ดราม่าใน ‘ป้ายหาเสียง’ ผู้ว่าฯ กทม. และปัญหาขยะใต้พรม

ป้ายหาเสียงที่ผุดขึ้นเกลื่อนทางเท้าในกรุงเทพฯ ได้ย้ำเตือนเราว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งแรกในรอบ 9 ปี กำลังใกล้เข้ามาแล้ว เหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างงัดเอากลยุทธ์การประชาสัมพันธ์หลากรูปแบบมาใช้ผ่านป้ายหาเสียง เพื่อสื่อสารนโยบาย คำขวัญ และสร้างความจดจำแก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงที่ต้องเตรียมตัวเข้าคูหาในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้

ทว่าไม่นานหลังจากบรรดาผู้สมัครเริ่มทยอยติดป้ายหาเสียง ความดราม่าก็บังเกิด เมื่อมีการแชร์ภาพป้ายของผู้สมัครรายหนึ่งในโลกออนไลน์ว่า ‘เยอะ’ เกินไป จนกีดขวางการสัญจรของผู้คนบนทางเท้า สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้แก่ผู้มองเห็น กระทั่งว่ามีมือดีเอาปากกาไปวง พร้อมเขียนข้อความบนแผ่นป้ายของผู้สมัครรายดังกล่าวว่า “ทางเดินก็แคบ เอาป้ายมาบัง” บ้าง “ติดป้ายขวางตีน” บ้าง ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ป้ายของผู้สมัครบางรายกลับได้รับเสียงชื่นชมและถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการหาเสียงที่รับผิดชอบต่อสังคม หนึ่งในนั้นก็คือ ป้ายหาเสียงของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งมาพร้อมแนวคิด ‘หาเสียงแบบรักเมือง’ โดยลดขนาดป้ายหาเสียงให้มีความกว้างน้อยกว่าป้ายหาเสียงทั่วไปครึ่งหนึ่ง จนมีคนเรียกว่า ‘ป้ายเสาไฟฟ้า’ และลดจำนวนป้ายให้น้อยที่สุด (คือน้อยกว่าครึ่งของที่กฎหมายเลือกตั้งอนุญาตไว้) ขณะที่เจ้าตัวอธิบายแนวคิดของตัวเองว่า เขาต้องการให้ป้ายหาเสียงส่งผลกระทบกับชีวิตคนน้อยที่สุด

การแข่งขันผ่านป้ายหาเสียงทวีความดุเดือดมากขึ้นเมื่อผู้สมัครรายอื่นปรับกลยุทธ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือที่เรียกขานกันว่า ‘พี่เอ้’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดตัวป้ายหาเสียงแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กลงจนสามารถติดตั้งป้ายได้ 3 ด้านรอบเสาไฟฟ้าหน้าที่ทำการพรรค เมื่อถูกถามว่าเป็นการลอกเลียนคนอื่นหรือไม่ สุชัชวีร์ตอบว่า ไม่ใช่การเลียนแบบอย่างแน่นอน หากเขาตั้งใจไว้แล้ว เพียงแต่รอเปิดตัวในวันครบรอบก่อตั้งพรรค (6 เมษายน) สุชัชวีร์ยังขยายความว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยทำป้ายลักษณะนี้มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับที่ เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. ร่วมพรรค เคยออกมาแสดงความเห็น จนโลกออนไลน์พากันแซะว่า พรรคนี้ถนัดเรื่อง ‘เสาไฟฟ้า’

รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในผู้สมัครอิสระเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับกลยุทธ์การติดป้ายหาเสียงในโลกออฟไลน์มากนัก เธอลั่นว่าจะไม่ติดป้ายให้รกกรุงเทพฯ แบบนี้ เพราะใครมีเงินหนาก็สามารถผลิตป้ายจำนวนมากมาช่วงชิงพื้นที่ได้ แต่เมื่อสิ้นสุดการเลือกตั้ง ป้ายเหล่านี้ก็กลับกลายเป็นเพียงขยะที่สร้างภาระให้ทาง กทม. ต้องจัดการอยู่ดี รสนาจึงเน้นหาเสียงออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊คให้ผู้สนับสนุนช่วยกันแชร์ อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่หาเสียงอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน รสนาได้เปิดตัวป้ายหาเสียงของตนเองที่เรียกว่า ‘Rosana Reused’ ซึ่งผลิตขึ้นจากวัสดุใช้แล้วแบบแฮนด์เมดโดยกลุ่มศิลปินจิตอาสา

‘การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง’ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ผู้สมัครหลายท่านหยิบยกขึ้นมาในแคมเปญหาเสียง ซึ่งหากมองระยะยาวไปจนถึงหลังการเลือกตั้ง การรักษาความสะอาดเรียบร้อยของเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง กทม. ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว การแข่งขันกันหาเสียงด้วยประเด็นดังกล่าวมาจึงเปรียบเสมือนการแสดงให้คนกรุงเทพฯ เห็นว่า ผู้สมัครแต่ละรายจะมีศักยภาพในการบริหารงานได้มากน้อยเพียงใด บทความชิ้นนี้จะชวนไปสำรวจความเป็นมาของการรักษาความสะอาดของเมือง ตลอดจนความท้าทายที่ผู้บริหารเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ต้องเผชิญ

นโยบายสาธารณะว่าด้วยความสะอาดของบ้านเมือง

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของเมืองใหญ่ทั่วโลกคือ การรักษาความสะอาดเรียบร้อย ยิ่งเป็นเมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์รวมความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ คลื่นแรงงานมนุษย์จำนวนมากที่ไหลบ่าจากชนบทเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นย่อมก่อให้เกิดขยะและของเน่าเสียจำนวนมหาศาลตามมาด้วย หากบริหารจัดการไม่ดี เมืองก็แทบไม่ต่างอะไรจากแหล่งรวมเชื้อโรค

ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมืองใหญ่ๆ ในอังกฤษอย่างลอนดอนและกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ ผู้คนมักถ่ายอุจจาระลงในกระโถนจนกระทั่งเต็มแล้วค่อยสาดทิ้งออกไปยังถนนหน้าบ้าน เพราะไม่มีที่กำจัดหรือส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ในขณะเดียวกัน ขยะที่เกิดจากชาวเมืองเกือบ 3 ล้านคน ก็ถูกกองรวมกันในหลุมขยะใจกลางเมือง สภาพอันเน่าเหม็นเช่นนี้รบกวนชีวิตประจำวันของชาวเมืองทุกคน และยังทำให้รัฐสภาและศาลเกือบต้องปิดทำการเพราะทนกลิ่นไม่ไหว เมื่อประกอบกับความเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่สกปรก นักการเมืองและนักการสาธารณสุขจึงพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการปฏิรูประบบสุขาภิบาลเสียใหม่

ในช่วงเวลาเดียวกัน กรุงเทพฯ ที่ถูกถาโถมด้วยคลื่นแรงงานอพยพก็พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ โดยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในขณะนั้นออกมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาความสะอาดของบ้านเมือง เช่น พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง พ.ศ. 2413 โดยห้ามไม่ให้ประชาชนตั้งส้วมใกล้แม่น้ำลำคลอง ไม่ให้ทิ้งขยะหรือซากสัตว์ลงแหล่งน้ำ และในปี พ.ศ. 2436 ก็เสนอบริการจัดเก็บขยะจากบ้านเรือนและสร้างส้วมสาธารณะโดยคิดค่าบริการ อย่างไรก็ตาม ความพยายามอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อมีการตั้งกรมสุขาภิบาลในปี พ.ศ. 2440 ในสังกัดกระทรวงนครบาล

การรักษาความสะอาดของบ้านเมืองยังเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐเรื่อยมา แม้กระทั่งเมื่อพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ถูกเปลี่ยนระบบให้อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในปี 2528 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม. มาจากการเลือกตั้งของราษฎรโดยตรง ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าในห้วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจของประเทศไทยที่เชื่อมต่อกับระบบทุนนิยมโลกอย่างเต็มตัวกำลังเติบโตในอัตราเร่งที่รวดเร็ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคจากภาคประชาชนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 ก็ได้สร้างขยะมูลฝอยเสมือนแสงที่ทำให้เกิดเงาตามมา

ปัญหาขยะอยู่คู่กับเมืองกรุงเทพฯ เสมอมา และแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ในยุคต่างๆ ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ เช่น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเคยหาเสียงเอาไว้ในปี 2528 ว่า ต้องรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดผ่านการปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะ และในปี 2533 จำลองคนเดิมก็ยังหาเสียงด้วยการเสนอเพิ่มรถจัดเก็บขยะ และจัดให้มีเรือคอยเก็บขยะตามคูคลองในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมือง (ไม่แปลกนักที่ รสนา โตสิตระกูล ซึ่งชูประเด็นเรื่องการจัดการขยะ เคยกล่าวว่า “ลุงจำลอง ศรีเมือง ต้นแบบผู้ว่าฯ กทม. ของดิฉัน”) หรือกระทั่ง สมัคร สุนทรเวช ที่เคยเสนอจะสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 3 ทิศรอบชานเมือง

จะเห็นได้ว่า ความสะอาดของบ้านเมืองเป็นปัญหาเรื้อรังที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยกขึ้นมาเป็นประเด็นหาเสียงอยู่เสมอในทุกสมัย

การเดินทางของขยะในมหานคร

ขยะในกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาที่ต้องจัดการตั้งแต่ต้นทาง สำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม. พยายามส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดจำนวนและคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน ตามหลัก 3R ได้แก่ Reduce, Reuse และ Recycle เนื่องจากเป็นวิธีการที่มีต้นทุนต่ำที่สุดและสามารถทำได้ในระดับปัจเจก

เมื่อประชาชนคัดแยกขยะออกเป็นขยะรีไซเคิล ขยะเศษอาหาร ขยะอันตราย และขยะทั่วไป จากนั้นรถเก็บขยะของ กทม. จะมารับช่วงต่อเพื่อขนถ่ายขยะไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอย ซึ่งมี 3 แห่ง ได้แก่ สายไหม หนองแขม และอ่อนนุช ศูนย์ฯ เหล่านี้ต้องรองรับขยะที่มีปริมาณมากถึง 9,000 ตันต่อวัน (แต่ละศูนย์จะรับขยะได้ 1,900 ตันต่อวัน 3,500 ตันต่อวัน และ 3,600 ตันต่อวัน ตามลำดับ) แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้อีเวนต์ต่างๆ และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจนปริมาณขยะมูลฝอยลดลงตามไปด้วย (จากในปี 2562 ที่พุ่งสูงถึง 10,500 ตันต่อวัน) แต่ก้อนขยะมหึมาดังกล่าวก็ยังเป็นปัญหาที่ กทม. ต้องใช้งบจัดการกว่า 10,000 ล้านบาทอยู่ดี

ขยะมูลฝอยทั่วไปจะถูกกำจัดโดย 3 วิธี คือ 1) การหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ในโรงงานที่อ่อนนุช ซึ่งจะนำไปใช้ในงานปลูกต้นไม้ของ กทม. 2) การฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ โดยจ้างเอกชนให้ขนไปฝังกลบที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่ถือว่าถูกกว่าการหาที่ฝังกลบในกรุงเทพฯ ซึ่งมีราคาที่ดินสูง และ 3) ขยะจะถูกนำเข้าเตาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเทคโนโลยีการทำเตาเผาขยะและโรงไฟฟ้าขยะต้องใช้การลงทุนสูง กทม. จึงใช้วิธีจัดจ้างเอกชนภาคเอกชนให้มาดำเนินการแทน โดยร่างเป็นสัญญาแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) คือ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการ ตั้งแต่ออกแบบก่อสร้างโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ เดินระบบกำจัดมูลฝอย ไปจนถึงรับผิดชอบป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ้นสุดสัญญาในระเวลา 20 ปี จะต้องโอนกิจการโรงไฟฟ้าขยะคืนให้ กทม.

โครงการเตาเผาขยะจึงเริ่มดำเนินโครงการนำร่องในปี 2564 ณ ศูนย์จัดการมูลฝอยหนองแขม มีลักษณะ 2 เตาเผา ขนาด 250 ตันต่อเตา และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 5 เมกะวัตต์ การดำเนินการผลิตเป็นไปด้วยดีจนทำให้ กทม. ขยายโครงการเพิ่มที่อ่อนนุช เป็นเตาขนาดไม่เกิน 1,000 ตันต่อวัน

เมื่อมีเทคโนโลยีและต้นทุนในการจัดการแบบใหม่ ขยะจึงถูกมองเสียใหม่ว่าเป็น ‘ทรัพยากร’ ที่เอาไปผลิตสร้างสิ่งอื่นต่อได้ มิใช่เป็นเพียงสิ่งที่รอวันกำจัด จนกล่าวได้ว่า ‘ขยะเป็นทอง’

อย่างไรก็ตาม เมื่อมวลมหาขยะของ กทม. ได้แปรสภาพเป็นกองทองที่มีมูลค่ามหาศาล ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อการจัดการผลประโยชน์ก้อนนี้ เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทเอกชนว่ามีการ ‘ล็อกสเปก’ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประมูลบางราย จนทำให้รองผู้ว่าฯ กทม. ยื่นใบลาออกถึง 2 คน ในปลายเดือนกรกฎาคม 2562 ได้แก่ จักกพันธุ์ ผิวงาม และทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ท่ามกลางกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

เป็นเรื่องบังเอิญว่า เหตุอื้อฉาวครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นรัฐบาลพอดิบพอดี 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีการอภิปรายในสภาจาก ส.ส. ฝ่ายค้านว่า ผู้ประกอบการธุรกิจเตาเผาขยะดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับเหล่าผู้นำใน คสช. ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกำกับดูแลการบริหารราชการ กทม. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น และที่สำคัญก็คือ 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ตามคำสั่ง คสช.

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีการเปิด ‘ไฟเขียว’ ให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะผ่านการออกกฎหมายโดยใช้คำสั่ง คสช. และแก้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง จนทำให้โรงไฟฟ้าขยะเดินหน้ากิจการได้โดยไม่ต้องรอการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA)

ผลที่เกิดตามมาคือ การร้องเรียนจากชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะทั้งสองแห่งนี้สร้างมลภาวะทางกลิ่นจนไม่อาจใช้ชีวิตตามปกติ โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านอิมพีเรียลปาร์คกว่า 100 หลังคาเรือน ซึ่งมีรั้วห่างจากโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ชาวบ้านหลายรายเป็นโรคแพ้อากาศ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล เคืองตา และคันตามร่างกาย แม้มีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานของ กทม. ที่รับผิดชอบแล้ว แต่กระบวนการแก้ไขก็ยังล่าช้า

ท่ามกลางเรื่องราวโกลาหลนี้ รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้นำทีมงานเข้าตรวจสอบในพื้นที่และส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนในที่สุด วันที่ 5 เมษายน กกพ. สั่งระงับใบอนุญาตให้โรงไฟฟ้าขยะหยุดดำเนินการชั่วคราว เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: COP) พร้อมทั้งสั่งให้ติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศใหม่ ปรับปรุงระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพ และต้องจัดตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยประกอบไปด้วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานราชการ และผู้ประกอบการ

อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงคือ กิจการเตาเผาขยะและโรงไฟฟ้าขยะมีรายได้ 2 ทางคือ การรับจ้างจัดการขยะจาก กทม. และการขายไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะนั้นให้การไฟฟ้า แต่ กทม. และประชาชนในพื้นที่กลับแทบไม่ได้รับประโยชน์ในรูปแบบเงินจากโครงการเหล่านี้เลย ซ้ำร้ายคนในพื้นที่ยิ่งต้องแบกรับต้นทุนทางด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น

ปัญหาขยะล้นเมือง เริ่มจากวิสัยทัศน์และการลงมือปฏิบัติจริง

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละรายต่างเห็นว่า ปัญหาขยะในกรุงเทพมหานครเป็นประเด็นสำคัญ สำหรับชัชชาติการจัดการขยะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะใช้งบประมาณมหาศาล ถ้าหากบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดงบส่วนนี้ลงแล้วไปเพิ่มงบประมาณส่วนอื่นได้ แต่วิธีที่เขาเสนอเพื่อแก้ปัญหาคือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากขึ้น เพิ่มแรงจูงใจให้ชุมชนเข้ามาร่วมจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ขณะเดียวกันทาง กทม. ก็ต้องเพิ่มบริการรถและเรือรับส่งขยะให้มากพอต่อความจำเป็น 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล แสดงวิสัยทัศน์ต่อเรื่องนี้ว่า “การโยนปัญหาไปให้ประชาชนทั้งหมดมันไม่ถูกต้อง”

วิโรจน์ชี้แจงว่า ประชาชนกรุงเทพฯ รู้ดีว่าทุกวันนี้รถและเรือเก็บขยะของ กทม. ล่าช้า เหตุที่ล่าช้าก็เพราะรถขยะของ กทม. ไปเก็บขยะให้กับเจ้าของห้าง เจ้าของธุรกิจค้าปลีก โรงแรมหรู ซึ่งสามารถจัดเก็บได้ทุกวัน ในขณะที่ขยะครัวเรือนจัดเก็บได้เพียงบางวัน วิโรจน์ยกตัวอย่างว่า เขตปทุมวันซึ่งเป็นศูนย์รวมของทุนนิยมและห้างใหญ่ กลับสามารถเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะได้เพียง 11 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเขตประเวศที่เก็บได้ถึง 15 ล้านบาท เขาจึงตั้งคำถามว่า ค่าขยะที่ กทม. เก็บจากประชาชนทุกวันนี้ยุติธรรมหรือไม่ ในเมื่อห้างใหญ่ๆ บางห้างจ่ายแค่ไม่กี่หมื่นบาทต่อเดือน แต่ประชาชนกลับเสียค่าขยะที่มากกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าข้อบัญญัติต่างๆ ของ กทม. ไม่ยุติธรรม 

จะเห็นได้ว่า การรักษาความสะอาดของเมืองกรุงเทพฯ เป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่สามารถแก้ไขกันได้ง่ายๆ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ตลอดทุกยุคจึงยังคงต้องเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ใน ‘มหานคร’ ที่บรรดากลุ่มอำนาจน้อยใหญ่จ้องตะครุบผลประโยชน์ตาเป็นมัน แม้กระทั่งผลประโยชน์ที่ซุกซ่อนในกองขยะ ผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็นพ่อเมืองในภายภาคหน้าต้องมีศักยภาพมากกว่าที่แสดงให้เห็นผ่านป้ายหาเสียง เพราะอาจต้องรับมือกับ ‘สิ่งแปลกปลอม’ อื่นที่ซุกอยู่ใต้พรมนอกเหนือจากขยะ

อ้างอิง

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า