“ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสร้างสิทธิเสรีภาพในการบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่สังคมไม่อนุญาตให้เราได้พูด”
นราภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปิน /ช่างภาพ
เนื่องในวาระวันสิทธิมนุษยชน คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดงานนิทรรศการศิลปะสื่อผสมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ‘ศิลปะกับสิทธิมนุษยชน – The Art of Human Right’ เป็นการแสดงผลงาน 13 ชิ้นของ นักรบ มูลมานัส และ นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ สองศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีผลงานอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เมื่อเข้ามาใน Yelo House สัมผัสได้ถึงการต้อนรับที่อบอุ่นป็นกันเองจากคณะผู้จัดงาน ศิลปิน ทีมงาน ผสมบรรยากาศที่โล่งโปร่งสบาย สำรวจดูมีคาเฟ่ ร้านค้า โซนกิจกรรมเวิร์คช็อป แกลเลอรีย่อยต่างๆ ถูกแบ่งเป็นสัดส่วนเอาไว้สำหรับต้องรับให้นักท่องเที่ยวได้เลือกเดินชมตามอัธยาศัย ด้วยความสบายๆ นี้ทำให้คนที่ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่คนเดียวอย่างผม สามารถเดินดูเดินชมงานนิทรรศการได้อย่างผ่อนคลาย
ก่อนที่จะถึงพิธีเปิดงาน ระหว่างรอก็ไปนั่งจิบกาแฟ เดินชมงานแสดงย่อยๆ ของเหล่าศิลปินไฟแรงหลายท่าน แถมยังได้ของติดไม้ติดมือจากร้านค้าที่ Yelo House เปิดพื้นที่ให้เหล่าศิลปินได้นำสิ่งของมาวางขายให้ได้เลือกซื้อเป็นของติดมือกลับบ้านอีกด้วย
“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดละเมิดได้ และสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นสากล”
เปียร์กา ตาปิโออาร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย
พิธีเปิดจัดบนเวทีที่ถูกประดับตกแต่งด้วยชิ้นงานจากความร่วมมือกันของศิลปินทั้งสอง เป็น Mixed Media ที่นำป้ายประท้วงมาผสมผสานปะติดกับดอกไม้ที่ถูกจัดวางตามสไตล์ของนราภัทร เมื่อดูแล้วก็แอบคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าน่าจะมีการถ่ายภาพโดยเอางานชุดนี้ขึ้นชูจริงๆ น่าจะได้อารมณ์แบบ ‘Bed-Ins For Peace’ ของ John Lennon และ Yoko Ono ที่ทำให้เราได้กลิ่นอายของการแสดงออกอย่างสันติตามที่ศิลปินบอก คงจะเป็นภาพที่สนุกสนานและแสดงถึงความต้องการที่อยากตะโกนบอกถึงสิทธิบางอย่างของเหล่าผู้คน ตามหน้าที่ของงานชิ้นนี้ได้มากเลยทีเดียว
งานทั้ง 13 ชิ้นที่จัดแสดงเป็นการบอกเล่าให้เราตระหนักถึงความสำคัญถึงสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิสตรี สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ กรอบ คติความเชื่อ ค่านิยมของสังคม ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ความหลากหลายของ ผู้คน ชาติพันธุ์ และ ศาสนา ผ่านมุมมองของศิลปินที่แสดงออกมาด้วยรูปแบบ installation (ศิลปะจัดวาง) mixed media (สื่อผสม) ผ่านเทคนิคการ collage (ภาพปะติด) และ การใช้ดอกไม้เป็นสัญญะ ซึ่งเป็นลายเซ็นของ นักรบ และ นราภัทร
เมื่อดูชิ้นงานครบทั้ง 13 ชิ้น สิ่งที่รู้สึกได้คือศิลปินทั้งสองมีความเก่งกาจในการทำให้ศิลปะ mixed media และ installation ที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นงานประเภทเข้าใจยาก แต่ชิ้นงานชุดนี้ถ้าสังเกตดูดีๆ เราสามารถนึกถึง เข้าใจ และรู้สึกได้
นอกจากนั้นศิลปินยังแฝงความซุกซนไว้ในงานหลายชิ้นที่ยั่วล้อกับกรอบความคิด และคติความเชื่อของสังคมไทยตามจารีต เช่น “ทำไมถึงไม่พูด กลัวดอกพิกุลจะร่วงหรือ” จากนิทานพื้นบ้านเรื่องพิกุลทอง ซึ่งศิลปินหยิบยกมาเปรียบเทียบกับผู้หญิงในสังคมไทย ที่ยังไม่มีใครกล้าที่จะพูดหรือแสดงเจตจำนง ความต้องการในสิทธิของตนเอง
หรืองานของนราภัทรที่บอกเล่าถึงการเลี้ยงดูเยาวชนที่เหมือนจะอยู่ในกรอบอยู่ในสังคมที่ดีงาม แต่ภายในกรอบนั้นกลับถูกมัดมือมัดเท้าและมีผ้าปิดปากเอาไว้ เสริมด้วยการจัดวางดอกไม้ ที่ถึงวัยที่กำลังจะเบ่งบาน แต่กลับถูกนำเทปกาวมาผนึกที่ปลายดอก
เรารับรู้ได้ถึงการถูกบังคับไม่ให้แสดงเจตจำนงความต้องการของวัยรุ่นในช่วงเวลาและวัยที่ความนึกคิดกำลังผลิดอกเบ่งบาน
แต่ที่ชอบเป็นการส่วนตัวคืองานที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการสื่อสาร ชิ้นงานคือคีย์บอร์ดที่จัดวางกับดอกไม้ แม้ปัจจุบันเราจะสามารถบอกกล่าวสื่อสารได้เหมือนจะเป็นอิสระ แต่ก็มีคำบางคำ ตัวอักษรบางตัวในแป้นคีย์บอร์ดของเรา ที่กล้าๆ กลัวๆ ที่จะกดมันลงไป…
‘ศิลปะกับสิทธิมนุษย์ชน – Art of Human Right’ จัดแสดงถึงวันที่ 22 ธันวาคม ที่ Yelo House ใกล้กับ BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ