‘ความมั่นคงทางอาหาร’ หมายถึง ความสามารถในการเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอของทุกคนในสังคม แน่นอนว่าเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เองก็ประสบปัญหานี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาที่ไม่ได้วางแผน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งนี้อาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ความสำคัญของปัญหาที่กำลังทวีความรุนแรงนี้ทำให้หลายภาคส่วนอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการอียูรับมือโควิด ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรป มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิชีววิถี และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนานโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของเมืองในชื่อของ ‘ปากท้องของคนกรุงฯ: ชวน (ว่าที่) ผู้ว่า ออกแบบอนาคตเมืองด้วยพื้นที่อาหาร’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา
ความน่าสนใจของวงเสวนานี้ คือ นอกจากจะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญโดยตรงต่อปากและท้องของคนเมืองทุกชนชั้นแล้ว ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. 4 คน ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ประชันกันในเรื่องดังกล่าว ประกอบไปด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สังกัดพรรคก้าวไกล ศิธา ทิวารี สังกัดพรรคไทยสร้างไทย รสนา โตสิตระกูล และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในนามของผู้สมัครอิสระ ขึ้นมาแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีนี้ โดยมี พิภู พุ่มแก้ว เป็นผู้ดำเนินรายการ
นโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร นับได้ว่าเป็นหนึ่งในโนยบายสาธารณะที่จะส่งผลโดยตรงต่อทุกคน ดังนั้นเวทีครั้งนี้จึงจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ผู้สมัครตัวเต็งทั้ง 4 คน จะได้เผยทัศนคติและแผนพัฒนาให้แก่สาธารณชนได้ทราบ ซึ่งอาจจะเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายสาธารณะของกรุงเทพฯ ต่อไปในอนาคต
นโยบายในอดีตที่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วม การพัฒนาที่ไม่ยึดโยงกับความต้องการ
การทำงานของหน่วยงานอย่าง กทม. นั้นอาจจะมีปัญหาหลายส่วน แต่ปัญหาหลักอย่างหนึ่งที่ถูกครหามาอย่างยาวนาน คือการบังคับใช้นโยบายที่ไม่ได้เอื้อให้ทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกัน แม้จะใช้จ่ายโดยงบประมาณสาธารณะก็ตาม
ปัญหาการออกนโยบายที่ไม่ได้ยึดโยงกับชุมชนในกรุงเทพฯ อย่างจริงจังนั้น ส่วนหนึ่งวิโรจน์ระบุว่า เป็นเพราะงบประมาณในการทำนโยบายเหล่านี้ไม่ได้ถูกกระจายไปยังคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง แต่ถูกผูกไว้ที่ส่วนกลางในการตัดสินใจ โดยวิโรจน์ระบุว่า ปี 2558 งบประมาณ กทม. อยู่ในมือผู้ว่าฯ กทม. 7,000 ล้านบาท ขณะนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ทางแก้ไขปัญหานี้คือ การนำงบประมาณออกมาจากส่วนกลาง 4,000 ล้านบาท เพื่อกระจายไปยังชุมชนที่มีอยู่ราว 2,000 แห่ง ชุมชนจะได้งบประมาณเท่าไหร่จากส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชน และอีก 200 ล้าน ควรถูกกันเอาไว้สำหรับให้คนกรุงเทพฯ ทั้งหมดมาโหวตร่วมกันว่าจะนำไปทำอะไรต่อไป
ขณะเดียวกัน รสนาพูดถึงนโยบายการกระจายงบประมาณ 50 ล้าน 50 เขต ที่จะเป็นการกระจายภารกิจและงบประมาณไปยังประชาชนแต่ละเขต เพื่อให้ประชาชนได้จัดสรรงบประมาณสำหรับทำโครงการของตนเองในแต่ละชุมชนขึ้นมา โดยเฉพาะโครงการด้านการเกษตรที่กำลังถูกมองว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ
ศิธาระบุถึงการนำงบประมาณไปใช้ให้ตอบโจทย์แก่คนในชุมชนเมืองว่า ต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาประกอบ โดยระบบที่นำเข้ามาจะสามารถยืนยันตัวตนของคนในชุมชนได้ว่าเป็นผู้อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นจริงหรือไม่ โดยคนในชุมชนจะสามารถกำหนดงบประมาณที่จะใช้ในพื้นที่เองได้ เทคโนโลยีบล็อกเชนนี้จะถูกเรียกว่าระบบ Decentralized Autonomous Organization (DAO) ที่จะช่วยให้กรุงเทพฯ มีการกระจายอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณ ไปจนถึงอำนาจในการเลื่อน ลด ปลด ย้าย ข้าราชการ กทม. ได้อีกด้วย เนื่องจากระบบบล็อกเชนมีความโปร่งใสสูงและแก้ไขไม่ได้ เป็นการตรวจสอบอำนาจของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งหรือใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูก ควบคู่ไปกับประโยชน์อื่นๆ ที่ DAO ทำได้
พื้นที่สาธารณะ ตลาด และอาหารของเมือง
ประเด็นพื้นที่สำหรับผลิตหรือจำหน่ายอาหาร แน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับผังเมืองเป็นอย่างมาก ประเด็นนี้ศิธามองว่ากรุงเทพฯ เติบโตจนทำให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลงเหลือเพียงประมาณ 200,000 กว่าไร่ หรือคิดเป็นการหายไปประมาณ 50,000 ไร่ของพื้นที่ทางการเกษตรจากปี 2556 ความต้องการในซื้อขายเป็นตัวผลักดันให้เกิดร้านค้าแผงลอยขึ้นจำนวนมากในจุดต่างๆ หน้าที่ของเทศกิจต่อไปนี้จึงควรเป็นการจัดการให้ความต้องการซื้อและความต้องการขายของคนเมืองมาเจอกัน ซึ่งศิธามองว่า เทศกิจมีข้อมูลร้านค้าในแต่ละพื้นที่อยู่ในมือตั้งแต่แรกแล้ว สามารถจัดทำข้อเสนอได้เลยว่าควรให้เกิดพื้นที่ตรงกลางบริเวณใดได้บ้าง แน่นอนว่าประชาชนสามารถใช้ระบบ DAO เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ด้านวิโรจน์มองว่า หาก กทม. สามารถเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อย่างทั่วถึง จะได้เม็ดเงินจำนวนมากสำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะ สิ่งหนึ่งที่ถูกวิโรจน์ยกตัวอย่างขึ้นมาก็คือ พื้นที่รกร้างใจกลางเมืองจำนวนมาก โดยพื้นที่เหล่านั้นจะมีการปลูกกล้วยหรือมะนาวเอาไว้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่ดินในข้ออ้างว่าเป็นพื้นที่ทางการเกษตร หรือแม้แต่การซอยที่ให้กลายเป็นที่ตาบอดเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกัน การเวนคืนที่ดินเหล่านี้จึงจำเป็นสำหรับการนำมาทำประโยชน์ให้แก่สาธารณะ เช่น นำมาสร้างพื้นที่สีเขียว ตลาด และพื้นที่เกษตร นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว การสร้างตึกสูงเองก็สมควรที่จะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารของคนกรุงเทพฯ โดยวิโรจน์มองว่า หาก กทม. สามารถกำหนดกฎหมายจำกัดจำนวนชั้นอาคารอย่างเคร่งครัด และผ่อนผันให้กับอาคารที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม อย่างการมีโรงอาหารที่ให้คนยากจนเข้าไปใช้งานได้ มีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ หรือทำพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ก็จะพบว่า กทม. สามารถสร้างพื้นที่ที่มีประโยชน์แก่คนทุกคนเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
ไม่เพียงแค่วิโรจน์เท่านั้นที่มองว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องมีการปรับปรุงเพื่อประโยชน์สาธารณะ รสนาเองก็มองว่า กทม. ต้องทำการสำรวจพื้นที่ว่างเปล่าใหม่เช่นเดียวกัน โดยการสำรวจนี้ทำเพื่อเอื้อให้เกิดเป็นเกษตรกรรมในเมืองสำหรับคนจนเมืองและผู้ที่สนใจจะทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ว่างเปล่า โดยวิธีนี้จะทำให้เกิด ‘อาหารใกล้บ้าน’ ที่ไม่ต้องเดินทางไกล สิ้นเปลืองทั้งเงิน เวลา และสร้างมลพิษในอากาศ ข้อดีของการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ในเมืองคือ การทำให้ได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปราศจากสารเคมีอีกด้วย รัฐบาลจึงควรทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับเอกชนเพื่อให้ กทม. สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องภาษีที่ดินนั้นรสนามองว่า ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับที่ดินมาจากมรดกด้วย เพราะหากเก็บภาษีที่ดินในราคาที่สูงเกินไปก็จะเป็นการไล่ที่ทางอ้อม ภาษีที่ดินควรเก็บอย่างเป็นระบบเมื่อมีการซื้อขายที่ดินเท่านั้น การไล่ผู้คนออกจากพื้นที่ด้วยภาษีที่ดินราคาแพงจะกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ทุนใหญ่เข้ามาใช้โอกาสจากพื้นที่ว่างเปล่ามากขึ้น
ศิธามองว่า การเสนอโครงการจากฐานรากจะทำให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในสมการนโยบายอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชผักสวนครัว และการสร้างพื้นที่สีเขียวต่างๆ ซึ่งพื้นที่ของภาครัฐอาจจะได้รับความร่วมมือไม่ยากนัก แต่พื้นที่ของเอกชนอาจจะต้องนำข้อกฎหมายเข้ามาช่วยได้ เนื่องจากเอกชนหลายแห่งในปัจจุบันยังคงใช้ช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมายอยู่ เช่น กรณีการปลูกกล้วยเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดินอย่างที่วิโรจน์ยกตัวอย่างมา ศิธาจึงมองว่าต้องจัดการนำพื้นที่เหล่านั้นกลับมาให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะอีกครั้งให้ได้
สวนครัวตัวอย่างที่ศิธาต้องการจะเห็น คือการที่ภาคประชาสังคมเสนอโครงการเกษตรเข้ามายัง กทม. แล้วจึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการออกค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ของแปลงผักนั้นๆ การทำงานในลักษณะนี้หลายครอบครัวจะมีแปลงผักเป็นของตนเอง ได้ซื้อขายผักที่ตนเองปลูก ได้มีกิจกรรมร่วมกันในการเข้ามาดูสวนผักที่มีคนช่วยดูแลให้ หรือหากไม่มีเวลาก็เพียงแค่เซ็นสัญญาค่าใช้จ่ายและตกลงวันที่จะได้รับผัก ราคาการซื้อผักปลอดสารพิษของคนเมืองก็จะถูกลงอย่างมาก
นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องพื้นที่ทำตลาดขนาดใหญ่หรือการนำไปใช้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์แล้ว ทางด้านวิโรจน์ได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องพื้นที่กับความมั่นคงทางอาหารว่า ประเด็น ‘สตรีทฟู้ด’ เองก็สำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ มีเพียง 2 จุด คือ ถนนข้าวสารและเยาวราชเท่านั้น ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า มุมมองของเมืองเช่นนี้ต่อการค้าขายอาหารริมถนนคือการขายให้แก่นักท่องเที่ยว ขายให้แก่ผู้มาเยือน แต่ไม่ใช่กับผู้ที่อาศัยอยู่ ดังนั้นต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด เนื่องจากสตรีทฟู้ดเกิดขึ้นได้เพราะสังคมเมืองมีความต้องการที่จะซื้อ แต่ไม่มีที่ที่จะขาย ดังนั้นการไล่จับผู้ค้าด้วยกฎหมาย แต่ไม่สร้างพื้นที่ขายเพิ่ม ก็จะไม่เกิดการแก้ไขปัญหา ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่กว่าร้อยละ 18 จากพื้นที่ทั้งหมดที่ไม่มีตลาดในระยะ 5 กิโลเมตร และหากย่นระยะลงมาน้อยกว่า 5 กิโลเมตร ก็จะพบอีกหลายชุมชนที่ต้องการตลาดอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเอาจริงกับกฎหมายภาษีที่ดินจึงยิ่งเป็นทางออกสำหรับวิกฤติพื้นที่ทางอาหาร
ขยะจากอาหาร ปัญหาที่นำกลับมาสร้างมูลค่าได้
ขยะอาหารในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 55 ในจำนวนขยะทั้งหมด การแยกขยะหรือหาทางนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ โดยรสนามีนโยบายการแยกขยะอาหารออกจากขยะเปียก การแยกขยะนี้จะทำให้ขยะถูกนำไปสร้างเป็นก๊าซชีวภาพหรือก๊าซหุงต้มเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ กทม. ต้องเสริมแรงจูงใจในการแยกขยะให้มากขึ้น ซึ่งรสนามองว่าตนเองอยากที่จะสนับสนุนผู้ที่แยกขยะด้วยการมอบก๊าซหุงต้มให้ 1 ถังต่อเดือน เป็นการลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ขยะอาหารจึงสามารถนำกลับมาเป็นประโยชน์ต่อไปได้ แม้แต่การนำไปหมักก๊าซเสร็จสิ้นแล้วก็ยังนำมาเป็นปุ๋ยเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในเมืองต่อไปได้เช่นกัน
ศิธามองปัญหาเรื่องการแยกขยะในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยกล่าวว่ารถขนขยะของ กทม. เป็นรถรูปแบบบีบอัด เนื่องจากหากไม่เกิดการบีบอัดก็จะทำให้ต้องขนขยะหลายเที่ยว ดังนั้นต่อให้เกิดการแยกขยะจากต้นทางก็อาจจะถูกนำไปเทรวมกันอยู่ดี ส่วนที่แยกได้มีเพียงขยะที่ขายได้และมีราคา ซึ่งจะถูกแขวนใส่ถุงข้างรถ ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีการปลูกฝังเรื่องการแยกขยะจะสามารถนำขยะกลับมารีไซเคิลได้ถึงร้อยละ 40 จากขยะทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยทำได้เพียงร้อยละ 9 จากขยะทั้งหมดเท่านั้น การแก้ไขปัญหาขยะในกรุงเทพฯ จึงอาจจะต้องทำการศึกษาต่ออีกมาก
วิโรจน์กล่าวถึงการแยกขยะในแต่ละเขต นโยบายส่วนมากมักบอกให้ประชาชนช่วยกันคัดแยะขยะ แต่กว่าร้อยละ 40 ของขยะในปัจจุบันมาจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ค่าการเก็บขยะในเขตปทุมวันปัจจุบันนี้เก็บได้เพียง 11 ล้านบาท ขณะที่คลองสามวา 14 ล้านบาท ประเวศ 15 ล้านบาท บึงกุ่ม 16 ล้านบาท ซึ่งไม่สมเหตุสมผลกับอัตราการสร้างขยะในพื้นที่ หากค่าการเก็บขยะต่อรายใหญ่ยังมีราคาถูกอยู่เช่นนี้ ก็จะไม่สามารถเพิ่มแรงจูงใจให้ห้างสรรพสินค้ามาร่วมมือแยกขยะได้ การจะพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไปก็จะเป็นเรื่องยาก ประเด็นนี้วิโรจน์กล่าวว่าต้องแก้ไขที่ตัวกฎหมาย เนื่องจากหากกติกาไม่เป็นธรรม ราคาของการเก็บขยะไม่สมเหตุสมผล รายใหญ่ก็จะไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไร ในขณะที่รายย่อยจะรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ทางออกที่น่าสนใจสำหรับวิโรจน์คือ การลดค่าขยะก็ต่อเมื่อเกิดการแยกขยะ และทำให้กติกาของเมืองเป็นธรรมมากขึ้น
กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองที่มั่นคงทางอาหาร
สำหรับชัชชาติกล่าวถึงสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของกรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันบริเวณถนนพหลโยธินหรือถนนวิภาวดีรังสิตจะมีรถขนผักเข้ามาจากตลาดไท เพื่อกระจายสู่ตลาดต่างๆ ปัญหาคือหากเกิดเหตุฉุกเฉินอีก เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งทำลายระบบขนส่งจนทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ความไม่มั่นคงทางอาหารที่เคยประสบมายังรวมไปถึงความปลอดภัยของอาหารจากสารเคมี และปัญหาความยากจนที่ทำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงอาหารโดยปราศจากความเหลื่อมล้ำได้
ปัญหาหลายประการนี้ ชัชชาติระบุว่าควรเริ่มจากการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อนำไปสู่การทำปุ๋ยหมักสำหรับการสนับสนุนผักปลอดสารพิษให้กับคนเมือง เช่น แนวคิดแปลงผักบนดาดฟ้าตึก สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากระบบการเก็บขยะของ กทม. เช่น การเพิ่มแรงจูงใจด้วยการไม่เก็บค่าเก็บขยะสำหรับชุมชนที่แยกขยะ หรือการที่ กทม. จะรับซื้อปุ๋ยจากชุมชน เป็นต้น ชัชชาติกล่าวว่า ทั้งหมดนี้ต้องตั้งเป้าอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดแนวคิดสวนเกษตรอินทรีย์ที่ใกล้บ้านคนมากขึ้น และทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะ 1 ชุมชน 1 แปลงเกษตรอินทรีย์ หากทำได้เช่นนี้ การเข้าถึงแหล่งอาหารจะง่ายดายยิ่งขึ้น
สิ่งสำคัญหลังการผลิตผักออกมาแล้ว ชัชชาติกล่าวว่าต้องหาตลาดให้ด้วย โดยอาจจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแอพพลิเคชัน ให้คนกรุงเทพฯ สั่งซื้อได้ โดยอาจร่วมมือกับสายส่งอย่างมอเตอร์ไซค์ ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานต่อไปด้วย
ตัวอย่างที่ชัชชาติระบุถึงคือ แอพพลิเคชัน ‘ส่งสด’ จากตลาดยิ่งเจริญ โดยแอพพลิเคชันนี้จะรวบรวมผลผลิตหลายชนิดจากหลายร้าน แนวคิดนี้ทำให้ชัชชาติมองว่า หาก 1 ชุมชน 1 แปลงผัก อาจจะเรียกลูกค้าได้ไม่เข้มแข็งเท่าการนำหลายแปลงมารวมกัน ควบคู่ไปกับการนำกฎหมายที่ดินเข้ามาเพื่อทำให้เกิดตลาดในกรุงเทพฯ มากขึ้น วิธีนี้จะทำให้เกิดการเข้าถึงอาหารง่ายขึ้น เกิดความมั่นคงทางอาหารแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบ
แนวคิดสำคัญต่อมาที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริงให้แก่คนทุกคน ชัชชาติระบุว่า ต้องใช้แนวคิด ‘Food Bank’ เหมือนในต่างประเทศ โดยระบุว่าในแต่ละวันจะมีอาหารที่รับประทานไม่หมดจากร้านอาหาร โรงแรม ศูนย์การค้า เป็นจำนวนมาก หากนำอาหารเหล่านี้มาใส่ในธนาคารอาหาร เพื่อให้กลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน และชุมชนที่เข้าไม่ถึงอาหาร ให้มาใช้สิทธิเข้าถึงอาหารเหล่านี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเหมือนคนทั่วไป ความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริงในกรุงเทพฯ ก็จะเกิดขึ้นอย่างครอบคลุม
ในเรื่องของความปลอดภัยของอาหาร วิโรจน์เองก็ได้พูดถึงไว้เช่นกันว่า กทม. สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ โดยเฉพาะการเพิ่มงบประมาณจัดซื้ออาหารปลอดภัยในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนในสังกัดของ กทม. ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการกำหนดเงื่อนไขการสั่งซื้ออาหารปลอดภัยใหม่ หาก กทม. เริ่มต้นทำ การพัฒนาต่อยอดก็จะทำได้ง่ายขึ้นกว่าที่สังคมกำลังเป็นอยู่
ความมั่นคงทางอาหารไม่ได้ช่วยเหลือเพียงแค่คนชนชั้นล่างหรือคนชายขอบเท่านั้น รสนาเองก็ได้พูดถึงประเด็นนี้เอาไว้เช่นกัน โดยมองว่าหากสามารถทำให้เกิดสถานที่ซื้อขายอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย สามารถเก็บค่าเช่าในราคาถูกได้ ก็จะยิ่งเป็นการช่วยเหลือมนุษย์เงินเดือนไปด้วยในตัว รวมไปถึงการตั้งกองทุนวิสาหกิจของ กทม. เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้หลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบและกลับมาลืมตาอ้าปากได้ แม้แต่การทำแอพพลิเคชันเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาแอพพลิเคชันต่างประเทศมาหักหัวคิวค่าบริการต่างๆ ก็เป็นภาพในหัวที่รสนาต้องการผลักดันกรุงเทพฯ ให้ไปให้ถึง
ความมั่นคงทางอาหาร เมืองที่ทุกคนมีกินมีใช้
ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 4 ราย ต่างมีภาพความมั่นคงทางอาหารของคนเมืองเอาไว้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยหลักแล้วจะมองไปที่การนำที่ดินรกร้างหรือการหาทางร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสร้างเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยอย่างเกษตรอินทรีย์ ไปจนถึงเป็นพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่ทำให้ประชาชนทุกชุมชนมีส่วนร่วมได้ มีการจ้างงานในอาชีพใหม่ๆ และมีการแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์สูงสุดอย่างครบวงจรต่อไป
การคิดบนฐานของชุมชนเพื่อออกแบบนโยบายเช่นนี้จึงทำให้เห็นสภาพปัญหาของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันได้กว้างมากขึ้น เช่น การไม่มีอำนาจต่อรองของ 2,000 ชุมชนในการมีส่วนร่วมกับนโยบายของ กทม. จนทำให้นโยบายส่วนมากไม่ตอบโจทย์หรือเกิดความคุ้มค่าเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม นโยบายบางส่วน เช่น การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ก็ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน การตรวจสอบหรือร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของ กทม. จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องพัฒนาต่อไป
กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่ดำรงฐานะ ‘มหานคร’ แต่กลับมีพื้นที่ตลาด แหล่งผลิตอาหาร หรือจุดจำหน่ายอาหารในราคาพอเอื้อมถึงได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ขณะเดียวกันอาหารจำนวนมากก็ยังคงมีอันตรายจากสารเคมีอยู่ด้วย หากรวมเรื่องวิกฤติที่อาจจะเกิดในอนาคตที่จะสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมอาหารในเมือง เช่น วิกฤติน้ำท่วมปี 2554 หรือการระบาดของไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันเข้าไปด้วย เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ก็นับได้ว่ามีความ ‘ง่อนแง่น’ ในความมั่นคงทางอาหารสูงมาก
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะถึงนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งจุดเลี้ยวสำคัญที่ส่งผลต่อปากท้องของคนทุกคนต่อไปในระยะยาว