เมื่อพูดถึงพม่าในห้วงเวลานี้ หลายคนคงอดนึกถึงปัญหาโรฮิงญาที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2012 ไม่ได้ ทั่วโลกพุ่งเป้าไปที่พม่าว่าในที่สุดแล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ชาวโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคนที่อพยพลี้ภัยไปบังคลาเทศจะได้กลับมาพม่าหรือไม่ และรัฐบาลพม่าจะมีมาตรการคุ้มครองชาวโรฮิงญาทั้งที่บังคลาเทศและอีกหลายแสนคนที่ยังอยู่ในพม่าอย่างไร
คำถามเหล่านี้ถูกถามขึ้นซ้ำๆ ทั้งโดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนทั่วโลก หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ชาวโรฮิงญาไม่ควรถูกส่งกลับไปพม่า แม้พวกเขาจะสมัครใจก็ตาม เพราะรัฐบาลพม่าไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าเมื่อชาวโรฮิงญากลับคืนสู่พม่าแล้ว พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และได้รับสิทธิเทียบเท่าผู้ถือสัญชาติพม่าดังที่ชาวโรฮิงญาเรียกร้องมาโดยตลอดได้
แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลพม่าแทบไม่เคยตอบคำถามที่ค้างคาใจคนทั่วโลก หรือหากมีตอบอยู่บ้าง ก็คงเป็นคำตอบแบบขอไปที ไม่ได้ทำให้ประชาคมโลกละความสนใจกับประเด็นนี้และท่าทีของรัฐบาลพม่าที่ทำตามสุภาษิต ‘พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง’
ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับความกระหายใคร่รู้ของชาวโลกทำให้ ออง ซาน ซู จี ฮีโร่ประชาธิปไตยและเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1991 กลายเป็นเป้าโจมตีมาโดยตลอด และยังมองว่าเธอและบรรดาคนในพรรค NLD คือหนึ่งในสาเหตุของปัญหาโรฮิงญาด้วย
หลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายฝ่ายกดดันออง ซาน ซู จี พยายามให้เธอใช้อำนาจที่มีป้องกันการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา และช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่เธอเลือกที่จะเงียบและปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ เกิดขึ้นในประเทศของเธอ
ในปี 2015 ออง ซาน ซู จี เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าว BBC ว่า ความรุนแรงที่เกิดกับชาวโรฮิงญาเป็นผลมาจาก “การที่คนพม่าต้องทนทุกข์ทรมานกับเผด็จการ…ถ้าคุณอยู่ภายใต้เผด็จการมาหลายปี ผู้คนก็จะไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ระบอบเผด็จการก่อให้เกิดภาวะหวาดระแวง”
หลังจากบทสนทนาของเธอกับ BBC ราวเดือนเศษ พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งทั่วไป และขึ้นมาเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล
ไม่กี่เดือนต่อมา เธอให้สัมภาษณ์ เฟอร์กัล คีน (Fergal Keane) ผู้สื่อข่าวอาวุโสจาก BBC ซึ่งเคยสัมภาษณ์เธอต่อเนื่องมาตลอดเกือบ 30 ปี ซู จี กล่าวแบบกลางๆ ว่า “การกำจัดอคติไม่ใช่เรื่องง่าย และจะกำจัดความเกลียดชังก็ไม่ง่ายเช่นกัน…ฉันมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ต้องการความสงบ…เขาไม่ต้องการอยู่กับความเกลียดชังและความกลัวกันหรอก”
เมื่อออง ซาน ซู จี เข้ามาเป็นผู้นำในรัฐบาลแล้ว ก็ไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์โรฮิงญาจะดีขึ้น และไม่มีหลักฐานว่าเธอทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ สถานการณ์หลังการจัดตั้งรัฐบาลกลับเลวร้ายกว่าเก่า จนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) ออกมาประณามสถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่และกล่าวว่าการกวาดล้างโรฮิงญาเป็นเหมือน ‘การสังหารล้างเผ่าพันธุ์ตามตำรา’ (textbook example of ethnic cleansing)
แต่แม้คำประณามจะฟังดูรุนแรงเพียงใด รัฐบาลพม่าของ ออง ซาน ซู จี ยังเลือกนิ่งและเฉย อาจมีเพียงชาวพม่าที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ และมักกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “โลกจะเข้าใจพม่าดีกว่าชาวพม่าไปได้อย่างไร”
ความสิ้นหวังหดหู่นี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกดดันพม่ามากขึ้น และแน่นอน คำวิจารณ์ทั้งหลายพุ่งเป้าไปที่ ออง ซาน ซู จี เหมือนเดิม
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติแต่งตั้งคณะค้นหาข้อเท็จจริง (fact-finding mission) ขึ้นมาชุดหนึ่งตั้งแต่ปี 2017 เพื่อสอบสวนและวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดยคณะทำงานเพิ่งออกรายงานฉบับหนึ่งและมองว่า ชาวโรฮิงญาอีก 660,000 คนที่ยังหลงเหลือในพม่ากำลังเผชิญกับการกวาดล้างที่เป็นระบบ และมีความเป็นไปได้ว่าชาวโรฮิงญากลุ่มนี้จะตกเป็นเหยื่อของ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของทางการพม่า
ขณะที่มติของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานของคณะค้นหาข้อเท็จจริงจากองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2019 ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศเพิ่งรับคำร้องเปิดการสอบสวนพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา หลังมีอัยการยื่นคำร้องเพื่อสอบสวนรัฐบาลพม่าในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 และเพิ่งเริ่มการสืบสวนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ยางฮี ลี (Yanghee Lee) ทูตพิเศษฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาสถานการณ์โรฮิงญามาตั้งแต่ปี 2017 กล่าวอย่างน่าสนใจว่า ภายใต้รัฐบาลของ ออง ซาน ซู จี ที่ในทางพฤตินัย เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่ากลับเลวร้ายลง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการกวาดล้างชาวโรฮิงญาเท่านั้น แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกองทัพก็ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ออง ซาน ซู จี และฝ่ายรัฐบาลของเธอไม่มีอำนาจที่แท้จริง จึงไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ พรรค NLD ควบคุมที่นั่งร้อยละ 60 ในรัฐบาลพม่า และมีอำนาจเพียงพอในการออกกฎหมายและเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายใดๆ ก็ได้ยกเว้นรัฐธรรมนูญ ที่จำกัดไม่ให้ NLD และพรรคการเมืองฝ่ายพลเรือนมีอำนาจที่แท้จริงในการเมืองพม่า
คณะค้นหาข้อเท็จจริงพบว่ามีบุคคลมากกว่า 150 คนที่เกี่ยวข้องกับ ‘อาชญากรรมระหว่างประเทศ’ ทั้งทหาร นักการเมือง และโครนี่ หรือนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลและกองทัพ ออง ซาน ซู จี เป็นหนึ่งใน ‘ผู้เกี่ยวข้อง’ ที่อยู่ในรายชื่อนั้นด้วย ศาลอาญาระหว่างประเทศ และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ มิได้เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่พยายามค้นหาข้อเท็จจริงและพาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษในกรณีของโรฮิงญา แต่นานาชาติก็ร่วมกันกดดันพม่าอีกทางหนึ่ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของโรฮิงญาและอีกหลายหน่วยงานในลาตินอเมริการ่วมกันฟ้องรัฐบาลและกองทัพพม่า ตลอดจนบุคคลจำนวนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นในพม่าไปเกี่ยวอะไรกับประเทศที่อยู่ห่างใกลออกไป 17,000 กิโลเมตรอย่างอาร์เจนตินา
สำหรับหลายประเทศ แนวคิดว่าด้วยเขตอำนาจศาลสากล (universal jurisdiction) เป็นแนวคิดหลักในรัฐธรรมนูญ แนวคิดนี้เชื่อว่าการกระทำผิดบางประเภท ได้แก่ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crime against humanity) เป็นอาชญากรรมร้ายแรงขั้นสูงสุด การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจึงไม่ควรจำกัดอยู่ที่อำนาจของศาลของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือศาลระหว่างประเทศเท่านั้น
การฟ้องร้องที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในอาร์เจนตินานี้เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับ พลเอกมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้นำสูงสุดในกองทัพพม่า และ ออง ซาน ซู จี ในฐานะผู้นำฝ่ายพลเรือน
ในอดีต ศาลอาร์เจนตินาเคยรับฟ้องร้องคดีในเขตอำนาจศาลสากลมาแล้ว เช่นคดีที่เกี่ยวกับ นายพลฟรังโก อดีตผู้นำเผด็จการในสเปน และคดีของลัทธิฝ่าหลุนกง นอกจากศาลในอาร์เจนตินาจะรับเรื่องของโรฮิงญามาพิจารณาแล้ว รัฐบาลแกมเบียยังหยิบยกเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องร้องพม่าต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ในนามองค์กรความร่วมมืออิสลามด้วย
ความพยายามทั้งหมดของนานาชาติที่ร่วมใจกันฟ้องพม่าและตัวบุคคลที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการกวาดล้างชาวโรฮิงญาทั้งทางตรงและทางอ้อมคือการกดดันพม่า แต่ก็เป็นการกดดันจากภายนอกในทางนิตินัย มีเป้าหมายเพื่อให้พม่ารับผิดชอบกับการปราบปรามชาวโรฮิงญา และยอมรับว่าได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาจริง
อย่างไรก็ดี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยมองว่าเป็นการกล่าวหาด้านเดียวและเลือกข้าง เหตุผลที่มักได้ยินจากโฆษกรัฐบาลพม่าคือศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอำนาจ (jurisdiction) มาตัดสินว่าการกระทำใดๆ ของพม่าเป็นสิ่งผิด และอ้างว่าพม่าไม่ได้ลงสัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องทำตามคำสั่งศาล
แต่สำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ การพิจารณาคดีของพม่าเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะประเทศที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญาโดยตรงอีกประเทศคือบังคลาเทศ ซึ่งเป็นภาคีของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ และบังคลาเทศก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความรุนแรงภายในรัฐยะไข่ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนบังคลาเทศ ทำให้ในปัจจุบันมีผู้อพยพชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคนในบังคลาเทศ
การกดดันพม่าจากภายนอกไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในวิธีคิดของกองทัพ รัฐบาลพลเรือน และสังคมพม่าโดยรวมได้จริง เว้นเสียแต่จะเป็นการกดดันในเชิงเศรษฐกิจ ได้แก่ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ที่เคยเกิดกับพม่ามาก่อนจนถึงปี 2010 แต่ในปัจจุบัน การกดดันทางเศรษฐกิจต่อพม่าไม่ใช่สิ่งที่ประเทศทั่วโลกพึงกระทำอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากทั่วโลกตบเท้าเข้าไปลงทุนในพม่า และพม่ายังเป็นแหล่งขุดทองของบรรดานักลงทุนจากทั่วโลก ผู้เขียนยังไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ว่ารัฐบาลพม่าจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาโรฮิงญาอย่างไร ความสลับซับซ้อนของปัญหานี้ไม่ได้มาจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์-ศาสนาเท่านั้น แต่ยังมาจากการปฏิเสธการมีอยู่ของชาวโรฮิงญา และการมองว่าชาวโรฮิงญามิใช่พลเมืองของพม่ามาตั้งแต่ต้น การมุ่งปราบปรามชาวโรฮิงญามิได้เป็นภารกิจของกองทัพพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้รับเสียงเชียร์และฉันทามติจากชาวพม่าทั่วประเทศ
สำหรับการแก้ปัญหาโรฮิงญาอย่างยั่งยืนนั้น คงต้องผ่านการเจรจาหลายขั้นหลายตอน และประชาคมโลกเองต้องเข้าใจก่อนว่า ออง ซาน ซู จี แม้จะเป็นผู้นำในรัฐบาล แต่เธอไม่สามารถแก้ไขปัญหาโรฮิงญาได้ด้วยตัวของตัวเอง แต่ต้องผ่านการพูดคุยกับคนหลายภาคส่วน ซึ่งยิ่งสร้างความซับซ้อนให้กับปัญหานี้
ดังนั้น การที่ทั่วโลกร่วมกันกดดันเพียง ออง ซาน ซู จี เพียงผู้เดียว เพราะมองว่าเธอเคยเป็นถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เคยเป็นนักโทษการเมือง และเคยได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นวีรสตรีที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาก่อน จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และยิ่งจะกรีดให้บาดแผลแห่งความร้าวฉานระหว่างชาวพม่าและชาวโรฮิงญาลึกขึ้นไปอีกด้วย