ตลอดหลายวันที่ผ่านมา รัฐบาลอาร์เจนตินากำลังสาละวนอยู่กับการหายตัวไปของเรือดำน้ำของตนลำหนึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติก หลายชาติให้ความช่วยเหลือส่งเรือและครื่องบินออกช่วยค้นหา และเมื่อเวลาผ่านไปได้หนึ่งสัปดาห์ ความหวังในด้านดีเริ่มเลือนหาย ทำให้ผู้คนหวนกลับไปคิดถึงหลายกรณีโด่งดังเป็นโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำของบางประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจสู้รบที่สูญเสียไป ภายใต้ผืนมหาสมุทรในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
รัฐนาวีอาร์เจนตินาแถลงข่าวว่า สัญญาณติดต่อตามปกติจาก เรือดำน้ำพลังงานดีเซล/ไฟฟ้า ซาน ฮวน (ARA San Juan) ได้ขาดหายไป ขณะกลับจากภารกิจป้องกันปราบปรามการประมงผิดกฎหมายทางใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ในมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งภูมิภาคพาตาโกเนีย (Patagonia) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ท่ามกลางอากาศอันเลวร้าย ลมพายุแรง และคลื่นสูงถึงประมาณ 6-7 เมตร
เหตุน่าสงสัยเกิดขึ้นหลังจากเรือดำน้ำ ซาน ฮวน ลอยตัวขึ้นมาเหนือน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อวันพุธที่แล้ว และกัปตันส่งข่าวรายงานต่อฐานทัพว่ามีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับแบตเตอรี่และระบบไฟฟ้าของเรือ แต่นั่นเป็นเหตุการณ์ปกติที่การทำงานของระบบบางอย่างอาจสะดุดลงเป็นครั้งคราว และทางฐานทัพคาดว่าระบบสำรองน่าจะทำงานทดแทนได้ แต่เรื่องไม่เป็นไปเช่นนั้น เมื่อฐานทัพไม่ได้รับการรายงานประจำวันจากเรือ ซาน ฮวน อีกเลย
สองสามวันถัดมา รัฐนาวีอาร์เจนตินาเปิดเผยว่าได้รับสัญญาณผ่านดาวเทียมเจ็ดครั้งที่ตีความหมายได้ว่าเป็นการแจ้งเหตุฉุกเฉินจากเรือดำน้ำของตน ทำให้สาธารณชนที่เฝ้าจดจ่อรอคอยข่าวดีใจชื้นขึ้นบ้าง แต่แล้วต่อมาทางการก็แถลงว่าสัญญาณเหล่านั้นไม่ได้มาจากเรือดำน้ำลำดังกล่าวโดยตรง ทำให้ความคาดหวังถึงการรอดชีวิตของลูกเรือเลือนหายไป
โฆษกรัฐนาวี เอนริเก บัลบิ (Enrique Balbi) แถลงว่า “เราได้รับรายงานจากบริษัทที่ทำงานวิเคราะห์สัญญาณแล้ว ปรากฏว่า สัญญาณที่พยายามเรียกใช้เจ็ดครั้งไม่ได้มาจากโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมของเรือดำน้ำ” เขากล่าว และเพิ่มเติมว่า “เรายังไม่สามารถติดต่อพวกเขาได้”
หลังจากนั้นห้าวัน เรือและอากาศยานจำนวน 49 ลำจากอาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ บราซิล ชิลี อุรุกวัย และประเทศอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศที่ดีขึ้นเพื่อออกค้นหาผืนน้ำขนาดกว้างใหญ่กว่ารัฐแคลิฟอร์เนีย เจ้าหน้าที่นานาชาตินับพันคนเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกองทัพเรือสหรัฐและอาร์เจนตินา กองทัพเรือสหรัฐกล่าวว่า กำลังใช้ยานดำน้ำใต้ท้องทะเลไร้มนุษย์สี่ลำเข้าช่วยสนับสนุนการค้นหา
กองทัพเรืออาร์เจนตินากล่าวเมื่อวันอังคารว่า มีการพบเห็นยานชูชีพขนาดใหญ่ในพื้นที่ค้นหาเมื่อคืนวันจันทร์และแสงจากพลุที่มองเห็นได้ด้วยเรือกู้ภัย แต่ปรากฏว่าทั้งสองสิ่งไม่ได้มาจากเรือ ซาน ฮวน
บรรดาญาติของลูกเรือทั้ง 44 คนมารวมตัวกันที่ฐานทัพเรือที่ มาร์ เดล พลาตา (Mar del Plata) ฐานประจำการของเรือดำน้ำลำนี้ซึ่งเดิมมีกำหนดเดินทางกลับมาถึงในวันจันทร์
รั้วลวดหนามโดยรอบฐานมีการติดประดับด้วยธงอาร์เจนตินากับป้ายข้อความแสดงความหวังถึงคนที่รักของพวกญาติมิตร ขณะแพทย์ทหารเรือ ณ ฐานทัพ ช่วยให้คำปรึกษาสนับสนุนทางจิตวิทยาเพื่อผ่อนคลายจิตใจแก่สมาชิกครอบครัวทหารเรือ
ที่สำนักวาติกัน ในระหว่างพิธีสวดรอบบ่ายวันอาทิตย์ สันตะปาปาฟรานซิสผู้ถือกำเนิดเป็นพลเมืองอาร์เจนตินาประกาศว่า “เราขอสวดวิงวอนเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทหารเรือในเรือดำน้ำของอาร์เจนตินาที่หายไป”
เรือดำน้ำพลังงานดีเซล/ไฟฟ้า ซาน ฮวน สร้างโดยอู่ต่อเรือของเยอรมนี เข้าประจำการในกองทัพเรืออาร์เจนตินาเมื่อปี 1984 มีขนาดยาว 66 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีพิสัยทำการ 22,200 กิโลเมตร
ตอนต้นสัปดาห์ กองทัพเรือแถลงเป็นการภายในต่อพวกญาติมิตรของลูกเรือว่ายังคงมีความหวังว่าลูกเรือน่าจะยังคงอยู่รอดชีวิต ขณะการค้นหาดำเนินไปและอ้างถึงระบบสำรองต่างๆ ภายในเรือ
แต่นักวิเคราะห์ผู้ชำนาญการทหารเรือ เจมส์ โกลดริค (James Goldrick) อดีตนายทหารอาวุโสประจำสถาบันการทหารแห่งออสเตรเลีย ระบุต่อนักข่าวเมื่อวันอังคารว่า มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่ลูกเรือทั้งหมดจะยังรอดชีวิตหลังจากเวลาผ่านไปนานขนาดนั้น
“ตลอดทุกชั่วโมง ความเป็นไปได้ที่จะพบว่ามีผู้ชีวิตคงอยู่จะลดลงไปเรื่อย” อดีตพลเรือตรีผู้บังคับการเรือสองลำ และผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันชายแดนของออสเตรเลียกล่าว “ผมไม่คิดหวังว่าจะมีใครได้พบลูกเรือเหล่านั้นอีกแล้ว
“มันจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก หากเป็นแค่ปัญหาของการติดต่อสื่อสาร แต่หลังจากช่วงเวลานี้ผ่านไปแล้ว ผมไม่เชื่อว่าเรื่องมันมีแค่นั้น
“เรื่องเลวร้ายที่คุณหวั่นเกรงมากสุด เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้”
กองทัพเรือระบุว่า ในเรือมีระบบสำรองอาหารและอากาศสำหรับลูกเรือยามฉุกเฉินได้นานสองสัปดาห์ แต่ถ้าเกิดเหตุความเสียหายอย่างอื่นนอกเหนือจากระบบสื่อสาร สิ่งเหล่านี้ก็แทบไร้ประโยชน์สิ้นเชิง
เรือ ซาน ฮวน เข้าประจำการหลังจากสงครามฟอล์คแลนด์สิ้นสุดลง เป็นหนึ่งในเรือดำน้ำสามลำของกองทัพเรืออาร์เจนตินาซึ่งค่อนข้างขาดแคลนงบประมาณ และดำเนินภารกิจเรือดำน้ำผ่านมาได้อย่างชนิดพอเอาตัวรอด เมื่อสิบปีก่อน เรือ ซาน ฮวน เคยผ่านการบูรณะปรับปรุงครั้งใหญ่ถึงขั้นผ่าลำเรือออกเป็นสองส่วนมาแล้ว
เราไม่อาจรู้ได้โดยง่ายว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นกับเรือดำน้ำ ขณะที่มันกบดานซ่อนตัวลึกลงไปในท้องมหาสมุทร แต่อดีตนายทหารโกลดริคคาดการณ์ว่า มีบางสิ่งบางอย่างมากกว่าความล้มเหลวในการสื่อสารได้เกิดขึ้น เป็นเหตุให้มันไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่พื้นผิวน้ำได้
เรือดำน้ำทั่วไปสามารถปล่อยตัวบ่งชี้เป็นทุ่นลอยที่จะปรากฏอยู่บนพื้นผิวทะเลได้ หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างอยู่ใต้น้ำ แต่สำหรับเรือเก่าขนาดนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่าสภาพและสมรรถนะของเรือเป็นอย่างไร
โกลดริคกล่าวเสริมว่า ถ้าส่วนใดของเรือดำน้ำเกิดไฟไหม้หรือน้ำท่วม “มันก็ยากมากที่ใครจะเอาชีวิตรอดได้
“ถ้าสมมุติว่ามีการแตกหักของท่อทางในห้องบังคับการใหญ่ ลูกเรือต้องปิดส่วนนั้นลง” โกลดริคอธิบาย “ถ้าเกิดน้ำท่วมตรงกลางลำเรือหรือเกิดไฟไหม้ในห้องควบคุม ก็อาจมีผู้รอดชีวิตติดอยู่ในทั้งส่วนหัวและท้ายทั้งสองฟากของลำเรือ”
และผลของการเกิดอุบัติเหตุหลายประการอาจก่อให้เกิดการยุบตัวของโครงสร้างลำเรือเข้าภายในโดยแรงกดดันมหาศาลของน้ำทะเลในที่ลึกได้ ไม่ใช่เพียงว่าอุบัติเหตุนั้นร้ายแรงขนาดไหน แต่ขึ้นอยู่กับความลึกของท้องมหาสมุทรที่ขณะนั้นเรือดำน้ำกำลังกบดานอยู่ด้วย
โกลดริคระบุว่า “ถ้าเรืออยู่ในระดับค่อนข้างตื้น ก็ไม่น่าเป็นอะไร แต่ถ้ามันเป็นจุดที่ลึกมากพวกลูกเรือก็อาจได้ตายไปหมดแล้ว” นายพลเรือกล่าว “เมื่ออยู่ที่ลึกต่ำกว่าระดับหนึ่งลำตัวเรือมันจะยุบเข้าด้านในแล้วบีบอัดบดขยี้ทุกสิ่ง”
นอกจากนั้น การอยู่ในที่ลึกเกินไป ลูกเรือจะไม่สามารถใช้วิธีการหลบหนีออกจากลำตัวเรือโดยอาศัยอุปกรณ์ดำน้ำ เพราะร่างกายมนุษย์ไม่สามารถทนแรงกดที่ระดับความลึกมากๆ ได้ หากเรืออยู่ต่ำกว่าระดับความลึกวิกฤติที่บีบตัวเรือให้ย่อยยับ เรือก็น่าจะได้อับปางลงแล้ว โดยการดิ่งกระแทกพื้นทะเลขณะทำมุมแบบไหนก็ได้
แม้ว่าลูกเรืออาจสามารถหลบหนีจากจุดที่มีระดับตื้นเพียงพอแล้วขึ้นสู่พื้นผิวทะเลได้ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ได้นานในน่านน้ำเย็นจัดบริเวณนอกอ่าวซานฮอร์เก (San Jorge Gulf)
“ส่วนนี้ของโลกมันเป็นพื้นที่โหด” นายทหารเกษียณโกลด์ริคกล่าวเสริม “พวกเขาจะสามารถอยู่รอดได้นานแค่ไหนในน้ำทะเล แม้ในชุดป้องกัน แล้วยังมีอีกหลายสิ่งอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้”
ญาติของลูกเรือได้ชักธงขึ้นที่ฐานทัพเรือใน มาร์ เดล พลาตา ซึ่งเป็นปลายทางของเรือดำน้ำ ซาน ฮวน ความว่า “จงเข้มแข็งอาร์เจนตินา เราวางใจในพระเจ้า เรารอคุณอยู่” คลอดีโอ โรดริเกซ (Claudio Rodriguez) พี่ชายของลูกเรือ แฮร์มัน กล่าวว่าเขายังคงมีความหวังว่าลูกเรือยังคงมีชีวิต “เรือต้องลอยขึ้นจนได้” เขากล่าว “ขอบคุณพระเจ้า”
เเอลิอานา ครอว์ซีค (Eliana María Krawczyk) อายุ 35 ปี เป็นเจ้าหน้าที่หญิงคนเดียวในบรรดาลูกเรือ 44 คนทั้งลำ เธอเป็นนายทหารประจำการในเรือดำน้ำคนแรกของอาร์เจนตินาที่เป็นสตรี
ครอว์ซีคได้รับสมญา ‘ราชินีแห่งท้องทะเล’ พ่อของนายทหารหญิงเล่าว่า เธอเกิดและเติบโตในโอเบรา (Oberá) เมืองภาคเหนือของอาร์เจนตินา ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ญาติเธอบอกว่า “เธอเกิดมาเพื่อเป็นลูกเรือดำน้ำโดยแท้” โดยอ้างถึง ‘ความรู้สึกแกร่งปานเหล็ก’ ของเธอผู้สุดหลงใหลใฝ่ฝันถึงการทำงานในเรือดำน้ำที่มีมาโดยตลอด
ขณะที่ทางการของบางประเทศกำลังแสวงหาเครื่องจักรสงครามอันทรงพลานุภาพ ด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลสุดตัว ทั้งที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีของตนกับมาตรฐานความปลอดภัยในประเทศยังคงค่อนข้างต่ำชั้น เพียงเพื่อให้ได้ครอบครองยุทโธปกรณ์ทันสมัย โดยคิดว่าเป็นการยกสถานะอานุภาพทางทหารขึ้นเทียบเคียงกับประเทศชั้นนำ เช่นเรื่องของเรือดำน้ำ บางประเทศเช่นอาร์เจนตินากลับประสบปัญหาอันน่าสะพรึงเกี่ยวกับวิกฤติของยานรบใต้น้ำชนิดนี้ โดยที่นักวิเคราะห์ระบุชัดเจนว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนงบประมาณซ่อมบำรุงและความด้อยมาตรฐานของเรือรุ่นเก่า
ในความทรงจำของผู้สนใจยังคงปรากฏว่ามีหลายกรณีในอดีตที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความเสียหายของเรือดำน้ำที่กลายมาเป็นโศกนาฏกรรมอันไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับภารกิจสู้รบแต่อย่างใด
โศกนาฏกรรมเรือดำน้ำในอดีต
USS Thresher (SSN-593) สหรัฐ ปี 1963
เรือดำน้ำของสหรัฐ USS Thresher (SSN-593) จมลงในขณะทำการทดสอบดำน้ำลึกทางตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมค็อด (Cape Cod) เมื่อ 10 เมษายน 1963 เป็นอุบัติเหตุที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิต 129 คนบนเรือยังคงเป็นสถิติผู้เสียชีวิตจากเรือดำน้ำสูงสุดในประวัติศาสตร์
USS Thresher เป็นเรืออันดับนำในชั้นของเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 3,700 ตัน Thresher ส่งสัญญาณผิดพลาดไปยังเรือกู้ภัยเรือดำน้ำ Skylark ก่อนที่จะจมลงภายในไม่กี่นาที เรือดำน้ำกำลังเดินทางอยู่ในความลึกประมาณ 1,300 ฟุต (ประมาณ 400 เมตร) ขณะเกิดอุบัติเหตุ
เรือกู้ภัยทำงานร่วมกับเรือเดินสมุทร และเรือลำอื่นในการค้นหาใต้น้ำที่บริเวณกว้างขวาง พบซากปรักหักพังของ USS Thresher บนพื้นทะเลที่ระดับความลึก 8,400 ฟุต (ประมาณ 2,500 เมตร) ทางการระบุว่า ความล้มเหลวของท่อทางส่งผลให้สูญเสียกำลัง คือสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุ
K-141 Kursk รัสเซีย ปี 2000
ลูกเรือทั้งหมด 118 คนบนเรือ K-141 Kursk ของรัสเซียเสียชีวิตเมื่อเรือดำน้ำนิวเคลียร์จมลงในทะเลแบเรนท์ส (Barents Sea) เมื่อ 12 สิงหาคม 2000 Kursk เป็นเรือดำน้ำลาดตระเวนติดขีปนาวุธ ชั้นออสการ์ II (Oscar II class) ที่เข้าประจำการในกองทัพเรือรัสเซียเมื่อธันวาคม 1994
เรือดำน้ำ Kursk ประสบเหตุระเบิดขณะเตรียมพร้อมยิงตอร์ปิโดฝึกซ้อมระหว่างการซ้อมรบ ‘Summer X’ ซึ่งมีเรือเข้าร่วมถึง 30 ลำ เชื่อกันว่าการรั่วซึมของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีการทดสอบสูง (HTP) จากตอร์ปิโด Type 65 แบบหนึ่งทำให้เกิดการระเบิดขึ้น
แรงระเบิดทำลายห้องปฏิบัติการสามส่วนแรกโดยสิ้นเชิง ลูกเรือ 23 คนในจำนวน 118 คนรอดชีวิตอยู่ในห้องส่วนที่เก้า ขณะเรือดำน้ำดิ่งลงกระแทกพื้นทะเล แต่ต่อมาทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจากขาดออกซิเจน
USS Scorpion (SSN-589) สหรัฐ ปี 1968
เรือดำน้ำ USS Scorpion (SSN-589) อับปางลงที่จุด 400 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะอาซอเรส (Azores) ในมหาสมุทรแอตแลนติก ขณะที่กลับจากภารกิจในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อ พฤษภาคม 1968 ลูกเรือทั้งหมด 99 คนเสียชีวิต เรือ USS Scorpion เป็นเรือดำน้ำโจมตีพลังนิวเคลียร์ (ชั้น Skipjack class) ขนาด 3,500 ตัน ซึ่งเข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐ เมื่อ กรกฎาคม 1960
USS Scorpion รายงานตำแหน่งที่จุดประมาณ 50 ไมล์ทางใต้ของอาซอเรส เมื่อ 21 พฤษภาคม 1968 และไม่มีข้อปัญหาใดที่น่าสงสัย จนกระทั่งเรือไม่ได้กลับไปถึงท่าที่นอร์โฟล์ค (Norfolk) ตามกำหนด 27 พฤษภาคม กองทัพเรือสหรัฐดำเนินการค้นหาเรือดำน้ำแล้วประกาศในที่สุดว่า “สันนิษฐานว่าสูญหาย” เมื่อ 5 มิถุนายน
ต่อมายานใต้น้ำระดับลึกที่ส่งจากเรือ USNS Mizar ค้นพบซากของเรือ USS Scorpion เมื่อตุลาคม 1968 ที่ระดับความลึกมากกว่า 10,000 ฟุต (ประมาณ 3,000 เมตร) สันนิษฐานว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการเปิดสวิตช์แบตเตอรี่ของตอร์ปิโดแบบมาร์ค 37 โดยบังเอิญ หรืออาจเป็นการระเบิดของตอร์ปิโด
HMS Thetis อังกฤษ ปี 1939
Thetis (N25) เป็นเรือดำน้ำชั้น T-class ที่สร้างขึ้นโดยอู่ต่อเรือ แคมเมล แลร์ด (Cammell Laird) เรือดำน้ำเปิดตัวในเดือนมิถุนายน 1938 และขึ้นทดสอบเส้นทางเดินเรือ ปี 1939 โดยกำลังทำการทดลองดำน้ำขั้นสุดท้ายในอ่าวลิเวอร์พูล เรือจมลงจากอุบัติเหตุจากน้ำรั่วเข้าท่วมท่อตอร์ปิโดและส่วนหัวเรือทำให้เรือดำน้ำจมลงสู่ความลึก 150 ฟุต (ประมาณ 46 เมตร) ลูกเรือ 99 คนจาก 103 คนเสียชีวิต
ต่อมาเรือดำน้ำได้รับการกู้ขึ้นมาซ่อมแซมบูรณะ แล้วได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็น HMS Thunderbolt แต่ต่อมาถูกทำลายโดยเรือลาดตระเวน Cicogna ของอิตาลี เมื่อ มีนาคม 1943 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพร้อมกับลูกเรือทั้งหมด Thetis (N25) จึงเป็นเรือดำน้ำในจำนวนเพียงไม่กี่ลำในประวัติศาสตร์ที่ประสบการสูญเสียลูกเรือส่วนใหญ่ไปถึงสองครั้ง
K-129 (Golf II) สหภาพโซเวียต ปี 1968
เรือดำน้ำ K-129 เป็นเรือดำน้ำขีปนาวุธนำวิถีทางยุทธศาสตร์ ในโครงการ 629A (ชั้น Golf II) ของกองเรือแปซิฟิกแห่งสหภาพโซเวียตได้จมลงเมื่อ 8 มีนาคม 1968 ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ลูกเรือทั้งหมด 98 คนเสียชีวิต
K-129 หายไปหลังเดินทางออกจากคาบสมุทรคัมชัตกา (Kamchatka) ในภารกิจลาดตระเวน เมื่อกุมภาพันธ์ 1968 เรือดำน้ำรายงานตำแหน่งระหว่างการทดสอบดำน้ำ แล้วต่อมาไม่ได้ส่งการสื่อสารใดอีกเลย หลังการพยายามติดต่อ K-129 ไม่ประสบความสำเร็จ กองทัพเรือโซเวียตที่คัมชัตกา สำนักงานใหญ่ของกองทัพเรือโซเวียตได้ประกาศว่า K-129 “สูญหายไป” ในสัปดาห์ที่สามของเดือนมีนาคม
กองทัพเรือโซเวียตดำเนินการสำรวจค้นหาพื้นที่อันกว้างขวาง แต่ไม่สามารถพบซากของ K-129 ได้ ภายหลังจึงประกาศว่า เรือดำน้ำได้ “หายไปพร้อมกับลูกเรือทั้งหมด” ต่อมาซากปรักหักพังของ K-129 ถูกค้นพบโดยเรือสหรัฐ USS Halibut ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะโออาฮู ฮาวาย ที่ความลึกประมาณ 16,000 ฟุต (ประมาณ 4,900 เมตร) เมื่อ สิงหาคม 1968 สาเหตุของอุบัติเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
Ming 361 จีน ปี 2003
เรือดำน้ำ ‘กำแพงเมืองจีน’ (The Great Wall) หมิง 361 เป็นหนึ่งในเรือดำน้ำดีเซล/ไฟฟ้าชั้นหมิง (Ming Class) ของกองทัพเรือในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ลูกเรือทั้งหมด 70 คนที่อยู่บนเรือเสียชีวิตเนื่องจากหายใจไม่ออกเพราะขาดออกซิเจน เมื่อเมษายน 2003
เรือดำน้ำกำลังดำเนินการฝึกซ้อมรบในทะเลเหลือง (Yellow Sea) ระหว่างเกาหลี กับมณฑลซานตงของจีน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ความผิดปกติของเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ออกซิเจนภายในลำเรือดำน้ำส่งผลทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออกของลูกเรือ
แต่เรือดำน้ำพิการยังคงล่องลอยต่อไปอีก 10 วันตามกำหนดให้อยู่ในภารกิจที่ไม่ต้องมีการติดต่อสื่อสาร ในที่สุดชาวประมงจีนมาพบ หมิง 361 ในสภาพลอยตัวปริ่มน้ำครึ่งลำเมื่อ 25 เมษายน 2003 แล้วต่อมาเรือดำน้ำถูกชักลากจากที่เกิดเหตุไปยังฐานทัพที่ชิงเต่า
K-8 สหภาพโซเวียต ปี 1970
เรือดำน้ำนิวเคลียร์ K-8 อยู่ในโครงการ 627 A (รหัสนาโต้: November class) ของกองเรือภาคเหนือของโซเวียต อับปางลงในอ่าว Biscaya เมื่อ 8 เมษายน 1970 ส่งผลให้ลูกเรือ 52 คนเสียชีวิต
เรือดำน้ำได้รับความเสียหายสองครั้งจากเหตุเพลิงไหม้ในห้องที่สามและเจ็ด ขณะเข้าร่วมในการซ้อมรบ Ocean-70 ลูกเรือไม่สามารถระงับเหตุเพลิงไหม้ได้แม้เปิดใช้งานระบบฉุกเฉินแล้ว จึงต้องปิดเครื่องปฏิกรณ์ทั้งสองเครื่องลง ทำให้เรือดำน้ำขาดพลังงาน
ห้องควบคุมและห้องข้างเคียงเต็มไปด้วยควันที่เกิดจากเพลิงไหม้ ลูกเรือบางคนถูกอพยพออกจากลำเรือ ก่อนที่เรือดำน้ำจมลงสู่ความลึกประมาณ 4,680 เมตร ในขณะที่ ลูกเรือ 52 คนรวมทั้งกัปตันเรือเสียชีวิตลง เนื่องจากเกิดคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำท่วมระหว่างภารกิจช่วยเหลือและควบคุมความเสียหาย
K-278 Komsomolets สหภาพโซเวียต ปี 1989
เรือดำน้ำโจมตีของกองทัพเรือโซเวียต K-278 Komsomolets เรือดำน้ำโจมตีแบบใช้พลังงานนิวเคลียร์ลำเดียวของโครงการ 685 Plavnik (รหัสนาโต้: Mike class) จมลงในทะเลนอร์เวย์ เมื่อ 7 เมษายน 1989 ทำให้ลูกเรือเสียชีวิต 42 คน
K-278 Komsomolets ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้เมื่อออกปฏิบัติการในทะเลประมาณ 200 ไมล์ทางทิศเหนือห่างจากแผ่นดินใหญ่นอร์เวย์ เพลิงที่เกิดขึ้นในห้องที่เจ็ดของเรือลุกลามกระจายออกไปยังส่วนอื่น แล้วส่งผลให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ปิดตัวลงทำให้เรือขาดพลังไฟฟ้า
สถานการณ์ดังกล่าวถูกส่งกระจายเสียงออกทางวิทยุ ลูกเรือส่วนใหญ่สามารถสละเรือออกมาได้ขณะเรือกำลังจมลง ลูกเรือที่เหลืออยู่ในกลุ่มย่อยพยายามหนีออกมาโดยใช้แคปซูลหลบหนีฉุกเฉิน แต่มีเพียงคนเดียวในกลุ่มหลังเท่านั้นที่รอดชีวิตมาได้ เรือประมง Aleksey Khlobystov ได้ช่วยรับลูกเรือ 30 คนขึ้นสู่ฝั่ง
USS S-4 (SS-109) สหรัฐ ปี 1977
USS S-4 (SS-109) หนึ่งในเรือดำน้ำชั้น S class ของกองทัพเรือสหรัฐจมลงหลังจากเกิดเหตุชนกับหน่วยลาดตระเวนชายฝั่งสหรัฐ (US Coast Guard) ชื่อ Paulding เมื่อ 17 ธันวาคม 1977 ทำให้ลูกเรือเสียชีวิต 38 คน
เรือดำน้ำถูกกระแทกอย่างแรงขณะกำลังดำเนินการทดลองเดินเรือใต้น้ำนอกฝั่งโพรวินซ์ทาวน์แมสซาชูเซตส์ (Provincetown, Massachusetts) การชนกันทำให้เกิดรอยรั่วที่ลำตัวเรือ เมื่อน้ำไหลเข้าสู่ภายใน เรือดำน้ำจึงจมลงสู่พื้นทะเลที่ระดับความลึก 110 ฟุต (ประมาณ 34 เมตร)
ลูกเรือส่วนใหญ่ที่มาออกันในส่วนท้ายเรือเสียชีวิตภายในระยะเวลาอันสั้น ที่เหลืออยู่หกคนในห้องตอร์ปิโดรอดชีวิตมาได้เกินกว่าหนึ่งวัน แต่ต่อมาก็เสียชีวิตเนื่องจากความพยายามในการช่วยชีวิตมาถึงล่าช้าเพราะถูกขัดขวางโดยพายุรุนแรง
K-152 Nerpa รัสเซีย ปี 2011
เรือดำน้ำรัสเซีย K-152 Nerpa ประสบอุบัติเหตุขณะกำลังดำเนินการทดสอบใต้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้คนตายไป 20 คน จากจำนวนทหารและพลเรือน 208 คน บนเรือ Nerpa เรือดำน้ำโจมตีชั้น Akula ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์
การเปิดใช้งานระบบดับเพลิงโดยบังเอิญได้ปล่อยก๊าซฟรีออนออกสู่อากาศภายในเรือ K-152 Nerpa ลูกเรือเรือดำน้ำเกิดอาการสำลักและไม่สามารถเปิดใช้งานชุดช่วยหายใจได้ ลูกเรือส่วนที่เหลือไม่ทราบถึงสถานการณ์จนกระทั่งมีเสียงไซเรนเตือนหลังมีแก๊สปริมาณมากออกแพร่กระจายในเรือดำน้ำ
มีลูกเรือหกคนพร้อมกับคนงานพลเรือน 14 คนเสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ 21 ราย ต่อมาเรือดำน้ำ K-152 Nerpa ถูกส่งไปยังประเทศอินเดีย เมื่อธันวาคม 2011 ตามสัญญาเช่าระยะเวลา 10 ปี และกำลังเข้าประจำการอยู่ในกองทัพเรืออินเดียภายใต้ชื่อ ‘จักรา’ (INS Chakra)