อาหารแพงทั่วโลก! World Bank ชี้คนไทย 11.9 ล้าน เข้าไม่ถึงโภชนาการที่ดี

วิกฤตเงินเฟ้อและวิกฤตพลังงานไม่ใช่ปัญหาเดียวที่คนไทยต้องเผชิญ แต่วิกฤตราคาอาหารที่กำลังพุ่งสูงก็กำลังเริ่มส่งผลกระทบให้เห็นแล้วเช่นกัน โดยคนไทยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพในราคาที่เหมาะสมได้ ขณะเดียวกันอาจมีประชากรมากถึงร้อยละ 39.9 จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่ประสบกับความไม่มั่นคงทางอาหาร

ข้อมูล Food Security Update 2022 ของ World Bank ระบุว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนบน (upper-middle-income) มีอัตราเงินเฟ้อมากกว่าร้อยละ 5 โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศโซน ‘สีแดง’ เนื่องจากราคาอาหารเฟ้อขึ้นมาตั้งแต่ร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 5 ในปี 2022

ยิ่งไปกว่านั้น หากติดตามความเปลี่ยนแปลงของราคาอาหารตั้งแต่พฤศจิกายน 2021 จนถึงตุลาคม 2022 จะพบว่า ราคาอาหารประเทศไทยอยู่ในโซน ‘สีเขียว’ เพียง 2 เดือนเท่านั้น คือ พฤศจิกายนและธันวาคม 2021 โดยมีอัตราเงินเฟ้อของค่าอาหารอยู่ที่ 0.4 และ 0.8 ก่อนจะดีดตัวขึ้นทันทีในเดือนมกราคม 2022 อยู่ที่อัตราเฟ้อ 2.4 เดือนกุมภาพันธ์ที่อัตราเฟ้อ 4.5 เดือนมีนาคมที่อัตราเฟ้อ 4.6 และเดือนเมษายนที่อัตราเฟ้อ 4.8 ทำให้ราคาอาหารในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเข้าสู่โซน ‘สีเหลือง’

ถัดจากนั้นราคาอาหารในประเทศไทยเริ่มแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2022 โดยอัตราเงินเฟ้อในราคาอาหารกระโดดขึ้นไปอยู่ที่อัตรา 6.2 ก่อนจะเพิ่มเป็น 6.4, 8, 9.4, 9.8 และ 9.6 ตามลำดับ กลายเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อในราคาอาหารสูงจนเข้าสู่โซน ‘สีแดง’ ในที่สุด

อาหารที่ดีกลายเป็นเรื่องไกลตัว เมื่อประชากรโลกร้อยละ 42 เอื้อมไม่ถึง

ข้อมูล Food Prices for Nutrition DataHub ระบุว่า ในปี 2020 เป็นต้นมา ราคาค่าอาหารที่ถูกสุขภาพในภาพรวมทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 3.54 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 121.21 บาทต่อวัน โดยในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 109 บาทต่อวัน ส่วนกลุ่มประเทศรายได้สูง ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.35 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 114.7 บาทต่อวัน ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ราคาอาหารเฉลี่ยที่สูงที่สุดจะพบได้ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนบน ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.76 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ​ 128.7 บาทต่อวัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นราคาเฉลี่ยที่สูงกว่า ‘เส้นความยากจน’ (poverty line) ที่ 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 73.1 บาทต่อวัน

หรือพูดอย่างง่ายคือ คนจนทั่วโลกแทบเอื้อมไม่ถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ก็ตาม โดย Food Prices for Nutrition DataHub ระบุว่ามีประชากรโลกจำนวนถึงร้อยละ 42 จากจำนวนทั้งหมด หรือประมาณ 3.07 พันล้านคนทั่วโลกที่เข้าไม่ถึงอาหารที่ดี ยิ่งในประเทศรายได้ต่ำจะมีอัตราการเข้าไม่ถึงอยู่ที่ร้อยละ 88 ส่วนกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนล่างมีอัตราการเข้าไม่ถึงอยู่ที่ร้อยละ 69 ขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา อัตราการเข้าไม่ถึงอาหารที่ดีพุ่งสูงถึงร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมด

ในปี 2017 Food Prices for Nutrition DataHub ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราค่าอาหารที่ถูกสุขภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 3.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 135.93 บาทต่อวัน และมีประชากรร้อยละ 17.5 หรือคิดเป็น 12.1 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงอาหารที่ดี เมื่อถึงปี 2020 พบว่าราคาอาหารที่ถูกสุขภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 4.32 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 147.92 บาทต่อวัน ทำให้มีผู้ที่เข้าไม่ถึงอาหารที่ดีสูงถึง 11.9 ล้านคนทั่วประเทศไทย

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ยังระบุด้วยว่า ราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2022 จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยหากแยกออกมาให้เห็นเป็นกราฟจะพบว่าราคาอาหารดีดตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

การเข้าไม่ถึงอาหารที่ดี การเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร จึงเป็นผลมาจากวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยหลายสาเหตุตั้งแต่ภัยธรรมชาติไปจนถึงถึงภัยสงคราม อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลใหม่ๆ เริ่มมีคำอธิบายที่มากขึ้นกว่าเดิม 

ภาวะสงคราม-โลกร้อน ต้นตอวิกฤตอาหารแพงทั่วโลก

กลุ่มสื่ออิสระอย่าง Project Censored ได้ทดประเด็นนี้เอาไว้ในหมวด ‘ข่าวที่ไม่เป็นข่าว’ ของปี 2022 โดยมีข้อสังเกตสำคัญว่า เป็นเพราะทุนผูกขาดที่เริ่มจับมือกันเหนียวแน่นมากขึ้นในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาของอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฉวยใช้สถานการณ์การระบาดของโควิดและวิกฤตเงินเฟ้อเป็นฉากอำพรางในการขึ้นราคาอาหาร (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ข่าวที่ไม่เป็นข่าว 2022: ต้นตอ ‘อาหารแพง’ ในสหรัฐฯ เมื่อทุนใหญ่รวมหัวผูกขาด-ควบรวม ฉวยโอกาสโควิด-19 ขึ้นราคายกแผง

นอกเหนือไปจากปัจจัยด้านสังคมการเมืองข้างต้น ปัจจุบันนักวิเคราะห์จำนวนมากยังเห็นว่า ต้นเหตุวิกฤตราคาอาหารนั้นเกิดขึ้นเพราะผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตราคาน้ำมัน ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจมหภาพขององค์การ ASEAN+3 (ASEAN+3 MACROECONOMIC RESEARCH OFFICE: AMRO) ระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีก่อนหน้าส่งผลให้หลายประเทศที่กำลังเริ่มกลับมาเปิดประเทศมีความต้องการนำเข้าอาหารเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศที่ส่งออกธัญพืชรายใหญ่อย่างรัสเซียและยูเครนต่างติดพันในสงครามที่เพิ่งปะทุ การแทรกแซงการค้าจำนวนมากยิ่งส่งผลทางอ้อมต่อการขนส่งอาหารทั่วโลกมากขึ้น จนทำให้หลายประเทศเริ่มดำเนินมาตรการปกป้องทางการค้า เช่น อินโดนีเซียยกเลิกการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบชั่วคราว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่วิกฤตที่กล่าวถึงไปแล้วเท่านั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็มีส่วนทำให้ค่าอาหารแพงขึ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน สภาวะอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ส่งผลให้เกิดพายุมากกว่าในอดีต และเริ่มทำให้การปลูกพืชและการขนส่งอาหารยากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ภัยแล้งที่ขยายวงก็ส่งผลให้พืชเศรษฐกิจหลายชนิดถูกทำลายลงไปเกือบร้อยละ 10 ทั้งในฝรั่งเศส ฮังการี อิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร ไม่รวมโรคระบาดในสัตว์ที่ค่อยๆ แพร่กระจายมากขึ้น

ด้วยสาเหตุทั้งหมดนี้ จึงทำให้หลายรัฐบาลควรเริ่มดำเนินมาตรการควบคุมราคาอาหารให้มากขึ้น ทั้งการทำให้ราคาอาหารถูกลงเพื่อให้ทุกคนในสังคมเอื้อมถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพและถูกสุขลักษณะ รวมไปถึงการมองหาลู่ทางใหม่ๆ ในการสร้างระบบนิเวศด้านอาหารอย่างยั่งยืนในโลกที่มีโอกาสเกิดการ disrupt ในห่วงโซ่อุปทานอาหารได้ง่ายขึ้นและบ่อยขึ้น เพราะสิทธิในการเข้าถึงอาหาร เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์

ที่มา:

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า