‘แร่ใยหิน’ มัจจุราชในฝุ่นผง บนหลังคาบ้านเรา

ปี 2553 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เสนอมาตรการ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับมาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิด โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับหน้าที่จัดทำแผนยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ

แต่จนถึงปัจจุบันมาตรการทั้งหลายยังไม่บรรลุเป้าหมาย อีกทั้งสถานการณ์ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้น เมื่อพบว่าไทยยังคงมีการนำเข้าแร่ใยหินในปริมาณสูง ล่าสุดวงการแพทย์ได้ยืนยันตัวเลขที่แท้จริงของผู้ป่วยจากโรคเหตุแร่ใยหิน และคาดว่าในอนาคตอาจมีแนวโน้มตรวจพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

เช่นนี้แล้วคณะทำงานที่เกี่ยวข้องจึงเร่งหามาตรการเพื่อเดินหน้าผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินอย่างแท้จริงต่อไป

เปิดผลวิจัยผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 2 ปี 28 ราย

หนึ่งในคณะทำงานวิจัย ‘โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน’ ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้ดำเนินการศึกษาทบทวนฐานข้อมูลสุขภาพ (Health data center: HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2558-2559  ตามที่มีรายงานผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินทั้งสิ้น 385 ราย เพื่อตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริง

สิ่งที่คณะวิจัยทำคือ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล นับตั้งแต่การวินิจฉัย การลงรหัสโรค ไปจนถึงเวชระเบียน กระทั่งเมื่อพิจารณาโดยละเอียดจึงพบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินจริงจำนวนทั้งสิ้น 28 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อเลื่อม (Mesothelioma) 26 ราย (ได้แก่ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย มะเร็งที่เยื่อหุ้มอัณฑะ 1 ราย) พังผืดในปอดจากใยหิน (Pleural plaque) 1 ราย และโรคปอดแอสเบสโตสิส (Asbestosis) 1 ราย

ในจำนวนผู้ป่วยทั้ง 28 ราย ยังพบด้วยว่า ส่วนหนึ่งมีประวัติสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ ทั้งงานก่อสร้างและผลิตกระเบื้องมุงหลังคา บางรายมีประวัติสัมผัสแร่ใยหินจากสิ่งแวดล้อม โดยเกิดจากการคุมงานก่อสร้างบ้านของตนเอง

“โครงการวิจัยของเรานับเป็นการรวบรวมเคสผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินและชำระความถูกต้องครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อสร้างโอกาสที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามโรคเหตุแร่ใยหิน โดยเฉพาะส่วนราชการที่ดูแลด้านสาธารณสุขที่ต้องเพิ่มความรัดกุมให้มากยิ่งขึ้น” ศ.นพ.พรชัย กล่าว

การเฝ้าระวังในความหมายของ ศ.นพ.พรชัย มีทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เชิงรุกคือ ค้นหากลุ่มคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหินเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังในระยะยาว โดยประสานกับสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ในการเฝ้าระวังคนงานกลุ่มเสี่ยง ซึ่งพบว่ามีการตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหินยังไม่ครบถ้วน ทั้งการตรวจสมรรถภาพปอด การตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอก

ขณะเดียวกัน การเฝ้าระวังเชิงรับคือ การตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยให้มีความชัดเจนเชื่อถือได้ ซึ่งผลการวิจัยสะท้อนว่า ขั้นตอนการลงรหัสโรคยังมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่ จึงควรมีการปรับปรุงให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น แพทย์ควรซักประวัติการสัมผัสแร่ใยหินให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัย

“สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ จากตัวเลขผู้ป่วยทั้ง 28 รายที่เรายืนยันนี้ ที่จริงแล้วยังมีข้อมูลที่ตกหล่นอยู่อีกมาก เราเชื่อว่ายังมีการรายงานจำนวนผู้ป่วยต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับโรคเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่ได้รับการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาจนถึงที่สุด เช่น ในจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดก็มีผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินรวมอยู่ในนั้นด้วย และอาจเสียชีวิตไปโดยไม่ได้รับการตรวจชิ้นเนื้อโดยละเอียด หรือไม่ได้รับการซักถามประวัติอย่างละเอียดว่าเคยทำงานเกี่ยวข้องกับแร่ใยหินหรือไม่”

ศ.นพ.พรชัย อธิบายว่า ฐานข้อมูล HDC เป็นฐานข้อมูลเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึงโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลสังกัดเอกชนต่างๆ ที่อาจไม่ได้รายงานเข้ามายังฐานข้อมูล HDC อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นการศึกษารวบรวมเฉพาะปี 2558-2559 ซึ่งถือว่ายังไม่ครอบคลุมตัวเลขผู้ป่วยทั้งหมด

“ในช่วงเวลา 2 ปี เราพบผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 28 ราย แต่นั่นยังถือว่าต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลที่ไกลกว่านี้ เคสผู้ป่วยก็อาจเพิ่มมากกว่านี้ก็เป็นได้ เนื่องจากประเทศไทยเรานำเข้าแร่ใยหินมานานกว่า 70 ปี”

ไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย นำเข้าแร่ใยหินสูงสุด

ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินมาเป็นเวลากว่า 70 ปี โดยบริษัทเอกชนนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ ผลิตภัณฑ์ที่พบมากคือ กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน กระเบื้องยาง รวมถึงผ้าเบรก คลัทช์ ปริมาณการนำเข้าอาจขึ้นอยู่กับสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังเช่นปี 2540 ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู มีการนำเข้าแร่ใยหินสูงถึงเกือบ 180,000 ตัน

ต่อมาสถิติการนำเข้าเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก และลดลงอีกครั้งหลังสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเริ่มรณรงค์แบนแร่ใยหิน ทว่าการนำเข้าแร่ใยหินของไทยก็ยังคงมีปริมาณสูง ติดอันดับ 1-5 ของเอเชีย สวนทางกับอีก 60 กว่าประเทศทั่วโลกที่ประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว

“นับจากมีการรณรงค์ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2553 ประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้าแร่ใยหินลดลง จนกระทั่งเมื่อปี 2560 เราพบว่าเริ่มมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 21.13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ คืออยู่ที่กว่า 41,000 ตัน และจนถึงสิ้นปี 2561 คาดว่าจะมีการนำเข้าสูงถึงกว่า 40,000 ตัน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์สุขภาพของคนไทยยังคงมีความเสี่ยง ตราบใดที่แร่ใยหินยังไม่ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง” ศ.นพ.พรชัย

ปริมาณการนำเข้าแร่ใยหินในประเทศไทย ปี 2553-2561

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ส่วนแบ่งการตลาด ศ.นพ.พรชัย ระบุว่า แร่ใยหินที่นำเข้าส่วนใหญ่เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำมาใช้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคา แต่กระเบื้องมุงหลังคาทั้งหมดในท้องตลาด เป็นกระเบื้องที่มีแร่ใยหินอยู่เพียงไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ อาจเรียกได้ว่ามาร์เก็ตแชร์ของบริษัทที่ใช้แร่ใยหินลดลงไปมาก โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่มีการรณรงค์แบนแร่ใยหิน

“ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดภัยกว่าและมีคุณสมบัติทนทานไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก คงเหลืออยู่เพียงบริษัทเดียวที่ยังนำเข้าและผลิตอยู่ เนื่องจากอาจมีการกักตุนวัตถุดิบไว้มาก หรืออาจมีหุ้นอยู่ในเหมืองแร่ใยหินในต่างประเทศก็เป็นได้”

ส่องสถานการณ์แร่ใยหินทั่วโลก

  • ปี 2560-2561 แคนาดา บราซิล ยกเลิกการใช้และการส่งออกแร่ใยหินไครโซไทล์ โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้ที่ส่งออกแร่ใยหินรายใหญ่ของโลก และเคยคัดค้านการยกเลิกแร่ใยหิน
  • หลายประเทศในอาเซียนประกาศยกเลิกแร่ใยหินแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน ขณะที่ลาวประกาศยกเลิกในปี 2563 และเวียดนามประกาศยกเลิกในปี 2566
  • ปัจจุบันเกิดเครือข่ายเรียกร้องการยกเลิกแร่ใยหินในอาเซียน (SEA-BAN) โดยความร่วมมือระหว่าง 8 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย
  • ประเทศที่คัดค้านการยกเลิกแร่ใยหินในขณะนี้คือ รัสเซีย โดยใช้นโยบายกดดันทางการค้าหากประเทศคู่ค้ายกเลิกนำเข้าแร่ใยหิน ส่วนประเทศที่ยังคงให้การสนับสนุนคือ คาซัคสถาน อินเดีย และจีน

เพิ่มมาตรการแบนทุกช่องทาง

หากยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหินจะบรรลุเป้าหมายได้ นอกเหนือจากการเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและเชิงรับ อาจต้องใช้หลายแนวทางควบคู่กัน โดยหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะวิจัย ซึ่งเป็นวิธีที่นุ่มนวลที่สุดและค่อยเป็นค่อยไปที่สุด เช่น  การปรับปรุงกลไกราคา เพื่อสนับสนุนสินค้าที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหิน

“ถ้ารัฐบาลพร้อมที่จะแบนแร่ใยหินจริงๆ แนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การปรับปรุงกลไกราคา โดยทำให้กระเบื้องที่ไม่มีใยหินราคาถูกลงกว่ากระเบื้องที่มีใยหิน คล้ายกับเมื่อหลายปีก่อนที่มีการรณรงค์เลิกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสารตะกั่ว โดยรัฐทำให้กลไกราคาของน้ำมันไร้สารตะกั่วถูกกว่าน้ำมันที่มีสารตะกั่ว คนจึงค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วในที่สุด ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ก็พยายามปรับปรุงเครื่องยนต์ให้ตอบสนองน้ำมันไร้สารตะกั่วได้ สุดท้ายเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมน้ำมันที่มีสารตะกั่วก็ถูกเลิกใช้ในที่สุด” ศ.นพ.พรชัย กล่าว

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐเองยังสามารถเริ่มต้นเป็นแบบอย่างด้วยการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในการก่อสร้าง ต่อเติม หรือซ่อมแซมอาคาร และเลือกใช้วัสดุที่ปลอดจากแร่ใยหิน ขณะเดียวกัน ควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขั้นตอนปฏิบัติในการรื้อถอนกระเบื้องมุงหลังคาอย่างถูกวิธี ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวังมิให้ฝุ่นแร่ใยหินฟุ้งกระจาย

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

  1. ใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน เพิ่มมาตรการฟ้องร้องผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายสินค้าที่มีแร่ใยหิน โดยใช้ PL Law (Product Liability Law)
  2. ส่งเสริมสนับสนุนการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยกำหนดให้ส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ริเริ่มเป็นแบบอย่างในการก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซมอาคาร
  3. สนับสนุนการเผยแพร่ความรู้และประชาชนให้สาธารณชนทราบ โดยผ่านช่องทางสื่อในกำกับของรัฐให้มากขึ้น
  4. พัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงให้มีความเข้มข้น โดยให้ภาควิชาการเข้ามามีส่วนสนับสนุนมากขึ้น
  5. เพิ่มยุทธศาสตร์การกำหนดราคาสินค้าที่ใช้สารทดแทนแร่ใยหิน ให้มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ใช้แร่ใยหิน
  6. เพิ่มยุทธศาสตร์การร่วมวงในกลุ่มประเทศอาเซียน ตามแนวคิด One ban, All ban.
  7. เพิ่มยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้พิจารณาว่าแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยด้วยโรคเหตุแร่ใยหินนั้น เป็นผลส่วนหนึ่งจากความเหลื่อมล้ำในสังคม

ภารกิจยังไม่สิ้นสุด

อันตรายจากพิษภัยของแร่ใยหินคือ ไม่สามารถมองเห็นอาการเจ็บป่วยได้ใน 1-2 วัน หรือ 1-2 เดือน ต่างจากอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทั่วไปที่สามารถมองเห็นได้ไม่ยาก เพราะผลกระทบจากแร่ใยหินอาจต้องใช้เวลากว่า 15-30 ปี จึงจะปรากฏอาการในลักษณะของโรคมะเร็งต่างๆ

ศ.นพ.พรชัย กล่าวว่า ระยะเวลาในการเกิดโรคมะเร็งจากแร่ใยหินอาจใช้เวลาฟักตัวนานถึง 15-30 ปี นั่นคือความยากของการวินิจฉัยให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับแร่ใยหิน แต่ข้อสรุปที่ชัดเจนคือ องค์การอนามัยโลกและองค์การนานาชาติที่วิจัยเรื่องโรคมะเร็งได้สรุปไว้ชัดเจนว่า แร่ใยหินเป็นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งจริง และเป็นข้อมูลที่พบได้จากทั่วโลก

“ในอนาคตเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า เราจะยังพบผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลสำคัญเนื่องจากเรายังไม่สามารถแบนแร่ใยหินได้ และยังมีผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินออกมาอย่างเนื่อง กลุ่มคนที่เสี่ยงที่สุดก็คือคนงานในโรงงานผลิต กับกลุ่มคนที่นำมาใช้คือ ช่างก่อสร้าง ช่างตัดกระเบื้อง เจียกระเบื้อง และอีกกลุ่มคือ คนที่อาศัยอยู่ในบ้านหรืออาคารที่มีการต่อเติมซ่อมแซมและใช้วัสดุจากแร่ใยหิน”

ข้อกังวลอีกประการของ ศ.นพ.พรชัย ก็คือ ท้ายที่สุดแม้ว่าไทยจะสามารถแบนแร่ใยหินได้แล้วก็ตาม แต่ในอาคารเก่ายังคงมีกระเบื้องใยหินปะปนอยู่จำนวนมหาศาล และอาจตกค้างต่อไปอีกหลายสิบปี เมื่อหมดสภาพการใช้งาน เศษวัสดุเหล่านี้อาจกลายเป็นขยะอันตรายที่ย้อนกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมและแพร่กระจายต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักเพื่อให้ประชาชนรับมือกับแร่ใยหินอย่างถูกวิธี โดยคณะทำงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงเกาะติดสถานการณ์ต่อไปจนกว่าสังคมจะไร้แร่ใยหินอย่างแท้จริง

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า