สหรัฐยอมส่งคืนโบราณวัตถุ Golden Boy เพราะจริยธรรมค้ำคอ หรือจำนนด้วยหลักฐาน

ก่อนที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The Met) จะตัดสินใจส่งคืน ‘Golden Boy’ ประติมากรรมสำริดพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และประติมากรรมสำริดหญิงคุกเข่า ให้กับไทย พร้อมโบราณวัตถุอีก 14 ชิ้น ให้กับกัมพูชา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เคยส่งโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนมากคืนให้กับประเทศต้นทางประเทศอื่นๆ มาแล้ว

ไม่เพียงเฉพาะ The Met หากมีพิพิธภัณฑ์สากลในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง รวมถึง Art Institute ในชิคาโก และ Asian Museum of Art ในซานฟรานซิสโก ต่างส่งคืนโบราณวัตถุลักษณะนี้ให้กับประเทศต้นทางมาเป็นระลอกอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศต้นทางไม่ต้องร้องขอ ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา

ปฏิบัติการ Hidden Idol จุดเริ่มต้นการส่งคืนโบราณวัตถุ

ค.ศ. 2011 ถูกจารึกเป็นปีสำคัญปีหนึ่งของวงการโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑ์สากล เพราะเป็นปีที่ สุภาช กาปูร์ (Subhash Kapoor) นักค้าของเก่าชาวอินเดีย-อเมริกัน ถูกจับในเยอรมนีข้อหาลักลอบนำเข้าโบราณวัตถุที่เขาสมรู้ร่วมคิดปล้นจากวัด ซากปรักหักพัง และแหล่งโบราณคดีของประเทศอินเดีย ปลอมแปลงเอกสารรับรองความถูกต้องของโบราณวัตถุเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการค้าของเก่าอย่างถูกกฎหมาย เขาถูกส่งตัวจากเยอรมนีเพื่อเข้าสู่การพิจารณาคดีในอินเดีย 

การจับกุมกาปูร์นำไปสู่ปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนที่เรียกว่า ‘ปฏิบัติการลับตามหาไอดอล’ หรือ Operation Hidden Idol โดย ‘ไอดอล’ ในที่นี้หมายถึง ผลงานศิลปะหรือโบราณวัตถุต่างๆ ที่ถูกขโมยมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปบุคคลสำคัญหรือมีความสัมพันธ์กับประเทศต้นกำเนิดงานศิลปะนั้นๆ เพื่อขยายผลและหาทางยุติเครือข่ายค้าของเก่าอย่างผิดกฎหมายของกาปูร์ที่มีหลักฐานยืนยันว่าลักลอบขนวัตถุโบราณทางวัฒนธรรมจากหลายภูมิภาค ไม่เฉพาะแค่อินเดีย แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐทำหน้าที่ ‘ฟอกขาว’ ให้โบราณวัตถุที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นกลายเป็นของถูกกฎหมาย 

ภายในเวลาไม่กี่ปีหลังปฏิบัติการ Hidden Idol ทางการสหรัฐสามารถยึดผลงานศิลปะและโบราณวัตถุมากกว่า 2,500 ชิ้น ที่มีชื่อของกาปูร์เข้าไปเกี่ยวข้อง มูลค่ารวมมากกว่า 143 ล้านเหรียญ (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) โบราณวัตถุเหล่านั้นถูกทยอยนำส่งคืนประเทศต้นกำเนิด เช่น อินเดีย อียิปต์ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล รวมถึงกัมพูชา 

ปฏิบัติการ Hidden Idol ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน ปี 2022 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานตัวเลขว่า มีการส่งคืนศิลปวัตถุที่ถูกเครือข่ายของกาปูร์ลักลอบนำเข้าอเมริกาคืนกลับประเทศต้นกำเนิดแล้วถึง 2,200 ชิ้น มูลค่ารวมกว่า 160 ล้านเหรียญ มีประเทศที่ได้รับ ‘ไอดอล’ ของตนเองคืนทั้งหมด 22 ประเทศ เฉพาะปี 2021 มีประเทศที่ได้รับคืนคือ อียิปต์ อิตาลี กรีซ และอิสราเอล ล่าสุดปีที่แล้ว อินเดียเพิ่งได้รับไอดอลของตนเองคืนจากอเมริกาอีก 307 ชิ้น มูลค่ารวมกว่า 4 ล้านเหรียญ

ปฏิบัติการ Hidden Idol ยังส่งอานิสงส์ให้มีการส่งคืนโบราณวัตถุที่ถูกขโมยโดยนักค้าของเก่าคนอื่นอีกหลายคน รวมถึงไทยและกัมพูชาที่เพิ่งได้รับคืนไอดอลจาก The Met ที่ถูกขโมยไปโดย ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) หรือ ภคพงษ์ เกรียงศักดิ์ ชาวอังกฤษสัญชาติไทย อดีตนายกสมาคมกีฬาเพาะกายแห่งประเทศไทยและนักสะสมศิลปะ ก่อนหน้านี้อิตาลีก็ได้รับไอดอลของตนเองสมัยกรีก-โรมัน จำนวนรวม 25 ชิ้น ที่ถูกนักค้าของเก่าขโมยไป คืนจากพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในอเมริกา ส่วนกัมพูชาก็เคยได้รับรูปปั้นหนุมานที่ถูกขโมยจากปราสาทแห่งหนึ่งในกรุงเสียมราฐคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเคลฟแลนด์ (Cleveland Museum of Art) รัฐโอไฮโอ ไปก่อนแล้ว

ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas Latchford) | photo: cambodiadaily.com

สำหรับพิพิธภัณฑ์ The Met ที่เพิ่งส่งคืนไอดอลให้ไทยและกัมพูชานั้น เพิ่งมีรายงานออกมาในเดือนมีนาคมปีนี้ว่า มีโบราณวัตถุ 1,109 ชิ้น ที่เชื่อมโยงกับการค้าโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย โดย 309 ชิ้น ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และมี 77 ชิ้น เป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบนำออกจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเชื่อมโยงกับกาปูร์ ปัจจุบันโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบเส้นทางการนำเข้าและการสืบค้นหาประเทศที่เป็นเจ้าของเพื่อนำสู่การส่งคืน

เหตุผลสำคัญที่ปฏิบัติการ Hidden Idol สามารถสร้างแรงกดดันให้พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐส่งคืนวัตถุโบราณให้ประเทศต้นกำเนิดได้ เป็นเพราะการมีหลักฐานชัดเจนว่า พิพิธภัณฑ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุที่ถูกขโมย ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของการเป็น ‘พิพิธภัณฑ์สากล’ ของตนเอง 

เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งคืนโบราณวัตถุไปยังประเทศต้นกำเนิด มักเกิดเฉพาะกรณีที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ชัดเจน ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นของที่ถูกขโมยมาโดยไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ชัดเจน โดยเฉพาะศิลปะและโบราณวัตถุที่ตกไปอยู่ในมือของพิพิธภัณฑ์ตะวันตกในช่วงที่เป็นเจ้าอาณานิคม มักไม่ถูกส่งกลับ 

พิพิธภัณฑ์สากล: ศูนย์กลางอนุรักษ์วัฒนธรรมโลกหรือแหล่งฟอกขาวศิลปวัตถุที่ถูกขโมย

พิพิธภัณฑ์สากล (universal museum) คำนี้ถูกใช้เมื่ออ้างถึงพิพิธภัณฑ์ที่มีคอลเลกชันผลงานศิลปะและโบราณวัตถุของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่มักเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงและอยู่ในโลกตะวันตก ที่มาของคำนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักสะสมและเจ้าของพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวที่ชอบสะสมและครอบครองผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรรมจากทั่วโลก ภายใต้ข้ออ้างว่า “สามารถเก็บรักษาได้ดีกว่าประเทศเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ” ซึ่งเจ้าของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่คือนักสะสมของเก่าที่สะสมผลงานด้วยการซื้อหรือประมูลผลงานศิลปะ 

เจสัน เฟลช์ (Jason Felch) นักข่าวชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากผลงานการเปิดโปงตลาดมืดโบราณวัตถุที่ถูกปล้นของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในอเมริกา และผู้เขียน Chasing Aphrodite: The hunt for looted antiquities at the World’s richest Museum (ไล่ล่าอะโฟรไดท์: การตามหาโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปในพิพิธภัณฑ์ที่รวยที่สุดในโลก) มองว่าพิพิธภัณฑ์ในอเมริกาส่วนใหญ่มีความรู้สึกช้าต่อคำว่าการค้าที่ผิดกฎหมาย ทำให้การค้าโบราณวัตถุในประเทศตะวันตกมีความคล้ายคลึงกับการค้ายาเสพติดตรงที่ “ตราบใดที่มีความต้องการ ตราบนั้นยังมีสินค้า”

สิ่งที่เฟลช์พบคือ บรรดานักสะสมเจ้าของพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย มักตั้งมูลนิธิบังหน้า เพื่อทำหน้าที่รับซื้อจากบรรดาพ่อค้าโดยตรง แล้วนำมาขายให้กับพิพิธภัณฑ์อีกทอดหนึ่ง หรือนำเข้าสู่ตลาดประมูล เพื่อตัดความเชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์กับขบวนการค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมายโดยตรงออกไป 

นักสะสมที่เปิดคอลเลกชันของตนเองเป็นพิพิธภัณฑ์สากลมักสร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะว่า ไม่สนับสนุนการขโมยโบราณวัตถุเพื่อการสะสม แต่พวกเขาก็มักไม่สนับสนุนให้มีการสืบค้นหาที่มาของโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องตลาด

เจมส์ คูโน (James Cuno) ซีอีโอของ เก็ตตี้ ทรัสต์ (Getty Trust) และเป็นผู้สนับสนุนการแนวคิดและการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์สากล เคยกล่าวไว้ว่าไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดหรือนักสะสมคนใดอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการค้าที่ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่นักสะสมต้องระวังตัวเกี่ยวกับความถูกต้องของวัตถุและความถูกต้องทางกฎหมายเอง 

สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์สากลมักกล่าวถึงคือ บทบาทของมันในฐานะศูนย์กลางการอนุรักษ์วัฒนธรรมและอารยธรรมของโลก แกรี่ วีกัน (Gary Vikan) อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะวอลเตอร์ส (Walters Art Museum) ในบัลติมอร์ เคยกล่าวว่าท่ามกลางการทำลายโบราณสถานอย่างต่อเนื่องในตะวันออกกลางโดยรัฐอิสลาม มีเพียงพิพิธภัณฑ์ในตะวันตกเท่านั้นที่จะสามารถอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของโลกให้รอดพ้นจากความโหดร้ายทางวัฒนธรรมของไอซิส (ISIS) ได้ 

ปี 2002 พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของประเทศตะวันตกหลายแห่ง ร่วมให้การรับรองสิ่งที่เรียกว่า ปฏิญญาว่าด้วยคุณค่าและความสำคัญของพิพิธภัณฑ์สากล (Declaration on the Value and Importance of Universal Museums) เพื่อต่อต้านข้อเรียกร้องให้ส่งโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิด โดยอ้างเหตุผลว่าพิพิธภัณฑ์ของพวกเขาสามารถให้การคุ้มครองโบราณวัตถุเหล่านั้นได้ดีกว่า 

เทสส์ เดวิส (Tess Davis) แห่งแอนทีกส์ โคไลชัน (Antiquities Coalition) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ต่อต้านการลักลอบค้าโบราณวัตถุ เคยให้สัมภาษณ์กับ เดอะ การ์เดียน (The Guardian) ถึงพิพิธภัณฑ์สากลเมื่อหลายปีก่อนว่า เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าลัทธิล่าอาณานิคมยังคงมีชีวิตอยู่ในโลกศิลปะ 

“การเติมเต็มคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ด้วยศิลปวัตถุ ทำให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถเข้าถึงศิลปะจากทุกมุมโลกได้ ในทางทฤษฎีเป็นสิ่งที่ดีงามมาก แต่ในทางปฏิบัติมันคือความหรูหราของโลกตะวันตก ประชาชนในนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส อาจได้ประโยชน์ แต่สำหรับคนในกัมพูชาล่ะ ไม่เคยได้” 

ที่ผ่านมามีการเรียกร้องจากประเทศต้นกำเนิดขอให้พิพิธภัณฑ์สากลเหล่านั้นส่งศิลปะและโบราณวัตถุกลับคืน โดยเฉพาะที่ถูกยึดและขโมยไปสมัยอาณานิคม แต่ก็มักได้รับการปฏิเสธ 

ยารา อิสมาอิล (Yara Ismail) แห่งมหาวิทยาลัยไคโร ประเทศอียิปต์ มองคำกล่าวอ้างในการครอบครองโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมว่า เป็นข้อโต้แย้งที่แสดงถึงความอ่อนแอและความกลัวของพิพิธภัณฑ์สากลเหล่านั้น 

“การคืนโบราณวัตถุเพียงชิ้นเดียวก็สามารถเป็นประตูระบายน้ำที่จะทำตามคำเรียกร้องของประเทศอื่นๆ ให้คืนโบราณวัตถุที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจทำให้พิพิธภัณฑ์ว่างเปล่า” 

พิพิธภัณฑ์บริติช มิวเซียม (British Museum) อาจถือได้ว่าเป็นแกนนำที่ชัดเจนของพิพิธภัณฑ์กลุ่มนี้ เพราะยืนหยัดปฏิเสธคำขอเรียกคืนโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจากหลายประเทศมาโดยตลอด ทั้งอียิปต์ ไนจีเรีย เอธิโอเปีย จีน รวมถึงกรีก ซึ่งโบราณวัตถุจำนวนมากที่พิพิธภัณฑ์ครองครองอยู่ ได้มาในสมัยที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม 

และพิพิธภัณฑ์บริติช มิวเซียม อีกเช่นกันที่เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นเองว่า คำกล่าวอ้างว่าพิพิธภัณฑ์ตะวันตกสามารถดูแลโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมได้ดีกว่าประเทศต้นกำเนิดนั้นไม่เป็นความจริง เดือนสิงหาคมปีนี้เองเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์บริติช มิวเซียม ออกประกาศของความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยหาโบราณวัตถุประมาณ 2,000 ชิ้นที่ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยได้เปิดสายด่วนเพื่อให้ประชาชนติดต่อเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ โบราณวัตถุที่หายไปส่วนใหญ่มีอายุระหว่างศตวรรษที่ 15 ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงศตวรรษที่ 19 หลังคริสต์ศักราช รวมถึงเครื่องประกับทองและอัญมณีกึ่งมีค่า ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ถูกแสดงต่อสาธารณะ แต่จะอยู่ในห้องเก็บของของพิพิธภัณฑ์ 

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ระบุว่า ปัจจุบันมีโบราณวัตถุประมาณ 60 ชิ้น ถูกส่งกลับพิพิธภัณฑ์แล้ว และอีก 300 ชิ้น สามารถติดตามเจอแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการนำกลับคืนพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกันมีรายงานว่าโบราณวัตถุบางส่วนถูกนำไปประกาศขายทาง eBay เรียบร้อยแล้ว หนึ่งในนั้นคือโบราณวัตถุของอาณาจักรโรมัน ซึ่งมีมูลค่าถึง 50,000 ปอนด์ แต่ถูกนำเสนอบน eBay เพียง 40 ปอนด์เท่านั้น

การถูกโจรกรรมโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์บริติช มิวเซียม ในครั้งนี้ ได้จุดกระแสเรียกร้องอีกครั้งให้พิพิธภัณฑ์ตะวันตกต่างๆ ส่งคืนโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่ยึดมาในสมัยอาณานิคมให้ประเทศต้นกำเนิด ซึ่งแน่นอนอังกฤษเป็นประเทศแกนนำในการปฏิเสธอีกเช่นเคย ด้วยข้ออ้างว่ากฎหมายอังกฤษไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น 

ภายใต้กฎหมายพิพิธภัณฑ์บริติช มิวเซียม (British Museum Act) ปี 1963 ไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายศิลปวัตถุที่อยู่ในการครอบครองของพิพิธภัณฑ์ของรัฐ แต่ภายใต้กฎหมายที่เคร่งครัดนี้ ก็ยังมีช่องว่างยกเว้นได้ หากคิดจะทำ

ย้อนกลับไปปี 1988 เมื่อ 44 ประเทศทั่วโลก เห็นชอบในหลักการวอชิงตันว่าด้วยงานศิลปะที่ถูกยึดโดยนาซี (Washington Principles of Nazi-confiscated art) ว่าให้มีการส่งคืนผลงานศิลปะที่ถูกขโมยสมัยนาซีกลับไปยังเจ้าของชาวยิวหรือทายาท และศาลสูงของอังกฤษก็มีคำสั่งว่าพิพิธภัณฑ์อังกฤษไม่สามารถส่งคืนภาพวาดเก่าแก่โบราณที่เคยอยู่ในการครอบครองของนักสะสมส่วนตัวในเชโกสโลวาเกียก่อนที่จะถูกกองทัพนาซียึดไป (และเดินทางมาถึงพิพิธภัณฑ์หลังการล่มสลายของนาซี) แต่รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายเฉพาะกิจเพื่อให้รัฐบาลสามารถปฏิบัติตามหลักการวอชิงตันและส่งภาพคืนเจ้าของหรือทายาทต่อไปได้

ขณะที่มีหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่แม้จะมีการร้องขอจากประเทศต้นทางให้ส่งศิลปวัตถุกลับคืน แต่กลับได้รับการปฏิเสธ ตัวอย่างล่าสุดคือ การที่นายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) แห่งประเทศอังกฤษ ถึงกับยกเลิกการประชุมกับ คีเรียคอส มิตโซตากิส (Kyriakos Mitsotakis) รัฐมนตรีต่างประเทศกรีซ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อกรีซเรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์บริติช มิวเซียม ส่งคืนประติมากรรมนูนต่ำที่เคยประดับวิหารพาร์เธนอน (Parthenon) ที่ถูกนักการทูตอังกฤษย้ายออกจากวิหารในปี 1806 ตอนที่กรีซอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิตุรกีออตโตมัน

ประติมากรรมนูนต่ำที่เคยประดับอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพาร์เธนอน
photo: britishmuseum.org

การปะทะกันทางความคิดเกี่ยวกับบทบาทของพิพิธภัณฑ์สากล ในฐานะฟันเฟืองและตลาดสำคัญของธุรกิจค้าขายศิลปวัตถุอย่างผิดกฎหมาย กับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของโลก ยังคงดำรงอยู่ ในฐานะผู้ชื่นชอบศิลปะและผู้ขุดคุ้ยวงการพิพิธภัณฑ์สากล เฟลช์มองเห็นทางออกที่ดีของสถานการณ์เช่นนี้ 

“ผมหวังจะเห็นพิพิธภัณฑ์แบบนี้ในที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยมีพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรครบครัน อาจจะช่วยอำนวยความสะดวกในการให้ยืมและแลกเปลี่ยนกับพิพิธภัณฑ์อื่นทั่วโลก”

เช่นเดียวกับคูโนที่แม้จะขัดแย้งกับเฟลช์ในหลายประเด็น แต่เขาก็มองว่า มันควรเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์ที่อ้างตนว่าเป็น ‘สากล’ ควรต้องออกมามีบทบาทสนับสนุนให้ความเป็นสากลของพิพิธภัณฑ์กระจายไปทั่วมุมโลกด้วย

“มันไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าประชาชนในที่อื่นๆ จะไม่สนใจอยากรู้เรื่องราวของโลกด้วย” 

ในเมื่อไม่ประสงค์จะส่งคืนประเทศต้นกำเนิด ไม่ว่าจะเพราะยังไม่จำนนต่อหลักฐานหรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากบรรดาพิพิธภัณฑ์สากลทั้งหลายตั้งใจจริงในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของโลก และเชื่อมั่นในศักยภาพพิพิธภัณฑ์สากล การช่วยกันกระจายให้เกิดพิพิธภัณฑ์สากลบนโลกใบนี้ เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงอารยธรรมโบราณของโลกให้กับประชาชนนอกซีกโลกตะวันตก อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี เว้นเสียแต่คำกล่าวว่าการอนุรักษ์วัฒนธรรมของโลกเพื่อให้อยู่คู่โลก จะเป็นเพียงข้ออ้างที่เห็นแก่ตัว เพื่อที่จะเก็บศิลปวัตถุจากทั่วโลกไว้ในครอบครองของตนแต่ผู้เดียว 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า