ศิลปะหลังการรัฐประหาร? (2557): ถนอม ชาภักดี

ศิลปะหลังการรัฐประหาร? (2557)
Art after Coup d’etat ? (2014) 

ศิลปะศิโรราบกับสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน1
Compliant art and Aesthetics of Resistance

___

ถนอม ชาภักดี

รัฐในฐานะผู้กำกับสุนทรียนิยมและรสนิยม

นับตั้งแต่มีการรัฐประหารปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็ไม่เคยว่างเว้นจากภารกิจการช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำ พร้อมกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนผ่านกลไกเครื่องมือรัฐนานาชนิดที่ประชาชนไม่อาจจะสามารถต่อรองผ่านอำนาจอธิปไตยของตัวเองได้ เพราะไม่มีตั้งแต่แรกแล้ว ชนชั้นนำตระหนักนึกดีว่าถ้าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการต่อรองและการแสดงออกเมื่อไหร่และเมื่อนั้นผู้มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ปลอดภัยในฐานะที่ถูกสั่นคลอนทางสถานะของสุนทรียนิยมและรสนิยม เพราะสองสิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ครองอำนาจเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งหลายคนในที่นี้อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับกรณีนี้แล้ว เรื่องสุนทรียนิยมและรสนิยม เป็นสิ่งที่มีอาณาเขตเฉพาะและเป็นเรื่องของการแสดงออกทางสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือปัจเจก โดยที่รัฐไม่ควรเข้ามาข้องเกี่ยว และทุกคนก็มีสิทธิจะวิพากษ์วิจารณ์ได้เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจกระทำหรือปฏิบัติการอย่างไม่สมเหตุสมผล และถือว่าเป็นเครื่องมือชนิดเดียวที่สามารถนำไปต่อรองทางการเมืองเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรมได้ แต่ทว่าพลเมืองแห่งรัฐกลับถูกตัดตอนมาตั้งแต่จำความได้ ผ่านความเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐ เมื่อประชาชนสามารถเข้าไปพื้นที่เฉพาะทางสุนทรียนิยมและรสนิยมที่ล้อมคอกไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้สำหรับชนชั้นนำ

เสรีภาพแห่งอารมณ์การรับรู้และรสนิยมทางศิลปะ วัฒนธรรม ถูกกลบเกลาเหลาเป็นแท่งเดียวกันมาตั้งแต่รัฐเข้ามามีบทบาทในการอุปถัมภ์ศิลปะแทนราชสำนัก ดังที่ กษมาพร แสงสุระธรรม2 กล่าวว่า

“…ผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการอุปถัมภ์ศิลปะแทนราชสำนัก โดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมศิลปากรให้สังกัดกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. 2476 และให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันแนวคิดเรื่องความเป็นไทยในศิลปะ และเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นผู้นำ ได้เสนอแนวคิดการสร้างชาติให้เข้มแข็งโดยกองทัพไทย หรือ ‘อุดมการณ์ทหารชาตินิยม’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากขบวนการฟาสซิสต์ในยุโรปและญี่ปุ่น รัฐจึงได้ใช้ทั้งสองแนวคิดที่ได้กล่าวมาในการสืบทอดความรุ่งเรืองของศิลปะไทย เพื่อให้คนไทยภาคภูมิใจใน ‘รัฐชาติไทย’ ผ่านการสร้างละครอิงประวัติศาสตร์ เช่นเรื่อง น่านเจ้า เลือดสุพรรณ รวมทั้งเพลงปลุกใจ เช่น เพลง ต้นตระกูลไทย ตื่นเถิดชาวไทย ที่ล้วนแสดงถึงอุดมการณ์ เรื่องผู้นำประเทศที่เข้มแข็ง รัฐมีนโยบายสนับสนุนด้านศิลปะโดยการยกระดับระบบการศึกษาศิลปะให้ทัดเทียมต่างประเทศด้วยการสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นใน พ.ศ. 2486 เพื่อผลิตศิลปินมาทำงานในกรมศิลปากรแทนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย

รัฐได้ใช้ศิลปะเพื่อสนับสนุนการสร้างรัฐสมัยใหม่ตามนโยบายของรัฐ โดยการใช้ศิลปะในการโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐ (propaganda art)  ดังนั้นรูปแบบของงานศิลปะจึงมีลักษณะเหมือนจริง การสร้างประติมากรรมรูปคนจึงมีร่างกายกำยำ ขึงขัง และยังเป็นการปั้นรูปบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไปเช่น อนุสาวรีย์ ท้าวสุรนารี (เปิดเมื่อ พ.ศ. 2477) ต่างจากขนบการปั้นแบบประเพณีที่ปั้นเป็นเทวรูปหรือกษัตริย์ อันเป็นความพยายามทำลายความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านการทำลายสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สะท้อนลักษณะฐานานุศักดิ์

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2500 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว จึงทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมากขึ้น นำมาสู่การขยายตัวของโลกศิลปะสมัยใหม่ เมื่อเกิดมีหอศิลป์และการแสดงงานศิลปะเพื่อให้ชาวต่างชาติได้ชมและเลือกซื้องานศิลปะไทย โดยเฉพาะภาพชนบท ภาพวัฒนธรรมประเพณีไทย เรื่องราวทางพุทธศาสนา และในขณะเดียวกัน รัฐบาลส่งเสริมบทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของชาติ โดยการให้ฟื้นฟูพระราชพิธีต่างๆ โดยใช้ศิลปกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์…”

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ยิ่งชูแนวคิดชาตินิยมอย่างเหนียวแน่นเพื่อต้านกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ แม้ว่าจะทำลายกำแพงเผด็จการได้ในเดือนตุลาคม 2516 แต่ก็ใช่ว่าชนชั้นนำจะอนุญาตให้หายใจด้วยสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มปอด อาการผวา กลัว ของผู้คนในสังคมหนาวสั่นไปทั้งแผ่นดิน แม้ว่าในการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมพอจะได้ลืมตาอ้าปากอยู่บ้าง โดยฝ่ายประชาธิปไตยใช้แนวคิด Aesthetics of Resistance ในวิธีวิพากษ์แบบ Marxism และ Maoism มาประสานในการต่อต้านผ่านการแสดงออกทางศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ละคร อย่างที่เรียกว่า ‘ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน’ ในทศวรรษ 2510-2520 ถึงกระนั้นภายใต้กลไกรัฐอันเข้มแข็ง ความเคลื่อนไหวภายใต้แนวคิดสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้านก็ค่อยๆ จืดจบม้วนตัวไปพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ ที่โชยมาพร้อมกับบรรยากาศทางการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผ่านนโยบาย 66/23

ความเคลื่อนไหวทางศิลปะในช่วงทศวรรษ 2520-2530 นอกจากจะมีการสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ ไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศแล้ว ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 มีการปลุกกระแสแสวงหาอัต-ลักษณ์ความเป็นไทย ภูมิปัญญาไทย อัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงโครงการศิลปินแห่งชาติ (2528) เพื่อต่อกรกับกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของโลกนี้ ซึ่งสร้างความผันผวนและกังวลให้กับชนชั้นนำไทยกลัวว่าความเป็นไทยจะสูญหาย 

การกระชับแน่นศิลปะให้อยู่ภายใต้การกำกับ และเชื่อมต่ออย่างแนบแน่นผ่านสถาบันการศึกษาหรือองค์กรกำกับของรัฐ ศิลปะและวัฒนธรรม จึงถูกกำหนดและวางมาตรฐานโดยรัฐในฐานะผู้มีอำนาจในการดูแลและสนับสนุน อันเป็นขนบสุนทรียนิยมและรสนิยม ความดี ความงาม หากนอกเหนือจากนิยามนี้แล้วคือสิ่งที่รัฐไม่ปรารถนาและไม่สนับสนุน 

แต่ถึงกระนั้นการแสดงออกอันไม่พึงปรารถนาแห่งรัฐ ในช่วงทศวรรษที่ 2530-2540 กลับเบ่งบานแข่งขับอุดมการณ์และกลไกของรัฐอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาล เชียงใหม่จัดวางสังคม ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 (2536-2539) ชมรมศิลปะรวงผึ้งที่สวนจตุจักร Project 304 ‘About Cafe’ เทศกาลศิลปะห้วยขวางเมืองใหม่ เทศกาลศิลปะการแสดงสด Asiatopia ศิลปะและสิ่งแวดล้อมต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนปากมูล เป็นต้น

ในขณะที่ฟากฝั่งการประกวด แข่งขันชิงรางวัลเชิดชูเกียรติก็คึกคักไม่แพ้กัน การดีเบต (debate) ต่อรองทางศิลปวัฒนธรรมในสองช่วงทศวรรษดังกล่าวกลายเป็นประวัติศาสตร์ทางศิลปะที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีก ภายใต้การสถาปนากระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปี 2545 เพื่อรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ และสร้างความมั่นคงทางวัฒนธรรมไทย แม้จะมีหน่วยงานที่สนับสนุนทางด้านศิลปะร่วมสมัยในองค์กรแห่งนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตอบสนองต่อกระแสโลกศิลปะของโลก

ดังจะเห็นได้จากการคัดเลือกศิลปินไปแสดงที่ Venice Biennale ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นโชว์รูมความเป็นไทยมากกว่าบริบททางศิลปะร่วมสมัยในโลกศิลปะ

ที่จะสะท้อนปัญหาหรือบริบททางสังคม การเมืองร่วมสมัย อันเป็นความไม่แยแสต่อโครงสร้างทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมของผู้คนอย่างสิ้นเชิง ทว่าการมอบรางวัลศิลปาธรก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับศิลปินรุ่นใหม่ เพื่ออย่างน้อยรางวัลของรัฐที่ผ่านการคัดเลือกผู้ทรงหลักจะยันสถานะความเป็นศิลปินที่มีวัตรปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของชาติได้ 

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2540 และ 2550 ถือว่าเป็นห้วงเวลาที่อุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุอย่างยิ่ง วาทกรรมเชิง Buddhocentrism ที่รัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้ายสีหรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐ ว่าเป็นคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ว่าเป็นคนชั่ว คนเลว ไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือ กลายเป็นคนชังชาติ อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน การตอกย้ำคุณภาพของคำเหล่านี้เพื่อชี้หน้าด่าคนอื่น ฝ่ายอื่นที่มีความคิดเห็นแตกต่าง กลายเป็นรอยปริแยกในสังคม จนนำมาสู่ข้ออ้างในการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557

ช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 8-9 ปีเท่านั้น ประเทศไทยได้เกิดวิกฤติทางการเมือง สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม ชนิดที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางศิลปะใดๆ ที่มีอยู่ในโลกศิลปะ

ทุกอย่างในกระบวนการและนิยามทางศิลปะได้กลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิง แนวคิด Buddhocentrism ที่รัฐมาเป็นกลไกและเครื่องมือเพื่อตอกย้ำความทรงจำให้กับผู้คนในสังคมที่ถูกบ่มเพาะความอับจนหนทาง สุนทรียนิยมและรสนิยมทางศิลปะได้ผลเกินขนาด อันเป็นความเกินพอที่สามารถทำให้กระบวนการทางศิลปะเดินทางไปสู่จุดเริ่มต้นของมัน เมื่อครั้งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อนำศิลปะมาสนองแนวคิดชาตินิยม แต่ช่วงระยะนี้จะยิ่งกว่าเมื่อ 80 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ

ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2549-2562 ได้เกิดอะไรขึ้นบนฐานคิดของ Buddhocentrism ที่สูบดูดทุกอย่างเข้าสู่พื้นที่ของความเป็นศาสนา โดยเฉพาะกระบวนการทางศิลปะ ดังกรณีการแสดงงานศิลปะ Imagine Peace (ฝันถึงสันติภาพ) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2553 หลังเหตุการณ์ล้อมปราบการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อเดือนเมษายน 2553 เพียงไม่กี่เดือน โดยจุดประสงค์ของการจุดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจของคนในชาติ กอบกู้ภาพลักษณ์และฟื้นฟูประเทศด้วยการแสดงออกถึงความต้องการสันติภาพในสังคมตามมุมมองของศิลปินกว่า 100 คน โครงการนี้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ นอกจากนั้นยังมีการลบกลบพื้นที่การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ของประชาชนด้วยการออกแบบพื้นที่ใหม่ เช่น ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ บ่อนไก่ จำไว้นะครับว่าช่วงนั้นมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นายอภินันท์ โปษยานนท์ เป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

นี่คือปรากฏการณ์สำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะที่รัฐเข้ามาจัดการให้เกิดสภาวะศิลปะเชิงศิโรราบ หรือ Compliant Art

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ในช่วงปี 2556-2557 ได้เกิดขบวนการศิลปะ Art Lane ขึ้นร่วมกับเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้นำ ก่อนเวที กปปส. ก็มีเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พันธมิตรกู้ชาติ (กลุ่มคนเสื้อเหลือง) ซึ่งเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2548-2552 จากเหตุการณ์ความผันผวนที่มีมาตลอดในสังคมไทยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ชี้ให้เห็นว่าชนชั้นนำในประเทศไทย ได้พยายามยึดกุมอำนาจทุกอย่างไว้ในมือไม่เว้นแม้แต่ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งเป็น soft power ที่ง่ายต่อการเบี่ยงเบนและแทรกซึมไปสู่ความคิดของผู้คนได้ง่ายภายใต้กฎเกณฑ์ของ Buddhocentricism3 เพื่อทำให้ศิลปะสยบยอมและศิโรราบต่ออำนาจรัฐ 

ในนามศิลปะศิโรราบ หรือ Compliant Art ซึ่ง ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีได้มากำหนดทิศทางเพื่อทำความสะอาดให้กับวงการศิลปะในประเทศเยอรมนีในช่วงที่เขาเรืองอำนาจ อันเป็นแบบอย่างศิลปะเชิง National Socialist (1930-1345) เพื่อเชิดชูความเป็นเยอรมันให้แข็งแกร่ง เกรียงไกร ภายใต้อำนาจที่ขัดขืนไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องหนีไปอยู่ประเทศอื่น ถ้าละเมิดต่อคำสั่งหรือกฎเหล็กแห่งนาซี ชีวิตที่เหลือคือ กองฟอน

ศิลปะหลังรัฐประหาร 2557 ก็ไม่ต่างจากบรรยากาศในดินแดนอันไกลโพ้นเมื่อช่วงทศวรรษ 1930-1940 เพียงแต่ Buddhocentricism อาจจะละมุนกว่าตรงที่ความงาม ความดี ยังไปไม่ถึง แต่ถ้าขัดขืนเมื่อไหร่อุลตร้าแมนก็ล่วงละเมิดไม่ได้ หรือแม้กระทั่ง สถาบันปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถเปลี่ยนมาเป็น สวนครูองุ่น มาลิก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เพื่อตอกย้ำปฏิบัติการ Buddhocentricism ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ การปลดผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่กล่าวมาทั้งหมดในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงรัฐไม่มีทางที่จะอนุญาตให้พื้นที่การแสดงออกอย่างมีสิทธิเสรีภาพอย่างง่ายดาย ศิลปะจะมีชีวิตและลมหายใจอยู่ได้ก็ด้วยวิถีแห่งการต่อต้านและขัดขืนเท่านั้น มีแต่ปลาตายเท่านั้นที่ไหลตามน้ำ ศิลปะแห่งปลาเป็นจะว่ายทวนน้ำไปกับประชาชนที่เพรียกหาสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะใช้เวลานานสักเท่าใดก็ตาม.


เชิงอรรถ

  1. ความเรียงฉบับนี้ใช้สำหรับการปาฐกถาในงานศิลปะนานาพันธุ์ ศิลปะประชาธิปไตย วันที่ 28 กันยายน 2562 ณ สวนครูองุ่น มาลิก
  2. กษมาพร แสงสุระธรรม ‘ในวิธีรื้อสร้างอัตลักษณ์: โครงการตัวตนยองกับท้องถิ่นล้านนา; สื่อกับการเมืองอัตลักษณ์ในยุคโลกาภิวัตน์’. โครงการตัวตนยองกับท้องถิ่นลำเนา; สื่อกับการเมืองอัตลักษณ์ในยุคโลกาภิวัตน์คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555 หน้า 73-89.
  3. Buddhocentrism indicates the unlimited power of Buddhism that encompasses and envelopes everything, like a black hole. In the realm of Buddhocentrism, there is no separation between literate and oral-ritual Buddhism, or the abstract intellectual mentality of Buddhism and the materiality and ritual of Buddhism that which incorporates spirit-mediums, though co-existing but still located a lower than Buddhism. Thanes Wongyannava, Thai Studies, Sydney 2014

บรรณานุกรม

กษมาพร แสงสุระธรรม (2555). ใน วิธีรื้อสร้างอัตลักษณ์: โครงการตัวตนคนยองกับท้องถิ่นล้านนา: สื่อกับการเมืองอัตลักษณ์ในยุคโลกาภิวัตน์ (สุดแดน วิสุทธิลักษณ์: บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) 

ทีปกร (นามแฝง). (2515)  ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน. กรุงเทพฯ: สนพ.หนังสือ

สิปนนท์ เกตุทัตและคณะ (2539). การศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์: ความฝันของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: ตะวันออก 

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2545) กระทรวงวัฒนธรรมพุทธศักราช 2545. กรุงเทพฯ: คุรุสภา

หลุยส์ อัลธูแชร์ (เขียน). กาญจนา แก้วเทพ (แปล/เรียบเรียง). (2557). อุดมการณ์และกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ. กรุงเทพฯ. สยามปริทัศน์

Poulantzas, Nicos. (2018). Fascism and Dictatorship. London: Verso.

Groys, Boris. (2011). The Total of Stalinism. London: Verso.

Compliant Art: Art and Politics in the National Socialist Era. (Cat). (2016). Bonn, Germany.

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า