‘All the Beauty and the Bloodshed’ เล่ห์กลอุตสาหกรรมยาในวิกฤตโอปิออยด์

All the Beauty and the Bloodshed คือสารคดีชีวิตของ แนนซี โกลดิน (Nancy Goldin) ช่างภาพหญิงชาวอเมริกา ผู้เติบโตมาภายใต้แนวคิดขบถต่อสังคม ชีวิตของแนนเริ่มต้นในครอบครัวขนาดเล็กที่มีเพียงพ่อแม่ ตัวเธอ และพี่สาวของเธอ ทว่าการเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจของพี่สาว กลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อชีวิตของแนนในช่วงวัยรุ่น นำมาซึ่งการสร้างตัวตนอันแข็งแกร่งในฐานะผู้ก่อตั้งสมาคม P.A.I.N. ซึ่งย่อมาจาก Prescription Addiction Intervention Now อันมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตจากการเสพติดยาโอปิออยด์ (opioids) ที่ถูกใช้ทางการแพทย์ในแถบยุโรปและอเมริกา

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้การต่อสู้ของกลุ่ม P.A.I.N. คือการพยายามเปิดโปงตระกูลแซกเลอร์ (Sackler family) เจ้าของบริษัท เพอร์ดู ฟาร์มา (Purdue Pharma) ที่มีเบื้องหน้าเป็นผู้อุปถัมภ์และส่งเสริมศิลปะ แต่เบื้องหลังคือผู้ผลิตและค้ายาออกซิคอนติน (oxycontin) หนึ่งในยาแก้ปวดตระกูลโอปิออยด์ซึ่งมีฤทธิ์ให้เกิดอาการเสพติด

ออกซิคอนตินถูกจ่ายโดยแพทย์และโรงพยาบาล พร้อมคำแนะนำว่า ถ้าปวดมากก็ให้ใช้ในปริมาณมาก หรือถ้าหยุดใช้แล้วไม่ดีขึ้นก็ให้ใช้ต่อ จนทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตถึงหลักหมื่นคนในอเมริกา

แนนและกลุ่ม P.A.I.N. คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากยาออกซิคอนตินทั้งทางตรงและทางอ้อม ในปี 2018 พวกเขาต่อสู้ผ่านการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ พร้อมแจ้งข้อเรียกร้องให้พิพิธภัณธ์ศิลปะปลดชื่อของตระกูลแซกเลอร์ออกจากรายชื่อผู้อุปถัมภ์ ทั้งยังยื่นฟ้องร้องต่อตระกูลแซกเลอร์ในข้อหาละเลยความรับผิดชอบต่อวิกฤตโอปิออยด์ที่กระจายเป็นวงกว้างและสร้างความเสียหายต่อชีวิตของประชาชน ท้ายที่สุดข้อเรียกร้องทั้งหมดจึงสำเร็จใน 4 ปีให้หลัง

ประเด็นที่น่าสนใจในสารคดีเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การต่อสู้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่แห่งอุตสาหกรรมยา แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงวิฤตการใช้ยาในอเมริกาที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบดูแลอย่างเข้มงวด ทั้งชนิด การใช้งาน ไปจนถึงราคายาในท้องตลาด

วิกฤตยาโอปิออยด์คร่าชีวิตคนอเมริกา 187 คนต่อวัน

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ระบุว่าในปี 2020 มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาโอปิออยด์เกินขนาด (overdose) จำนวนถึง 187 คนต่อวัน โดยการออกฤทธิ์ของยาแก้ปวดตระกูลโอปิออยด์มีลักษณะเดียวกันกับมอร์ฟีน คือใช้รักษาอาการปวดเฉียบพลันและอาการปวดเรื้อรัง แต่ฤทธิ์เสพติดของยาชนิดนี้ จะทำให้เกิดภาวะพึ่งยาทางกาย (physical dependence) และอาการอาการขาดยา (withdrawal symptoms) รวมไปถึงอาการปวดที่คุมไม่ได้หากลดปริมาณยาหรือหยุดใช้ยาอย่างฉับพลัน และนำมาซึ่งการใช้ยาเกินขนาด

ที่มา: Centers for Disease Control and Prevention

ก่อนจะแพร่ระบาดจนกลายเป็นยาเสพติดอันตรายอย่างในปัจจุบัน โอปิออยด์เคยถูกใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผลหลังผ่าตัดและอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย หากแต่เป็นเพียงการใช้ในระยะสั้นเท่านั้น กระทั่งเพอร์ดู ฟาร์มา เริ่มจัดจำหน่ายออกซิคอนตินในปี 1995 ด้วยการสร้างโฆษณาชวนเชื่อว่าตัวยาดังกล่าวช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี และมีโอกาสเสพติดน้อยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เพราะยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ไม่ได้มีฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดเรื้อรัง อีกทั้งยังทำให้เสพติดได้ไม่ต่างกับมอร์ฟีน

ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ ริชาร์ด แซกเลอร์ (Richard Sackler) ผู้พัฒนายาออกซิคอนติน ให้การยอมรับในคดีที่เคยถูกฟ้องร้องจากผู้ใช้ออกซิคอนตินในปี 2007 แต่ข้อมูลสำคัญนี้กลับเป็นสิ่งที่แพทย์และผู้ป่วยที่ถูกจ่ายยาไม่ทราบ ขณะที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งเข้าตรวจสอบเพอร์ดู ฟาร์มา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนถึงความรับผิดชอบต่อข้อมูลที่ตระกูลแซกเลอร์พึงเปิดเผยต่อประชาชนเพียงเท่านั้น

กลวิธีของเพอร์ดู ฟาร์มา ที่ทำให้ออกซิคอนตินถูกเบิกจ่ายอย่างแพร่สะพัดจนเกิดเป็นวิกฤตการระบาดของยาโอปิออยด์ (opioid opidemic) คือการสร้างความเชื่อมั่นผ่านสมาชิกสภานิติบัญญัติให้ส่งเสริมการใช้ยาโอปิออยด์ รวมทั้งให้ทุนสนับสนุนองค์กรวิชาชีพและผู้ป่วย และส่งตัวแทนไปพบแพทย์เป็นรายบุคคลเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการสั่งยาโอปิออยด์ให้แก่คนไข้ โดยทั้งหมดนั้นนำมาสู่การค้ากำไรของแซกเลอร์ทั้งสิ้น

‘สิทธิบัตรยา’ เสริมราคา-ยาเข้าถึงยาก

ไซมอน เอฟ. เฮเดอร์ (Simon F. Haeder) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย ให้ความเห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคายาในสหรัฐแพงกระฉูดกว่าประเทศใกล้เคียงในทวีปยุโรป คือการผูกขาดยาโดยกลุ่มทุนจำนวนน้อยราย และการขาดการควบคุมราคายาพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการจัดการของภาครัฐ เพราะยาที่ถูกจ่ายให้มักเป็นยาต้นแบบ (original drug) ที่มีสิทธิบัตร ซึ่งมีราคาแพงกว่ายาสามัญ (generic drug) ที่มีส่วนผสมเดียวกัน แต่ไม่ใช่ยี่ห้อต้นแบบ

เฮเดอร์กล่าวว่า ระบบทุนนิยมอันแข็งแกร่งของสหรัฐยังเป็นกลไกสำคัญของการมุ่งแสวงหากำไรในอุตสาหกรรมยา โดยการหาช่องว่างในระเบียบด้านสาธารณสุขเพื่อขยายสิทธิบัตรยา หรือจัดให้อยู่ในกลุ่มยากำพร้า (orphan drugs) ที่ใช้สำหรับโรคหายาก เพื่อผูกขาดให้การจ่ายยาอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ ซึ่งจะทำให้พ่อค้าคนกลางได้รับกำไรมากขึ้นกว่าเดิม

ที่มา The Conversation

ความเข้มข้นในการควบคุมสิทธิบัตรยาตามกฎหมายสหรัฐ นำมาซึ่งข้อพิพาทต่อแซกเลอร์ภายหลังวิกฤตจากยาออกซิคอนติน เมื่อริชาร์ด แซกเลอร์ ได้จดสิทธิบัตรยาบิวพรีนอร์ฟีน (buprenorphine) ซึ่งมีฤทธิ์ที่สามารถใช้รักษาการติดยาในกลุ่มโอปิออยด์ ท่ามกลางข้อครหาว่ายาแก้ปวดที่ตนเองผลิตออกจำหน่ายก่อนหน้าเป็นสาเหตุให้ผู้คนเสพติดจนนำไปสู่การเสียชีวิต จึงกลายเป็นว่าแซกเลอร์อยู่ในฐานะของผู้ปล่อยยาอันตรายและผู้จำหน่ายยาแก้พิษนั้นด้วยตนเอง สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนจำนวนมากที่คิดว่าแซกเลอร์จะกลายเป็นเศรษฐีเงินถังจากวิกฤตยาที่ตัวเองเป็นผู้ก่อขึ้นตั้งแต่ต้น

เมื่อกล่าวเช่นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความยืดหยุ่นในระเบียบของสิทธิบัตรยาและสาธารณสุขของประเทศเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของประชาชนโดยตรง ซึ่งช่วงหนึ่งใน All the Beauty and the Bloodshed กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคเอดส์ (AIDS) จากการติดเชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) ในปี 1981 ทำให้ประชาชนในอเมริกาล้มตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังโดนตีตราจากสังคมว่าเป็นบุคคลที่มีบาป เพราะผู้ป่วยกลุ่มแรกๆ คือกลุ่มรักร่วมเพศ ผนวกกับในขณะนั้นทางการแพทย์ยังไม่สามารถคิดค้นยาที่จะใช้รักษาโรคอุบัติใหม่นี้ได้

เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น การระบาดของเอดส์ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก จนถึงช่วงปี 1995 เกิดการคิดค้นยา HAART ที่มีคุณสมบัติต้านไวรัส HIV ได้เป็นครั้งแรก นับเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ทางการแพทย์ ทว่ายาดังกล่าวถูกขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรแทบจะทันที ทำให้ท่ามกลางสถานการณ์การล้มตายของประชากรโลกจำนวนมหาศาล ยาที่จะใช้เพื่อรักษากลับเข้าถึงได้ยากและมีราคาแพงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพราะสิทธิบัตรยาทำให้เกิดการผูกขาดในการใช้ ผลิต ขาย และนำเข้ายา

กรณีที่คล้ายกัน คือการจดสิทธิบัตรวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 มีผลให้ผู้ที่สามารถผลิตวัคซีนได้มีเพียงไม่กี่บริษัทในประเทศมหาอำนาจ อีกทั้งยังเป็นการจดสิทธิบัตรใหม่ให้กับวัคซีน mRNA ซึ่งถูกพัฒนาต่อมาจากการคิดค้นครั้งแรกเมื่อปี 1987 โดยประเด็นการจดสิทธิบัตรให้กับยาเก่าท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ยังเกิดขึ้นกับกลุ่มยารักษาโรคที่สำคัญอย่างรมเดซิเวียร์ (remdesivir) บาริซิทินิบ (baricitinib) โมนูพิราเวียร์ (molnupiravir) และฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ทำให้ผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงยาได้เนื่องจากมีราคาสูง

ที่มา Nature Biotechnology

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลของการถือครองสิทธิบัตรยานำมาซึ่งการจำกัดการเข้าถึงยาในสภาวะวิกฤตของมนุษยชาติ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) จึงได้ทำข้อตกลงให้สมาชิกแต่ละประเทศสามารถประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licenses: CL) เพื่อให้รัฐใช้สิทธิเจ้าของสิทธิบัตรยาได้โดยไม่ต้องขออนุญาตภายใต้ประโยชน์ของสาธารณะ ในกรณีที่รัฐประเมินว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการปกป้องดูแลอย่างเร่งด่วน

ภายหลังการดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวทำให้ราคายาถูกลง หลายประเทศสามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้มากขึ้น สำหรับประเทศไทยเองได้ประกาศใช้มาตรการ CL กับสิทธิบัตรยารักษาโรคมะเร็งและโรคเอดส์ในสมัยรัฐบาลของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทั้งนี้ มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐเป็นมาตรการที่ต้องใช้เวลาและใช้ได้กับสิทธิบัตรเท่านั้น ไม่รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นที่เกี่ยวกับการผลิตวัคซีน

ประเทศไทยกับความ(ไม่)มั่นคงทางยา

จากวิกฤตยาอเมริกา มาสู่วิกฤตแห่งการเข้าถึงยาในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นในยุทธศาสตร์ BCG ของรัฐบาลที่ถูกเสนอต่อภาคีในวาระการประชุม APEC 2022 โดยมีปมสำคัญอยู่ที่การทำเดินการภายใต้ความตกลงด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ซึ่งมีผลจำกัดการใช้สิทธิบัตร ความลับทางการค้า ลิขสิทธิ์ และการออกแบบทางอุตสาหกรรมยา

ในเดือนกันยายน 2020 กรมทรัพย์สินทางปัญญาเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร โดยเนื้อหาของร่างฉบับดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ ทำให้ไม่สามารถพัฒนายาที่หมดอายุสิทธิบัตรได้ เนื่องจากยาเหล่านั้นจะถูกคำขอสิทธิบัตรอีกหลายฉบับลากอายุความคุ้มครองผูกขาดออกไป เนื่องจากทำให้การประกาศใช้มาตรการ CL ยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของคนไทยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงลิดรอนสิทธิของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบและคัดค้าน

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน ไทยเข้าร่วมการประชุมกับองค์การการค้าโลก และมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ยอมรับข้อเสนอที่แอฟริกาใต้และอินเดียขอให้สภาความตกลงทริปส์ (TRIPs Council) ยกเว้นการบังคับใช้ความตกลงทริปส์ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุม การป้องกัน และการรักษาโควิด-19 ชั่วคราว ในขณะที่กลุ่มประเทศร่ำรวยที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาและวัคซีนต่างมีท่าทีคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว

ย้อนไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 การประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 เร่งออกสิทธิบัตรและผ่อนผันการพิจารณาออกสิทธิบัตรกว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนต่างชาติมีอำนาจผูกขาดยา ขัดขวางการพัฒนานวัตกรรมการผลิตยาในประเทศไทย และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาของประเทศ

ท่าทีของรัฐบาลไทยที่ดูสวนทางกับการจัดการที่ควรจะเป็น ยังเกี่ยวเนื่องต่อไปถึงการพยายามเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในปี 2021 โดยเนื้อหาการประชุมจะเพิ่มการผูกขาดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่กระทบต่อการเข้าถึงยา ทั้งการลดทอนความสามารถในการประกาศ CL ความเสี่ยงที่จะถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (ISDS) การผูกโยงการขึ้นทะเบียนยาเข้ากับการจดสิทธิบัตร (patent linkage) และทำลายศักยภาพการผลิตยาชื่อสามัญของไทย

ผลการวิจัยเบื้องต้นในเรื่อง CPTPP Impact on Access to Medicines ที่เน้นเนื้อหาในเรื่อง patent linkage กับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (government procurement) พบว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP ค่าใช้จ่ายในด้านยาจะสูงขึ้น หมายความว่า ประชาชนต้องบริโภคยาในราคาที่แพงขึ้น ประเทศไทยต้องพึ่งพายานำเข้ามากขึ้นจาก 71 เปอร์เซ็นต์ เป็นประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ และมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศจะมีแนวโน้มลดลง และในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590) ค่าใช้จ่ายด้านยาจะเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท

ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า บทบาทและแนวทางของรัฐบาลเป็นตัวการสำคัญที่จะกำหนดความปลอดภัยทางสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคระบาดที่ไม่อาจรักษาได้ด้วยนวัตกรรมดั้งเดิมที่มี เราเองจึงไม่ต่างจากแนน โกลดิน และกลุ่ม P.A.I.N. ที่จะต้องคอยจับตามอง ตรวจสอบ และเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมด้านสุขภาพที่เราทุกคนพึงได้รับ

อ้างอิง

ความบรรลัย 5 ประการ เมื่อ ม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตร

จริยธรรมไม่ครบโดส วัคซีนโควิด-19 ในความอับจนของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

OxyContin maker Purdue Pharma to plead guilty to three criminal charges

Why the US has higher drug prices than other countries

Understanding the Opioid Overdose Epidemic

Tracing the US opioid crisis to its roots

Patents, prices and patients: the example of HIV/AIDS

Richard Sackler, member of family behind OxyContin, was granted patent for addiction treatment

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า