ทันทีที่มาถึง อากาศเย็นวิ่งเข้าปะทะใบหน้าพาให้รู้สึกสดชื่นทันที เสียงน้ำไหลกระทบแก้วหูดังเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ลมพัดเอื่อยๆ ไปทั่วบริเวณทำให้รู้สึกสบายเหมือนอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ บรรยากาศในฝันแบบนี้ ชวนให้อยากนั่งพักกายพักใจ ปล่อยเวลาไหลไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรในหัว
‘หมู่บ้านแม่กำปอง’ คือเจ้าของบรรยากาศดีๆ ที่เกิดขึ้น หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,300 เมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนล้านนา อพยพมาจากอำเภอดอยสะเก็ด ลักษณะทางชีวภาพมีความหลากหลาย มีพืชสมุนไพรหลายชนิด และเป็นแหล่งปลูกเมี่ยง (ต้นชา) และกาแฟที่สำคัญในภาคเหนือ พื้นที่ตั้งหมู่บ้านแม่กำปองมีน้ำตกแม่กำปองและลำธารไหลผ่านใจกลาง น้ำใสสะอาดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตามไหล่เขามีต้นเมี่ยงที่ปลูกขนาบตลอดสองข้างทางของถนนสัญจรในหมู่บ้าน ซึ่งบ้านเรือนริมถนนถูกดัดแปลงเป็นร้านค้าเล็กๆ ขายอาหารท้องถิ่น เสื้อผ้าพื้นเมือง รวมถึงทำโฮมสเตย์
หากให้เช็คลิสต์ว่าอะไรคือเสน่ห์ของแม่กำปองที่ครองใจนักท่องเที่ยวบ้าง คงต้องไล่ข้อดีกันจนเหนื่อย แต่อย่างหนึ่งที่สัมผัสได้และมั่นใจว่าที่นี่ไม่เหมือนใคร คือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวแม่กำปองที่มีความเรียบง่าย ผู้คนที่นี่น่ารัก ยิ้มแย้ม ทักทาย พูดคุยกับนักท่องเที่ยวเหมือนเป็นคนรู้จัก รวมถึงอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องร้องขอเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมให้วุ่นวาย สำคัญที่สุดคงเป็นความเขียวครึ้มของต้นไม้และธรรมชาติที่สมบูรณ์ ชาวแม่กำปองร่วมมือรักษาสภาพแวดล้อมทั่วทั้งหมู่บ้านไว้ได้อย่างดีเยี่ยม เชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามที่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเองจะต้องพกความประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน
แต่กว่าแม่กำปองจะเป็นอย่างทุกวันนี้ – ไม่ใช่เรื่องง่าย
นับย้อนเวลาไปในอดีตประมาณ 20 ปีก่อน สารพันปัญหาเกิดขึ้นในแม่กำปอง เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้แม่กำปองต้องเจอกับปัญหาขยะ พืชพรรณต้นไม้ถูกทำลายจากการเหยียบย่ำ การติดต่อสื่อสารและเส้นทางสัญจรไม่มีความสะดวกเสียเลย ทั้งยังเจอปัญหาด้านสุขภาวะและสาธารณูปโภค เด็กๆ ในหมู่บ้านจำนวนมากป่วยเป็นโรคคอพอก เศรษฐกิจในหมู่บ้านไม่ดีนัก เพราะชาวบ้านยังไม่มีการรวมกลุ่มและจัดทำองค์ความรู้ร่วมกัน ทำให้ขาดการวางแผนชีวิตในระยะยาว
คำถามคือ แม่กำปองผ่านปัญหาเหล่านี้มาได้อย่างไร?
‘ป้อหลวง’ พรมมินทร์ พวงมาลา คือผู้ไขคำตอบนั้นให้คลี่คลาย ป้อหลวงเป็นผู้นำชุมชน เข้ามารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกเมื่อปี 2539 ป้อหลวงถือเป็นคนสำคัญของชาวแม่กำปอง เป็นผู้นำที่มองการณ์ไกลและเล็งเห็นโอกาสบางอย่าง ป้อหลวงจึงเชื่อว่าแม่กำปองจะเปลี่ยนได้ ภายในหมู่บ้านมีแต่ทรัพยากรดีๆ อุดมไปด้วยสิ่งที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์หรือวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีเอกลักษณ์ ป้อหลวงพยายามดึงศักยภาพของคนในชุมชนออกมา เพื่อสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นจริง โดยหวังให้หมู่บ้านแม่กำปองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว (ที่ยังไม่กลายพันธุ์) ให้ได้ ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านแม่กำปองกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตอันดับต้นๆ ไม่ว่าใครก็ตามที่ไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ อยากหลบจากเมืองอันแสนวุ่นวาย ก็ต้องนึกถึงแม่กำปอง
“เพราะเป้าหมายไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่คือการที่ชุมชนได้พัฒนาตัวเอง”
นี่คือประโยคที่ป้อหลวงพูดก่อนเล่าอดีตของหมู่บ้านแม่กำปองให้ฟัง
เมื่อเป้าหมายคือการไม่ยอมกลายพันธุ์ สิ่งที่ป้อหลวงทำในฐานะผู้นำชุมชน คือตั้งใจเปิดหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะเชื่อว่าหากไม่มีรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยว ไม่ตั้งกฎเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะทำให้ทรัพยากรของหมู่บ้าน รวมทั้งสังคม วัฒนธรรมของคนแม่กำปองเปลี่ยนไป ป้อหลวงจึงเชื่อในการสร้างกระบวนการมาโดยตลอด โดยในปี 2543 หมู่บ้านแม่กำปองเริ่มทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก่อนส่งไม้ต่อให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยงานวิจัยที่จัดทำขึ้น เน้นพัฒนาให้ ‘คน’ ในท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ผลักดันให้ชาวบ้านฝึกวิเคราะห์ชุมชนและกำหนดโจทย์การวิจัยขึ้นด้วยตัวเอง
และกระบวนการนี้ทำหน้าที่คล้ายกระจกช่วยสะท้อนให้ชาวแม่กำปองพบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน
ป้อหลวงเล่าว่าในอดีต อาชีพหลักของชาวแม่กำปองคือการเก็บใบเมี่ยงมาขาย ใบเมี่ยงเคยนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ หรือใช้รับประทานโดยจิ้มกับเกลือ ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนก็นำมาเคี้ยวเล่นคล้ายลูกอม บ้างก็นำมาหมักและขายเพื่อแลกเป็นเงินหรือสินค้าอื่นๆ แต่ปัจจุบันพฤติกรรมเปลี่ยนไป
ป้อหลวงจึงพลิกวิธีคิดนำเอาป่าเมี่ยงและไร่กาแฟมาพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของชุมชน ในเมื่อเด็กรุ่นใหม่ในแม่กำปองไม่มีใครเคี้ยวเมี่ยงเป็นลูกอมอีกแล้ว จึงจำเป็นต้องค้นหาวิธีใหม่ๆ ปรับเปลี่ยนจากการหาใบเมี่ยงมาเคี้ยว ก็หันมาทำหมอนใบเมี่ยงแทน โดยใช้ใบเมี่ยงตากแห้งมายัดเป็นไส้หมอน หรือนำใบเมี่ยงตากแห้งแล้วทำเป็นชาบรรจุถุง จัดจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านแทน
รวมถึงตัวชาวบ้านที่เดิมทีเคยเข้าป่าไปเก็บเมี่ยง ก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็น ‘มัคคุเทศก์ท้องถิ่น’ พานักท่องเที่ยวเดินสำรวจตามเส้นทางธรรมชาติแทนที่จะเดินเก็บเมี่ยงมาขายอย่างเดียว เพราะถือเป็นผู้ชำนาญในเส้นทางอยู่แล้ว ซึ่งช่วยสร้างรายได้เสริมอีกทางด้วย
แต่กว่าจะเกิดกิจกรรมทั้งหมดข้างต้นนี้ ป้อหลวงบอกว่าต้องใช้เวลาและอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกส่วน โดยเริ่มระดมไอเดียกับชาวบ้านในหมู่บ้านทั้ง 6 ป๊อก (หรือปาง) เพื่อค้นหาปัญหาและแนวทางคลี่คลาย เริ่มให้ชาวบ้านจัดเก็บข้อมูลและแชร์สิ่งที่เจอด้วยตัวเอง จากนั้นเลือกวิธีจัดการการท่องเที่ยวของตัวเองด้วยตัวเอง โดยมีกฎเหล็กคือการท่องเที่ยวนั้นต้องประนีประนอมกับธรรมชาติ ต้องไม่ทำลายเส้นทางธรรมชาติ และต้องสร้างรายได้ให้กับชุมชน
กระบวนการเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการใช้ ‘ปัญญา’ และความร่วมมือร่วมใจ ที่สำคัญยังทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะเลือกเดินไปบนความพร้อมของชุมชน – เช่นการสำรวจความพร้อมของบ้านแต่หลังว่า ‘พร้อม’ แค่ไหนที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวพักในรูปแบบของโฮมสเตย์ หรือ พร้อมแค่ไหนที่จะเปิดบางเส้นทางเป็นเส้นทางเดินป่าให้นักท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ หรือปิดบางเส้นทางเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง
ซึ่งการทดลองแก้ไขทำให้หมู่บ้านเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น คนเริ่มมาท่องเที่ยวโดยมุ่งสัมผัสประสบการณ์ของชุมชน ส่วนของรายได้อันเกิดจากการท่องเที่ยวชุมชน จะถูกจัดการให้เป็นระบบขึ้น ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งไปเป็นงบกลาง และใช้เป็นเงินกองทุนสำหรับดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ทำกองทุนดูแลสุขภาพของชาวบ้าน รวมถึงจัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายให้กับชาวบ้านในชุมชน และส่งเสริมเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ในชุมชนอีกด้วย
หลายปีที่ผ่านมา หลังจากชุมชนแม่กำปองใช้ ‘กระบวนการวิจัย’ เสริมสร้างพลังให้กับชาวบ้าน ค้นหาความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ จากการทำงานอย่างต่อเนื่อง พบความรู้มากมายที่คนทั้งชุมชนสามารถนำออกมาใช้ เช่น ความรู้ด้านบริการท่องเที่ยว
ชาวบ้านแม่กำปองได้ร่วมกันพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในชุมชน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น พัฒนาเส้นทางขึ้นไปยังน้ำตก ต่อเติมขั้นบันไดขึ้นไปจนถึงน้ำตกชั้นบนสุด จัดทำแอ่งเล่นน้ำในน้ำตกชั้นต่างๆ ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณน้ำตก ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิด จัดทำลานจอดรถ มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ จัดตั้งถังขยะทั่วบริเวณแหล่งท่องเที่ยว และปรับปรุงห้องน้ำให้มิดชิดและสะอาด
รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในหมู่บ้านให้สอดคล้องเหมาะสมกับระบบนิเวศย่อย จากเดิมที่ชาวบ้านดำรงชีวิตแบบชาวสวนเมี่ยงและการผลิตเมี่ยงเป็นวิถีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ การเปิดให้ท่องเที่ยวเชิงนิเวศย่อมช่วยดำรงวิถีนี้ไว้ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ป้อหลวงทิ้งท้ายไว้ว่า “ในทางตรงกันข้ามกัน การเที่ยวแบบนี้ยิ่งก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศมากขึ้น ทำให้คนอยู่กับป่าได้”
บทเรียนที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของชุมชนแม่กำปอง นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น การที่ชุมชนพัฒนาขึ้นแปลว่าคุณภาพชีวิตได้พัฒนาขึ้นด้วย ลูกหลานคนรุ่นใหม่หลายคนได้กลับมาอยู่บ้าน เพราะเข้าสานต่อธุรกิจโฮมสเตย์ ร้านค้า ร้านอาหาร สืบสานวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมให้ดำรงอยู่ – วัยกลางคนได้ทำธุรกิจ สร้างเนื้อสร้างตัว ไม่ต้องไปดิ้นรนในเมืองใหญ่ ส่วนผู้สูงอายุ ไม่เหงาและมีคุณค่า เพราะได้ทำอาหารจานอร่อยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาพักโฮมสเตย์
การไปสัมผัสแก่นแม่กำปองครั้งนี้ นอกจากได้สูดอากาศบริสุทธิ์แล้ว ยังได้เห็นวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างแท้จริงอีกด้วย แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เรื่องราวของแม่กำปองยิ่งใหญ่ในใจมาก แววตาของชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้าน ช่วยยืนยันว่าพวกเขารู้สึกรักและหวงแหนพื้นที่แห่งนี้มากแค่ไหน ไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้หมู่บ้านแม่กำปองยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่กลายพันธุ์ เพราะความร่วมมือร่วมใจ ผู้นำที่เข้มแข็ง การเห็นเป้าหมายเดียวกัน กฎระเบียบที่ชาวชุมชนช่วยกันคิดช่วยกันตั้ง ทำให้ไม่มีใครออกนอกลู่นอกทาง ปฏิบัติ และอยู่กับมันอย่างเป็นสุข