COVID-19 กับเหตุผลที่อินเดีย-แอฟริกาใต้ ต้องขอระงับการคุ้มครองสิทธิบัตรยา

แปลและเรียบเรียงโดย ดร.จิตติพร ฉายแสงมงคล

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ประเทศอินเดียและแอฟริกาใต้ ได้ส่งข้อเสนอไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) โดยขอให้ WTO อนุญาตให้ประเทศต่างๆ ระงับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน การควบคุม และการรักษาโรค COVID-19 จนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันครอบคลุมทั่วโลกและประชากรโลกมีภูมิคุ้มกันไวรัสแล้ว 

ทั้งสองประเทศมีความกังวลว่า การพัฒนายา การเข้าถึงยา และวิธีต่อสู้กับการระบาดของไวรัสอาจเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม หรืออาจถูกกีดกันโดยสิทธิบัตรและอุปสรรคด้านทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ซึ่งสภาทริปส์ (TRIPS Council) หน่วยงานของ WTO ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการประชุมกันในวันที่ 15-16 ตุลาคม 2563 เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหานี้

วัคซีนเพื่อชาติ (Vaccine Nationalism)

การพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูง โดยมีบริษัทยาข้ามชาติเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีน องค์การ Oxfam รายงานว่า ประเทศเหล่านี้มีจำนวนประชากรรวม คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก แต่จะสามารถซื้อวัคซีนได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่จะผลิตขึ้น ซึ่งรัฐบาลที่มีเงินมากพอยินดีจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อให้ได้วัคซีนก่อนประเทศอื่น แม้ว่าวัคซีนนั้นยังอยู่ระหว่างการพัฒนาก็ตาม

วัคซีนของบริษัท แอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) เป็นหนึ่งในวัคซีนที่พัฒนาไปได้ไกลที่สุด โดยทางบริษัทได้ทำข้อตกลงกับผู้ผลิตหลายรายทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อเพิ่มปริมาณวัคซีนในอนาคต รวมถึง Serum Institute of India ในอินเดีย และ Fiocruz ในบราซิล โดยทางแอสตราเซนเนกาได้ให้สัญญาว่าจะจำหน่ายวัคซีนเหล่านี้ ‘ในราคาที่ไม่แสวงหาผลกำไร’ สำหรับช่วงการระบาดใหญ่ 

ทว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Financial Times มีรายงานว่า ข้อตกลงระหว่างแอสตราเซนเนกากับมูลนิธิ Fiocruz ของบราซิล มีข้ออนุญาตให้แอสตราเซนเนกาสามารถเรียกราคาที่แสวงหาผลกำไรได้เร็วที่สุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

การขาดความโปร่งใสของข้อตกลงเกี่ยวกับใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการรักษา COVID-19 เป็นปัญหาอย่างมาก บริษัทผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถประเมินได้ว่า บริษัทของตนจะได้รับอนุญาตให้ขายผลิตภัณฑ์ที่ไหน หรือขายในราคาเท่าใด

แม้จะมีเงินก็ใช่ว่าจะมียา

นอกจากการผลิตวัคซีนแล้วยังมีการพัฒนายาใหม่ๆ ขึ้นมารักษาผู้ป่วย COVID-19 ตัวอย่างเช่น ยาเรมเดสซิเวียร์ (Remdesivir) ของบริษัท กิลเลียด ไซแอนเซส (Gilead Sciences) ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับการรักษา COVID-19 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานด้านยาของยุโรป แต่บริษัทได้ขายยาทั้งหมดให้กับรัฐบาลสหรัฐ ทำให้เกิดการขาดแคลนยาตัวนี้ในประเทศอื่นๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ 

แต่มีข้อยกเว้น เช่น ในบังคลาเทศที่ไม่มีสิทธิบัตรของยาเรมเดสซิเวียร์ ทำให้สามารถผลิตยาสามัญ (generic drug) และใช้ในบริการสาธารณสุขได้ นอกจากนี้บริษัท กิลเลียด ได้อนุญาตให้ผู้ผลิตยาทั่วไปในอินเดีย ปากีสถาน และอียิปต์ สามารถผลิตยาสูตรสามัญและจัดจำหน่ายใน 127 ประเทศได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนยาตัวนี้ 

ประเทศกำลังพัฒนาจึงพยายามลดการพึ่งพายาและการผลิตวัคซีนจากประเทศที่ร่ำรวย โดยใช้วิธีจัดการกับทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเสนอของอินเดียและแอฟริกาใต้ที่จะมีการหารือกันในสภาทริปส์ของ WTO จึงมีขึ้นเพื่อลดอุปสรรคที่เกิดจากสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา ในการผลิตและจำหน่ายยาสามัญและยาชีววัตถุคล้ายคลึง (generic and biosimilar products) ในประเทศนั้นๆ 

บทเรียนจากวิกฤติเอชไอวี

ข้อเสนอนี้ชวนให้นึกถึงการอภิปรายในสภาทริปส์ในช่วงวิกฤติเอชไอวี ที่นำไปสู่ปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration on TRIPS and Public Health) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในข้อตกลงทริปส์ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ หันมาใช้มาตรการที่เอื้อต่อการคุ้มครองผู้ป่วย เช่น การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory licensing: CL) เพื่อจัดหาและผลิตยาต้านไวรัสสูตรสามัญที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี แม้ว่าในตอนแรกประเทศพัฒนาแล้วจะไม่เห็นด้วยกับปฏิญญานี้ และอ้างว่าจะเป็นอันตรายต่อระบบคุ้มครองสิทธิบัตรซึ่งจำเป็นในการส่งเสริมนวัตกรรม 

แต่ในวิกฤติ COVID-19 แม้จะมีการอภิปรายเรื่องการยกเว้นสิทธิบัตรที่คล้ายๆ ช่วงวิกฤติเอชไอวี แต่มี 2 ปัจจัยที่แตกต่างกัน 

ประการแรก รัฐบาลทั่วโลกกำลังทุ่มเงินสาธารณะหลายพันล้านให้กับการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนสำหรับ COVID-19 คาดการณ์ว่ามีการใช้งบประมาณทั่วโลกไปแล้ว 16,000 ล้านยูโร (ประมาณ 6 แสนล้านบาท) ดังนั้นข้อโต้แย้งที่มักได้ยินบ่อยครั้งว่า สิทธิในการผูกขาดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้คิดค้นสามารถเก็บคืนเงินลงทุนของตนได้นั้น ไม่มีน้ำหนัก

ประการที่สอง เมื่อเทียบกับยารักษาเอชไอวีนั้น วัคซีนและยาชีวภาพสำหรับ COVID-19 มีความซับซ้อนและทำซ้ำได้ยากกว่า และต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่แม่นยำ การถ่ายโอนสิทธิบัตรเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการขยายขนาดการผลิตวัคซีนและยาทางชีววิทยาอื่นๆ 

C-TAP Initiative

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศจัดตั้ง COVID-19 Technology Access Pool (C-TAP) เพื่อรวบรวมสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบอื่นๆ เช่น ความรู้ ข้อมูล ความลับทางการค้า ซอฟต์แวร์ เพื่อช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จำเป็น สำหรับขยายการพัฒนาและการผลิตเทคโนโลยีใหม่ที่จำเป็นต่อการระบาดใหญ่ของ COVID-19 โดยเป็นการเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับให้ความร่วมมือ แต่จากประสบการณ์เรื่อง Medicines Patent Pool (MPP) เราสามารถโน้มน้าวเจ้าของสิทธิให้เข้าร่วมได้ ปัจจุบันทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดขององค์การอนามัยโลกที่เกี่ยวกับการรักษาเอชไอวีอยู่ภายใต้ใบอนุญาตจาก MPP

ความสำเร็จของ C-TAP จะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนทางการเมือง ขณะนี้ 40 ประเทศทั่วโลกได้ให้การรับรองโครงการนี้ แต่แรงจูงใจต้องมาจากรัฐบาลและสถาบันวิจัยที่ใช้งบสาธารณะในการพัฒนายาและวัคซีนใหม่ๆ ในการแบ่งปันทรัพย์สินทางปัญญาและความรู้ที่มีกับทางโครงการ C-TAP ขององค์การอนามัยโลก

วาทกรรมที่ว่า วัคซีนต้องเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับคนทั่วโลกนั้น ไม่อาจเป็นจริงได้ หากประเทศพัฒนาแล้วไม่ยอมร่วมมือด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องมองหามาตรการแกมบังคับ เช่น ข้อเสนอสำหรับการสละสิทธิ์ทางสิทธิบัตรชั่วคราว สำหรับการป้องกัน การควบคุม และการรักษาโรค COVID-19 ซึ่งย่อมได้รับการต่อต้านจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างแน่นอน 

หากประเทศที่ร่ำรวยและบริษัทยาต่างๆ ไม่ให้ความร่วมมือกับโครงการ C-TAP และในขณะเดียวกันก็พร่ำบอกประเทศกำลังพัฒนาว่า พวกเขาไม่มีสิทธิใช้มาตรการปกป้องสุขภาพของประชาชนท่ามกลางวิกฤติสุขภาพโลกนั้น ประเทศเหล่านั้นจะไร้ความน่าเชื่อถือโดยทันที

อ้างอิง: 
COVID-19 Crisis and WTO: Why India and South Africa’s Proposal on Intellectual Property is Important
อ่านข้อเรียกร้องได้ที่นี่:
WAIVER FROM CERTAIN PROVISIONS OF THE TRIPS AGREEMENT FOR THE PREVENTION,
CONTAINMENT AND TREATMENT OF COVID-19

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า