เรื่องตลกร้ายประการหนึ่งระหว่างที่ พีท เฮกเซท (Pete Hegseth) ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ขึ้นตอบคำถามต่อหน้าคณะกรรมาธิการวุฒิสภา คือ บุคคลดังกล่าวท่าทางจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียนเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังไม่สามารถยกตัวอย่างออกมาได้สักชื่อเดียว ทั้งที่บางประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ ไทยและฟิลิปปินส์เองก็มีความสัมพันธ์ทางการทหารช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลความมั่นคงในละแวกทะเลจีนใต้ให้กับสหรัฐอเมริกามาตลอด
หากจะบอกว่าเป็นความผิดของเฮกเซทที่ไม่มีความรู้รอบตัวในประเด็นดังกล่าวก็คงจะใช่ที่ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นเพียงอดีตทหารที่ผันตัวไปเป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ และที่ได้ติดโผเข้ามานั่งกระทรวงกลาโหมครั้งนี้ เพราะเกณฑ์การคัดเลือกทีมงานของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เน้นไปที่ผู้จงรักภักดีต่อแนวคิดของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นหลัก (ซึ่งก็ไม่เกินจะคาดเดาได้ตั้งแต่แรก) ประกอบกับในภาคปฏิบัติจริง ตำแหน่งระดับที่เฮกเซทได้รับย่อมต้องรายล้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยและผู้ช่วยรัฐมนตรี คอยให้คำปรึกษาในแต่ละมิติเพื่อให้งานกลาโหมดำเนินต่อไปได้อยู่แล้ว
สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ ประเด็นดังกล่าวนี้อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณตอกย้ำถึงการที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มของอาเซียนน้อยลง ดังจะเห็นได้จากช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา มีคนระดับประธานาธิบดีเข้ามาร่วมประชุมกับอาเซียนน้อยครั้ง โดยต่างก็เลือกเดินทางเยือนเป็นรายประเทศตามวาระที่ตนเองให้ความสนใจเท่านั้น อย่างในกรณีของทรัมป์ก็เลือกไปพบกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามบ่อยที่สุด เพื่อแลกกับการให้บริษัท Trump Organization ได้ไปสร้างสนามกอล์ฟที่ใกล้กับสนามบินนานาชาติฮานอยมากที่สุด ส่วน โจ ไบเดน (Joe Biden) ยิ่งแย่ไปใหญ่ แทบไม่ได้เดินทางมาเยือนหรือร่วมการประชุมพหุภาคีใดๆ ที่จัดขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนเลย ยกเว้นเวที G20 ที่อินโดนีเซีย และเวที East Asia Summit ที่กัมพูชา นอกเหนือจากนั้นถ้าไม่ได้ส่งรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ก็มักให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) ไปแทน
อย่าว่าแต่แผนการเดินทางเยือนอาเซียนเลย เอาแค่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้นมีผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีกี่คนที่กล่าวถึงกลุ่มประเทศอาเซียนขณะแสดงวิสัยทัศน์นโยบายต่างประเทศบ้าง ส่วนมากมีแต่จะฉายความสนใจไปที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับปัญหาอิสราเอล-ฮามาส ส่วนปัญหาสงครามกลางเมืองในพม่านี้ลืมไปได้เลย เพราะเป็นรัฐกันชนและสวนหลังบ้านของจีนมาช้านานอยู่แล้ว และต่อให้พม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรแร่หายาก (Rare Earth) ติดอันดับท็อปโลก ผลผลิตส่วนใหญ่ก็ถูกส่งออกไปยังจีน บวกกับที่ภูมิภาคเอเชียทางตอนใต้มีมหาอำนาจระดับภูมิภาค เช่น อินเดีย จีน และไทย คอยป้องปรามความรุนแรงของสงครามกลางเมืองไม่ให้มีผลกระทบลุกลามไปนอกประเทศอยู่แล้ว ปัญหาในพม่าจึงไม่นับเป็นวาระเร่งด่วนทางนโยบายที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาต้องลงมาแสดงบทบาทในทางตรง อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาลไบเดนก็ได้ส่งไม้ให้รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ เคอร์ท แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) รับบทเป็นคนกลางติดต่อกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในขั้วอำนาจต่างๆ ของพม่าไปแล้ว
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ช่วยสะท้อนว่าความเป็นกลุ่มก้อนของอาเซียนมีความสำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกามากหรือน้อยเพียงใด สามารถสังเกตได้จากกรณีที่ผู้มีบทบาทในสภาคองเกรส อาทิ สส. แอนน์ วาร์กเนอร์ (Ann Wagner) และ วาคิน แคสโตร (Joaquin Castro) เพิ่งจะสามารถรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มผลักดันนโยบายต่างประเทศ (caucus) เกี่ยวกับอาเซียนได้สำเร็จก็เมื่อช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมานี้เอง ทั้งที่ย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็น หลายประเทศสมาชิกของอาเซียนเคยมีบทบาทหลักในการช่วยสหรัฐอเมริกาป้องกันไม่ให้เกิดทฤษฎีโนมิโน จากการแผ่ขยายอิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ในเวลาที่ระเบียบโลกเดิมของสหรัฐอเมริกาถึงคราวสั่นคลอนและเผชิญการท้าทายจากจีน ซึ่งต้องการปรับแก้ระเบียบดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อกลุ่มประเทศเผด็จการมากขึ้น (China, Russia, Iran, North Korea: CRINK) สหรัฐอเมริกากลับสนใจแต่เพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสถานะความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของตนเอง แล้วปิดหูปิดตากับปัญหารายภูมิภาคโดยเฉพาะในอาเซียนไปเสียสิ้น
ทางไบเดนเองก็ไม่เคยคิดจะแก้ปัญหาที่ทรัมป์ก่อทิ้งไว้ ไม่แม้แต่จะกลับไปรื้อฟื้นความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ทั้งที่ความตกลงดังกล่าวควรได้รับการพัฒนาให้เป็นเรือธงสำหรับคานอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่ใช้กรอบความร่วมมือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เป็นช่องทางในการโน้มน้าวประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาเป็นพรรคพวก ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องตกกระไดพลอยโจนรับบทบาทผู้นำ CPTPP ไปโดยปริยาย ซึ่งหากเป็นรัฐบาลพรรค Liberal Democratic Party (LDP) สมัยของ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) หรือ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ที่ครองที่นั่ง สส. ในรัฐสภาเกือบ 300 เสียง ก็คงพอถูไถไปต่อได้อยู่ แต่หลังตุลาคม 2024 พรรค LDP ของ ชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) กลับเหลือที่นั่ง สส. ไม่ถึง 200 เสียง การจะเพิ่มงบกลาโหมให้มากเพียงพอ หรือริเริ่มโครงการเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศเพื่อก้าวขึ้นมามีสถานะเป็นผู้นำภูมิภาคแทนสหรัฐอเมริกาจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
หากย้อนกลับไปพิจารณาในมิติของการทหารก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า ในการรวบรวมพันธมิตรปิดล้อมจีนช่วงที่ผ่านมานั้น สหรัฐอเมริกาแทบไม่ได้เรียกใช้บริการประเทศในกลุ่มอาเซียนเลย ในทางกลับกัน ชื่อที่มักได้ยินกันจนคุ้นหูกลับเป็นประเทศมหาอำนาจระดับแถวหน้าของโลก ไม่ว่าจะอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือไม่ก็เกาหลีใต้ สลับกันแสดงตัวผ่านกรอบความร่วมมือที่มีชื่อแตกต่างกันตามแต่ละวาระ ทั้ง Quadrilateral Security Dialogue, Camp David Principles ไปจนถึง AUKUS ที่มีอังกฤษร่วมขบวนมาด้วย
ที่กล่าวไปข้างต้นนี้คงพอทำให้เห็นภาพได้บ้างว่า อาเซียนในฐานะองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในวิสัยทัศน์ด้านการทหารและการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ อาเซียนไม่ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเป็นพันธมิตรทางการทหารมาตั้งแต่แรก การซ้อมรบร่วมกันภายในอาเซียนเพิ่งจะเริ่มมีครั้งแรกก็เมื่อปี 2023 อย่างไรก็ดี หากจะนิยามเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจก็คงจะใช่ที่ เนื่องจากการค้าภายในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีสัดส่วนแค่ประมาณ 20% เปอร์เซ็นต์ เทียบไม่ได้กับ EU ที่มีสัดส่วนถึงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
กล่าวโดยสังเขป อาเซียนนั้นเป็นเพียงการรวมตัวที่นับได้ว่าหลวมเอามากๆ ในระดับที่ประเทศสมาชิกจะเอนเอียงไปยังทิศทางตรงข้ามกันในบางเรื่องก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง และที่เห็นได้ประจักษ์ที่สุดคงจะไม่พ้นกรณีการแข่งขันเกมทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ซึ่งประเทศสมาชิกได้แสดงท่าทีที่แตกต่างกันออกมาถึง 3 แนวทาง ไม่ว่าจะเอนเอียงไปยังจีน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีความใกล้ชิดสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่การแสดงออกว่าไม่เลือกข้างเพื่อหวังผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายก็มีให้เห็นได้จากกรณีของไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ดังนั้น จึงพึงตระหนักถึงประเด็นเกี่ยวกับการรวมกลุ่มของอาเซียนไว้ด้วยว่า ‘การทหาร’ นั้นไม่ใช่จุดขายมาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะอาเซียนไม่เหมือนกับ SEATO และต่อให้เฮกเซทรู้จักหรือมีวิสัยทัศน์ถึงอาเซียน ก็ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถเข้ามาช่วยยกระดับกลุ่มอาเซียนให้กลายเป็น NATO แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่อย่างใด
สิ่งที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายต่างประเทศควรเก็บกลับไปขบคิด อยู่ที่ว่าจะยอมปล่อยให้ประเทศของตนเองถูกมองข้ามแบบอาเซียนในสายตาของเฮกเซทและชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกา หรือจะดิ้นรนสร้างจุดเด่นของประเทศ (โดยไม่ยึดโยงตนเองอยู่แค่กับเวทีของอาเซียน) แบบที่ โจโค วิโดโด (Joko Widodo) อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เหงียน ฟู้ จ่อง (Nguyen Phu Trong) อดีตประธานาธิบดีเวียดนาม และตระกูลลีแห่งสิงคโปร์ทำ เพื่อที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะได้เรียกใช้บริการตามแต่ละวาระ แลกกับของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นเม็ดเงินลงทุนโครงการใหญ่จากบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐอเมริกา อย่าง NVIDIA ก็เป็นแนวทางที่ฟังดูไม่แย่เท่าใดนัก
สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า ไทยจะก้าวข้ามแนวคิดที่ว่าตนเองเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่ได้สนใจความเป็นไปของเวทีภูมิรัฐศาสตร์โลก (inward-looking isolationist) ซึ่งอบอวลอยู่ภายในกลุ่มผู้มีบทบาทด้านนโยบายต่างประเทศของไทยตลอดช่วงหลายปีมานี้ได้อย่างไร