‘Anorexia’ ที่ไม่เซ็กซี่อย่าง ‘To The Bone’

1

“มันโรแมนติกเกินไป การต้องอยู่ในภาวะ ‘แอนอเร็กเซีย’ ไม่ได้สวยงามแบบในหนังนั่น”

หนังที่ว่าคือ To The Bone แสดงนำโดย ลิลี คอลลินส์ (Lily Collins) และ คีอานู รีฟ (Keanu Reeves) ว่าด้วยเรื่องของ, แน่นอน ผู้ที่ต้องอยู่ในภาวะผิดปกติทางการกิน หรือ ‘Eating Disorder’ เข้าฉายครั้งแรกใน Netflix วันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ไม่นานหลังจากนั้น เสียงตอบรับถล่มทลายก็ทยอยเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย และเช่นกัน ในแวดวงของผู้ป่วยแอนอเร็กเซีย

“คนที่เป็นแอนอเร็กเซียไม่ได้เป็นอย่าง เคท มอส ที่ปรากฏตัวในชุดคลุมตัวโคร่งพร้อมอายไลเนอร์เส้นบางดำ แอนอเร็กเซียไม่ได้สวยงามแบบนั้น มันไม่ใช่แค่สภาวะ ไม่ใช่แค่การไดเอทแบบสุดโต่ง ไม่ใช่แค่การเลือกว่าจะกินหรือไม่กิน

“และยิ่งไม่ใช่ผู้หญิงตัวบางอย่างภูตผีที่ปฏิเสธยามผู้ชายบอกรักเพราะการตั้งป้อมส่วนตัว และยิ่งไม่ใช่การได้รับการรักษากับคุณหมอสุดหล่อ (คีอานู รีฟ) ที่พยายามเปิดประตูหัวใจที่ปิดล็อคไม่ยอมรับความช่วยเหลือ ท่ามกลางเสียงเพลงเบานุ่ม (ราวกับกำลังไล่จับแสงตะวัน-ผู้เขียน) คลอครองไปตลอดทั้งเรื่อง”

ราวกับได้ยินเสียงกระแทกแป้นพิมพ์ ข้อความในเครื่องหมายคำพูดทั้งหมดเป็นของ ลูซี เคลลี (Lucy Kelly) กองบรรณาธิการของ Weight Watchers บริษัทออกแบบโปรแกรมลดน้ำหนักและให้ข้อมูลด้านโภชนาการอาหาร ผู้เคยเป็นแอนอเร็กเซีย

เธออธิบายว่า ต่อให้ยังไง…เธอก็ยังต้องอยู่กับภาวะนี้ต่อไป

มากกว่านั้น ในรีวิวและกระแสตอบรับของหนังเรื่องนี้ได้จุดไฟเรียกเสียงวิพากษ์กันว่า จริงๆ แล้วภาวะแอนอเร็กเซียนั้นอาการเป็นเช่นไรกันแน่?

ตั้งแต่คาแรคเตอร์และอาการของผู้ที่เป็นแอนอเร็กเซีย การรักษาในเรื่องที่เป็นแค่การคลี่คลายปมปัญหาชีวิต รวมไปถึงความถูกควรของการให้นักแสดงอายุน้อยอย่างคอลลินส์ ที่เคยเป็นแอนอเร็กเซียมาก่อน ลดน้ำหนักถึงเพียงนั้นเพื่อเล่นเป็นตัวละครหลักในหนังเรื่องนี้ (แต่แง่นี้เธอได้รับการวิจารณ์ว่า ‘เธอโตแล้ว’ และโตพอจะเลือกเส้นทางอาชีพของเธอเองได้ แรงกดดันจึงโถมกลับไปอยู่ที่ผู้กำกับของเรื่อง ผู้เป็นคนเลือกนักแสดงและตัดสินใจแทน) และรวมทั้งฉากการรักษาที่ว่า ในโลกแห่งการรักษาจริงๆ ไม่มีคุณหมอใจดี หน้าตาดี และสวัสดิการด้านการรักษาที่ดีขนาดนั้น

และนั่นทำให้มีการยกตัวเลขอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยแอนอเร็กเซียขึ้นมาอีกครั้ง และชี้ว่า

ข้อมูลจากทีมวิจัย มหาวิทยาลัยลอฟโบโรห์ (Loughborough University) ประเทศอังกฤษ ปี 2011 ระบุว่า ในกลุ่มผู้ที่ป่วยด้วยอาการทางจิตและอารมณ์ (mental disorder) ผู้ป่วยแอนอเร็กเซียมีเปอร์เซ็นต์ฆ่าตัวตายมากที่สุด มากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า และไบโพลาร์

เพราะไม่ใช่แค่ป่วยด้วยอาการทางจิตใจและสารเคมีในสมอง แต่รวมถึงระบบต่างๆ ในร่างกาย ที่ค่อยๆ อ่อนแอและผิดปกติด้วย

2

แอนอเร็กเซียเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการผิดปกติทางการกิน หรือ ‘Eating Disorder’ ที่แบ่งออกอีกเป็น บูลิเมีย (bulimia) คือการกินอย่างคนปกติ แต่จะไปล้วงคออ้วกออกในภายหลัง อีกกลุ่มคือ การกินไม่หยุดยั้ง หรือควบคุมการกินไม่ได้ (binge-eating disorder)

อย่างที่เคลลีอธิบาย แอนอเร็กเซียไม่ใช่แค่การอดอาหาร และการนับแคลอรี แต่คือการปฏิเสธการกินอย่างที่ทำให้น้ำหนักลงไปมากๆ เครียดและเกลียดกลัวว่าเข็มตาชั่งจะดีดขึ้น แม้จะรู้ตัวว่าตัวเองผอมมากๆ อยู่แล้ว ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา คิดวนเวียนแต่อาหาร หาอนุภาคและแคลอรีที่อยู่ในนั้น (แต่ไม่กิน) วัดและดูความเปลี่ยนแปลงของรอบแขน ข้อเข่า สัดส่วนร่างกายอย่างเป็นปกตินิสัย ประจำเดือนขาดหาย และออกกำลังกายตลอดเวลา

“และยิ่งไม่ใช่อย่างในหนัง ไม่ใช่แค่ผู้หญิงขาเล็กที่ต้นขาไม่เบียดสีกัน ตอนที่ฉันถูกจับส่งโรงพยาบาล ฉันแทบยืนไม่ได้ ผมร่วงอย่างน่าตกใจ หนังลีบติดกระดูกจนแทบจะเห็นกระดูกข้อมือทุกข้อ และผิวหนังแห้งอย่างแทบจะหลุดเป็นขุยผงออกมา” ฮาดลีย์ ฟรีแมน (Hadley Freeman) คอลัมนิสต์ของ The Guardian และผู้เคยเป็นแอนอเร็กเซีย วิจารณ์กลับอย่างร้อนแรง

และในวันที่พวกเขาได้รับการวินิจฉัยว่า recovered หรือ ‘ฟื้นฟู’ แล้ว ร่างกายของพวกเขาอาจไม่ดูดีเท่าลุค ซึ่งแสดงโดย อเล็กซ์ ชาร์ป (Alex Sharp) ตัวละครชายที่เป็นนักเต้นรำ และได้รับบทบาทของคนที่ ‘กำลังจะได้กลับบ้าน’

Luke

พวกเขา, ร่างกายของพวกเขา วิธีคิดและพฤติกรรมของพวกเขาเกี่ยวกับอาหาร จะไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิม ยากที่จะหาย หรือการบอกว่าร่างกายได้ฟื้นฟูแล้วจริงๆ หากแบบประเมินที่ถูกกำหนดเป็นค่ากลางคือ…

การกลับมามีน้ำหนัก 85-95 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักที่น่าจะเป็นของคนปกติ และกลับมามีประจำเดือนอีกครั้ง

อย่างที่ แคธารีน ฮาลมิ (Dr.Katharine Halmi) ศาสตราจารย์สาขาจิตเวช วิทยาลัยการแพทย์วีล คอร์เนล (Weill Cornell Medical College) อธิบายว่า

โอเค…สมมุติว่าคนคนนั้นถูกวินิจฉัยและ ‘รู้ตัว’ ว่าหายแล้ว แต่พวกเขาก็อาจยังนับแคลอรี หมกมุ่นกับอาหาร เสพติดการออกกำลังกาย และชั่งน้ำหนักทุกวันอยู่ ในกรณีนี้จะเรียกว่าหายได้หรือไม่? เป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบเช่นกัน และมีบ้างและอาจเรียกว่าหลายๆ เคส ที่ผู้ป่วยแอนอเร็กเซียอาจเคลื่อนไปสู่การเป็นบูลิเมีย หรืออาการควบคุมตัวเองเรื่องการกิน หรือกินไม่หยุดแทน

เช่นนั้น อะไรคือเส้นชัยของการหาย?

คำตอบคือ…ไม่มีใครรู้ แต่แอ็บบี เอลลิน (Abby Ellin) เจ้าของบทความ In Fighting Anorexia, Recovery Is Elusive สัมภาษณ์ผู้เคยเป็นแอนอเร็กเซียจำนวนหนึ่ง ซึ่งเธอสรุปไว้ว่า

คนที่เป็นแอนอเร็กเซียส่วนใหญ่คิดว่าอาการของตัวเองคล้ายกลุ่มคนติดแอลกอฮอล์ คือไม่มีทางหายขาด เพียงแต่บรรเทา ผ่อนคลาย แต่ศักยภาพของการหมกมุ่นและครุ่นคิดแต่แคลอรีนั้น ฝังอยู่ในดีเอ็นเอของชีวิต

3

มีอย่างหนึ่งที่เคลลีเห็นด้วยกับ ‘ไดอาล็อก’ ในหนัง คือฉากที่ แอลลี หรือ อีไล ตัวเอกที่รับบทโดยคอลลินส์ เข้ามาในบ้านเป็นวันแรก (ซึ่งเป็นบ้านที่ใช้บำบัด หรือคลินิกเอกชน) วงพูดคุยเริ่มขึ้น แล้วคุณหมอพูดแทงสวนกลางใจสมาชิกในบ้านว่า

“สิ่งที่คุณกลัว มันคือปริมาณแคลอรี คุณรู้ว่าร่างกายรับเข้าไปมากเท่าไร และก็กลัวที่รู้ว่าไม่มีทางจะเอามันออกไปได้”

และ “คุณเสพติดการอดอาหาร ทุกครั้งที่ทำเช่นนั้นคุณรู้สึกเคลิ้มสุข คล้ายกับการติดยาหรือเสพติดเหล้า และมันไม่ใช่เรื่องของ ‘ความผอม’ มันไม่มี และจะไม่มีทางมีความผอมที่คุณพอใจ”

เอมี ลิว (Aimee Liu) อายุ 57 ปี เจ้าของหนังสือ Restoring Our Bodies, Reclaiming Our Lives ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตกับแอนอเร็กเซียตั้งแต่อายุ 13-20 ปี และเพิ่งรู้สึก ‘recovered’ จริงๆ เมื่อ 11 ปีก่อน เล่าว่า

ถ้าไม่นับการเข้าบำบัดอย่างจริงจัง ครึ่งชีวิตของเธออยู่กับพฤติกรรมเช่นนี้

“การหายและฟื้นฟูของฉัน คือการฟื้นฟูด้านร่างกาย สุขภาพกายและจิตใจ แน่นอนว่าสิ่งนั้นมันถูกซ่อมแซมฟื้นฟู แต่การวิจารณ์ร่างกายตัวเอง การทำร้ายตัวเอง การเป็นคนตัดสินและเข้มงวดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ต่างๆ เหล่านี้มันยังคงฝังอยู่”

สมาชิกที่เข้าไปอยู่ในบ้านสีเขียวที่ใช้บำบัดใน To The Bone ให้ภาพ (represent) คนที่เป็นแอนอเร็กเซีย บูลิเมีย และกลุ่มที่ควบคุมการกินไม่ได้ ผ่านตัวละคร ที่เกือบทั้งหมดเป็นคนตะวันตกผิวขาว และสมาชิกทุกคนเป็นชนชั้นกลางและต้องมีสตางค์ แน่นอน…เพราะบ้านหลังสีเขียวนั่นคือการบำบัดโดยเอกชน

ซึ่งนั่นสอดคล้องกับคำอธิบายของสถาบันส่งเสริมสุขภาพจิตแห่งชาติ (The National Institute of Mental Health: NIMH) ที่ว่า แอนอเร็กเซียพบมากในผู้หญิงตะวันตก ผิวขาว และมักเป็นคนชนชั้นกลางค่อนสูง ไปถึงคนชนชั้นสูงในสังคม แทบจะไม่พบผู้ป่วยกลุ่มนี้ในกลุ่มคนยากจน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มเป็น ถูกเห็นหรือจับสังเกตได้จากคนใกล้ตัวในช่วง ‘ก่อนวัยรุ่น’ และตัวเลข 14-15 ปี ถูกระบุอยู่ในข้อมูลของ NIMH มากที่สุด

และถ้าพบในกลุ่มผู้ชาย ก็มักจะประกอบอาชีพเป็นนักเต้นรำ อย่างตัวละคร ลุค ในเรื่อง

สาเหตุของแอนอเร็กเซียไม่เป็นที่แน่ชัด แต่แพทย์ส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพันธุกรรม ยีน และฮอร์โมน หากอีกส่วนที่มีน้ำหนักมากกว่า คือ ‘สิ่งที่สังคมบอกว่าดี’

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมความงาม ภาพบนปกนิตยสาร การเข้าไปช็อปปิ้งรูปของคนผอมๆ ในโซเชียล หรือกระทั่งการกำหนดหุ่นที่ใช่ด้วยเทรนด์เสื้อผ้า และมีอีกมาก ที่ทำให้คนจับผิดรูปร่างของคนด้วยกันเอง กำหนดมาตรฐานรูปร่างที่ดี ที่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแบบนั้นได้

4

ขีดเส้นใต้ห้าร้อยเส้น ว่าข้อความข้างบนนั้นคือ ‘ส่วนใหญ่’ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมมีพลวัต แอนอเร็กเซียก็เช่นกัน

อย่างแรก – การรักษาแต่เดิมจะตัดครอบครัวออกไป ไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า ‘parentectomy’ แต่งานวิจัยจากโรงพยาบาล Maudsley ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ พิสูจน์ว่าการรักษาจะมีประสิทธิภาพขึ้น ถ้าครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมกับการรักษา และ 50 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวหรือผู้อยู่รอบๆ ผู้ป่วยเข้าร่วมการรักษา ‘ตลอด’ โปรแกรม ผู้ป่วยอาจฟื้นฟูได้ภายในหนึ่งปี

สอง – แม้ว่าผู้ที่ถูกพิจารณาว่ามีอาการผิดปกติทางการกิน จะยอมรับว่าตัวเองเป็นน้อยมาก แต่ก็พบว่ามีผู้เข้ารับการรักษาและพิจารณาว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายมากขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 1999-2006

สาม – งานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่ป่วยเป็นแอนอเร็กเซียส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิงผิวขาว ชนชั้นกลางค่อนสูง และพบมากในคนตะวันตก แต่ภาพเหมารวม (stereotype) ประเภทนี้กำลังถูกสั่นสะเทือน เพราะงานศึกษาในช่วงหลังพบว่าผู้ชาย และคนผิวสีเริ่มเป็นกันมากขึ้น และกระจายลงไปกลุ่มชนชั้นกลางค่อนล่าง และงานสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการของ โธมัส อินเซล (Thomas Insel) เผยแพร่ผ่าน NIMH เล่าว่า ขณะที่เขาเดินทางไปประเทศจีน ก็เริ่มได้ยินเรื่องเล่าว่าพบผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกับแอนอเร็กเซียมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ไม่มีงานวิจัยใดบอกไว้ แต่จะแปลกอะไร ในเมื่อผู้หญิงทั่วโลกต่างถูกกระแทกและกดดันด้วยค่านิยม วัฒนธรรม ความคิดเชื่อเรื่องรูปลักษณ์ที่ถูกควร ถูกบีบให้คิดว่าความสวยมีแบบเดียว ‘อย่างน้อยๆ’ ก็ตั้งแต่เมื่อคนทั้งโลกได้อ่านนิตยสารหน้าปกเดียวกัน issue เดียวกัน ในเวลาเกือบๆ จะพร้อมกันกับการวางแผงของนิตยสารต้นทาง

6

สุดท้าย ข่าวล่าสุดจาก The Guardian รายงานว่า มาร์ติ นอกซอน (Marti Noxon) ผู้กำกับได้ออกมายอมรับว่า To The Bone ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับแอนอเร็กเซียที่ดีพอ และยอมรับความผิดว่า เธออาจจะตีขลุมและเล่าออกมาเฉพาะประสบการณ์ที่เธอประสบเท่านั้น

 

ความเสี่ยงของคนที่จะเป็นแอนอเร็กเซียมีดังนี้

  • กังวล หมกมุ่น คิดไม่ตก สลัดไม่ออกเกี่ยวกับเรื่อง ‘น้ำหนัก’ และ ‘รูปร่าง’

  • ถูก ‘วินิจฉัยจากแพทย์’ ว่าเป็นโรควิตกกังวล (anxiety disorder) ตั้งแต่เด็กๆ

  • มักรู้สึกเกลียดรูปร่างตัวเอง

  • เชื่อว่ารูปร่างที่ดี คือความผอมอย่างที่สังคมกำหนด

  • เป็น perfectionist และทำทุกอย่างตามแผนเสมอ

และหากคุณสงสัยว่าตัวเองอาจเข้าข่ายหรือมีอาการใกล้เคียงโรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางการกิน หาข้อมูลเพิ่มเติมและทำแบบทดสอบเบื้องต้นได้ที่นี่ (แบบทดสอบในช่อง Exams and Tests)


อ้างอิงข้อมูลจาก: thespinoff.co.nz
nimh.nih.gov
nytimes.com
eatingdisorderhope.com
theguardian.com

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า