การรัฐประหาร 2557 คือ นับเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับไทยในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลทหารจดจ่ออยู่กับการแสวงหาอำนาจทางการเมืองและการปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยที่สาระสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจปากท้องไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นการซํ้าเติม ‘ภาวะต้มกบ’ ที่ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งทางเศรษฐกิจในตลาดโลก การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง พร้อมกับปัญหาใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามาดิสรัปต์เศรษฐกิจไทยอย่างสุดขั้ว จนกบในหม้อไม่ต่างอะไรกับ ‘กบตุ๋น’ ที่ค่อยๆ เปื่อยโดยไม่รู้ตัว
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้มองภาวะต้มกบนี้เป็นเพียงปัญหาทางเศรษฐกิจมิติเดียวเท่านั้น หากยังเป็นปัญหาในเชิง ‘เศรษฐกิจการเมือง’ ด้วย เมื่อหาคำตอบถึงเหตุและปัจจัยอื่นว่า ทำไมประเทศไทยจึงสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้พบว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ‘นายทุน-ขุนศึก’ คือ สองเชฟใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการปรุงเมนูต้มกบให้เป็นกบตุ๋น ผ่านความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ผูกขาด ที่เติมเชื้อไฟใต้หม้อต้มกบให้เดือดพล่าน ซํ้ายังช่วยกันฉุดรั้งขากบไม่ให้กระโดดออกจากหม้ออีกด้วย
อาจารย์อภิชาตได้คลี่ปมภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยทีละชั้นเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ภายใต้กรอบเศรษฐกิจการเมือง เพื่อพาทุกท่านไปพิจารณาว่า ทำไม ‘นายทุน-ขุนศึก’ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา พร้อมกับจุดประเด็นที่น่าสนใจอันเกี่ยวเนื่องกันคือ 1) สภาวะถดถอยและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 2) นายทุน-ขุนศึก ดึงขากบไม่ให้กระโดด 3) ปัญหาเชิงโครงสร้างและฉันทามติของประชาชน และ 4) วิกฤตหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นข้อสังเกตและบทวิพากษ์อันเข้มข้น ตรงไปตรงมา และคมชัดที่สุดในรอบทศวรรษ ในบทสัมภาษณ์ชุด #ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบ ในวาระครบรอบ 1 ทศวรรษการรัฐประหาร 2557
เศรษฐกิจไทยในภาวะต้มกบ นอกจากประเด็นเรื่องการไม่ปรับตัวของภาครัฐและภาคธุรกิจดังที่อาจารย์วิพากษ์แล้ว มีสมการอื่นใดอีกหรือไม่ที่เติมเชื้อไฟในภาวะเช่นนี้ อย่างเช่นการผูกขาดของนายทุนและชนชั้นนำ
แน่นอน ชนชั้นนำไทยเป็นส่วนหนึ่งในภาวะต้มกบ กล่าวอย่างง่ายที่สุดก็คือ การรัฐประหาร 2557 ทำให้ชนชั้นนำไทยมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งรัฐได้เอาอำนาจนำของระบบเศรษฐกิจไปไว้ที่ระบบราชการที่นำโดยทหาร ทำให้ความสามารถของรัฐไทยที่จะไปแก้ไขปัญหาภาวะต้มกบและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศลดลงไปอีก
การใช้มาตรา 44 แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะสั่งอะไรด้วยมาตรานี้ได้หมดเลย แต่ไม่ได้ใช้อำนาจตรงนี้ในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญเชิงโครงสร้างใดๆ อีกทั้งคณะรัฐประหารยังอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องถึง 9 ปี ก็ยิ่งทำให้เราสูญเสียโอกาสในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ไป
ชนชั้นนำไทยในสมการต้มกบนี้ หมายถึงกลุ่มไหนบ้าง และพวกเขามีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ชนชั้นนำไทยประกอบไปด้วยชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่ในระยะหลังพวกเขาใกล้ชิดสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น การผูกขาดทางการเมืองจากการรัฐประหาร 2557 นำไปสู่การผูกขาดทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘รัฐ-ทุน’ ตั้งแต่หลังการรัฐประหารเป็นต้นมาอยู่ในรูปแบบ ‘นายทุน-ขุนศึก’ อย่างน้อยก็มีชนชั้นนำสองปีกนี้แหละที่ผลิตสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนนิยมพวกพ้อง’ หรือ ‘ระบบทุนนิยมอุปถัมภ์ผูกขาด’ ผ่านการสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบประยุทธ์’
ระบบนี้ก็คือ ตัวที่ดึงขากบไม่ให้กระโดดออกจากหม้อที่นํ้ากำลังเดือด ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุนเช่นนี้ มันไม่ healthy และเป็นหนึ่งในความจำเป็นที่เราจะต้องเอาตัวแปรนี้ออกไป ไม่ให้มาเป็นข้อจำกัดทางการเมืองอีก
ทำไมรัฐกับทุนจึงร่วมกันผูกขาดได้
เพราะว่าพวกเขาเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐได้ ควบคุมองค์กรกำกับดูแลได้ หรือที่เรียกว่า ‘state capture’ ก็คือ กลไกที่กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ กลไกที่ป้องกันการผูกขาด เช่น กลไกการป้องกันการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ที่ทุนมีพลังอำนาจมากเกินจน กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ไม่กล้าใช้อำนาจในการพิจารณาเรื่องการควบรวม มีแต่เพียงอำนาจในการรับทราบเท่านั้น จนทำให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น หรือกรณีการควบรวมกิจการค้าปลีก-ค้าส่ง ที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ไม่สามารถทำอะไรกับการควบรวมได้ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหาร 2557 ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุน แนบแน่นและกระจุกตัวเป็นกลุ่มก้อนอย่างเข้มข้นมากขึ้น
การผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ส่งผลอย่างไรต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย
การผูกขาดมันขัดขวางการมีนวัตกรรม (innovation) และเทคโนโลยี ซึ่งโดยปกติทุนต่างชาติจะแข่งขันกันด้วยสิ่งนี้ ทำให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในตลาดโลก แต่ก็มาพร้อมกับการลงทุนวิจัยและพัฒนา และการแข่งขันด้วยความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ที่สูงด้วยเช่นกัน แต่เมื่อตลาดภายในประเทศไทยถูกผูกขาด ทำให้การแข่งขันด้วยนวัตกรรมลำบากขึ้น เพราะไม่มีใครสู้กับทุนใหญ่ได้ ดังนั้น นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์จึงไม่เกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น การผูกขาดโดยเจ้าตลาด ในอุตสาหกรรมเหล้า-เบียร์-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมูลค่าตลาดนับแสนล้านบาท แต่มีผู้เล่นเพียงไม่กี่เจ้า เราจึงไม่เห็นภาพของธุรกิจสุราสร้างสรรค์ หรือสุราท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างเหล้าญี่ปุ่นหรือไวน์ยุโรป หรือกรณีการผูกขาดของทุนพลังงาน ประชาชนอย่างเราๆท่านๆ ก็คงทราบดี เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากค่าไฟที่สูงขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ผูกขาด จึงทำลายความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เราต้องทลายเสีย เพื่อให้เราออกจากภาวะต้มกบได้
ทำไมทุนไทยถึงไม่ไปแข่งขันในระดับโลก แต่กลับผูกขาดเพียงแค่ภายในประเทศ
เพราะว่านายทุนสามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ทำให้องค์กรควบคุมกำกับดูแล (reguratory body) ทางธุรกิจ ‘เป็นหมัน’ ในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไม่สามารถขัดขวางการควบรวมกิจการของผู้ค้าปลีกรายใหญ่ได้ เป็นต้น ดังนั้น ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ผูกขาดจึงทำให้พวกนายทุนหากินง่าย ไร้คู่แข่ง ไม่ต้องลงทุนพัฒนาเพื่อสร้างศักยภาพอะไร ต่างจากการต้องออกไปแข่งขันทางการค้าภายนอกประเทศ ที่ทุนต่างประเทศเขามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สูงกว่า มันก็เลยกลายมาเป็นปัญหาว่าไข่กับไก่อะไรเกิดก่อนกัน อย่างเกาหลีใต้มีทุนแชโบล (กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพล) หรือทุนผูกขาดภายในประเทศ อย่างแดวู ซัมซุง แต่วันหนึ่งได้พัฒนาขีดความสามารถจนสามารถออกไปแข่งขันในตลาดนอกประเทศได้
เราจะเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อให้หลุดออกจากภาวะต้มกบ
หากจะหลุดออกจากหม้อต้มกบ ข้อที่ 1 คือ การปฏิรูประบบราชการ และข้อที่ 2 ก็คือ ทลายความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำแบบนายทุน-ขุนศึกหยิบมือเดียวนี้ ไม่งั้นพวกเขาก็ยังคงดึงขากบคนละข้างไม่ให้กระโดดออกจากหม้อต่อไป ซํ้าจะยิ่งทำให้ไทยขาดศักยภาพ ความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจแบบรวยกระจุก-จนกระจาย จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้จากตัวอย่างการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่เหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่ ซึ่งเป็นการผูกขาดที่รัฐอนุญาตให้เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุนที่ไม่ healthy