หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้จัด ‘เวทีสาธารณะ พรรคการเมืองกับนโยบายศิลปวัฒนธรรม’ เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยเปิดพื้นที่ให้ 10 พรรคการเมืองนำเสนอแนวคิดและนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมสู่สาธารณะ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคม นี้
ลองอ่านทบทวนแนวคิดและนโยบายศิลปวัฒนธรรมของทั้ง 10 พรรคการเมืองกันดูดีกว่า
พรรคผึ้งหลวง โดย ดร.ก้องภพ วังสุนทร
- โครงการการจัดตั้ง ‘ธนาคารภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น’ พรรคจะมีนโยบายกองทุนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากลเพื่อสนับสนุนทุกชุมชน เพื่อส่งเสริมภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในอีกทางหนึ่ง
- ฟื้นฟูและชูศิลปวัฒนธรรมไทย เชื่อมสู่โลกไร้พรมแดนทางอินเทอร์เน็ต เพื่อการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทยไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
- ‘นโยบาย 1 ตำบล 1 โรงเรียน 4 ภาษา 7 ความฉลาด’ เชื่อมโยงสู่เรื่องของศิลปวัฒนธรรมโดยการเพิ่มการสอนภาษาท้องถิ่นในแต่ละชุมชน เพื่อสร้างจุดขายให้กับนักท่องเที่ยว
“เพราะพรรคผึ้งหลวงเชื่อว่า ในแต่ละพื้นที่มีผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น โครงการจัดตั้ง ธนาคารภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น จะมีผู้เชี่ยวชาญของแต่ละท้องถิ่นมาถ่ายทอดองค์ความรู้และรวบรวมเป็นตำรา เพื่อฟื้นฟูและถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง และเมื่อทุกหมู่บ้านทำเช่นนี้ จึงจะสามารถชูศิลปวัฒนธรรมของไทยสู่ตลาดโลก และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม”
พรรคอนาคตใหม่ โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
- แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะพระราชบัญญิติที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การหมิ่นประมาท การชุมชนสาธารณะ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์
- สร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่การแสดงออกและเพิ่มพื้นที่ให้คนได้ปล่อยของทางความคิด โดยเริ่มจากขยายเวลาเปิดพิพิธภัณฑ์ สนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ระดับท้องถิ่น เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการแสดงออกของวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นมากขึ้น
- ผลักดันให้เกิด Community Art Space ในทุกจังหวัด ที่จะประกอบไปด้วยโรงภาพยนตร์ โรงละคร สถานที่แสดงดนตรีและพื้นที่ใช้สอยร่วมกันในด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มพื้นที่แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์
- กระจายอำนาจในการจัดการวัฒนธรรมจากส่วนกลางไปสุู่ท้องถิ่น เพราะปัจจุบันไทยผูกขาดอำนาจการจัดการอยู่ที่ส่วนกลางในหลากหลายแวดวง เช่นการผูกขาดในธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจหนังสือ เป็นต้น
- สนับสนุนศิลปินที่ทำงานในแวดวงศิลปวัฒนธรรม โดยการจัดสรรปันส่วนในด้านของสวัสดิการ ความมั่นคงทางรายได้ จัดตั้งกองทุนทั้งในแง่ของการให้ทุนสร้างสรรค์ผลงาน หรือให้ทุนเป็นเงินกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย รวมทั้งทางพรรคจะผลักดันให้มีการกำหนดภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับสินค้าทางวัฒนธรรม ด้วย VAT ที่ต่ำ และนำภาษีที่เก็บจากสินค้าทางวัฒนธรรมไปใช้ในงานศิลปวัฒนธรรมโดยตรง
- ก่อตั้งสภาศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยประกอบไปด้วยนักวิชาการและศิลปินทุกแวดวง เพื่อสนับสนุนงานทางวัฒนธรรมของประเทศทั้งในแง่การสร้างสรรค์งานภายในและส่งออกไปต่างประเทศ พรรคมีความเชื่อว่า วัฒนธรรมสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนได้
“พรรคอนาคตใหม่มองว่า กฎหมายของไทยจำกัดสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกมากเกินไป จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ศิลปวัฒนธรรมไทยย่ำอยู่กับที่ ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจด้านวัฒนธรรมน้อยเกินไปและไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าที่ควร รวมไปถึงระบบการศึกษาที่ไม่ได้สนับสนุนให้เยาวชนสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรม“
พรรคสามัญชน โดย ลัษณารีย์ ดวงตาดำ
- สนับสนุนเรื่องเงินทุนในการจัดนิทรรศการและพื้นที่ทางศิลปะ เพื่อให้ศิลปะได้ถูกสื่อสารออกไปให้สังคมได้รับรู้ เพราะปัจจุบัน ปัญหาที่ศิลปินพูดผ่านศิลปะนั้นไร้คนฟัง ปัญหานี้ทางพรรคมองว่าเกิดจากการถือครองอำนาจของชนชั้นเดียว นำมาซึ่งการขาดเสรีภาพในการเเสดงออก จึงสนับสนุนให้มีหอศิลป์ในทุกๆ จังหวัด
“วัฒนธรรมของบ้านเรามีเพดานที่ต่ำมาก ทำให้ศิลปะไม่โต และความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินไปได้ไม่ไกล เพราะมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในเรื่องนี้อยู่ การรวมศูนยอำนาจทางวัฒนธรรมทำให้การศึกษาสอนแต่วัฒนธรรมที่มาจากส่วนกลาง ในขณะที่เรามีความหลากหลายมากกว่านั้น เราเชื่อว่าศิลปะสามารถจรรโลงผู้คนได้มากกว่าการเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมหรือรับใช้โครงสร้างเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ศิลปะควรจะรับใช้ประชาชนและความเชื่อด้วย ดังนั้นศิลปะจึงต้องไม่ถูกจำกัดจากอำนาจด้านบนอีกต่อไป“
พรรคพลังท้องถิ่นไท โดย ชื่นชอบ คงอุดม
- พรรคให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม จากเรื่องที่ดูไกลตัวทำให้คนมองและเห็นความสำคัญเรื่องศิลปะเป็นเรื่องหลักเสียก่อน ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างมูลค่าให้กับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังเช่น หมีคุมะมง ของจังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้คนในชุมชนรู้สึกมีส่วนร่วมเพราะเขามีส่วนได้ส่วนเสียจากศิลปะและวัฒนธรรม
“พรรคเชื่อว่า ก่อนที่จะแก้กฎหมายที่เป็นปัญหา เราควรแก้ที่มุมมองและทัศนคติของคนในประเทศ ให้ไปในทิศทางเดียวกันในการให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรม เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาเดิมๆ ก็จะยังคงอยู่”
พรรคชาติพัฒนา โดย วิทิตนันท์ โรจนพาณิชย์
- เพิ่มเวลาการเรียนรู้ศิลปะในโรงเรียน เพิ่มแหล่งเรียนรู้ และจัดทำ Thailand Art Foundation รวมไปถึงการ ปฏิรูปกระทรวงวัฒนธรรม
“พรรคมีความเชื่อว่า ควรศึกษารากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมเสียก่อน ปัญหาจึงจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด ประเทศไทยรับวัฒนธรรมที่เข้ามาทุกอย่างจนกลายเป็นพหุวัฒนธรรม จนลืมว่าเราก็มีของดีและลืมว่าเราเป็นใคร เพราะเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง ลักษณะนี้ของเรามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อเสียที่พรรคสะท้อนออกมานั้นคือ เราไม่เข้าใจและเราไม่สนใจในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมไทย ศิลปินไทยไม่ได้ถูกทำให้มีพลังที่จะสู้กับชาติอื่นได้ เราไม่เชิดชูพวกเดียวกันและเรายังปล่อยโอกาสหลุดมือออกไป นโยบายของพรรคในการแก้ไขประเด็นดังกล่าวคือการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาสิ่งเก่าๆ ของเราที่เคยดีให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธของใหม่ที่จะมาในอนาคต“
พรรคชาติไทยพัฒนา โดย นิกร จำนง
- สนับสนุนความเป็นไทย
“พรรคมองว่าทุกวันนี้สังคมเรามีความหลากหลายมาก ซึ่งจุดยืนของทางพรรคได้เน้นไปในเรื่องของนโยบายในความเป็นไทย และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนา รวมทั้งสนับสนุนในการดำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นไทย และการอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะปัจจุบันนั้น ความเป็นไทยได้หายไปเยอะมากแล้ว”
พรรครวมพลังประชาชาติไทย โดย ร.ต.อ. ดร.จอมเดช ตรีเมฆ
- พรรคได้บรรจุเรื่องของ ‘การรักชาติและภูมิใจในความเป็นไทย’ เข้าไปในอุดมการณ์ของพรรค โดยความรักชาตินั้นต้องไม่ไปกดทับสิทธิและเสรีภาพ และพรรคยังมองว่าชุดวามคิดของความเป็นไทยไม่ควรมาจากส่วนกลางเพียงชุดความคิดเดียว เพราะความเป็นไทยนั้นมีหลายแบบ ดังนั้นเราควรสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นไทยขึ้นมา เช่น อัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
- นโยบายการปฏิรูปการบริหารแผ่นดิน โดยเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละจังหวัดผ่านส่วนกลางเพียงต่อเดียว เพื่อให้จังหวัดได้สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมด้วยตัวเองด้วยงบเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าเดิมจากหลักร้อยล้านเป็นหลักหมื่นล้าน เพื่อให้เกิดศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ขึ้นมา
- นโยบายสนับสนุนการผลิตบุคลากรจากอาชีวศึกษา ด้วยการร่วมถึงระหว่างสถาบันและอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างงานและอาชีพในแต่ละแขนง ซึ่งจะส่งผลไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติของคนที่ต้องการให้ลูกหลานเรียนมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ก็ยังไม่ทิ้งสถาบันมหาวิทยาลัย เช่น ศิลปากรที่ถือว่าเป็นสถาบันหลักในเรื่องนี้ โดยพรรคก็ยังต้องการสนับสนุนให้เกิดการส่งออกวัฒนธรรมต่อไปผ่านการผลิตบุคลากรของสถาบันการศึกษา
“พรรคมองว่า ศิลปะสำคัญและจำเป็นต่อสังคมและชีวิตและต่อทุกสิ่งทุกอย่าง หากแต่บ้านเรามักจะเขินกับความเป็นไทย ซึ่งพรรคมีแนวคิดในการสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยของไทยและมองว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ศิลปะไทยถูกส่งออก และโน้มน้าวให้ชาวต่างชาติมาสนใจศิลปะ อัตลักษณ์และความโดดเด่นของบ้านเรา เช่น การทำอาหาร การทำเสื้อผ้า รวมไปถึงดนตรีและสื่อแขนงต่างๆ“
พรรคกลาง โดย สุขทวี สุวรรณชัยรบ
- เปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายและเป็นเหตุที่ทำให้การดำเนินการในแต่ละนโยบายไม่ยั่งยืน
- นโยบายการส่งเสริมให้คนเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อปฏิวัติการเมืองที่ส่งตัวแทนเข้าไปนั่งเป็น สส. ในสภา แต่ใช้เทคโนโลยีให้คนการออกเสียงโดยตรง
- สนับสนุนให้ VAT ที่เกิดจากสินค้าวัฒนธรรมอยู่ที่ท้องถิ่น 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ให้เงินถูกดูดกลับมาที่ส่วนกลาง
“นโยบายของพรรคจึงเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒธรรมที่ควรการเติบโตและระบบนิเวศที่ส่งเสริมทั้งในเชิงกฎหมายและโครงสร้างประเทศ ประกอบไปด้วย หนึ่ง ‘ความเชื่อที่หลากหลาย’ เพราะหากให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จะส่งเสริมไปสู่การเบ่งบานเฟื่องฟูของศิลปวัฒนธรรม สองคือเรื่องของ ‘รัฐ’ ที่มีความสามารถในการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งก็มีข้อดีหากแต่ก็มีข้อเสียนั่นคือการดำเนินงานที่ช้าปรับตัวไม่ทันโลก ดังนั้นข้อเสนอของพรรคคือนำข้อดีของการรวมอำนาจและกระจายอำนาจโดยส่วนกลางเป็นแกนหลัก มาทำหน้าที่ในการสนับสนุนท้องถิ่น สามคือ ‘ตลาด’ ที่มีระบบในการรองรับศิลปะที่เกิดขึ้น และสี่ เทคโนโลยี ที่ช่วยในการเข้าถึงพื้นที่ศิลปะแและส่งเสริมการเรียนรู้รวมทั้งยังช่วยในการ เข้าถึงพื้นที่ศิลปะแและส่งเสริมการเรียนรู้รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่าย”
พรรคมหาชน โดย พาลินี งามพริ้ง
- ศิลปะพื้นถิ่นต้องมีอยู่และเปิดอิสระให้เกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ รวมทั้งส่งเสริมภูมิปัญหาท้องถิ่นโดยเริ่มจาก ‘ปลายน้ำไปสู่ต้นน้ำ’
- ส่งเสริมความคิดให้เกิดขึ้นอย่างเสรี เคารพในความคิดที่แตกต่างในแง่ศิลปะทำให้เกิดการพัฒนา
- นโยบายในการผ่อนปรนเงื่อนไของหน่วยงานที่ควบคุม เช่น การเซ็นเซอร์ โดยมองว่าหากเราแก้ไขในจุดนี้จะทำให้เกิดผลงานที่ดีและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
“วิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นค่อนข้างเยอะในปัจจุบันทำให้ประเด็นของศิลปวัฒนธรรมและกีฬาถูกทำให้ตกไป และได้ตั้งคำถามว่าทำไมศิลปวัฒนธรรมถึงเป็นสิ่งที่มาทีหลังตลอดเวลา พรรคมองว่าปัจจัยที่ควรแก้นั้นมีอยู่สามข้อคือ ทัศนคติที่มุ่งเน้นอำนาจนิยม วัตถุนิยม และชาตินิยม ซึ่งศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทยใช้วิธีคิดแบบเก่าทำให้ไม่เกิดการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจได้ อีกทั้งสถานการณ์ของประเทศที่มีลักษณะอำนาจนิยม และเกิดการต่อสู้ ทะเลาะ ขัดแย้งกันบ่อยเสียจนไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา และในด้านอื่นๆ และเรามักจะมองข้ามในเรื่องนี้ อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องของการตลาด ซึ่งการตลาดนั้นสัมพันธ์กับศิลปะเพราะทำให้เกิดการกระตุ้นในการผลิตงานจากปลายน้ำ ส่วนใหญ่เราจะมองแค่เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งการมองการตลาดในมิตินี้อย่างเดียวนั้น มันไปจำกัดการพัฒนาของศิลปะร่วมสมัย”
พรรคประชาธิปัตย์ โดย องอาจ คล้ามไพบูลย์
- แก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ในการใช้จ่ายเงินเพื่องานศิลปะให้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง พรรคมองว่าปัญหาของหอศิลป์สะท้อนปัญหาของศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทย เพราะในประเทศเรานั้นให้ความสนใจศิลปะน้อยหากเทียบกับเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งที่เรื่องของศิลปวัฒนธรรมเปรียบเหมือนมันสมอง ที่นำพาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
“ปัญหาอีกอย่างคือการที่ผู้นำให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมค่อนข้างน้อย และถ้าเรายังอยู่ในสภาพที่ไร้เสรีภาพเช่นนี้ อาจจะไม่มีหอศิลป์ เป็นต้น และแต่ละพรรคการเมืองก็ต้องแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมให้ชัดเจน พรรคจึงมีความเชื่อว่าถ้าเราเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม เราต้องนำคนที่มีความคิดในการเปลี่ยนแปลงไปมีสิทธิมีเสียงในการบริหารบ้านเมือง”