ในงานประชุมวิชาการนานาชาติเอเชียศึกษา (The AAS-in-ASIA 2017) ที่ Korea University เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 24-26 มิถุนายนที่ผ่านมา หนึ่งในการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจครั้งนี้คือ หัวข้อเรื่อง ‘Silenced Memories in Art, Social Media and History’
ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอบทความเรื่อง Reluctant Avant-garde: Politics and Art of Silence in Thailand ซึ่งได้สะท้อนภาพที่ยอกย้อนระหว่างศิลปะกับการเมืองไทยตลอดวิกฤติทางการเมืองที่ผ่านมา
บัณฑิตกล่าวถึงปฏิบัติการทางศิลปะของศิลปินไทย กรณี ‘ศิลปะทางการเมือง’ โดยพิจารณาจากการนำเสนอผลงานของศิลปินไทยระหว่างปี 2553-2559 เขาพบว่าก่อนหน้านี้ศิลปินไทยมีลักษณะวางตัวเองให้พ้นไปจากประเด็นทางการเมือง ทว่าในช่วงวิกฤติทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549-2559 มีศิลปินไทยจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาจนถึงคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองที่ปูทางให้แก่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 และปี 2557
รูปแบบการเข้าร่วมการชุมนุม มีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สนับสนุน กปปส. ให้ยึดที่ทำการของรัฐบาล รวมถึงปิดถนนในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ศิลปินยังมีการจัดระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เสียงของศิลปินเหล่านี้ได้เงียบหายไปจากสถานการณ์บ้านเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการ และเปลี่ยนวิธีการพูดถึงการเมืองที่ต่างไปจากเดิม
ในบทความ Reluctant Avant-garde: Politics and Art of Silence in Thailand บัณฑิตยังตอบคำถามอีกว่า เหตุใดศิลปินเหล่านี้จึงเงียบเสียงลง และชวนทำความเข้าใจว่าศิลปินไทยจัดวางตัวเองอยู่ในการเมืองไทยเช่นไร
การเมืองไทยที่แปรปรวน (Deformed Thai Politics)
บัณฑิตเปิดฉากด้วยการยกข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในระหว่างการจัดกิจกรรมทางศิลปะโดยพิพิธภัณฑ์ Brooklyn เมื่อ ทาเนีย บรูเกรา (Tania Bruguera) ศิลปินชาวคิวบาถาม ‘อ้าย เว่ยเว่ย’ ศิลปินการเมืองคนสำคัญของจีนว่า
“ศิลปะทางการเมืองสำคัญอย่างไร?” และ “และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?”
นอกจากนี้ บรูเกรายังถาม อ้าย เว่ยเว่ย ว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาทางจริยธรรม หลังจากที่อ้ายถ่ายภาพตัวเองหมอบคว่ำบนหาดทราย เพื่อจำลองภาพการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ชื่อ อายลัน เคอร์ดี (Aylan Kurdi) ซึ่งเสียชีวิตโดยร่างของเขาเกยอยู่บนชายหาดของตุรกี
อ้ายได้ถามบรูเกรากลับว่า “มีคนซีเรียตายในทะเลไปแล้วกี่คน?” ซึ่งทำให้บรูเกราตะลึงไปชั่วขณะ หลังจากนั้น อ้ายจึงตอบว่า “คุณไม่รู้จำนวน เนื่องจากคุณไม่ใช่ศิลปินทางการเมืองเต็มรูปแบบ คุณเป็นเพียงศิลปินการเมืองคิวบาเท่านั้น”
(หมายเหตุ: ภายหลังการเกิดแผ่นดินไหวในเสฉวน เมื่อปี 2008 อ้ายกับทีมงานของเขาเข้าไปเก็บข้อมูลของเด็กนักเรียนที่เสียชีวิตและสูญหายภายใต้ซากถล่มของอาคารเรียนหลายแห่ง ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาคารถล่มเพราะสเปควัสดุก่อสร้างอาคารไม่ได้ตามมาตรฐาน เนื่องจากมีการทุจริตของราชการ อ้ายพยายามหาจำนวนที่แท้จริงและชื่อของผู้เสียชีวิตและสูญหาย หลังจากนั้น อ้ายทำงานศิลปะโดยเอากระเป๋านักเรียน 9,000 กว่าใบ มาเรียงกันเป็นคำว่า ‘So Sorry’ ในภาษาจีน)
ปฏิกิริยารุนแรงดังกล่าวทำให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับการเป็น ‘ศิลปินทางการเมือง’ หลังจากนั้นทันที นี่เป็นกรอบการพิจารณาที่บัณฑิตใช้นำเข้าสู่การอธิบายความสัมพันธ์ของศิลปินกับการเมืองไทย
ศิลปินไทยกับการชุมนุมของ กปปส.
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยตกอยู่ในวังวนวิกฤติทางการเมือง ซึ่งเกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ในปี 2549 และปี 2557 การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดขึ้นจากการประท้วงที่ยืดเยื้อยาวนานของ กปปส. อันมีเป้าหมายในการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผู้ชุมนุม กปปส. ทำการปิดถนนหลายสายในกรุงเทพฯ ล้อมที่ทำการกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล รวมทั้งขัดขวางผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นอกจากนี้ กปปส. ยังประณามผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ว่าเป็นคนยากจนและไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ จึงทำให้คะแนนเสียงของคนเหล่านี้ถูกซื้อโดยนักการเมืองชั่ว
กปปส. เชื่อว่าการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2557 เป็นการรักษาอำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพียงเท่านั้น
ในเวลาเดียวกัน กปปส. ยังเรียกร้องให้มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยให้มีการแต่งตั้งจากกษัตริย์ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย วิธีการที่ใช้ในการเรียกร้องหลายอย่างของพวกเขานำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองจากกองทัพในที่สุด
ผู้สนับสนุน กปปส. มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ (แกนนำ กปปส.) เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้กองทัพเข้าปราบปรามการชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม ปี 2553
การสลายการชุมนุมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน และกว่า 2,000 คน ได้รับบาดเจ็บ ในภายหลังศาลได้พิพากษาโดยระบุเหตุการณ์เสียชีวิตว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิถีกระสุนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหลายคนถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากกระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
สถานการณ์กลับแตกต่างกันกับเหตุการณ์การชุมนุมในปี 2556-2557 ซึ่ง กปปส. ได้ทำการปักหลักชุมนุม ปิดกั้นถนนและที่ทำการของรัฐบาล แต่บทลงโทษกลับแตกต่าง ถึงแม้ว่าสุเทพจะประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็ตามที
บัณฑิตเสนอว่า หนึ่งในความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดระหว่างศิลปิน กปปส. กับศิลปินไทย คือศิลปินไทยที่เข้าร่วม กปปส. ได้จัดตั้งกลุ่ม Art Lane ซึ่งเป็นชื่อของเครือข่ายศิลปินและสถาปนิกที่ร่วมกันระดมทุนเพื่อสนับสนุนการชุมนุม บางคนพยายามที่จะปฏิเสธความเชื่อมโยงกับ กปปส. แต่ข้อเท็จจริงคือพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ
ศิลปะที่ปราศจากความก้าวหน้า (Art without Avant-garde)
บัณฑิตยกตัวอย่างบทบาททางศิลปะกับการเมืองของ วสันต์ สิทธิเขตต์ หนึ่งในศิลปินที่มีผลงานเกี่ยวกับการต่อต้านสงคราม เขาเป็นทั้งนักดนตรี นักเขียน และกวี ได้ผลิตงานที่เสนอว่าการเมืองถือเป็นเรื่องหยาบคาย และน่ารังเกียจ
ตัวอย่างเช่น นิทรรศการ ‘Inferno’ (2534) ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพวาดของเขา ที่แสดงถึงการลงโทษตามคติเรื่องนรกของชาวพุทธ ในส่วนของการลงโทษนักการเมือง พบว่าเนื้อหนังของนักการเมืองจะถูกตัดเป็นชิ้นเพื่อเอาไปทอด งานชิ้นนี้ใช้สีฉูดฉาดและเส้นที่เรียบง่ายเพื่อดึงความน่ากลัวของความผิดบาป ที่จะต้องได้รับการไถ่บาปในนรกเท่านั้น
ขณะที่ในงานชุด ‘Truth is Elsewhere Woodcut Prints’ (2004) วสันต์ก็ได้สร้างหุ่นเชิดขึ้นมา 50 ตัว และมีการใช้หุ่นเชิดละครเงา เพื่อเล่าเรื่องราวของนักการเมืองที่ฉ้อฉล
วสันต์ก่อตั้งพรรคการเมืองที่ไม่เป็นทางการขึ้นในปี 2544 โดยใช้ชื่อว่า ‘พรรคเพื่อกู’ (For Me Party) เพื่อถ่ายทอดงานต่อต้านทุนนิยมรวมทั้งพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม การสร้างพรรคการเมืองในเวลานั้นเป็นเพียงโครงการนำร่องสำหรับการสร้างพื้นที่การแสดงออกของศิลปินเท่านั้น
ระหว่างการเลือกตั้งในปี 2548 วสันต์ สิทธิเขตต์ ริเริ่มงานของพรรค โดยเรียกร้องให้เพิ่มอำนาจในการยึดทรัพย์สินของนักการเมืองทุจริต ซึ่งพรรคมีสโลแกนว่า ‘หัวใจคือไม่ปกครอง’ วสันต์กล่าวว่า “ความตั้งใจของผมไม่ได้เป็นการโจมตีพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นการต่อต้านลัทธิทุนนิยมหรือต่อต้านโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่ลัทธิคอมมิวนิสต์หรือลัทธิมาร์กซิสต์ แต่นี่เป็นการปฏิวัติ”
สำหรับวสันต์แล้ว ‘ระบอบประชาธิปไตย สร้างขึ้นเพื่อให้นักการเมืองเพียงบางส่วนและชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ แสวงหาผลประโยชน์’
เขาระบุว่า
“เหมือนกับว่าเราอาศัยอยู่ในโลกของ ‘ผีบ้า’ ซึ่ง ‘ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน’ เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังภาพลวงตาของระบอบประชาธิปไตย เป็นผลให้รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่มีอีกต่อไป แต่เป็นรัฐบาลของนายทุน โดยนายทุน และเพื่อนายทุน”
ถึงแม้ว่าพรรคศิลปินจะเป็นแค่งานเลี้ยงฉาบฉวย และไม่ได้ลงเลือกตั้งในปี 2548 แต่โปสเตอร์และแผ่นพับของพวกเขาก็ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง สมาชิกที่มีส่วนร่วมในพรรคศิลปิน ได้แก่ จุมพล อภิสุข จันทวิภา อภิสุข ช่วง มูลพินิจ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รวมถึงนักคิดที่มีความกระตือรือร้นอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และลูกชายอดีตนายกรัฐมนตรี อย่าง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
ตัวอย่างของศิลปะการเมืองไทยอีกชิ้นที่บัณฑิตนำมาวิเคราะห์คือ นิทรรศการ ‘ห้องเรียนประวัติศาสตร์’ (2001) ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ และ มานิต ศรีวานิชภูมิ ที่ได้จารึกอักษรและภาพจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ลงบนโต๊ะเรียน
แต่ละโต๊ะมีเรื่องราวและฉากทัศน์ของการเมืองไทย โดยบางเรื่องมิได้ถูกบรรจุไว้ในหนังสือเรียน ผู้ชมสามารถคัดลอกฉากประวัติศาสตร์ไทยเหล่านี้โดยวางแผ่นกระดาษบนโต๊ะที่แกะสลักไว้และใช้ดินสอถู งานชิ้นนั้นถูกจัดแสดงไว้ด้านหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อท้าทายทั้งความเป็นประวัติศาสตร์และความเป็นชาติ
ในงานภาพถ่ายที่ใช้ชื่อว่า ‘Pink man’ ของ มานิต ศรีวานิชภูมิ มีการแก้ไขภาพการจลาจลในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยใส่ภาพชายคนหนึ่งในชุดสูทสีชมพู ซึ่งกำลังสังเกตการณ์ แทรกแซง หรือผลักดันรถเข็นช็อปปิ้งผ่านฉากความรุนแรงของไทยโดยไม่แสดงท่าทีสนใจใดๆ คนสีชมพูแสดงถึงความไม่รู้ของคนไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงในสังคมไทย
บัณฑิตเสนอว่าในช่วงเวลานี้ วสันต์และศิลปินทั้งสามคน ได้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรูปแบบไม่เรียงลำดับ คลุมเครือ และไม่ต่อเนื่อง พวกเขาสร้างงานที่เน้นประสบการณ์ที่ไม่สามารถพูดได้ในชีวิตประจำวัน
สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่องจบลงที่นี่ (Relational Aesthetics Ends Here)
หลังการล้อมปราบคนเสื้อแดงด้วยกระสุนจริงจบลง ในเดือนพฤษภาคม ปี 2553 บัณฑิตพบว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการให้ทุนแก่ศิลปินไทยจัดแสดงงานที่ชื่อว่า ‘Imagined Peace’ โดยกำลังหลักสำคัญมาจากศิลปินในกลุ่มงานสุนทรียศาสตร์แบบเกี่ยวเนื่อง (Relational Aesthetics ) ซึ่งมีลักษณะลดความสำคัญของตัวศิลปะลงและเชื่อมโยงผู้ชม สภาพแวดล้อม ให้สัมพันธ์กัน ผู้ชมสามารถสร้างความหมายหรือตีความงานได้ด้วยตัวเอง
ทว่าไม่ใช่ศิลปินทุกคนที่เห็นด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“ในปัจจุบันมีการจัดแสดงใหญ่ที่ชื่อ ‘Imagined Peace’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พวกเขาอ้างว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อเยียวยาสังคมของเราผ่านศิลปะ หลังจากเกิดความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีความรุนแรงที่ไม่คาดคิดปะทุขึ้น และมีการนองเลือดบนถนนในประเทศของเรา แม้ว่าฉันจะชอบงานบางชิ้นในนิทรรศการนี้ รวมถึงภาพวาดอันทรงพลังของคุณ แต่ก็น่าเศร้าที่เห็นว่าศิลปินกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล”
นี่คือเนื้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏในงานศิลปะ ‘Please donate Your Ideas to a Silpathorn Artists’ ของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ในงาน ‘Super (M) art’ (2015-2016) จัดแสดงที่ Mai Iam ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยดำเนินการโดยเอกชน
นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ได้นำเสนอฉากของวงการศิลปะไทยและนานาชาติ และเสียดสีศิลปินที่เข้าร่วมในงาน ‘Imagined Peace’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยภายหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ภาพเขียนของเขาไม่ได้มีเพียงความเป็นศิลปะ แต่ยังเป็นบันทึกทางการเมืองของไทยอีกด้วย
บัณฑิตตีความผลงานสำคัญของนาวินชิ้นนี้ว่า ได้แสดงถึงการล้อเลียนศิลปินที่เข้าร่วมโครงการ ‘Imagined Peace’ ได้แก่ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และ คามิน เลิศชัยประเสริฐ โดยทั้งสองร่วมกันถือป้ายที่เขียนว่า ‘Art is Over!’ แต่มีตัวอักษรสีแดงที่เขียนทับไปว่า ‘Relational Aesthetics is Dead!’ และ ‘Go Home!’
“มุมหนึ่งในภาพเขียนของนาวินแสดงให้เห็นป้าย ‘ราชประสงค์’ ด้านหลังป้ายมีคำว่า ‘สันติภาพจะเกิดขึ้นเราต้องฆ่า …ความโกรธความโลภในตัวเราเองก่อน (2553)” ซึ่งเป็นงานของ คามิน ที่ทำขึ้นสำหรับนิทรรศการ ‘Imagine Peace’ จัดโดย อภินันท์ โปษยานนท์ หลังการปราบปรามผู้ประท้วงเสื้อแดงในปี 2553
ในภาพเดิม นาวินวาดนายสุเทพ เทือกสุวรรณ ในขณะที่บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่กลางกองไฟ ถัดจากประติมากรรมรูปศีรษะคนของ ราเว็นดี้ เรดดี้ ที่ติดตั้งด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง องค์ประกอบเหล่านี้เล่าเรื่องและตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า สุเทพเป็นรองนายกรัฐมนตรีและผู้รับผิดชอบการปราบปรามการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตของคนเกือบ 100 คน และทำให้เกิดการบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย แต่สุเทพได้นำ กปปส. ไปล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
เรื่องราวของสี่แยกราชประสงค์อันเป็นหัวใจสำคัญของสถานที่ประท้วงของคนเสื้อแดง ได้แสดงให้เห็นการสนับสนุนของศิลปินที่มีต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ
นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้จัดงาน ‘Bangkok Big Cleaning Day’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศิลปินหนุ่มบางส่วนในการทำความสะอาดพื้นที่และล้างฉากการนองเลือดที่สี่แยกราชประสงค์ เพื่อสร้างภาพว่ากรุงเทพมหานครหรือเมืองแห่งเทวดาได้กลายเป็นที่ที่ ‘สะอาดและเรียบร้อย’ อีกครั้ง พร้อมแล้วสำหรับประสบการณ์การช็อปปิ้งบนสวรรค์
กล่าวเฉพาะสำหรับ ‘Imagine Peace’ มีวัตถุประสงค์เพื่อ “รักษาจิตวิญญาณของคนไทย ส่งเสริมสันติภาพและการปรองดอง และฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า มีศิลปินไทยกว่า 100 คน เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ
‘Imagine Peace’ เป็นนิทรรศการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำกับดูแลทางวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ของไทยได้พยายามควบคุมและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย เนื่องจากตระหนักว่าศิลปะร่วมสมัยเป็นเรื่องที่อันตราย เดวิด เทห์ ใช้ถ้อยคำเหน็บแนมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับศิลปินไทยว่า “ในห้วงขณะนี้ เป็นเวลาอันดีที่เราจะได้เห็นความยอกย้อน ความจอมปลอม ในหมู่ศิลปินไทยร่วมสมัยกระแสหลัก ซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1960 รุ่งเรืองในทศวรรษที่ 1970 และพังทลายในทศวรรษที่ 1980 เราอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีศิลปินไทยคนใดที่จะปัดความรับผิดชอบต่อความเสื่อมทรามลงของความเป็นอิสระของศิลปะจากรัฐ”
สัญลักษณ์ ‘Art is Over!’ ในภาพวาดของ นาวิน สรุปได้ว่าชื่อเสียงของ ฤกษ์ฤทธิ์ ในฐานะศิลปินด้านสุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่องและในฐานะศิลปินหัวก้าวหน้าได้สิ้นสุดลงแล้ว
ประเทศที่ปราศจากการเมือง (A Country without Politics)
นับตั้งแต่การแทรกแซงการเมืองของกองทัพในปี 2557 บัณฑิตเสนอว่า ศิลปินไทยแทบไม่ออกมาแสดงการคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ไม่ว่าจะเป็นวิธีการของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งในด้านนโยบายและการเพิ่มขึ้นของการทุจริต บัณฑิตตั้งข้อสังเกตว่า บางทีการมีส่วนร่วมของศิลปินกับ กปปส. เป็นเพียงข้ออ้างในการกำจัดคนที่พวกเขาเกลียดชัง นั่นคือ ทักษิณ ชินวัตร และแคนดิเดตของทักษิณใช่หรือไม่
ตัวอย่างหนึ่งคือ วสันต์ สิทธิเขตต์ หนึ่งในศิลปินที่ผลิตผลงานช่วย กปปส. มากที่สุด โพสต์ภาพลง Facebook ของเขากับภาพวาดของตัวเขาเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาได้เข้าร่วมแคมเปญชัตดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2557
ขณะที่ สุธี คุณาวิชยานนท์ ซึ่งเป็นศิลปินที่เข้าร่วม Art Lane หรือเครือข่ายศิลปิน นักออกแบบ และคนทำงานด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดมทุนของ กปปส. ในชื่อ ‘fund-raising’
เขาวาดภาพปูแดงยักษ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้นำคนเสื้อแดง บนปูแดงเขาวาดภาพใบหน้าของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ถูกขับไล่หลังการรัฐประหารปี 2549 สุธีได้จัดกิจกรรมศิลปะขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556 โดยผู้ชมสามารถโพสต์ท่ากับรูปหัวใจสีแดงที่มีข้อความว่า ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’
สุธีทำงานในโครงการอื่นที่ใช้ชื่อว่า ‘Thai Uprising’ ซึ่งใช้เทคนิคลายฉลุเพื่อทำโปสเตอร์ป้ายประท้วงและลายเสื้อยืด หลังจากการรัฐประหารผลงานของเขาถูกส่งไปยัง Pacific City Club สำหรับการประมูลเพื่อสนับสนุนมูลนิธิ กปปส.
นอกเหนือจากวสันต์และสุธีแล้ว อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ (คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้น) เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด อำมฤทธิ์ขอให้ศิษย์เก่าและศิลปินร่วมสนับสนุน กปปส. และเข้าร่วมกิจกรรม Art Lane
ในแง่นี้บัณฑิตเสนอว่า ดังนั้นศิลปินจึงไม่สามารถปฏิเสธการมีส่วนร่วมของตนต่อวิกฤติทางการเมืองก่อนและหลังรัฐประหารปี 2557 และยังมีการสนับสนุน กปปส. ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
บัณฑิตตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าการสนับสนุน กปปส. จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในประเทศไทย แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญในงานนิทรรศการศิลปะนานาชาติ เช่น ในกรณีที่เกิดการโต้เถียงกันในงาน ‘Thai Uprising’ (2013-2014) ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ “ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการกลุ่ม ‘The Truth to Turn It Over’ (2016) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู (GMA) ประเทศเกาหลีใต้ (เมืองกวางจูมีประวัติการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่น่าจดจำในเดือนพฤษภาคม ปี 1980)”
เมื่อสุธีได้แสดงผลงานของเขา 4 ชุด ในพิพิธภัณฑ์กวางจู แต่หนึ่งในชุดที่มีการโต้เถียงครั้งนี้คือ ซีรีส์ภาพ ‘Thai Uprising’ ซึ่งเขาได้ทำงานไว้ในขณะที่เข้าร่วมในแคมเปญชัตดาวน์กรุงเทพฯ ที่นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ผลงาน ‘Thai Uprising’ ใช้เทคนิคลายฉลุบนแม่แบบ ซึ่งนำไปพ่นสีบนโปสเตอร์และเสื้อยืด ข้อความจากแม่แบบอ่านได้ดังนี้
“คนไทยอย่าเฉย, ยึดคืนประเทศไทย, ชุมนุมกบฏ, พวกเราจะชนะแล้วเพราะศิลปินมาช่วยพวกเรามวลมหาประชาชน”
แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะสื่อถึงการกระทำที่เป็นประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ การชุมนุม Shutdown Bangkok ของ กปปส. ได้เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ‘Thai Uprising’ ถูกประณามว่าเป็นงานนิทรรศการที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจาก GMA ได้เชิญศิลปินที่มีแนวคิดประชาธิปไตยหรือผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ทำให้เกิดต่อต้านทั้งจากไทยและเกาหลี
ควรสังเกตว่าในระหว่างการจัดนิทรรศการ กลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า ‘Guerilla Boys’ สวมหน้ากากกอริลลาและถือป้ายว่า “นี่คืองานที่เฝ้ารอให้เผด็จการมาประทานประชาธิปไตยให้!”
ปฏิบัติการขัดขวางอย่างสันตินี้ ได้เตือนให้ผู้ชมเห็นถึงสิ่งที่สุธีและ กปปส. เสนอว่า “การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ซึ่งจะปูทางไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 ดังนั้น งานของสุธีและระบอบเผด็จการจึงเกี่ยวพันอย่างแนบแน่น
ขณะที่ในกลางภาพของ Super (M) art นาวินใส่นิ้วกลางของ อ้าย เว่ยเว่ย มีแถบธงชาติไทยสวมไว้ที่ข้อมือ ชี้ไปที่ฉากศิลปะไทย คำพูดของเขาสะท้อนออกมาอย่างเงียบเชียบ “ฉันคิดว่าศิลปินมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก”
บัณฑิตปิดท้ายการนำเสนอบทความว่า “เท่าที่ผมรู้ ไม่มีศิลปิน กปปส. ต่อต้านเผด็จการของไทยมาจนถึงปัจจุบัน”