เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล
ภาพ: กลุ่มสายลม
01 เค้าโครงการเดินทาง
ไม่ว่าพวกเขาจะมาโดยรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือเจ้าด่วนพระยา หรือจักรยาน ผู้เข้าร่วมเสวนาก็มานั่งพร้อมหน้ากันอยู่แล้ว เวลาราวๆ 5 โมงเย็น อบอวลด้วยกลิ่นกาแฟกรุ่นๆ ในร้านหนังสือก็องดิด The Jam Factory คลองสาน รอฟังเรื่องราวหนังสือเล่มใหม่ที่ยังไม่เป็นรูปเป็นเล่มให้พลิกอ่านได้ แต่มีแนวคิดในอากาศที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์กรุงเทพฯหลายๆ คน
แล้วบทสนทนาก็เริ่มเดินเครื่องไปข้างหน้า
ภาพงานเสวนา: กรดล แย้มสัตย์ธรรม
Bangkok: Handmade Transit (กรุงเทพฯ: ขนส่งทำมือ) เป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการระดมทุนในเว็บไซต์ afterword.co นำทีมโดยบรรณาธิการ ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกชุมชน ผู้ที่นักอ่านหลายคนอาจจะรู้จักเขาดีจากผลงานหนังสือ รู รัง เรือน และ คู่รัก เมืองใหญ่ One-night Stand ปัจจุบันเขาได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ให้ศึกษาแนวทางการเชื่อมต่อคลองและเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน
ระหว่างทำงานโครงการนี้ เขาได้นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก และเรือแสนแสบ พบว่ายานพาหนะเหล่านี้คำนวณเวลาเดินทางได้แน่นอน แม้แต่ระดับนักธุรกิจก็ยังวางใจใช้บริการเพื่อไปประชุม
“ก็เป็นที่มาของโปรเจกต์นี้ ว่าเราน่าจะมาจดบันทึกนวัตกรรมพื้นบ้านที่ไม่เคยมีใครวาดออกมาเป็นแปลนเลย ใครๆ ก็สรรเสริญ (ลีโอนาร์โด) ดาวินชีว่าเป็นนักประดิษฐ์ที่เก่งมาก ก็เพราะว่าเขาวาดออกมา แต่คนที่คิดเรือแสนแสบ รถตุ๊กตุ๊ก หรือคนที่คิดกระบวนการจัดการมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่กลับไม่มีการบันทึกไว้”
หนังสือเล่มนี้ยังมีทีมงานถึง 3 กลุ่มมาลงเรือลำเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มสารคดีอิสระสายลมที่จะบันทึกทั้งภาพและข้อมูลการลงพื้นที่ ทีมวิศวกรเครื่องกล (mechanical engineers) จากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ดมาช่วยวาดพิมพ์เขียว (blueprint) ลงละเอียดนวัตกรรมและเครื่องยนต์ที่ใช้ นอกจากนี้ยังได้ wrongdesign มาดูแลการนำเสนอตั้งแต่หน้าปกไปจนถึงหน้าตาแต่ละบท
“ข้อดีของงานชิ้นนี้ที่เป็นการระดมทุนก็คือ เรายังรอความคิดเห็นของคนอ่านว่าอยากให้เพิ่มเติมเนื้อหาอะไร อยากจะรู้อะไร เราจะได้ไปวิจัยมาให้” ยรรยงกล่าวเสริม
“มีเนื้อหาภาษาอังกฤษคู่ไปด้วย เพราะว่าอย่างคนในอินโดนีเซียหรืออินเดีย อยากจะพัฒนานวัตกรรมพวกนี้ก็นำไปเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงได้”
02 ลงเรือ
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ตัวแทนนักเขียนจากกลุ่มสารคดีสายลม กล่าวแนะนำตัวว่าพวกเขาเป็นกลุ่มทำสารคดีรุ่นใหม่ รวมตัวกันจากค่ายสารคดีครั้งที่ 9 และผลิตผลงานสารคดีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สารคดีภาพถ่ายเหตุการณ์เดินเท้าเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์
“ล่าสุดก็คือ กรุงเทพฯ: ขนส่งทำมือ เล่มนี้ แนวคิดก็คือจะถ่ายทอดเรื่องราวที่อยู่ใกล้ตัวของเรา เราใช้บริการขนส่งมวลชนทุกวัน แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าลึกๆ แล้วมันมีองค์ประกอบการออกแบบมากมาย ในเล่มนี้เราจะพูดถึง ‘งานออกแบบที่เหมาะสม’ (appropriate design) ด้วย”
เมื่อกล่าวถึงคำคำนี้ บรรณาธิการยรรยงจึงรับช่วงต่อ
“มีแนวคิดหนึ่งที่ อี. เอฟ. ชูมาร์คเกอร์ (E.F. Schumacher) เขียนไว้เมื่อปี 1970 ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่นี้ จริงๆ แล้ว ไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดมาก็ได้ แต่อาจจะผลิตเทคโนโลยีบางอย่าง ที่แนวคิดต้องทันสมัย แต่อาจจะไม่ต้องไฮเทคที่สุด พัฒนาให้ถึงระดับที่คนยังคงเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานได้”
ยรรยงยกตัวอย่างที่ผู้บริหารระดับ CEO ใช้บริการเรือแสนแสบเป็นประจำตั้งแต่สมัยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ก็เป็นเรื่องที่ appropriate technology มันเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ แม้แต่ไปโรงพยาบาลศิริราช เราก็ใช้เรือ แต่ไม่ได้ใช้เรือ fuel cell (เซลล์เชื้อเพลิง) เราก็ยังใช้เรือธรรมดาอยู่”
ไมโครโฟนส่งต่อไปยัง นัฐพงษ์ แสงทองล้วน ช่างภาพที่ใช้เวลาหลายเดือนลงพื้นที่ไปเก็บภาพเรือแสนแสบและวินมอเตอร์ไซค์ อย่างที่เราได้เห็นในตัวอย่างหนังสือ
“ตอนไปลงพื้นที่ คนไทยเราไม่ได้มีเทคโนโลยีที่เป๊ะ แต่เป็นอะไรง่ายๆ เช่นคนขับเรือใช้นาฬิกาข้อมือไปแขวนไว้ข้างหน้า เพื่อบอกตัวเองว่าตอนนี้รอบเวลาเท่าไหร่แล้ว ไทยสไตล์มาก” เขายกตัวอย่างมุมน่ารักๆ ที่คนทั่วไปอาจไม่ได้สังเกต หากไม่ได้ไปนั่งจ้ออยู่กับคนขับเรือเป็นชั่วโมงๆ
“หรืออย่างเรือด่วนเจ้าพระยา เขาใช้นกหวีดที่ดึงไส้ข้างในออก เพื่อทำให้การให้สัญญาณของเขาง่ายขึ้น ซึ่งเราก็มองว่า มันมีอย่างนี้ด้วย พอเราได้เอาตัวเข้าไปใกล้ชิดกับเขา เราก็ได้เห็น”
รพีพัฒน์เสริมว่า เรือแสนแสบยังมีระบบชักรอกที่ใช้ดึงผ้าใบขึ้นมากันน้ำ โดยอาศัยความร่วมมือของคนบนเรือ “ใครที่นั่งประจำตำแหน่งก็ต้องรู้ว่านี่หน้าที่เรานะ ต้องคอยดึงไว้ ไม่อย่างนั้นคนบนเรือจะโดนน้ำสาดกันหมด”
ยรรยงตบท้ายแบบขำๆ “เหมือนเป็น Wikipedia รุ่นแรก เป็น social collaborative design”
03 ซ้อนท้าย
หลังก้าวขาขึ้นจากเรือได้อย่างปลอดภัย รพีพัฒน์ เริ่มเกริ่นว่าการทำงานเก็บข้อมูลเรื่องวินมอเตอร์ไซค์นั้นก็สนุกไม่แพ้กัน
“ในโซนที่พีคมาก เสื้อวินเขาขายกันเป็นแสน ย่านที่ผมไปคือโบ๊เบ๊ เขาได้เดือนหนึ่งๆ ประมาณ 30,000 บาท และไม่ต้องเสียภาษีด้วย เพราะไม่มีใครออกใบกำกับภาษีให้” รพีพัฒน์หัวเราะ “เป็นอาชีพที่รายได้สูงมากครับ ถึงขั้นว่าเด็กที่ต้องหารายได้พิเศษ ก็ไปเช่าเสื้อรายวัน รายได้ก็ไม่ได้มาจากการวิ่งรับส่งคนอย่างเดียว แต่งานหลักๆ ก็คือเป็นเมสเซนเจอร์ เที่ยวหนึ่งก็ได้ 500 บาท ยิ่งเป็นวินมอร์เตอร์ไซค์ที่บริษัทหรือห้างร้านไว้ใจ ก็สามารถสร้างรายได้ได้สูงมาก”
ไม่เพียงแต่ด้านรายได้ที่ทำให้ประหลาดใจ CNN ยังเคยบรรจุการนั่งวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯเป็นกิจกรรมท้าความตาย หมายเลข 17 ซึ่งอยู่ในบรรดากิจกรรมเสี่ยงภัยอื่นๆ เช่น ปีนเขาหัวซานในจีน ลงบ่อจระเข้ 15 นาที และสรุปสั้นๆ ว่า “Commuting on two wheels in Thailand is an adventure.”
“พอมาทำงานถ่ายภาพ เราต้องถ่ายทอดความหวาดเสียวตรงนี้ออกมา อย่างมุมที่นั่งซ้อนท้าย สมาธิของมือเราก็ต้องอยู่กับกล้อง อีกข้างหนึ่งก็ต้องอยู่กับการจับด้านหลังเพื่อไม่ให้ตก” นัฐพงษ์กล่าว
ภาพงานเสวนา: กรดล แย้มสัตย์ธรรม
04 ลงหลัก
“ผมเพิ่งไปพัฒน์พงศ์มา” ยรรยงกล่าวเรียบๆ แต่เรียกเสียงหัวเราะครืน เขาทึ่งเมื่อเห็นพ่อค้าแม่ค้าประกอบตลาดกลางคืนขึ้นภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าด้วยอุปกรณ์อย่างรถเข็น แป๊บเหล็ก และตะแกรง
“จากเดิมที่ไม่มีอะไรเลย เป็นซอยโล่ง ว่างร้าง นักท่องเที่ยวเดินมาตอนกลางวันก็คงไม่เห็นอะไร แต่ตอนกลางคืนนี่เราก็รู้อยู่” นี่คือตัวอย่างนวัตกรรมในสังคมที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครร่างแบบเอาไว้ เช่นเดียวกับขนส่งทำมือ – เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้
“อย่างแรกที่ผมสนใจคือเรื่อง blueprint อยากรู้ว่าทำไมต้องออกแบบรถเมล์แบบนี้ ต้องเป็นพื้นไม้ หรือว่าเพราะถนนมีหลุมบ่อเยอะ เหมือนกับปืนคาลาชนิคอฟ (ปืนอาก้า หรือ AK-47) ซึ่งจะต้องดูดซับแรงกระแทกได้ เราเคยนั่งรถเมล์พื้นเหล็ก รู้สึกมันสั่นมากเลย แต่กับรถเมล์พื้นไม้ ซึ่งไม้มันไม่ติดกัน มันก็ซับแรงได้ถึงจุดจุดหนึ่ง”
สำหรับกลุ่มสายลม พวกเขามองว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นการบันทึกวิถีชีวิต ความคิด และโครงสร้างที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอยู่ในกรุงเทพมหานครในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งในที่สุดก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์
—————————————————————
ขณะนี้หนังสือ Bangkok: Handmade Transit ยังเปิดให้ร่วมระดมทุนอยู่จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 มีระดับเงินระดมทุนให้เลือกตามผลตอบแทน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและตัวอย่าง 2 บทแรกได้ที่นี่
5
5
5