ทุกๆ ครั้งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมในการเมืองไทยรู้สึกถูกคุกคามและท้าทายจากกระแสความนิยมของฝ่ายหัวก้าวหน้าอย่างพรรคก้าวไกล และกลุ่มภาคประชาสังคมที่สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย ฝ่ายอนุรักษนิยมเหล่านั้นมักจะมีมาตรการตอบโต้อยู่เพียงไม่กี่รูปแบบ ขั้นพื้นฐานที่สุดก็หนีไม่พ้นการขอความร่วมมือจากนักข่าวอาวุโสบางท่านให้ออกมาชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อดูแคลนการเคลื่อนไหวแนวเสรีนิยมเหล่านั้นว่า ไร้เดียงสาและอ่อนต่อโลก หรือในกรณีที่ซับซ้อนและฟังดูลับลวงพรางไปกว่านั้น คือ การพากันตบเท้าออกมาสร้างทฤษฎีสมคบคิดที่สอดแทรกกลิ่นอายของการเมืองในยุคสมัยสงครามเย็นอย่างประเด็นที่ว่า “การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของไทยล้วนถูกแทรกแซงจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และหน่วยข่าวกรอง CIA”
ครั้งล่าสุดนี้ หวยก็มาออกที่โครงการ iLaw และพรรคพวก เพราะเป็นองค์กรที่ไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้แสดงจุดยืนกดดันรัฐบาลไทยในเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 นี้ ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือ สมาชิกวุฒิสภาบางส่วนจากพรรค Democrat ได้รับเรื่องไว้ และนำประเด็นดังกล่าวไปผลักดันต่อผ่านระบบคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา (ร่างญัตติ Senate Resolution 114) และที่ประชุมใหญ่ของวุฒิสภาต่อไป จุดนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยเป็นกังวล และเชื่อว่าหากร่างญัตติดังกล่าวผ่านเป็นมติขึ้นมา อาจเป็นช่องทางให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแทรกแซงการเลือกตั้งไทยและการเมืองไทยในภายหลัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การแทรกแซงจากต่างประเทศ’ (foreign interference) นั้นเป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติกันอย่างเป็นปกติในสังคมระหว่างประเทศและเวทีโลกมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการแทรกแซงจากรัฐที่เป็นมหาอำนาจ (superpower) และรัฐเจ้าถิ่นระดับภูมิภาค (regional powers) ต่อรัฐที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการแผ่ขยายอิทธิพล ผ่านภาคประชาสังคม และภาควิชาการที่มักมีอิทธิพลต่อการเผยแพร่แนวคิดและอุดมการณ์ต่อประชาชนในวงกว้าง ดังเช่นเมื่อครั้งสงครามเย็นที่แนวคิดคอมมิวนิสต์ขยายตัวเข้ามาในไทยผ่านเครือข่ายของปัญญาชนและนักวิชาการ ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศให้ทุนการศึกษานักวิชาการไทยจำนวนมากไปศึกษาแนวคิดเสรีนิยมในมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่ง อาทิ Cornell University และ University of Wisconsin-Madison แล้วกลับมาผลิตงานวิชาการสนับสนุนแนวคิดเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ไทย
แต่อย่าลืมว่า การต่อสู้และการปะทะกันของอุดมการณ์เหล่านั้นได้จบลงไปพร้อมกับสงครามเย็นแล้ว ในวันนี้แม้แต่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่เคยคิดที่จะเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไปยังภาคส่วนอื่นๆ ของโลก [อย่างมากก็แค่แนวคิดการบริหารประเทศแบบสี จิ้นผิง (Xi Jinping) และการบริหารจัดการองค์กรแบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน]
จะเห็นได้ว่าภูมิทัศน์ของการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนไปมาก การประพฤติปฏิบัติที่เคยถูกมองว่าเป็นการ ‘แทรกแซง’ ในอดีต แทบจะไม่ถูกนับเป็นการแทรกแซงในปัจจุบันอีกแล้ว เมื่อไปพิจารณารายละเอียดในร่างญัตติ Senate Resolution 114 ให้ดี จะเห็นว่าสิ่งที่สหรัฐอเมริการ้องขอมีเพียงแค่ให้ไทยจัดการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส และเคารพผลการเลือกตั้งเท่านั้น พร้อมชี้แจงถึงกรณีที่หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ดังในช่วงท้ายของเอกสารจากวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา
หากฝ่ายอนุรักษนิยมของไทยมองว่า การกระทำลักษณะนี้เป็นการแทรกแซงไปได้ เหตุใดจึงไม่ยอมออกมาทักท้วงถึงกรณีที่หน่วยงานภาครัฐไทยบางแห่ง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกตัวไปต้อนรับผู้แทนรัฐบาล และหน่วยงานด้านการเลือกตั้งจากต่างประเทศเข้ามาลงพื้นที่สังเกตการณ์ ตรวจสอบความโปร่งใสของระบบการเลือกตั้งในไทยด้วย ทั้งๆ ที่เป้าหมายของหน่วยงานและตัวแทนรัฐบาลต่างประเทศ (ซึ่งก็ไม่ต่างจากกรณีของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา) ที่แต่แรกตั้งใจจะเข้ามาเยี่ยมชมการเลือกตั้งไทย เพื่อกดดันทางอ้อมให้ไทยดำเนินการจัดเลือกตั้งอย่างสุจริต และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อผิดพลาดเชิงเทคนิคแบบเมื่อปี 2562 เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
อีกประเด็นหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยเชื่ออย่างตื้นเขินว่า การที่เอกอัครราชทูต โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F. Godec) และผู้แทนทางการทูตจากประเทศอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เปิดบ้านต้อนรับว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จากฝ่ายค้านหลายพรรค รวมถึงเยาวชนนักกิจกรรมทางการเมืองหลายๆ คนไปพูดคุยในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ เป็นการรวมหัวกันเพื่อวางแผนแทรกแซงการเลือกตั้งในไทย
ฝ่ายอนุรักษนิยมคงจะไม่ทราบข้อเท็จจริงที่ว่า บทบาทหลักของผู้แทนจากต่างประเทศ คือการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำนโยบายต่างประเทศส่งกลับไปยังกระทรวงการต่างประเทศของตนเอง การที่สถานทูตประเทศต่างๆ จะส่งจดหมายเชิญบุคคลที่มีบทบาททางการเมืองและสังคมในไทยไปพูดคุยหารือในเรื่องต่างๆ ย่อมเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มที่เป็นฝ่ายค้านด้วย เพราะหลายๆ ครั้งที่มีกิจกรรมการนัดพบบุคลากรระดับเอกอัครราชทูตจากต่างประเทศ ก็มีตัวแทนจากรัฐบาลไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลไปร่วมอยู่บ่อยครั้ง
กล่าวอย่างง่าย คือ ความเคลื่อนไหวของเอกอัครราชทูตหลายประเทศในไทยนั้น อยู่ในสายตาของรัฐบาลไทยและชนชั้นนำไทยมาตลอด การที่ประเทศข้างเคียงหรือมหาอำนาจแห่งอื่นๆ จะมาทำกิจกรรมที่เข้าข่าย ‘แทรกแซง’ การเมืองไทยตามที่ฝ่ายอนุรักษนิยมสร้างทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมานั้น รัฐบาลไทยและหน่วยงานความมั่นคงไทยย่อมน่าจะรู้ดีกันอยู่แล้ว และการที่กิจกรรมลักษณะดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะชนชั้นนำไทยไม่ได้มองหรือตีความว่ากิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายการแทรกแซง หรือมีความรุนแรงมากพอที่จะสั่นคลอนถึงระบบการเมืองไทยได้แบบที่นักสร้างทฤษฎีสมคบคิดฝ่ายอนุรักษนิยมระดับล่างหรือในวุฒิสภามักพยายามนำมาตีแผ่
เรื่องที่ควรคำนึงไว้เสมอในการเมืองไทย คือ ชนชั้นนำไทยนั้นมีความใกล้ชิดกับชนชั้นนำของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่อดีต แม้ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาจะเคยแสดงความไม่พึงพอใจการรัฐประหารไทยปี 2557 และใช้มาตรการทางการทูตกดดันไทยให้จัดการเลือกตั้ง แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่เคยขับไล่ไสส่งไทยจนเข้าสู่สภาวะจนตรอก แถมยังมีช่องว่างให้ชนชั้นนำไทยเจรจาต่อรอง ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กดดันให้รัฐบาลประยุทธ์จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Blackhawk เพื่อลดหย่อนผ่อนปรนมาตรการกดดันทางการทูตที่สหรัฐอเมริกามีต่อไทยในขณะนั้น
ดังนั้นหากรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีประเด็นแอบแฝง หรือความต้องการทางนโยบาย (hidden agenda) จากไทยจริงๆ พวกเขาสามารถโน้มน้าวชนชั้นนำไทยได้อย่างตรงไปตรงมา ผ่านการเปิดบ้านพักส่วนตัว จัดเลี้ยงอาหาร แล้วจิบไวน์เจรจากันให้ลงตัวบนโต๊ะอาหารกันอย่างลับๆ โดยที่คนภายนอกไม่มีทางล่วงรู้ได้อยู่แล้ว ไม่ต้องผ่านกลไกให้ภาคประชาสังคมที่ถูกกล่าวหาว่าได้รับเงินทุนจาก จอร์จ โซรอส (George Soros) ส่งตัวแทน (proxy) เดินทางข้ามประเทศไปคุยกับกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ของประเทศเขาให้เป็นข่าวพร่ำเพรื่อแบบนี้
สิ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยควรไปแสดงความกังวลมากกว่าในช่วงนี้ น่าจะเป็นประเด็นโครงการ ‘ขุดคอคอดกระ’ ซึ่งกำลังกลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและผลักดันในระดับนโยบายอย่างกว้างขวางอีกครั้ง หลังจากถูกตีตกและมีข้อสรุปไปแล้วว่าไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะด้านเม็ดเงินและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ดันมีพรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าเริ่มออกตัวสนับสนุน ประเด็นนี้ต่างหากที่ควรติดตามศึกษาว่ามีที่มาที่ไปและแรงจูงใจ รวมถึงความเชื่อมโยงถึงรัฐบาลประเทศอื่นใดที่จะได้ประโยชน์จากการขุดคลองไทยมากที่สุดหรือไม่