การเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) ที่กรุงเทพมหานครในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ตีคู่มากับกระแสวิพากษ์วาระซ่อนเร้นที่รัฐบาลเอื้อต่อกลุ่มทุนใหญ่และปัญหาการละเมิดสิทธิหลายด้านของประชาชน โดยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) ได้ถูกผลักดันให้เป็นหัวใจหลักของการประชุมครั้งนี้
ภายใต้ฉากหน้าของยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อาจถูกซ้อนหลังด้วยประตูบานใหญ่ที่ถูกเปิดอ้าไว้เพื่อกลุ่มทุน นั่นจึงเป็นที่มาของงานเสวนา ‘วิพากษ์การประชุม APEC และแผนปฏิบัติการ BCG เพื่อผลประโยชน์ใคร’ โดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จัดร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
งานเสวนามีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนและชี้ข้อเท็จจริงที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการ BCG ที่ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่กลับพบว่าในหลายๆ โครงการนั้นนำมาสู่การทำลายพื้นที่ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยเอง
BCG Model เปลี่ยนไทยให้เป็นหลุมขยะโลก
นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 ก็ทำให้มีขยะมีพิษจำนวนมหาศาลถูกนำเข้ามาทิ้งในไทย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้กล่าวเตือนเอาไว้ว่า สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นหาก BCG Economy Model ของไทยสามารถผลักดันสู่เวที APEC 2022 ได้สำเร็จ เพราะจะมีขยะอันตรายอย่างพลาสติกถูกนำมารีไซเคิลบนแผ่นดินไทยมากขึ้น โดยปราศจากการคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อน รวมไปถึงความเจ็บป่วยระยะยาวของคนไทยในพื้นที่
BCG นับเป็น Agenda ของรัฐบาลไทยที่ต้องการผลักดันเข้าสู่ APEC โดยมีเป้าหมาย 4 ด้าน อาทิ ‘บริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน’ เพื่อหมุนเวียนขยะในประเทศไทยและในระดับโลก ทำให้แผนการ BCG ดูมีความ ‘เขียว’ เป็นอย่างมาก ทว่าปัญหาสำคัญที่น่าเคลือบแคลงกลับสามารถพบในเป้าหมายข้อเดียวกันนี้เช่นกัน เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) หรือก็คือการนำของเสียกลับมาแปรรูปใหม่ โดยแผนการของ BCG กลับจะทำให้ขยะอันตรายจำนวนมากถูกส่งมาที่ประเทศไทย เนื่องจากประเทศจีนที่แต่เดิมเป็นประเทศปลายทางเริ่มปิดกั้นการรับขยะมารีไซเคิลแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และสุขภาพของชาวจีน เพราะการรีไซเคิลพลาสติกจะทำให้เกิดมลพิษเป็นจำนวนมาก เป้าหมายใหม่ของโลกจึงเบนเข็มมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เริ่มแก้กฎหมายเพื่อเอื้อการนำเข้าพลาสติกตั้งแต่ปี 2551 จนทำให้สามารถรับขยะพลาสติกจากสหรัฐอเมริกาได้สะดวกยิ่งขึ้น
ปัจจุบันโรงงานหลอมพลาสติกจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยจังหวัดฉะเชิงเทราถูกตั้งให้เป็นศูนย์กลางของการตั้งและขยายโรงงานรีไซเคิลของเสียจากภาคอุตสาหกรรม พื้นที่ดังกล่าวจึงอยู่ในความเสี่ยงด้านทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยที่ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ถูกพูดถึงในโครงการ BCG เลย ซ้ำร้ายหลายพื้นที่ที่มีการลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการเหล่านี้โดยผู้อยู่อาศัยกลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีอีกด้วย ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในการชุมนุมของชาวบ้านอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ที่ต่อต้านการสร้างโรงงานรีไซเคิลของนักลงทุนจีนในเขตปลอดอากร เป็นต้น
กากของอุตสาหกรรมและการรีไซเคิลขยะจึงยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย และกำลังขยายตัวไปยังภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลมองข้าม เนื่องจากให้ความสำคัญแต่เพียงกลุ่มทุนใหญ่และประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะทำให้พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนมากของไทยปนเปื้อน ขณะเดียวกันการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะถึง 44 แห่ง (และกำลังจะมีมากขึ้นในอนาคต) ก็จะยิ่งต้องนำเข้าขยะมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งผลิตสาร Dioxins อันเป็นสารที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม ท้ายสุดแล้วนอกจากประเทศไทยจะเป็นหลุมขยะโลกแล้ว ยังจะกลายเป็นโรงงานผลิต Dioxins อันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย
สุดท้ายนี้ เพ็ญโฉมได้แสดงความห่วงใยต่ออนาคตประเทศไทยเอาไว้ว่า ไม่มีการรีไซเคิลใดที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการรีไซเคิลพลาสติกที่มีความอันตรายสูง หากประเทศไทยจะนำขยะรีไซเคิลมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารนั้นจะต้องคิดให้มาก เนื่องจากมีการรณรงค์อยู่เสมอว่าไม่ควรใช้ ไม่ปลอดภัย และการรีไซเคิลพลาสติกคือกระบวนการหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมพลาสติกยังคงเดินหน้าต่อไปได้
กลุ่มทุนผูกขาดจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพด้วย BCG
โครงการ BCG นี้มีความผูกพันกับสภาวะทางชีวภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกยังไม่มีรายละเอียดจากภาครัฐมากนัก วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เห็นด้วยในเชิงหลักการของการเคารพความหลากหลายทางชีวภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทว่าในกรอบยุทธศาสตร์ BCG กลับเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักการที่ควรจะเป็น ซ้ำยังส่อเจตนา ‘ฟอกเขียว’ ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในไทย เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเหล่านี้ได้พบปะกับแหล่งทุนและว่าที่หุ้นส่วนใหญ่ระดับโลก และพยายามทำให้แผนการ ECG ได้รับการยอมรับจากที่ประชุม APEC เพื่ออ้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มทุนในการดำเนินโครงการภายในประเทศต่อไป
ในปี 2561-2562 ช่วงแรกเริ่มของการสร้างแผนโครงการ BCG รัฐบาลได้ระบุถึงความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ว่าคือข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ของไทย ซึ่งโครงการ BCG ระบุว่าจะนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาผลักดันเพื่อนำประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ทว่ากลับไม่เกิด ‘สี่ประสาน’ (quadruple helix) ในการขับเคลื่อน คือไม่ปรากฏการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันทางวิชาการ แท้จริงแล้วภายใต้โครงการนี้กลับมีเพียงภาครัฐและเอกชนเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซ้ำร้ายในบางคณะกรรมการกลับมีเพียงแค่เอกชนเท่านั้น ไม่มีฝ่ายอื่นเลยในการขับเคลื่อน
เท่ากับว่าคณะกรรมการขับเคลื่อนที่มีกลุ่มทุนผูกขาดอยู่ในตำแหน่ง ‘ผู้แทน’ ของบริษัทเอกชน รวมไปถึงมีตำแหน่งซ้อนเป็นคณะกรรมการใหญ่ร่วมกับกลุ่มอำนาจรัฐ สามารถเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมายในการดำเนินงานของ BCG ได้ ซ้ำร้ายแผนโครงการนี้จะอยู่ยาวถึงปี 2570 เนื่องจากมีผลผูกพันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีผลสำคัญโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากจะมีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธ์ุพืช พ.ศ. 2540 ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้คือแม่แบบของการมุ่งไปสู่กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สหประชาชาติแนะนำแก่ประเทศอื่น
หากเกิดการแก้ไขนิยามของ ‘พันธ์ุพืชพื้นเมืองทั่วไป’ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสายพันธุ์ของบริษัทเอกชน ก็จะทำให้เอกชนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่าเกษตรกรทั่วไปในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อการแก้ไขกฎหมายนี้ถูกเสนอขึ้นโดยกลุ่มทุนผูกขาดด้านการเกษตรเอง ความหลากหลายของชีวภาพในไทยก็จะตกอยู่ในอันตราย ซ้ำร้ายยังเป็นการผลักดันให้เกิดการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ทั้งที่ในต่างประเทศเริ่มทำตรงกันข้าม คือการหันไปหาเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น โดยมีข้อสังเกตสำคัญว่า การพยายามสนับสนุนพืช GMO เช่นนี้เคยมีมาก่อนแล้วสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มก่อการรัฐประหารในปี 2557-2558 ผ่านคณะกรรมการที่มีกลุ่มทุนผูกขาดเป็นสมาชิก และ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 ที่จะส่งผลให้กลุ่มทุนไม่ต้องรับผิดชอบจากการทำ GMO
ปัจจัยสำคัญต่อมาคือ โครงการ BCG จะทำให้เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลและไร่อ้อยขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการขยับขยายของสองสิ่งนี้ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่อยู่เสมอ เพราะจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละชุมชนถูกทำลาย และเอื้อให้แก่กลุ่มทุนผูกขาดผู้คุมธุรกิจอ้อยและน้ำตาล การอำนวยความสะดวกให้กลุ่มทุนเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สู่ชาวบ้านแต่อย่างใด
การสอดไส้โครงการ BCG ครั้งนี้ จึงเป็นความพยายามอีกครั้งของกลุ่มทุนผูกขาดที่เอาความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเป็นเดิมพัน จึงจำเป็นที่สังคมต้องตั้งคำถาม ทบทวน และถกเถียงกันให้มากขึ้นต่อไป
ทุนนิยมและคาร์บอนเครดิต แปลงโฉมผู้ก่อมลพิษเป็นผู้ปกป้องโลก
การฟอกเขียวโดยกลุ่มทุนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังถูกจัดสรรออกมาในรูปที่หมุนเวียนอยู่ในระบบตลาดของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยอาศัยหลักการทางเศรษฐศาสตร์อย่างการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มทุนลดการทำลายป่าอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นและจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเม็ดเงิน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ (carbon credit) ซึ่งเป็นสินค้าที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับจากการทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม เครดิตดังกล่าวสามารถใช้แลกเป็น ‘สิทธิ’ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ อีกทั้งสิทธินี้ยังสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน และถ่ายโอนได้ภายใต้ข้อตกลงระหว่างองค์กร โดยมีแนวปฏิบัติว่า จะต้องลดปริมาณมลพิษในชั้นบรรยากาศให้เท่ากับปริมาณที่ถูกปล่อยออกไป ซึ่งความรับผิดชอบดังกล่าวถูกนำไปใช้ผ่านโครงการเพิ่มพื้นที่ป่าของกลุ่มองค์กรเอกชน
กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ผู้ให้ข้อเสนอเรื่องกระบวนการฟอกเขียวด้วยคาร์บอนเครดิต ระบุว่า ผู้ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตอย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ประชุมร่วมกับกรมป่าไม้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการการปลูกป่าโดยเอกชนในพื้นที่รัฐเพื่อแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจ ซึ่งกรมป่าไม้เองมีเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกจำนวน 26.8 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ. 2580 ยังไม่รวมไปถึงร่างอนุบัญญัติ ตามมาตรา 18 ประกอบพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ระบุสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์จากคาร์บอนของป่าปลูกใหม่ ระหว่างเอกชนต่อรัฐ เป็น 90:10 จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของเอกชนที่จะได้รับสิทธิคือครองคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย และนำมาซึ่งสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
แม้จะเป็นเงื่อนไขที่ถูกกำหนดด้วยความสมัครใจของผู้ลงทุน แต่ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยก็ถูกจับจองพื้นที่ไว้ด้วยกลุ่มทุนภาคเอกชนเพียงไม่กี่ราย ที่มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาสิทธิอันเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างภาระให้โลกอย่างชอบธรรม เพราะหลักการตลาดคาร์บอนเครดิตขัดกับหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) อย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ก่อมลพิษสามารถถ่ายโอนสิทธิในการก่อมลพิษนั้นให้ผู้อื่นได้ผ่านระบบซื้อขายของตลาด และยังสามารถซื้อสิทธิในการเป็นผู้ปล่อยมลพิษมาจากชุมชนและชาวบ้านผ่านเงินทุนและโครงการของเอกชนได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน การซื้อสิทธิดังกล่าวก็ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ก่อมลพิษไปโดยปริยาย
กฤษฎาให้ความเห็นต่อคาร์บอนเครดิตว่า เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนโฉมของผู้ก่อมลพิษให้กลายเป็นผู้ปกป้องโลก ผ่านการขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าเพื่อได้มาซึ่งสิทธิในการปล่อยมลภาวะสู่โลก ซึ่งไม่เพียงแค่เอื้ออำนาจการจัดการในภาพใหญ่ให้กับนายทุนเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การแทรกแซงพื้นที่และสิทธิในการจัดการพื้นที่ป่าชุมชนอีกด้วย เพราะสิทธิในการถือครองและมีส่วนร่วมในกระบวนการของคาร์บอนเครดิตถูกผูกขาดไว้ที่กลุ่มทุนใหญ่ และถูกซื้อขาย เก็งกำไร ปั่นราคาได้เหมือนสินค้าชิ้นหนึ่ง นั่นจึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า ในบั้นปลายของคาร์บอนเครดิตนี้ ยังสามารถพิสูจน์ผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้จริงหรือไม่
ในช่วงท้าย กฤษฎาได้ฝากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องจับตาดูในวาระการประชุม APEC 2022 ได้แก่
- แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan: PDP) ที่ใช้กำลังผลิตสำรองเกินกำลังไปถึงร้อยละ 60 ภายใต้ความดูแลของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอการอนุมัติเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ภาคเอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการยึดครองที่ดินระหว่างเอกชนและประชาชน และนำไปสู่ปัญหาด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่งคงทางอาหาร
- ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะทำให้ตลาดคาร์บอนถูกเปลี่ยนไปเป็นตลาดภาคบังคับ
- ร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพที่ภาคเอกชนมีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพใหม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแทรกแซงพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ชุมชน
เป้าหมาย Net Zero ที่ถูกลืม
การฟอกเขียว คือหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการ BCG ถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ Greenpeace Thailand ได้นำเสนอเพิ่มเติมคือ แผนการลดโลกร้อนและการวางแผนปลูกป่าของไทยที่กำลังมีปัญหา ข้อสังเกตสำคัญคือ ประเทศไทยมีแผนการ Net Zero ที่กำหนดให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นศูนย์ แต่การพูดคุยในทุกการประชุมกลับยังคงเป็นเรื่องเดิม
ปี พ.ศ. 2608 ประเทศไทยตั้งเป้าไว้ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดก๊าซเรือนกระจกจะต้องเท่ากัน คือเป็นศูนย์ ดังนั้นแนวทางการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ จึงจำเป็นอย่างมากในการจัดการ อย่างน้อยก็ต้องใช้สำหรับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกถึง 120 ล้านตัน ภาครัฐไทยจึงตัดสินใจเลือกกลุ่มทุนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ในภารกิจเหล่านี้ เช่น การเป็นหุ้นส่วนในงาน Thailand Climate Action Conference เป็นต้น และเริ่มสร้างตลาดคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ รวมถึงการซื้อขายพลังงานสะอาดในตลาดอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อสังเกตของธาราคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็สามารถเอาก๊าซเรือนกระจกมาขายได้ โดยระบุว่าพลังงานจากการสร้างเขื่อนเป็นพลังงานสะอาด
โจทย์ต่อมาคือ นับตั้งแต่ปี 2530 ศักยภาพของระบบนิเวศที่คอยตอบสนองความต้องการของคนไทย เริ่มมีอาการติดลบมากขึ้นกว่าความสามารถในการรองรับ ธาราระบุว่าคนไทยเป็น ‘หนี้’ ระบบนิเวศไปแล้ว ดังนั้นแนวคิด BCG อาจไม่ถึงขั้นเลวร้าย เพราะเป็นวิธีเดียวกับที่ทั่วโลกผลักดัน แต่ปัญหาคือประเทศไทยมีสภาวะ ‘ลับ-ลวง-พราง’ มาก และหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะยิ่งทำให้ศักยภาพของระบบนิเวศไทยต่ำลงเรื่อยๆ
ธารากล่าวว่า โครงสร้างของ BCG ครอบคลุมเกือบทุกอย่าง แต่ไม่พูดถึงรากฐานทางสังคม เช่น น้ำ อาหาร สุขภาพ การศึกษา ไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศสภาพ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และความเป็นธรรมทางสังคม คำถามคือหากโครงการนี้ยังถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนผูกขาดแบบนี้ต่อไป จะเป็นการกระทบและรุกรานรากฐานของสังคมที่กล่าวไปหรือไม่
คำถามสุดท้ายของธาราที่เป็นคำถามใหญ่ คือ ภาครัฐที่กำลังพยายามปลูกป่าจะหาพื้นที่มาจากไหนโดยที่ไม่ไปยึดพื้นที่จากประชาชน และการนำพื้นที่ป่าของชุมชนมาค้าคาร์บอนเครดิต จะนำไปสู่ ‘การล่าอาณานิคมคาร์บอน’ (Carbon Colonialism) ในอนาคตเหมือนประเทศอื่นๆ กำลังเผชิญหรือไม่ โครงการใหญ่ที่เต็มไปด้วยเอกชนผูกขาดอย่าง BCG จึงต้องถูกจับตาและถามคำถามต่อไปในอนาคต
อุตสาหกรรมยาภายใต้ TRIPS Agreement เดินต่อไม่ได้ถ้ายังถูกผูกขาด
ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ปรากฏในแผน BCG ที่นำมาซึ่งข้อน่ากังวลด้านความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน คือการผลักดันการใช้เทคโนโลยีกับทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพสมุนไพรและยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะในการผลิตสินค้าประเภทยาที่ยังมีข้อจำกัดและไม่สอดคล้องกับหลายนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า อุปสรรคใหญ่ของยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือการดำเนินงานภายใต้ความตกลงด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS Agreement) ซึ่งมีเงื่อนไขให้ความคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยาตามระยะเวลาในการเจรจากับคู่ค้า รวมไปถึงการชดเชยระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรในกรณีที่หน่วยงานรับผิดชอบการขึ้นทะเบียนยาดำเนินการล่าช้า ตามข้อกำหนดความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ที่มีมติร่วมกันของประเทศในกลุ่ม APEC
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า การดำเนินการผลิตสินค้าประเภทยาภายใต้ข้อตกลงของ TRIPS ซึ่งเริ่มกำหนดใช้ในปี พ.ศ. 2530 ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยถดถอยลง เนื่องจากถูกจำกัดด้วยสิทธิบัตรยาของผู้ผลิตต่างชาติ เมื่อผลิตยาประเภทเดียวกันและคุณภาพใกล้เคียงกันกับยาที่มีอยู่แล้วได้น้อยลง ทำให้ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศถึงร้อยละ 70 จากจำนวนยาทั้งหมดในคลัง และส่งผลให้ราคายาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญายังทำให้เกิดการผูกขาดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด เกิดการจดสิทธิบัตรยาซ้ำเพื่อใช้ในการรักษาโควิดโดยเฉพาะแม้จะเป็นยาที่เคยถูกคิดค้นไว้แล้ว ได้แก่ เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) บาริซิทินิบ (baricitinib) โมนูพิราเวียร์ (molnupiravir) และฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ทำให้ประชาชนในประเทศที่ขาดแคลนเข้าถึงยารักษาโรคได้ยากกว่าเดิม ซึ่งรวมไปถึงประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย
เฉลิมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ BCG ยังมีข้อที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของพืชสมุนไพร เพื่อเป้าหมายความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน โดยมีความพยายามจะแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเป็นข้อกังวลทั้งในภาคการเกษตรและเศรษฐกิจว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืช เมื่อเป็นเช่นนั้น การผลิตยารักษาโรคซึ่งใช้วัตถุดิบจากพืชสมุนไพรก็จะมีต้นทุนสูง และทำให้ราคายาสูงขึ้นตามไปด้วย
ในภาพรวมของการตั้งต้นการพัฒนาประเทศผ่านยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงยังมีข้อกังขาว่าจะสามารถสร้างความมั่นคงทางสุขภาพได้จริงหรือไม่ และผลลัพธ์จะคุ้มค่าต่อการลงทุนด้านทรัพยากรหรือเปล่า
เฉลิมศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นการผลักดันโครงการ Wellness Tourism ที่ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมกิจกรรมเสริมสุขภาพ ซึ่งซ้อนทับอยู่กับแผน Medical Hub ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการรับคนเข้ารักษาด้วยการแพทย์ในโรงพยาบาล หากโครงการ Medical Hub ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง และจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการรับการรักษาของประชาชนด้วยเช่นกัน