แถวนี้อ่าวบ้านดอน! ปมขัดแย้งอ่าวหมื่นล้านเริ่มจากตรงไหน ทำไมจึงแก้ไม่ได้

อ่าวบ้านดอน อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ความยาวรวมประมาณ 120 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน อำเภอเมือง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก มีพื้นที่ชายฝั่งซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ในทางเศรษฐกิจ 300,000 ไร่ สร้างมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี อ่าวบ้านดอนจึงเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ และหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านมาหลายชั่วอายุคน

ตั้งแต่ปี 2520 ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อส่งออก มีการจัดสรรพื้นที่ทะเลเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ตั้งแต่ปี 2522 – 2532 รวม 40,656 ไร่ แต่ผู้ที่ฝากปากท้องไว้กับอ่าวบ้านดอนไม่ได้มีเพียงชาวประมงพื้นบ้านอีกต่อไป ชาวบ้านบางรายแปรสภาพเป็นผู้ประกอบการรายย่อย นายทุนผู้ประกอบการก็เข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากอ่าวบ้านดอนด้วยเช่นกัน เกิดธุรกิจฟาร์มกุ้ง ฟาร์มหอย ขึ้นในบริเวณที่มีการอนุญาต อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้นการรุกล้ำทะเลสาธารณะยังไม่เกิดขึ้น ชาวบ้านและผู้ประกอบการยังสามารถอยู่ร่วมกันได้

กระทั่งเกิดโครงการ Sea Food Bank ในปี 2547 ซึ่งอนุญาตให้ทะเลเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินได้ ส่งผลให้มีการบุกรุกทะเลในอ่าวบ้านดอนนอกเขตอนุญาตกว่า 200,000 ไร่ เพื่อขอแปลงเป็นทุน ในขณะที่กรมประมงอนุญาตให้ใช้พื้นที่อนุญาตเดิมเท่านั้นที่แปลงเป็นทุนได้ แม้ว่าตัวโครงการจะยุติไปในปี 2551 แต่พื้นที่ที่มีการบุกรุกยังคงถูกครอบครองโดยเอกชน และเนื่องจากการเพาะเลี้ยงหอยแครงมีผลตอบแทนที่สูง จึงเกิดการซื้อขายพื้นที่ทะเลในราคาสูงแม้ไม่ถูกกฎหมายก็ตาม

พื้นที่สาธารณะถูกยึดครองโดยเอกชนเป็นจำนวนมาก มีการสร้างคอกหอยด้วยไม้ไผ่ปักกั้นเป็นแนวรั้วกลางทะเล ปลูกขนำเฝ้าคอกหอย ไปจนถึงปลูกรีสอร์ตกลางทะเลเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นที่ทำกินของชาวประมงพื้นบ้าน แม้ไม่ถูกกฎหมาย แต่กลไกภาครัฐก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับนายทุนจึงเกิดขึ้นเป็นระยะ ในปี 2557 ชาวประมงพื้นบ้านรวมตัวกันใช้เรือประมงกว่า 200 ลำ ปิดอ่าวบ้านดอนเพื่อเรียกร้องสิทธิการทำประมงพื้นบ้าน เป็นการเปิดปมความขัดแย้งในพื้นที่ให้เป็นประเด็นสาธารณะ

ดร.ประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิตกล่าวว่า พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ระบุว่าการจะอนุญาตให้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงได้ ต้องผ่านคณะกรรมการประมงจังหวัด ซึ่งมีมติอนุญาตเฉพาะพื้นที่ที่มีการอนุญาตอยู่เดิมในเขตอำเภอท่าฉาง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสักเท่านั้น ส่วนพื้นที่นอกเขตอนุญาตต้องคืนกลับเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการกัน เพื่อให้พื้นที่เหล่านั้นเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

การที่ส่วนราชการและผู้นำท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานได้ ทำให้ถูกมองว่าอาจมีส่วนพัวพันในผลประโยชน์ ประกอบกับความขัดแย้งในพื้นที่ตึงเครียดขึ้นเป็นลำดับและขยายไปจนถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ก่อให้เกิดความพยายามที่จะแก้ปัญหาในระดับชาติ มีการมอบหมายจากส่วนกลางให้ พลโทสิทธิพร มุสิกะสิน แม่ทัพน้อยที่ 4 ลงพื้นที่สำรวจปัญหา

ที่ผ่านมา คณะทำงานแก้ปัญหาการรุกพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอนโดยมี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานีเป็นประธาน มีมติเร่งเดินหน้ารื้อขนำและคอกหอยผิดกฎหมาย โดยจะดำเนินการในเขตอำเภอพุนพิน และเขตอำเภอเมืองประมาณ 80 หลังก่อนในระยะเเรก ก่อนจะขยายผลรื้อถอนขนำกลางทะเลอ่าวบ้านดอนทั้งหมดกว่า 1,000 หลัง

นอกจากนี้ นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงพื้นที่และเสนอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาประมงชายฝั่ง จังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างเป็นระบบ และทวงคืนพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชน พร้อมทั้งยังเตรียมเสาะหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม้ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้อีก

อ้างอิง
thaipbs.or.th
polsci-law.buu.ac.th

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า