (Yol Aularong)  ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญในวงการดนตรี เพราะเนื้อหาของเพลงนั้น ฉีกขนบเพลงเขมรที่มีแต่เรื่องราวความรัก ความเศร้าโศกเสียใจในความรัก หรือเพลงที่มีเนื้อหาในแง่ดี งานของยลเป็นไปในแนวทางการเสียดสีสังคมกัมพูชา ชีวิตประจำวันตามความคาดหวังของสังคมอันน่าเหนื่อยหน่าย ที่ประกอบกับความสนุกสนาน มีความฟังก์ (funk) ของดนตรี แม้แต่คนขับสามล้อยังต้องเปิดฟังในเพลง เจียส ซิกโคล่ (cyclo, รถสามล้อ)

ยล ออลารง (Yol Aularong) นักร้องแนวการาจร็อกของกัมพูชา
(photo: globalpsychedelia.com)

พลวัตทางดนตรีของกัมพูชาในช่วงทศวรรษ 1960-1970 นั้น ทำให้ได้เห็นอิทธิพลทางดนตรีตะวันตกมากมายบนเส้นเรื่องทางประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการผสมผสานระหว่างดนตรีร็อกกับเนื้อหา สำเนียง ลูกเล่นทางดนตรีแบบกัมพูชา เช่น วงดรักการ์ เคยนำเครื่องดนตรีประเภทพิณมาผสมกับดนตรีไซคีเดลิก ในเพลง สาละวัน จัน เพ็ญ บอราเมย เป็นต้น หรือเพลงอื่นๆ จากนักร้องคนอื่นๆ ที่ทั้งประยุกต์หรือไม่ประยุกต์ระหว่างดนตรีตะวันตกกับท้องถิ่นเข้าด้วยกัน เนื่องจากโทนดนตรีของกัมพูชาใช้เสียงสูงในการขับร้อง เมื่อเทียบกับโทนเสียงของชาวตะวันตก ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของดนตรีกัมพูชาสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากโลกตะวันตก 

ระบอบลอนนอลกับแนวดนตรีรักชาติ

สถานการณ์ทางการเมืองของกัมพูชาเข้าสู่ภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อท่ามกลางสงครามเวียดนามที่ระอุ เมื่อสหรัฐปฏิบัติการเมนู (Operation Menu) ระหว่างปี 1969-1970 ทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Trail) เส้นทางการเดินทัพที่สำคัญของเวียดนามเหนือเพื่อการรวมชาติเวียดนามใต้ ซึ่งพาดผ่านทั้งลาวและภาคตะวันออกของกัมพูชา รวมไปถึงการทำลายฐานที่มั่นของ ‘เขมรแดง’ เพื่อการปราบปรามและสกัดกั้นการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา สหรัฐจึงให้การสนับสนุน นายพลลอน นอล (Lon Nol) ทำรัฐประหารรัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ ในเดือนมีนาคม 1970 ทำให้กัมพูชากลายมาเป็นสาธารณรัฐ และจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองในกัมพูชา

ภายใต้การปกครองในระบอบสาธารณรัฐ โดยมีจุดมุ่งหมายในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ ซึ่งกำลังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในชนบทที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐ โดยขบวนการเขมรแดงนี้เป็นภัยคุกคามสำคัญของรัฐ รัฐบาลลอนนอลจึงสั่งให้มีการทำเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักชาติขึ้น วงการดนตรีของกัมพูชาจึงเปลี่ยนไปจากยุคก่อน นักดนตรีหลายคนต้องเข้าประจำการในกองทัพในฐานะทหารดุริยางค์ เช่น สิน สีสมุทร ได้ร้องเพลงออกโทรทัศน์ในเครื่องแบบทหาร รส เสรีสุทธา ต้องฝึกกระโดดร่มกับกองทัพ

รส เสรีสุทธา เข้าร่วมการฝึกส่งทางอากาศกับกองพลน้อยพลร่มที่ 1 ในปี 1972
โดยภาพดังกล่าวมาจากภาพกล้องวิดีโอที่บันทึกภาพราชินีเพลงกัมพูชา
ตอนฝึกกระโดดร่ม คาดว่าเป็นภาพเคลื่อนไหวเพียงชิ้นเดียวของ รส เสรีสุธา
ที่ถูกค้นพบหลังยุคเขมรแดง
(photo: www.youtube.com/@apsarakhmer1439)

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงในวงการดนตรีของกัมพูชาจากสภาวะสงครามกลางเมือง ทำให้แนวดนตรีเปลี่ยนแปลงไป ดนตรีประเภทโฟล์กร็อก (folk rock) และซอฟต์ร็อก (soft rock) ที่ใช้เครื่องดนตรีไม่มาก เนื้อหาและไลน์ดนตรีไม่หนักหน่วง ประกอบกับกระแสดนตรีที่มาจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ อย่าง เจมส์ เทย์เลอร์ (James Taylor) แคโรล คิง (Carole King) ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น และด้วยสถานการณ์ดังกล่าวศิลปินไม่สามารถทุ่มเทให้กับการผลิตงานออกมาได้เหมือนเดิม จึงมีการแปลงเพลงจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาเขมรแทน อย่างเช่น โพ วานนารี (Pou Vannary) ได้ขับร้องเพลง You’ve Got a Friend ที่แปลงออกมาในภาษากัมพูชา ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น เสมือนเครื่องปลอบประโลมใจในยามสงคราม เนื้อหาอันอ่อนละมุนและโทนเสียงตํ่าชวนฝันถึงสันติภาพ ไม่เหมือนกับโทนเสียงของดนตรีในสมัยก่อนหน้าที่มีเสียงสูงและตํ่าขึ้นลง

ปกแผ่นเสียงของ โพ วันนารี
(photo: discogs.com)

ขณะที่รัฐบาลลอนนอลได้ประกาศกฎอัยการศึก เคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหะสถานในเวลาดึก ทำให้วงดนตรีและศิลปินต่างๆ จำต้องเล่นดนตรีในเวลากลางวันจนถึงเวลาพลบคํ่าเท่านั้น สถานการณ์เช่นนี้นำมาสู่ความตกตํ่าของวงการดนตรีกัมพูชา ก่อนที่หายนะครั้งใหญ่กำลังมาถึงในไม่ช้า

17 เมษา มหาโชคชัย: ศิลปวัฒนธรรมที่ถูกทำให้สูญหาย

“ឈាមក្រហមច្រាល
ស្រោចស្រពក្រុងវាល
កម្ពុជាមាតុភូមិ
ឈាមកម្មករ កសិករដ៏ឧត្តម
ឈាមយុទ្ធជន យុទ្ធនារីបដិវត្តន៍ ។”

“เชียม กรอฮอมจราล
โสรจสร็อพกนงเวียล
กัมปูเจีย เมียโตพูม
เชียมกัมมะกอ กะเสะกอ ดอ อุตด็อม
เชียมยุดทะจน ยุดทะเนียรี ปะเตว็อต”

“เลือดสีแดงฉาน
นองในทุ่งนา
กัมพูชามาตุภูมิ
เลือดกรรมกร กสิกร ซึ่งอุดม
เลือดยุทธชน ยุทธนารีปฏิวัติ”

เพลง ด็อบปรำปีเมษา โมฮาโจ้กเจ็ย (17 เมษามหาโชคชัย)
เพลงชาติกัมพูชาประชาธิปไตย (1975-1979)

กองกำลังเขมรแดง กรีฑาทัพเข้ายึดกรุงพนมเปญ ในวันที่ 17 เมษายน 1975 ซึ่งตรงกับวันปีใหม่ของกัมพูชา อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ปีที่ศูนย์’ (Year Zero) ในการเริ่มต้นสังคมใหม่ในกัมพูชาที่นำมาซึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และทำลายศิลปวัฒนธรรมของกัมพูชา

17 เมษายน 1975 เขมรแดงกรีฑาทัพยึดกรุงพนมเปญ
จุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา
(photo: manvsclock.com)

เขมรแดงได้บังคับอพยพโยกย้ายประชากรหลายล้านคนไปยังพื้นที่ชนบท เพื่อทำนารวม สร้างสังคมกสิกรรมในอุดมคติของพวกเขา จนกลายเป็น ‘ทุ่งสังหาร’ (killing field) ศิลปินจำนวนมากของกัมพูชาต้องประสบชะตากรรมอันโหดร้าย เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติที่ต้องเสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ 

ศิลปิน ปัญญาชน ในสายตาของเขมรแดงนั้น ถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อประชาชนในความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางวัฒนธรรม จากผลงานทางดนตรี ศิลปะ และงานเขียน ในการเชิดชูสังคมแบบเก่าที่ไม่ใช่สังคมในอุดมคติเขมรแดง นอกจากนี้ เขมรแดงยังมีความพยายามในการสลายอัตลักษณ์ของปัจเจก ด้วยการบังคับให้ใส่เครื่องแต่งกายเหมือนกัน หรือบังคับให้ฟังดนตรีปฏิวัติที่ใส่ความเป็นกัมพูชาดั้งเดิมเข้าไป เหมือนดั่งเพลงชาติเขมรแดงที่ดังขึ้นในทุกเช้าที่ทุ่งสังหาร 

วงดนตรีเขมรดั้งเดิมในยุคของเขมรแดง
(photo: english.cambodiadaily.com)

ศิลปินจึงเป็นเป้าหมายแรกในการสังหารอย่างเช่น ยล ออลารง สูญหายตั้งแต่วันแรกที่เขมรแดงขึ้นครองอำนาจ สิน สีสมุทร มีคำบอกเล่าที่หลากหลายว่าเขาหายสาบสูญไป อย่างไรและการหายตัวไปของ รส เสรีสุทธา ก็ได้รับการถกเถียงว่าเขามีชีวิตมาถึงช่วงทำนารวม ก่อนเสียชีวิตด้วยสภาวะขาดสารอาหารจากการใช้แรงงานหนัก อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะทราบถึงสาเหตุการหายสาบสูญของพวกเขา แต่ปูชนียบุคคลของวงการดนตรีของกัมพูชาก็ได้ถูกทำให้สาบสูญไปในห้วงเวลาที่ดำมืดที่สุด

อย่าลืมฉัน!

ภายหลังการปลดปล่อยกัมพูชา โดยกองทัพเวียดนามโค่นล้มเขมรแดงลงในปี 1979 กัมพูชาเข้าสู่สงครามกลางเมืองอีกระลอกหนึ่งที่ยืดเยื้อยาวนาน จนกระทั่งมีการก่อตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในกัมพูชา หรือ UNTAC (United Nations Transitional Authority in Cambodia) ในปี 1993 และการสถาปนาระบอบการปกครองราชอาณาจักรครั้งที่ 2 (Second Kingdom of Cambodia) ทำให้เกิดการรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมในช่วงยุคก่อนเขมรแดงขึ้นมา คนจำนวนมากตามหาดนตรีที่อยู่ในความทรงจำ มีกลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) จำนวนมากที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม เช่น ศูนย์โบภนา (Bophana Centre) ที่ก่อตั้งโดย ฤทธี ปานห์ (Rithy Panh) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวกัมพูชาที่มีชื่อเสียงในเวทีโลก ผู้รอดชีวิตจากทุ่งสังหาร ที่ตั้งใจก่อตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อการฟื้นฟู เก็บบันทึกสื่อบันเทิง ทั้งภาพและเสียงของวงการศิลปะกัมพูชาในยุคก่อนเขมรแดง

The Cambodian Vintage Music Archive (CVMA) ก่อตั้งในปี 2010 เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรเช่นกัน โดยมีจุดมุ่งหมายในการค้นหา บันทึก และรีมาสเตอร์ เพลงของกัมพูชาที่ถูกทำลายและสูญหายไปในช่วงยุคเขมรแดง เมื่อมีการรีมาสเตอร์เเล้วจะมีการปล่อยเพลงลงในสื่อสมัยใหม่อย่างเช่น ยูทูบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สารคดีที่น่าสนใจในการตามหายุคทองทางศิลปวัฒนธรรมที่สูญหายของกัมพูชาด้วย เช่น Don’t Think I’ve Forgotten Cambodia’s Lost Rock and Roll (2014) กำกับโดย จอห์น ปิรอซซิ (John Pirozzi) และ Golden Slumbers (2011) กำกับโดย เดวี ชู ผู้กำกับรุ่นใหม่ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายกัมพูชา โดยภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนั้น ได้สืบสาวราวเรื่องจากปากคำของนักร้อง นักดนตรี และนักแสดง ซึ่งเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง อย่างเช่น ดี เสวต (Dy Saveth) ดาราดังที่เป็นที่รู้จักทั้งในไทยและกัมพูชาจากภาพยนตร์เรื่อง งูเก็งกอง และพี่น้องตระกูลมล ผู้ก่อตั้งวงดนตรีร็อกแอนด์โรลวงแรกของประเทศ

“កុំស្មានបងភ្លេច
ចាំជានិច្ចមិនភ្លេចទេស្រី
ចាំសម្ដីដែលស្រីបានផ្ដាំ
ទោះច្រើនឆ្នាំក៏នៅចាំដែរ។”

“กม สมาน บอง เพลจ
จัม เจียเน็จ เมียน เพลจ เทีย เซร็ย
จัม สัมได ดาไซร้ บานดัม
โท เจิ้น ชนัม ก่อ เน้อจัมดา”

“อย่าคิดว่าฉันจะลืม
ฉันคิดถึงคุณอยู่บ่อยครั้ง
ทุกสิ่งที่คุณพูดมา
แม้ว่าจะล่วงเลยมาหลายปี ฉันยังจำได้”

เพลง กมสมานบองเพลจ (อย่าคิดว่าฉันจะลืม), ขับร้อง/ทำนอง: สิน สีสมุทร 
อ้างอิง:

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า