70 ปี การจากไปของ นายพลอองซาน

ภาพประกอบ: Shhhh

 

19 กรกฎาคม 1947 คือวันที่ นายพลอองซาน (General Aung San) บิดาของ อองซานซูจี ถูกสังหาร และวันนี้คือวันครบรอบ 70 ปีการจากไปของผู้เป็นเสมือนบิดาแห่งชาติพม่า

หลังจากปกครองพม่าในปี 1886 อังกฤษแบ่งประชาชนชาวพม่าเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ชาวพม่าแท้ กับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน อังกฤษจึงทำการแบ่งแยกแล้วปกครอง กล่าวคือ ทำการวางรากฐานการปกครองเฉพาะชาวพม่าแท้ในตอนกลางของประเทศเท่านั้น และเอาชนกลุ่มน้อยมาเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ

อองซานเกิดในครอบครัวชาตินิยมที่ต่อต้านอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 1915 ที่กรุงย่างกุ้ง ขณะนั้นพม่าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาเติบโตขึ้นในยุคที่แนวคิดเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษแพร่หลายในหมู่ปัญญาชนนักศึกษาชาวพม่า

อองซานเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาพม่าก่อตัวเป็นแนวร่วมขนาดใหญ่ในหมู่ปัญญาชน ไม่ต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นำโดยกลุ่มนักศึกษาห้าคน ประกอบด้วย ตะขิ่นนุ (อูนุ), ตะขิ่นอองซาน, ตะขิ่นจ่อเยน, ตะขิ่นเต็งเป และตะขิ่นราชิด กระทั่ง อองซานและอูนุถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย จึงเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการเรียกร้องเอกราชขึ้นทั่วประเทศ และในวันที่ 15 สิงหาคม 1939 ทั้งหมดร่วมกันตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma: CPB) ขึ้น เพื่อเป็นกำลังหลักในการกู้เอกราชของพม่า โดยมีอองซานในวัย 25 ปี เป็นเลขาธิการพรรค

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อองซานจัดตั้งองค์กร Dobama Asiayone หรือ We-Burman’s Association – ‘เราชาวพม่า’ เพื่อหวังดึงชาวเอเชียมาร่วมปลดปล่อยพม่าจากการยึดครองของอังกฤษ ซึ่งความหมายของ ‘เอเชีย’ ที่ว่าคือญี่ปุ่น และก็เป็นผล ญี่ปุ่นตกลงจะช่วยพม่า แลกเปลี่ยนกับการความช่วยเหลือของพม่าในการรบระหว่างญี่ปุ่นกับจีน กระทั่งญี่ปุ่นตกลงจะช่วยพม่าในด้านอาวุธ และการฝึกทหารพม่า

ชื่อของอองซานอยู่ในหมายจับของรัฐบาลพม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษ เขาได้ออกเดินทางไปญี่ปุ่น พร้อมกับสหายลาเมียง และประสานกับญี่ปุ่นในการโจมตีกองทัพอังกฤษ ญี่ปุ่นส่งอองซานและลาเมียงมายังกรุงเทพฯ ซึ่งแกนนำปลดปล่อยพม่าจำนวนมากแฝงตัวอยู่ในประเทศไทย

มีนาคม 1941 อองซานและแกนนำปลดปล่อยพม่าซึ่งมาจากกลุ่มต่างๆ เช่น Dohbama Asiayone, CPB, กลุ่มประชาชนปฏิวัติ และแนวร่วมอีกจำนวนหนึ่ง มาสมทบกันที่กรุงเทพฯ และกรีดเลือดสาบานกันเป็นกลุ่ม ‘30 สหาย’ (Thirty Comrades) ก่อนจะพัฒนามาเป็น Burma Independence Army (BIA) หรือ ทัดมาดอว์ (Tatmadaw)

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 BIA สนับสนุนกองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีพม่าและอังกฤษ จนอังกฤษถอยร่นเข้าไปในอินเดีย อองซานหวังว่าญี่ปุ่นจะช่วยขับไล่อังกฤษ แต่ญี่ปุ่นกลับยึดครองทรัพยากรของพม่า จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและ BIA ท้ายที่สุดญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองพม่าแทนอังกฤษ

อองซานและบรรดาตะขิ่นระดับนำเริ่มแนวคิดขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไปจากพม่า จึงร่วมกันจัดตั้ง ‘กลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์’ (Anti-Fascist People’s Freedom League: AFPFL) โดยมีอองซานเป็นผู้นำ ซึ่งต่อมา AFPFL กลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพล

ปลายสงคราม ญี่ปุ่นเริ่มอ่อนแอ เป็นโอกาสให้อองซานกลับลำไปสมทบกับอังกฤษ จนขับไล่ญี่ปุ่นออกไปได้ แต่เรื่องไม่เป็นเหมือนที่คิด เมื่ออังกฤษเริ่มเข้ามามีบทบาทในพม่าอีกคำรบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรียกร้องเอกราชให้กับพม่ายังคงอยู่ กระทั่ง 27 มกราคม 1947 อังกฤษลงนามมอบเอกราชให้แก่พม่า ภายใต้สนธิสัญญาว่า

  1. ให้พม่าเตรียมการหนึ่งปีก่อนเป็นประเทศเอกราช
  2. ให้พม่าจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญภายในสี่เดือน
  3. อังกฤษจะสนับสนุนพม่าให้เป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ
  4. สัญญาว่าจะให้รัฐชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนเข้ารวมกับพม่า
  5. จะให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่พม่า

ภายใต้สนธิสัญญานี้นำมาซึ่งการร่วมมือตกลงกันครั้งประวัติศาสตร์ที่เมืองปางโหลง หรือ ‘ความตกลงปางโหลง’ (Pangluang Agreement) ว่าด้วยการรวมชาติพม่าและชนกลุ่มน้อยเข้าด้วยกันในนาม ‘สหภาพพม่า’ (Union of Burma) เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1947 ภายใต้การนำของอองซาน

อองซานประกาศหลักการเอกภาพผ่านประโยคที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์

If Burmese receive 1 Kyat , You will also get 1 Kyat.

ถ้าคนพม่าได้เงิน 1 จ๊าต ท่านก็จะได้ 1 จ๊าตด้วยเช่นกัน

สะท้อนแนวคิดปกครองชาติที่ประกอบด้วยชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม แนวความคิดนี้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มนักการเมืองหัวเก่า เพราะชาวพม่ากับชนกลุ่มน้อยมีอดีตไม่ลงรอยกันมาหลายครั้ง

19 กรกฎาคม 1947 อองซานในวัย 32 ปี ถูกสังหารด้วยน้ำมือของกลุ่มมือปืนหกคน กระสุน 13 นัดพุ่งใส่ร่างของอองซาน เขาเสียชีวิตในห้องประชุมพร้อมกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกหกคน ขณะทำการประชุมเพื่อเตรียมการประกาศเอกราชของพม่าในอีกหกเดือนข้างหน้า โดย อูนุ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น (ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี) เป้าหมายหลักอีกคน รอดชีวิตเพราะไม่อยู่ในห้องประชุม

หลังเหตุการณ์นั้น มีการเปิดเผยว่า ผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารคือ นักการเมืองอาวุโส อูซอ ซึ่งต่อมาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอพร้อมกับมือปืนห้าคน

พิธีศพของนายพลอองซานจัดให้ประชาชนเคารพนานเก้าเดือน ก่อนทำพิธีฝังเมื่อ 11 เมษายน 1948 ท่ามกลางผู้ร่วมพิธีกว่า 50,000 คน

หลังได้เอกราชในปี 1948 แต่ปัญหาการเมืองและการสร้างชาติให้เป็นหนึ่งของพม่ายังไม่เกิดขึ้น อูนุอยู่ในฐานะผู้นำ AFPFL ต้องเผชิญความแตกแยกและขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกพรรค ทั้งชนกลุ่มน้อยต่างๆ และกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

ขณะที่ฝ่ายการเมืองไม่มีเสถียรภาพ กองทัพกลับเข้มแข็งมากขึ้น กระทั่งปี 1958 นายพลเนวินเข้ามาเป็นรัฐบาลรักษาการสองปี ก่อนชัยชนะในการเลือกตั้งปี 1960 ทำให้อูนุกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สองปีถัดมา 1962 เนวินก็เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล จากนั้นพม่าที่กำลังจะเข้าสู่ยุครุ่งเรืองก็ตกอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า