โคโซโวคือเซอร์เบีย
เพียงประโยคเดียวที่ถูกแปลเป็นอีก 20 ภาษาและถูกฉีดด้วยสเปรย์สีพ่นบนตัวรถไฟลายธงชาติของเซอร์เบีย ซึ่งเป็นรถไฟขบวนแรกที่เปิดบริการเส้นทางจากเบลเกรด เมืองหลวงของเซอร์เบียสู่มิโทรวิคา เมืองทางตอนเหนือของโคโซโว การเปิดเส้นทางเดินรถไฟขบวนนี้กลับสร้างความโกรธเคืองให้กับชาวโคโซโว และปิดเส้นทางไม่ให้รถไฟดังกล่าววิ่งเข้าเขตประเทศโคโซโว
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนมกราคม ต้นปี 2017 ฝ่ายโคโซโวมองว่ารถไฟนี้มีสัญลักษณ์ของชาวเซิร์บในเซอร์เบีย สื่อให้เห็นถึงการคลั่งชาติ ที่กระตุ้นให้ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมานานระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่โคโซโวต้องการเป็นอิสระจากเซอร์เบีย ขณะที่ฝายเซอร์เบียมองว่า เหตุการณ์นี้มีศักยภาพเลื่อนขั้นเป็น ‘สงคราม’
กว่าศตวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคบอลข่านมีภาพของสงคราม ความล้าหลัง และความดิบเถื่อน จากความแย้งของเชื้อชาติที่กลายเป็นวิถีชีวิตของคน เช่นเดียวกับกรณีรถไฟเซอร์เบีย แม้แต่คําที่มีนัยยะว่าโคโซโวยังอยู่ภายใต้เซอร์เบีย เหมือนประกาศว่าเซอร์เบียไม่ยอมรับการมีอยู่และเป็นเอกราชของโคโซโว ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ปกครองตนเองของเซอร์เบีย ก่อนจะประกาศเป็นประเทศเอกราชในปี 2008 ก็ทําให้เกิดความขัดแย้งและเลื่อนขั้นเป็นสงครามได้
‘บอลข่าน’ หรือคําว่า ‘Balkans’ คืออะไร
ในทางภูมิศาสตร์ บอลข่านเป็นชื่อที่เริ่มใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เพื่อเรียกคาบสมุทรที่อยู่ทางตะวันออกสุดของทวีปยุโรปตอนใต้ ด้านตะวันตกของคาบสมุทรเป็นจุดพบกันของทะเลเอเดรียติก (Adriatic) และเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean) ด้านตะวันออกเป็นแนวเชื่อมของทะเลเอเจียน (Aegean) และทะเลดํา (Black Sea) ส่วนบนของคาบสมุทรเชื่อมต่อกับผืนดิน ที่ไม่มีเขตแดนแบ่งไว้อย่างชัดเจน
บางตําราอาจเชื่อมโยงบอลข่านเข้ากับแม่นํ้าสองสายหลักคือ แม่นํ้าดานูบ (Danube) และแม่นํ้าซาวา (Sava) แม้ว่าความหมายดั้งเดิมของ ‘บอลข่าน’ แปลว่า ‘ภูขา’ ในภาษาตุรกี ซึ่งหมายถึงเทือกเขาเก่า (Old mountain / Stara Planina) ในประเทศบัลแกเรียก็ตาม
ในทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม คําว่า ‘บอลข่าน’ เริ่มใช้โดยนักภูมิศาสตร์ออตโตมัน หมายถึงเทือกเขาหลายลูกทางตอนเหนือของบัลแกเรีย ในศตวรรษที่ 18 นักภูมิศาสตร์ตะวันตกเริ่มใช้คํานี้เรียกขานพื้นที่คาบสมุทร แต่ในปลายศตวรรษที่ 19 ภูมิภาคบอลข่านถูกจํากัดความเหลือเพียงพื้นที่ที่มีกลุ่มคนสโลวัคออธอดอกซ์และมุสลิมในคาบสมุทร โดยไม่รวมกรีกที่มีอารยธรรมต่างออกไป และผู้นับถือคาทอลิกในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ
ด้านโครงสร้างทางการเมือง คาบสมุทรบอลข่านเป็นที่ตั้งของรัฐอิสระซึ่งรวมกันเป็น ‘สหพันธรัฐยูโกสลาเวีย’ ปัจจุบันประกอบไปด้วยหกประเทศหลักคือ สโลวีเนีย เซอร์เบีย โครเอเชีย บอสเนียฯ มาซิโดเนีย และโคโซโว รวมถึงบัลแกเรีย อัลบาเนีย กรีซ และตุรกี ในบางตําราจะบวกโรมาเนียเข้าไปอีกหนึ่ง ด้วยความซับซ้อนดังกล่าว ภูมิภาคบอลข่านจึงมีความหลากหลาย ทั้งในแง่ชาติพันธุ์และภาษา
ในทางประวัติศาสตร์การเมือง คาบสมุทรแห่งนี้เป็นที่ก่อตัวของอาณาจักรสําคัญในอดีต เช่น อาณาจักรดูซัน (Dusan) ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเซอร์เบีย (Serbian Empire) และอาณาจักรบอสเนีย ในช่วงกลางและปลายศตวรรษที่ 14 ต่อมาอาณาจักรเหล่านี้ถูกปกครองโดยจักรวรรดิที่มีอํานาจเหนือกว่า เช่น จักรวรรดิโรมันตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตศักราช และเริ่มมีการสร้างเมืองภายใต้จักรพรรดิโรมันในอีกสองศตวรรษต่อมา รวมไปถึงการหยั่งรากวัฒนธรรมโรมันในด้านอื่นๆ และผู้คนเริ่มฝักใฝ่โรมันคาทอลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่าน ในปี 297 จักรพรรดิดิโอเคิลเทียน (Emperor Diocletian) มีนโยบายปฏิรูปการแบ่งเขตการเมืองเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก โดยใช้แม่นํ้าดรีนา (Drina) เป็นเส้นแบ่งเขต
ต่อมาอาณาจักรไบซันไทน์ (Byzantine) เข้ามายึดพื้นที่ในทางตะวันออกของแม่นํ้า ขณะที่ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้ายังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมัน แม่นํ้าดรีนาจึงกลายเป็นเขตกั้นทางวัฒนธรรมของผู้คนด้วยในขณะนั้น
และปัจจุบันกลายเป็นเขตแดนทางธรรมชาติกั้นระหว่างประเทศบอสเนียฯ และเซอร์เบีย
ในศตวรรษที่ 4-5 กลุ่มคนเชื้อสายเจอร์มานิค โกธ (Germanic Goth) โมโนโกโล-เตอร์คิค (Monogolo-Turkic) ฮัน (Hun) และอื่นๆ พยายามเข้ายึดพื้นที่บริเวณบอลข่าน ราวศตวรรษที่ 6 อํานาจจากหลากหลายกลุ่มพยายามที่ต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ เช่น เตอร์คิค (Turkic) อวาร์ (Avar) และ อินโด-ยูโรเปียน สลาฟ (Indo-European Slav) จากนั้นไม่นานกลุ่มอวาร์ต้องล่าถอยไป ทําให้กลุ่มสลาฟสร้างความแข็งแกร่งขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา
ขณะนั้น เริ่มมีชาวโครแอตตั้งรกรากอยู่ทั้งฝั่งตะวันออกของทะเลเอเดรียติก ต่อมาชาวเซิร์บได้อพยพมาอยู่ทางตอนเหนือและตะวันออกของคาบสมุทรบอลข่าน ตามหลังชาวโครแอต ในช่วงยุคกลาง ระหว่างก่อนและหลังศตวรรษที่ 10 พื้นที่บางส่วนของบอลข่าน อย่างประเทศบอสเนียฯ ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนผ่านผู้ยึดครองมากหน้าหลายตา เช่น อาณาจักรโครแอตช่วงศตวรรษที่ 5 ในศตวรรษที่ 10 บอลข่านตกอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรเซิร์บ ก่อนกลับมาอยู่ใต้โครแอตอีกครั้ง ต้นและกลางศตวรรษที่ 11 อยู่ภายใต้อาณาจักรบัลแกเรีย ไบซันไทน์และโครเอเชีย เป็นต้น
กลางศตวรรษที่ 15 จักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) ของกลุ่มเติร์กส์ที่แผ่ขยายอิทธิพลจากตุรกีสามารถยึดคาบสมุทรบอลข่าน อย่างเซอร์เบีย บอสเนีย และโครเอเชีย และมาต่อสู้กับจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่อย่างจักรวรรดิฮับสบวร์ก (Habsburg) ของออสเตรีย-ฮังการี ทั้งออตโตมันและฮับส์บวร์กพยายามแย่งชิงอํานาจกัน ทําให้บอลข่านเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการปะทะประสานกันของอารยธรรมตะวันออกจากออตโตมัน และตะวันตกจากฮับสบวร์กจนถึงปัจจุบัน
ต้นศตวรรษที่19 จักรวรรดิออตโตมันเริ่มอ่อนแอลง พร้อมกับอํานาจที่แข็งแกร่งขึ้นของฮับสบวร์ก และการสู้รบกันของสองจักรวรรดิ คือฮับสบวร์กและจักรวรรดิรัสเซีย พร้อมๆ กับการก่อตัวของรัฐอิสระที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ทําให้มีการแบ่งเส้นในทางศาสนาคริสต์ด้วย คือรัฐที่จักรวรรดิรัสเซียครอบครองโน้มเอียงไปทางออธอดอกส์ ซึ่งแตกต่างจากยุโรปในภาคพื้นทวีปตอนบนที่เป็นคาทอลิกอยู่ใต้อิทธิพลของฮับสบวร์ก
ย่างเข้าศตวรรษที่ 20 ภูมิภาคบอลข่านตกอยู่ภายใต้การต่อสู้ของจักรวรรดิออตโตมัน ฮับสบวร์กและรัสเซียอย่างเข้มข้น เกิดสงครามบอลข่านในปี 1912-1913 ถึงสองรอบ รอบแรกเกิดขึ้นในช่วงของสันนิบาตบอลข่าน (Balkan League) ที่รวมตัวระหว่างบัลแกเรีย เซอร์เบีย กรีซ และมอนเตเนโกร ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัสเซียเพื่อต่อต้านจักรวรรดิฮับสบวร์ก ต่อมาภายหลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปต่อสู้กับอาณาจักรออตโตมัน ในเดือนตุลาคม 1912 มอนเตเนโกรประกาศสงครามเพื่อการเป็นรัฐอิสระอย่างมาซิโดเนีย อัลแบเนีย เอพิรุส (Epirus) และเธรซ (Thrace) ที่อยู่ภายใต้จักรวรรดิออตโตมัน ก่อนที่รัฐอื่นๆ ภายใต้สันนิบาตบอลข่านจะเข้าร่วมภายหลัง
ผลของสงครามคือสันนิบาตบอลข่านสามารถขับไล่ออตโตมันออกจากภูมิภาคได้ ยกเว้นบริเวณศูนย์อํานาจที่เมืองอิสตันบูลและเมืองใกล้เคียง
แต่หลังจากชัยชนะ รัฐในสันนิบาตบอลข่านไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการปกครองรัฐอิสระที่อาณาจักรออตโตมันเคยปกครองอยู่ กลายเป็นชนวนนําไปสู่สงครามบอลข่านครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน 1913 โดยเซอร์เบีย กรีซ และมอนเตเนโกร ร่วมกับโรมาเนีย เพื่อต่อกรกับบัลแกเรีย ผลของสงครามคือฝ่ายแรกชนะ จากนั้นเซอร์เบียและกรีซทําข้อตกลงในการปกครองรัฐที่อยู่ใต้จักรวรรดิเดิม
สงครามบอลข่านสองครั้งคือเชื้อที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมักเรียกขานในอีกชื่อว่า ‘สงครามบอลข่านครั้งที่ 3’
สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น เนื่องจากกองกําลังทหารเซอร์เบียต้องการขยายอาณาเขตทางการเมืองในพื้นที่บอสเนียที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิฮับสบวร์ก ในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 กา-วริโล พรินซิป (Gavrilo Princip) ทหารหนุ่มจากกองกําลังเซิร์บลอบสังหาร อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ (Archduke Franz Ferdinand) และดัชเชสโซฟี (Sophie, Duchess of Hohenberg) พระชายาที่กําลังตั้งครรภ์ ที่หัวสะพานลาติน เมืองซาราเยโว สร้างความไม่พอใจต่อฮับสบวร์กจนประกาศสงครามขึ้นที่เซอร์เบีย ฝ่ายหลังจึงตอบโต้ ประกาศสงครามในออสเตรีย กลายเป็นที่มาของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ยาวนานจนถึงปี 1918
สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงด้วยการเจรจาสันติภาพ เกิดรัฐอิสระในนาม อาณาจักรเซิร์บ โครแอต และสโลวีน จากการรวมตัวของคนหลากหลายเชื้อชาติในพื้นที่ที่อยู่ใต้จักรวรรดิออสโตร-ฮังกาเรียน หรือฮับสบวร์ก เช่น พื้นที่บอสเนีย โวจโวดินา (Vojvodina ) อาณาจักรเซอร์เบีย และมอนเตเนโกร ซึ่งถือเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ในนามอาณาจักรเซิร์บ โครแอต และสโลวีน
การรวมตัวครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อต้องการสร้างรัฐที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มคนเชื้อสายสลาฟ เพื่อยืนตรงข้ามกับจักรวรรดิฮับสบวร์กที่มีฮังการีและอิตาลีหนุนหลัง และถ่วงดุลอํานาจทางการเมืองยุโรปในยุคนั้น
ปี 1929 อาณาจักรเซิร์บ โครแอต และสโลวีนเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อาณาจักรยูโกสลาเวีย’ (Kingdom of Yugoslavia)
กิติมา อมรทัต นักวิชาการด้านอิสลามศึกษา อธิบายความหมายของคําว่า ‘ยูโกสลาเวีย’ ว่า ‘ชาวสลาฟตอนใต้’ เนื่องจากกลุ่มชนสลาฟแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักคือ ชาวสลาฟตอนเหนือ – กลุ่มชาวรัสเซียและคนในประเทศโปแลนด์ปัจจุบัน กับชาวสลาฟตอนใต้ – ประกอบไปด้วยชาวเซิร์บ สโลวีเนีย และบัลแกเรีย
อาณาจักรยูโกสลาเวีย บางตําราเรียกอีกคําหนึ่งว่า ‘ยูโกสลาเวียเดิม’ มีทหารเซอร์เบียเป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศ กลุ่มที่นําโดยคนเชื้อสายโครแอตก็พยายามต่อต้านกําลังทหารเซิร์บ นําไปสู่การต่อสู้กันเอง การลงโทษทางการเมือง และการลอบสังหาร จนทําให้อาณาจักรต้องล่มสลายในที่สุด
ปี 1941 ช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง บอลข่านกลายเป็นสนามแย่งชิงอํานาจกันระหว่างพรรคนาซีของฮิตเลอร์และสหภาพโซเวียต ก่อนมีการรวมตัวของประเทศอีกครั้งในนาม ‘สาธารณรัฐสหพันธ์สังคมนิยมแห่งยูโกสลาเวีย’ (Socialist Federative Republic of Yugoslavia) ในปี 1945 ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ของโซเวียต
สาธารณรัฐสหพันธ์สังคมนิยมแห่งยูโกสลาเวีย หรือยูโกสลาเวียใหม่ ประกอบไปด้วยหกรัฐคือ บอสเนียฯ โครเอเชีย มาซิโดเนีย มอนเตเนโกร เซอร์เบีย และสโลวีเนีย โดยเซอร์เบียมีจังหวัดที่มีอํานาจในการปกครองตนเองสองแห่งคือ โคโซโวและโวจโวดินา
รถไฟจากเมืองหลวงของเซอร์เบียสู่โคโซโวเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าคาบสมุทรบอลข่านยังต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ แม้ว่าได้ผ่านสงครามล้างเผ่าพันธุ์การนองเลือดมาเกือบสองทศวรรษแล้วก็ตาม ขณะที่สถานการณ์ในบอสเนียฯ ก็อยู่ในขั้นวิกฤติเนื่องจากกลุ่มชาวเซิร์บ หนึ่งในชาติพันธุ์หลักในประเทศส่งสัญญาณต้องการแยกตัวเป็นอิสระอยู่ตลอด
ผู้นําและอดีตผู้นําบางประเทศอย่างโครเอเชียและบอสเนียฯ ต่างเห็นว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ของคนในแต่ละประเทศขณะนี้อาจแย่ยิ่งกว่าเหตุการณ์เมื่อสองทศวรรษก่อนเสียอีก
โจฮันเนส ฮาห์น (Johannes Hahn) หนึ่งในกรรมาธิการของสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เยอรมัน Die Zeit โดยประเมินไว้อย่างน่าหวั่นเกรงว่า สถานการณ์ของประเทศในบอลข่านแถบตะวันตกขณะนี้เหมือนกับนํ้ามันในกระทะที่ร้อนระอุ แค่ไม้ขีดก้านเดียว ทุกอย่างก็พร้อมลุกพรึบ และติดไฟอย่างง่ายดาย ด้วยปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ไม่พอใจกับการบริหารประเทศของรัฐบาลที่เป็นชาติพันธุ์ที่ต่างไปจากกลุ่มของตน
บอลข่านยังคงเป็นภูมิภาคที่ความขัดแย้งสามารถปะทุเป็นสงครามได้ตลอด ด้านหนึ่งประเทศในบอลข่านยังต้องการความช่วยเหลือหรือพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากประเทศที่มั่งคั่งหรือมีทรัพยากรมากกว่า ทําให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นสมรภูมิให้ประเทศที่มีอํานาจใช้ประลองกําลังอยู่ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
อ้างอิงข้อมูลจาก:
Allcock, John B., Marko Milivojevic, and John J. Horton (eds.). 1998. Conflict in the Former Yugoslavia: An Encyclopedia. Denver, Santa Barbara, Oxford: ABD-CLIO.
Čuvalo, Ante. 2007. Historical dictionary of Bosnia and Herzegovina. Lanham: Scarecrow Press, INC.
Lydall, Harold. 1987. “The historical background” in Yugoslav socialism: Theory and Practice. Oxford: Oxford University Press.
สารคดีกึ่งบทความชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการเดินทางของ บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล ขณะศึกษาอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ไปยังประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ที่เมืองตุซลา มอสตาร์ ซาราเยโว เมืองหลวงของบอสเนียฯ และเบลเกรด เมืองหลวงประเทศเซอร์เบีย ในเดือนธันวาคม ปี 2015 ทั้งสองประเทศตั้งอยู่ในคาบสมุทรบอลข่าน ภูมิภาคที่ถูกลืมและไม่ได้อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวนี้มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ 2,000 ปี จนถึงประเทศสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่ ‘ยูโกสลาเวีย’ ก่อนที่แต่ละรัฐจะแสดงความจำนงประกาศตัวเป็นอิสระ ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองต่างกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่ยังคงมีเชื้อแห่งความแบ่งแยกจนถึงปัจจุบัน |