เครือข่ายภาคประชาสังคมเรียกร้องประยุทธ์ อย่าส่งความทุกข์ด้วยการเข้าร่วม CPTPP

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เครือข่ายภาคประชาสังคมหลากหลายองค์กร ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ถ้าไม่คืนความสุขให้ประชาชน ก็อย่าส่งความทุกข์ด้วยการเข้าร่วม #CPTPP

เนื้อหาในจดหมายระบุว่า เครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ในฐานะตัวแทนกว่า 400,000 เสียงจากประชาชน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รับฟังเสียงของประชาชนที่คัดค้านการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) มานานกว่า 2 ปี โดยขอให้ยกเลิกการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ซึ่งลิดรอนสิทธิของประชาชนและตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ในทันที

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณายื่นหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วม CPTPP ซึ่งจะมีการประชุม ครม. ในวันที่ 14 ธันวาคม

“เครือข่าย #NoCPTPP ต้องการเห็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่เห็นผลประโยชน์ของประชาชน มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมเพียงหยิบมือ ซึ่งจะทำลายความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ตลอดจนการเข้าถึงยา การสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ อันเป็นผลจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก” 

เครือข่ายภาคประชาสังคมยังแสดงถึงข้อกังวลหากไทยเข้าร่วม CPTPP ดังต่อไปนี้ 

ประการแรก – การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และยังเป็นการตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป เพียงแค่เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อก็อาจมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท

ประเทศไทยจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณธัญญาหาร เพราะอาหารที่ผลิตได้มาจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและการผูกขาดของบริษัท นำไปสู่ความล่มสลายของวิถีการปรับปรุงพันธุ์และอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการเกษตรเดิมของไทยที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยที่ปลูกอยู่อาจมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้อาหารแพงขึ้นเนื่องจากต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น จากรายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2556 พบว่า ในระยะยาวหากเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรจะต้องซื้อสูงขึ้นประมาณ 2-6 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 28,538 ล้านบาท เป็น 80,721-142,932 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52,183-114,394 ล้านบาทต่อปี 

ประการที่สอง – CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ หรือ remanufactured goods โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก 

ประการที่สาม – CPTPP จะเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐบาลได้ ถ้ารัฐบาลออกกฎหมายหรือนโยบายใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่านโยบายของรัฐจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนก็ตาม โดยอาจมีการฟ้องร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่มีคณะอนุญาโตตุลาการนอกประเทศทำหน้าที่ตัดสิน 

ทั้งนี้ นิยามการคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP กินความกว้างขวาง ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการคุ้มครองการลงทุนเช่นนี้มาก่อน ส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และต้องชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะก่อให้เกิดสภาวะหวาดกลัว หรือ chilling effect ทำให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะออกหรือบังคับใช้กฎหมายใดๆ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเข้าถึงยา และการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกลัวจะถูกฟ้องโดยนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งอาจทำให้ไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนในประเทศได้  

ประการสุดท้าย – ข้อบทใน CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล 

จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 71 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน เป็น 89 เปอร์เซ็นต์ และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท ที่สำคัญยังส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้ง 3 ระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะระบบบัตรทองที่มีค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณระบบบัตรทองทั้งหมด 

ข้อบทใน CPTPP ยังขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข และสวนทางกับบริบทของโลกในปัจจุบันที่กำลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าไม่ถึงยาและวัคซีน เพราะการผูกขาดด้วยระบบทรัพย์สินทางปัญญา 

“ข้อเสียในแต่ละประการนั้น ไม่ใช่ความสุขของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย เครือข่าย #NoCPTPP เห็นว่า นายกรัฐมนตรีและคณะ ควรมุ่งมั่นดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนบนพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) โดยที่ไม่นำพาประเทศสู่การครอบงำทางเศรษฐกิจโดยบรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่ และทอดทิ้งเกษตรกร ผู้ผลิตรายย่อย และประชาชนไว้เบื้องหลัง ดังที่ได้ประกาศต่อประชาชนไทยและประชาคมโลก” 

ด้วยเหตุนี้ เครือข่าย #NoCPTPP จึงขอให้นายกรัฐมนตรียุติการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP อย่างถาวรในทันที 

ลงท้ายรายนามเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ประกอบด้วย

FTA Watch 

มูลนิธิชีววิถี 

กรีนพีซ ประเทศไทย 

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 

กลุ่มศึกษาปัญหายา

ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา

มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

มูลนิธิบูรณะนิเวศ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

มูลนิธิสุขภาพไทย

เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา 

เครือข่ายงดเหล้า

TU NO NICOTINE

โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่

กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์​ (คัดค้านเหมืองโปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน​ จ.ชัยภูมิ)

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด​ 6​ หมู่บ้าน​ (คัดค้านเหมืองทองคำ​ ต.เขาหลวง​ อ.วังสะพุง​ จ.เลย)

กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส​ (คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช​ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร)

กลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย​ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย​ ต.คำป่าหลาย​ อ.เมือง จ.มุกดาหาร)

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได​ (คัดค้านการทำเหมืองหิน​ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา​ จ.หนองบัวลำภู)

กลุ่มรักษ์บ้านแหง​ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง​ อ.งาว​ จ.ลำปาง)

กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองโปแตช อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา)

กลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้ว ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์)

สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา (คัดค้านการทำเหมืองหินปูน ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา)

สมัชชาคนจน

เครือข่าย People Go Network

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

เครือข่ายบริการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WWN)

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า