ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยทะยานสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ต่อ GDP ทะลุค่าเฉลี่ยมาตรฐานสากลคือ 80 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP สถานการณ์หนี้สินของคนไทยนำไปสู่ข้อกังวลว่า เรากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนฝันร้ายปี 2540 หรือไม่
WAY หอบคำถามประเด็นเหล่านี้ไปหา อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไขถึงต้นตอปัญหาหนี้สินครัวเรือนของคนไทยว่ามีสาเหตมาจากอะไร ส่งผลต่อคนกลุ่มไหนมากที่สุด และสาเหตุใด เราจึงเดินมาถึงจุดนี้
มาตรการลดดอกเบี้ยของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่พยายามงัดข้อกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยของลูกหนี้ลง จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยใน ‘ภาวะต้มกบ’ ได้หรือไม่ วิธีไหนคือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในระยะยาว และจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซํ้ารอยต้มยำกุ้งหรือไม่
ติดตามบทวิพากษ์อันเข้มข้น ตรงไปตรงมา และคมชัดที่สุดในรอบทศวรรษของอาจารย์อภิชาต พร้อมกับจุดประเด็นที่น่าสนใจภายใต้การมองผ่านกรอบ ‘เศรษฐกิจการเมือง’ ผ่านบทสัมภาษณ์ชุด ‘ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในหม้อต้มกบ’ ในวาระครบรอบ 1 ทศวรรษการรัฐประหาร 2557 ในประเด็นดังต่อไปนี้
- สภาวะถดถอยและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
- นายทุน-ขุนศึก ดึงขากบไม่ให้กระโดด
- ปัญหาเชิงโครงสร้างและฉันทามติของประชาชน
- วิกฤตหนี้ครัวเรือน
ทุนผูกขาด #ระบบอุปถัมภ์ผูกขาด #เศรษฐกิจไทย #ก้าวไกล #เพื่อไทย
สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของคนไทยในปัจจุบัน มีประเด็นอะไรควรจับตาเป็นพิเศษ
สภาวะหนี้โดยรวมของไทยอยู่ที่ 91 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ประมาณ 16.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้บ้านอยู่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้กลายเป็นหนี้ NPL ประมาณ 2 แสนล้านบาท ตรงนี้เป็นเพียงหนี้บ้านอย่างเดียว เราไม่ได้พูดถึงหนี้อื่นอย่าง หนี้บัตรเครดิต หนี้บริโภคส่วนบุคคล หนี้รถยนต์ หรืออื่นๆ
ที่น่ากลัวคือ หนี้เสียมันโตเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเกิดโควิด-19 หนี้ต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นซึ่งคือเพดานสูงสุดแล้ว ที่เป็นมาตรฐานโลกที่ขีดกำกับหนี้ครัวเรือนไว้ตรงนี้
แต่สิ่งที่น่ากลัวขึ้นไปอีกคือ หนี้ที่กำลังจะเสีย SM (Special Mention Loan) ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคต ไอ้หนี้นี้คือ หนี้ที่ขาดการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย 1-2 เดือนแต่ยังไม่ถึง 3 เดือน จ่าย 2 เดือนหยุด 1 เดือน แล้วกลับไปจ่ายใหม่ ซึ่งหมายความว่าหนี้เช่นนี้ ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติได้ หนี้ SM น่ากลัวมากที่สุดเพราะว่า โตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 31 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่ SM จะกลายไปเป็น NPL มีมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสัญญาณมันไม่ดี
ลักษณะของหนี้สินคนไทยเกิดจากหนี้สินประเภทใดบ้าง
คนเรามันมีหนี้หลายแบบ มีหนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ หนี้บ้าน ปกติเราจะเลือกจ่ายหนี้บ้านมากที่สุดก่อน เพราะเราต้องอยู่อาศัย แล้วค่อยไปจ่ายหนี้อื่นๆ ดังนั้น ลูกหนี้ก็เลือกที่จะทิ้งการผ่อนหนี้อื่นๆ ก่อน ตอนนี้มันลามมาถึงหนี้บ้าน ดังนั้นภาระการผ่อนหนี้มาเริ่มน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ
หากเราไปดูไส้ในของเครดิตบูโร คนที่มีปัญหาหนี้ NPL ส่วนใหญ่คือใคร ก็คือผู้ที่มีหนี้บ้านมูลค่าตํ่ากว่า 3 ล้านบาท นั่นคือ บ้านของชนชั้นกลาง ดังนั้น ไม่ใช่เพียงแค่คนชั้นล่างที่ประสบปัญหาหนี้ แต่มันลามมาถึงชนชั้นกลางแล้ว บ้านราคา 3 ล้านนี้หมายความว่า คุณต้องมีรายได้ที่มั่นคงในระดับหนึ่ง คุณจึงจะมีกำลังผ่อนบ้าน
อะไรเป็นสาเหตุให้คนเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว
อาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากโควิด-19 รายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ปกติเหมือนก่อนโควิด-19 หรืออาจเป็นเพราะว่า รายได้โตไม่ทันรายจ่าย คนที่ซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทคือ คนที่มีรายได้ระหว่าง 10,000-30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการสำรวจของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ผ่านมาพบว่า คนที่มีรายได้ในระดับนี้ มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนรวมการผ่อนหนี้แล้ว 114 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แสดงว่ารายได้ของพวกเขาโตไม่ทันรายจ่ายจริง
อันนี้แหละคือสัญญาณที่บ่งบอกว่า ภาระหนี้สินอยู่ในสภาวะที่แย่ลง แต่มันจะอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่นั้นคงจะต้องรอดูต่อไป โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของหนี้ SM
NPL อันตรายมากน้อยขนาดไหนต่อระบบธนาคาร จะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนในปี 2540 หรือไม่
ยังไม่น่าอันตรายนัก เพราะธนาคารได้สำรองเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่ากำไรของธนาคารจะลดลงก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ธนาคารขาดทุน สถานการณ์เช่นนี้ยังไม่นำประเทศไทยไปสู่วิกฤตธนาคาร (banking crisis) ที่จะทำให้ธนาคารล้มเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งที่แบงก์ขาดทุนจากการสำรองเงิน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมธนาคารของไทยมีความมั่นคงสูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
อะไรคือ รากฐานของปัญหาหนี้สินของคนในปัจจุบัน
รายได้โตไม่ทันรายจ่าย มันก็เลยเป็นหนี้ ไม่สามารถจ่ายหนี้ที่มีอยู่ได้ ทำให้หนี้สินสะสมมากยิ่งขึ้น
ถามว่าทำไมรายได้โตไม่ทันรายจ่าย เพราะว่า GDP ที่ผ่านมามันเติบโตช้า มันก็กลับไปเรื่องเดิมอีกคือภาวะต้มกบ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงเรื่อยๆ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยตํ่าลงเรื่อยๆ เพราะเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ มันจึงโผล่ไปที่ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทำอย่างไรรายได้คนไทยถึงจะเพิ่มขึ้น สามารถโตทันกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นได้
แหล่งรายได้หลักของคนไทยมาจากการเป็นแรงงานไม่ว่าจะระดับไหน อย่างเช่นผมเป็นข้าราชการ รายได้หลักของผมคือเงินเดือน เงินเดือนก็คือแรงงานประเภทหนึ่ง กรรมกรรายวันตอนนี้บางคนได้ 400 บาทแล้ว เป็นต้น ไม่นับมหาเศรษฐีที่รายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขามาจากกำไร
รายได้แรงงานที่ผ่านมาของคนส่วนใหญ่ในเมืองไทย มาจากการใช้แรงงานทักษะระดับกลาง และระดับล่าง แรงงานที่ใช้ทักษะสูงมีน้อยมาก
รายได้ของแรงงานทักษะสูงมีมากพอกับรายจ่าย แต่ที่เป็นปัญหาคือครึ่งล่างลงมา ค่าจ้างขั้นตํ่าของเราคือ 300 บาทแล้วมา 400 บาท ใช้เวลากี่ปี ซึ่งมันโตไม่ทันรายจ่ายไปแล้ว แรงงานก็เลยต้องเป็นหนี้ขึ้นมา หนี้ต่อรายได้มันจึงเพิ่มขึ้น
ค่าแรงของเราก็ยังตํ่ากว่าค่าแรงในต่างประเทศ หนึ่ง เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช้า สอง ระดับของค่าแรงของงานในระนาบเดียวกันตํ่ากว่าของต่างประเทศ งานนอกกรุงเทพฯ ที่มีรายได้ 15,000 บาทไม่ได้หากันง่ายๆ ถ้าคุณจบปริญญาตรี หางานที่มีเงินเดือน 15,000 บาทในเชียงใหม่ ไม่ใช่ว่าคุณจะหาได้ง่ายๆ
ดังนั้น สิ่งที่เราเรียกกันว่า good job งานที่ดี มีรายได้พอสมควร มีการจ้างงานที่มั่นคงไม่ถูกไล่ออกง่ายๆ มันมีไม่เยอะ
ถ้าจะทำให้คนไทยมีรายได้สูงขึ้นจากเดิม ประเทศไทยควรมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร
เส้นทางอุตสาหกรรมของไทย การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา เราเติบโตขึ้นมาจากสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ใช้ทรัพยากรเข้มข้น ใช้เทคโนโลยีและทุนตํ่า ดังนั้น เราจึงสามารถส่งออกสินค้าได้เยอะจากการมีแรงงานที่ค่าแรงตํ่า
แต่แรงงานเหล่านี้มีทักษะตํ่า การศึกษาไม่ต้องสูง ไปยืนบนสายพานการผลิต เอาชิ้นส่วนมาประกอบกัน ต้นทุนแรงงานคือสัดส่วนสำคัญของสินค้าส่งออก เพื่อให้ได้กำไรที่มาก ดังนั้น แรงงานก็ต้องทำงานที่ใช้ทักษะตํ่าต่อไป
งานที่ดี (good job) ของเราที่ได้ค่าแรงสูงจากการใช้ทักษะที่สูงมีน้อยมาก และเมื่อเวลาผ่านไป ไทยยิ่งสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ค่าแรงที่น้อยมันก็ยิ่งไม่พอใช้เพราะไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศที่มีค่าแรงตํ่ากว่าไทยอย่างกัมพูชาทุนก็ย้ายไป เราจึงไม่สามารถผลิตสินค้าส่งออกเช่นเดิมได้อีกต่อไป เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ พวกนี้แทบไม่เหลือในประเทศไทยแล้ว
เพื่อให้แรงงานไทยมีทักษะสูงขึ้น ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น สินค้าจะต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น มากกว่าเสื้อผ้ารองเท้า เราก็จะต้องเพิ่มทักษะแรงงานของเรา ตรงนี้แหละที่เรายังไปไม่ถึง
ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ใครคือเจ้าของยี่ห้อ ใครคือเจ้าของเทคโนโลยี ใครคือเจ้าของเครื่องยนต์ ใครคือเจ้าของชิ้นส่วนสำคัญแพงๆ ของรถยนต์ ไม่ใช่คนไทยเลย แม้ทุนจะตั้งโรงงานในเมืองไทยเพื่อผลิตชิ้นส่วนที่มูลค่าสูง แต่ไม่ใช่คนไทย มูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่อยู่ที่เจ้าของ ไม่ใช่คนไทยอีกมันก็ทำให้ค่าแรงไม่สูง ถึงตรงนี้ มันก็คือ กับดักรายได้ปานกลาง ถ้าเราอยากให้ค่าแรงสูงขึ้น เราต้องผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง งานที่ใช้ทักษะสูง มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นของตนเอง
มาตรการลดดอกเบี้ยที่รัฐบาลเห็นต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยได้มากน้อยเพียงใด
รัฐบาลต้องการให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า ดอกเบี้ยในระดับนี้เหมาะสมแล้ว คุณเศรษฐาต้องการให้มีการลดดอกเบี้ย ต้องการลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยของลูกหนี้
แน่นอนว่าการลดดอกเบี้ยทำให้ภาระการจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง แต่รากฐานของปัญหาการมีหนี้สินสูงคือ รายได้โตช้ากว่ารายจ่าย การลดดอกเบี้ยเพื่อไปกระตุ้นการลงทุน เพื่อเพิ่มผลผลิต GDP เราก็จะโตในทางนี้ ดอกเบี้ยคือ ต้นทุนหนึ่งในการลงทุนทางการเงิน การลดดอกเบี้ยในปัจจุบันมันไม่ค่อยจะส่งเสริมการลงทุนมากนัก เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ มากมาย
ตอนนี้นายทุนไทยลงทุนนอกประเทศมากกว่าในประเทศไทย นายทุนไทยไม่ได้ขาดเงินนะครับ เงินฝากในระบบเศรษฐกิจไทยยังมีเยอะอยู่ แต่ทำไมนายทุนไม่ลงทุนในประเทศ ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะดอกเบี้ยแพง แต่ไม่รู้จะลงทุนอะไรที่ทำให้แข่งกับต่างประเทศได้
มันก็กลับเรื่องเดิม การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทุนไทยก็จะไม่สามารถแข่งกับต่างประเทศได้ สู้ไม่ลงทุนเสียตั้งแต่ต้นจะดีกว่า ดังนั้น ปัญหาต้มกบแก้ไขไม่ได้ด้วยการลดดอกเบี้ยหรอก