ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลเป็นเวลา 4 วัน 4 คืน (19-22 กรกฎาคม 2565) ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว เหล่าขุนพล ส.ส. ฝ่ายค้าน ต่างช่วยกันทำหน้าที่ซักฟอกบรรดารัฐมนตรีอย่างดุเดือดในประเด็นต่างๆ ที่แหลมคม จนมีการคาดการณ์กันว่าหลังการสัประยุทธ์ขนาดนี้ หากใครยังคงรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีเอาไว้ได้ โดยไม่ตก ‘นั่งร้าน’ ลงมาตาย ก็นับได้ว่า ‘กำลังภายใน’ กล้าแข็งมากแล้ว
ทว่าแม้การอภิปรายที่ผ่านพ้นไปได้ขุดเรื่องอื้อฉาวอย่างการทุจริตในกระทรวง เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไปจนถึงเรื่องใต้เตียง ราวกับลากมาตบหน้ากลางสี่แยก แต่กระบวนท่าตัดสินทีเด็ดทีขาดที่แท้จริงว่าใครจะหลุดจากตำแหน่งบ้าง ขึ้นอยู่กับการลงมติของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ ในเวลา 8.30 น. ของวันเสาร์ 23 กรกฎาคม 2565
WAY จะช่วยสรุปรวมข้อกล่าวหาและคำแก้ต่างที่รัฐมนตรีแต่ละท่านต้องเผชิญ เพื่อช่วยโหมโรงให้ทุกท่านร่วมลุ้นผลการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยรายนามของรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมีดังนี้
1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
4. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
5. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
8. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
9. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น
รมว.แรงงาน
- ปล่อยปละละเลยให้มีการเก็บส่วยแรงงานต่างด้าว
- หักค่าหัวคิวแรงงานไทยในต่างแดน
- เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่
- ใช้เงินกองทุนประกันสังคมปั่นราคาหุ้นในบริษัทฯ ของคู่สมรส
นายสุชาติ ชมกลิ่น เจอข้อกล่าวหาว่า ไม่สามารถบริหารจัดการการนำเข้าแรงงานข้ามชาติได้เพียงพอตาม MOU ซึ่งยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ไม่จูงใจ ทำให้เกิดการลักลอบค้าแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรการกักตัวหรือเฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 ที่ดีพอ เมื่อแรงงานเข้ามาแล้วก็มุ่งให้ไปทำงานที่จังหวัดชลบุรีก่อน ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งเป็นพรรคพวกของตน
รมว.แรงงาน ยังปล่อยให้มีการซ้ำเติมแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยหัก ‘ค่าหัวคิว’ กล่าวคือ มีการเก็บเงินประกันการไปทำงานหัวละ 3,000 บาท นับว่าสูงมากในภาวะวิกฤตโควิด-19 ทั้งๆ ที่กระทรวงแรงงานควรมีนโยบายช่วยเหลือแรงงานที่ไปทำงานหารายได้เข้าประเทศแบบฟรีๆ
นายสุชาติยังอนุมัติเงินจากกองทุนประกันสังคม ไปลงทุนซื้อหุ้นบริษัทด้านพลังงานของพวกพ้องชื่อ ‘นายสอภอ’ นักปั่นหุ่นที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งผิดหลักการที่จะต้องลงทุนในกิจการที่มีความมั่นคง ไม่มีความเสี่ยง ต่อมาเมื่อบริษัทของนายสอภอฟื้นจากติดลบ ก็ให้บริษัทลูกของตนเอง 3-4 บริษัท ซื้อหุ้นของบริษัท อรินสิริแลนด์ (ARIN) ซึ่งมีผลประกอบการติดลบมาตลอดตั้งแต่ 2562-2564
นายสุชาติและนางสาววิมลจิต อรินทมะพงษ์ ผู้เป็นภรรยา เคยถือหุ้นรวมร้อยละ 50 ใน บมจ. ARIN ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในชลบุรีและภาคตะวันออก เมื่อรับตำแหน่ง รมว. นายสุชาติก็ได้โอนหุ้นให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนฯ แต่นางสาววิมลจิตยังคงนั่งบริหารต่อไป การกระทำของนายสุชาติจึงอาจเข้าข่ายใช้ตำแหน่งหน้าที่ปั่นหุ้นและมีผลประโยชน์ทับซ้อน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข
- นโยบายเสรีกัญชาไร้การควบคุม
- บิดเบือนข้อมูลทางการแพทย์
- ส่อเอื้อทุนใหญ่ กีดกันรายย่อย
ส.ส. ฝ่ายค้านรุมอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในประเด็นนโยบาย ‘เสรีกัญชา’ ซึ่งเสรีมากเกินไปและไร้การควบคุม จนก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมมากว่าผลดี
การถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติดขัดกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษที่ไทยทำกับองค์การสหประชาชาติ (UN) แม้อนุทินจะอ้างว่าออกแบบนโยบายมาเพื่อให้ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ UN อนุโลมให้ประเทศภาคี แต่กลับไม่มีการออกกฎหมายควบคุมหรือก่อตั้งองค์กรเฉพาะมารองรับ เพื่อควบคุมกำกับการปลูก จำหน่าย หรือใช้งาน กลับมีเพียงการประกาศกฎกระทรวง เช่น ห้ามสูบในที่สาธารณะ ซึ่งแทบบังคับใช้ไม่ได้จริง จนการเสพกัญชาแพร่กระจายเกลื่อนเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
ขณะเดียวกัน นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ขยี้ซ้ำเรื่องการบิดเบือนประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชา และชี้ว่ากัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาล โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ากัญชาสามารถรักษากลุ่มโรคระบบประสาท อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล และโรคปลอกประสาทอักเสบ อย่างไรก็ดี สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงสรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากัญชาสามารถรักษาโรคเหล่านี้ ซ้ำรายอาจก่อผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
นอกจากนี้ การโพนทนาว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่ประชาชนสามารถปลูก จำหน่าย แปรรูป หรือส่งออก กลับเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะขั้นตอนการขอใบอนุญาตมีความซับซ้อนและยากเกินกว่าที่ชาวบ้านจะทำได้ หากมิใช่นายทุนรายใหญ่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รมว.คมนาคม
- ซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
- ตั้ง ‘นอมินี’ รับงานคมนาคม
- รุกที่ดินเข้ากระโดง ละเลยคำสั่งศาล
- โครงการ ‘MR-Map’ อภิมหาโปรเจกต์สร้างหนี้
- ถนนทุกสายมุ่งสู่ ‘ชิดชอบบุรี’
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และครอบครัว ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่รวม 5,083 ไร่ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงเข้าข่ายบุกรุกที่ดินของรัฐ แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาและ ป.ป.ช. มีมติให้ รฟท. แจ้งกรมที่ดินเพื่อเพิกถอนโฉนดแล้ว แต่ รฟท. ซึ่งเป็นหน่วยงานใต้กำกับของ รมว.คมนาคม ยังเล่นแง่หลายครั้ง จนที่ดินยังอยู่ในมือตระกูลชิดชอบ
โดยเฉพาะโฉนดที่ 3466 กับ 8564 ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านพักศักดิ์สยาม บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งเคยบริจาคให้พรรคภูมิใจไทยบริษัทละ 4.8 ล้านบาท โดยนายศักดิ์สยามเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทบุรีเจริญ ก่อนจะโอนหุ้นทั้งหมดให้นาย A ในปี 2561 ก่อนเข้ารับตำแหน่ง รมว.
สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า นาย A อาจเป็นเพียง ‘นอมินี’ ที่ศักดิ์สยามตั้งขึ้นมาบังหน้า เพื่อให้สามารถรับตำแหน่ง รมว. ไปพร้อมๆ กับเข้าประมูลงานในกระทรวงที่ตนมีอำนาจโดยตรง นับเป็นเรื่องร้ายแรงไม่น้อยเพราะไม่เพียงปกปิดทรัพย์สินก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง แต่ยังเข้าข่าย ‘ฮั้วประมูล’ เอื้อให้บริษัทชนะการประมูล รับเงินจากรัฐอย่างง่ายๆ
นอกจากนี้ รมว.คมนาคม ยังถูกซักฟอกเรื่องอภิมหาโปรเจกต์ ‘MR-Map’ มูลค่ากว่า 5.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นแผนแม่บทคมนาคมขนาดใหญ่ที่จะสร้างถนน รางรถไฟ และรางระบายน้ำ 9 เส้นทางทั่วไทย โดยทั้งหมดเป็นการสร้างในเขตทางเดียวกัน จึงถูกวิจารณ์ว่าซ้ำซ้อน เกินความจำเป็น และไม่คุ้มค่า และคงไม่มีนักลงทุนเอกชนรายใดกล้าเสี่ยง สุดท้ายรัฐและประชาชนต้องแบกรับหนี้จนหลังแอ่น
ท้ายสุด นายศักดิ์สยามถูกกล่าวหาว่ามีวาระซ่อนเร้นในการเร่งรัดการพัฒนา โดยเน้นให้โครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมต้องผ่านบริเวณบ้านตนในบุรีรัมย์ก่อน ซึ่งเป็นการเอื้อให้ประโยชน์แก่ตระกูลชิดชอบ สมคำเรียกขานว่า ‘ชิดชอบบุรี’
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- ปล่อยปละละเลยอาชญากรรมออนไลน์
- แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาด
- ‘เพกาซัส’ สปายแวร์สอดแนมประชาชน
- ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ไม่มีความสามารถในการทำงาน ละเลยการปฏิบัติหน้าที่และความพยายามในการแก้ไขปัญหา จนทำให้มีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
รมว.ดีอีเอส ยังปล่อยให้มีการใช้อำนาจรัฐสอดแนมประชาชน ผ่านการใช้งานสปายแวร์ที่ชื่อ ‘เพกาซัส’ ซึ่งสามารถโจมตีอุปกรณ์สื่อสารจากระยะไกลด้วยวิธี Zero-click แทรกซึมเข้าไปทางโทรศัพท์มือถือของผู้ถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัว โดยเหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่มีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย สนับสนุนการปฏิรูปการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ตาม แม้การชี้แจงในรอบแรก ชัยวุฒิจะยอมรับว่าสปายแวร์ดังกล่าวมีจริง แต่ภายหลังกลับปฏิเสธว่ากระทรวงดีอีเอสไม่รู้เรื่อง ไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้ โดยอ้างว่าเพกาซัสน่าจะถูกใช้งานด้านความมั่นคงหรือด้านยาเสพติดมากกว่า ซึ่งตนไม่มีอำนาจ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์
- ทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง 2,000 ล้านบาท
ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ว่า ปล่อยปละละเลยไม่ติดตามกรณีทุจริตจัดซื้อถุงมือยางบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่า 2,000 ล้านบาท แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 2 ปีแล้วก็ยังตามเอาเงินคืนไม่ได้
นายประเสริฐอภิปรายว่า บุคคลที่เกี่ยวพันกับคดีนี้ ได้แก่ นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานบอร์ดองค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งอยู่ใต้กำกับของนายจุรินทร์ และนายธณรัสย์ หัดศรี เจ้าของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด คือหมากสำคัญที่ถูกวางไว้ เพื่อไม่ให้สามารถสืบสาวถึงตัวนายจุรินทร์ได้โดยตรง และยังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีส่วนต้องรับผิดชอบ เนื่องจากเพิกเฉยต่อการทุจริตครั้งใหญ่นี้ ไม่ยอมปลดนายจุรินทร์ออกจากตำแหน่ง เพราะเกรงว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่พอใจแล้วส่งผลกระเทือนต่อสถานะนายกรัฐมนตรีของตัวเอง
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ได้ชี้แจงว่า การทุจริตเกิดจากการทำสัญญาของอดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. ซึ่งตนได้เริ่มกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัติบัญชีในทันทีที่ทราบเรื่อง ไม่ได้ทอดเวลาตามที่โดนกล่าวหา นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ยังย้อนความไปถึงการทุจริตจำนำข้าวที่เกิดในยุครัฐบาลเพื่อไทยว่า ทำให้ประเทศเสียหายและเป็นเงินที่ต้องทวงคืนกลับมา
นายนิพนธ์ บุญญามณี
รมช.มหาดไทย
- ออกโฉนดที่ดินฮั้วนายทุนและพวกพ้อง
นายนิพนธ์ บุญญามณี ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมที่ดินภายใต้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีศูนย์อำนวยการอยู่ถึง 12 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ทำกินของประชาชนอย่าง ‘โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน’
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาการออกโฉนดที่ดินอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่และพังงา โดยที่ดินจำนวนมากถูกอนุมัติให้เอกชนรายใหญ่และกลุ่มเพื่อนพ้องของนายนิพนธ์ ขณะเดียวกันก็มีหลักฐานการเป็นตัวแทนซื้อที่ดินเพื่อมอบให้นักการเมืองถูกบันทึกเป็นคลิปเสียงไว้อีกด้วย
นายสันติ พร้อมพัฒน์
รมช.คลัง
- เอื้อประโยชน์ให้เอกชนในโครงการท่อส่งน้ำ EEC
- ไม่เปิดประมูล แต่ใช้กรรมการคัดเลือก
- แก้ TOR เอื้อผลประโยชน์เอกชน
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในประเด็นการคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
เดิมบริษัท East Water เป็นผู้รับสัมปทานเครือข่ายท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก ภายใต้การควบคุมดูแลของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) แต่หลังจากหมดสัญญา ก็ได้มีการคัดเลือกบริษัทขึ้นใหม่โดยมติเห็นชอบของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ซึ่งมีนายสันติเป็นประธาน และใช้วิธีการคัดเลือกโดยไม่มีการประมูลงานตามปกติ
ในการคัดเลือกครั้งที่ 1 บริษัท East Water ได้รับเลือกให้ทำสัญญาต่อ แต่กลับมีการล้มกระดานและแต่งตั้งคณะกรรมคัดเลือกฯ ใหม่ทั้งชุด จนได้คู่สัญญาใหม่ คือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยในกระบวนการคัดเลือกรอบใหม่นี้ยังมีการปรับปรุงร่างขอบเขตงาน (TOR) เอื้อผลประโยชน์แก่เอกชนมากกว่ารัฐ เช่น ลดความเข้มงวดในการประเมินงานด้านเทคนิคของบริษัท
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการลงท่อน้ำเพิ่มเองเพื่อผันน้ำมาจากพื้นที่อื่น ทำให้ท่อมีความยาวกว่า 360 กม. มูลค่าการลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะที่ความยาวท่อเดิมซึ่งกำหนดโดยกรมธนารักษ์มีขนาด 135.9 กม. มูลค่าโครงการ 2,800 ล้านบาท ทั้งหมดนี้จึงถือว่าเป็นการบิดเบือนเพื่อหลบเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
“ผมถามจริงๆ เถอะท่านยุทธพงศ์ ท่านไปรู้ข้อมูลมากกว่าผมได้อย่างไร”
นายสันติตั้งคำถามกลับ พร้อมชี้แจงต่อว่า ตนไม่ได้ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ หากแต่ทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติต่างหาก ในทางกลับกัน ผู้อภิปรายเองที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ แต่กลับพูดโน้มเอียงไปทาง East Water ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมาแทบให้ผลตอบแทนรัฐน้อยมาก (ไม่ถึง 600 ล้านบาท) ส่วนในกรณีลงท่อเพิ่มเติมของบริษัท East Water ตนก็ไม่ทราบว่ากระทำโดยได้รับอนุญาตหรือไม่ แต่หากมีสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กรมธนารักษ์ก็พร้อมจะเร่งเข้าตรวจสอบแก้ไขเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
นายจุติ ไกรฤกษ์
รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ‘โครงการเคหะสุขประชา’ แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์
- ตั้งบริษัทลูก รับเหมา เก็บค่าเช่า ดันเข้าตลาดหุ้น
- ขายแนวคิด ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ หลอกคนจนมาเช่าซื้อโครงการ
- แสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่เพื่อตนเองและพวกพ้อง
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เปิดโปงมหกรรมโกงกินครั้งใหญ่ของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหัวเรือใหญ่
นายจุติมีการแต่งตั้งคนสนิทอักษรย่อ ‘นายจรร.’ ซึ่งมีประวัติไม่ชอบมาพากลด้านการปั่นหุ้น ขึ้นนั่งบอร์ดของการเคหะฯ แล้วร่วมกันปิ๊งไอเดียโครงการ ‘เคหะสุขประชา’ เปลี่ยนจากโครงการสร้างบ้านขายมาเป็นสร้างบ้านเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย ‘เช่า’ แทน โดยสร้างปีละ 20,000 ยูนิต รวม 5 ปี เป็น 100,000 ยูนิต
การทุจริตส่อแววออกมาตั้งแต่กระบวนการจัดทำโครงการ เพราะมีการแยกส่วนโครงการถมดินกับโครงการก่อสร้างออกจากกัน ซึ่งนับว่าผิดวิถีของการเคหะฯ เห็นได้จากการถมดินแล้วปล่อยทิ้งไว้ แต่ไม่มีการก่อสร้างนานนับปี
และเนื่องจากเกรงว่าโครงการจะไม่ผ่าน จึงมีการแอบอ้างโครงการเคหะสุขประชาจัดทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เปิดตัวเฟสใหม่ของโครงการในวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 พร้อมทั้งนำการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสานเข้ามาให้ผู้เช่าโครงการทำ เช่น ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ปลูกผัก ปลูกเลม่อน แล้วเอารายได้มาคำนวณเพิ่มตัวเลขรายได้ของโครงการอีกที นอกจากนี้ยังมีการอ้างคำว่า ‘โครงการนำร่อง’ เพื่อให้ไม่ต้องส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ไม่เพียงเท่านั้น นายจุติยังตั้งบริษัทลูกของการเคหะฯ ขึ้นมาใหม่ ชื่อ บมจ. เคหะสุขประชา แทนที่บริษัทเดิมอย่าง บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด หรือ ‘เซ็มโก้’ เพื่อรับเหมาก่อสร้างและดูแลผลประโยชน์เก็บค่าเช่า แล้วผลักดันเข้าตลาดหุ้นเพื่อให้ตนและเครือข่ายสามารถเข้าไปถือหุ้นหาผลประโยชน์ได้ แม้จะหมดวาระการเป็น รมว. ไปแล้วก็ตาม เพราะผู้ถือหุ้นเซ็มโก้ไม่เอาด้วย นี่จึงเป็นที่มาของการแต่งตั้งนายจรร. ให้มีบทบาทสำคัญ เพื่อจะดึงเคหะสุขประชาออกจากเซ็มโก้
นายจุติอธิบายว่า การเคหะแห่งชาติจำเป็นต้องนำทรัพย์สินที่ไม่เกิดรายได้มาแปรรูปให้เกิดมูลค่ามากขึ้น เนื่องจากมีภาระหนี้สินมากถึง 35,000 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีกว่า 600 ล้านบาท ในขณะที่ยังต้องต่อสู้กับนายทุนต่างๆ ที่พร้อมเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์
นายจุติยืนยันว่า คณะกรรมการของการเคหะฯ ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างชอบธรรม จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้มีคดีติดตัวจะเข้ามานั่งในตำแหน่งได้ ในขณะเดียวกัน ผู้ว่าการเคหะฯ คนก่อนที่ลาออกไปก็เป็นเพราะปัญหาสุขภาพ ไม่ใช่เพราะว่าตนใช้อำนาจบีบให้ออก แล้วเอาคนสนิทเข้าแทนอย่างที่กล่าวอ้าง
ท้ายสุด เขาตอบข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่างการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า เป็นการกระทำที่ทำด้วยใจ ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์
“พรรคของผมไม่เคยมีคดีล้มล้างการปกครอง ไม่เคยมีคดีล้มเจ้าแน่นอน” นายจุติกล่าวอย่างจงรักภักดี
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
รมว.มหาดไทย
- มท.1 งาบน้ำประปา
- ต่อสัญญาให้เอกชนอีก 20 ปี
นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส. เลย พรรคเพื่อไทย อภิปรายกล่าวหา ‘มท.1’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ว่ามีส่วนร่วมในมหากาพย์การโกงกินน้ำประปา
นายเลิศศักดิ์อธิบายถึงรูปแบบการทำสัญญาแบบ ‘Boot’ ซึ่งเป็นการให้สิทธิเอกชนออกแบบ ผลิต และจำหน่ายน้ำประปา เมื่อครบสัญญาต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้ กปภ. โดยทำสัญญากัน 25 ปี ซึ่งสัญญาครั้งล่าสุดอนุญาตเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2538 และจะหมดสัญญาในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 โดย กปภ. จะซื้อน้ำจากเอกชนมาขายต่อในราคาเป็นมิตรแก่ประชาชนตลอดระยะสัญญา
เมื่อใกล้สิ้นสุดสัญญาที่เอกชนจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนแก่ กปภ. เพื่อให้ กปภ. ตัดสินใจว่าจะบริหารจัดการเองหรือจะเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งผู้ว่าฯ กปภ. และ รมว. มหาดไทย ได้ลงมติเห็นชอบไว้แล้ว ทว่าในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานบอร์ด กปภ. ในขณะนั้น ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ได้จัดตั้งและเสนอชื่อบอร์ดชุดใหม่ในที่ประชุม ครม. และต่อสัญญาซื้อน้ำประปาจากเอกชนรายเดิมไปอีก 20 ปี โดยอ้างความเห็นจากฝ่ายเอกชนเพียงฝ่ายเดียว นายเลิศศักดิ์จึงตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการโยกย้ายบุคลากรที่เกิดขึ้นอาจหวังผลอะไรบางอย่าง
ทั้งนี้ เลิศศักดิ์ได้ระบุว่า จากการสำรวจความพึงพอใจในการใช้บริการของประชาชนในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต ปรากฏว่ามีคนกว่า 97.18 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้ กปภ. รับกิจการมาดำเนินการเองมากกว่าปล่อยให้เอกชนทำต่อ เพราะกังวลว่าจะกระทบกับราคาน้ำที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม พล.อ.อนุพงษ์ ได้ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนผู้รับเหมาน้ำโครงการน้ำประปานี้อย่างแน่นอน ทั้งยังโต้ประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตนั้นเป็นความเท็จ ตราบใดที่ตนยังมีอำนาจจัดการอยู่จะไม่มีแก้สัญญาใดๆ ทั้งสิ้น
“ขอยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ ผมยังเห็นชอบให้การประปาทำเองอยู่ ไม่ทราบว่าท่านไปเอามาจากไหนว่าผมจะไปเปลี่ยน ผมยืนยันว่าผมได้ให้ความเห็นชอบไปตามนี้ การประปาต้องเป็นไปตามสัญญา”
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี
- แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน
- อำพรางทรัพย์สิน หลบเลี่ยงการตรวจสอบ
- ใช้อิทธิพลแทรกแซง ป.ป.ช.
- แสวงหาผลประโยชน์จากขบวนการค้ายาเสพติด
วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยถูกอภิปรายมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากสืบต่อจนพบว่านาฬิกาแทบทุกเรือนเป็นรุ่นใหม่ที่ซื้อจากต่างประเทศ แต่ ป.ป.ช. กลับเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร ยืมมาจากเพื่อนจริงๆ จึงไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สิน
ย้อนกลับไปในปี 2561 มีการตรวจสอบบัญชีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร กว่า 20 เรือน แต่กลับหาไม่พบ 3 เรือน จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าจะเกิดการอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ป.ป.ช. ไม่พบข้อมูลการนำเข้า และกรมศุลกากรก็ไม่มีข้อมูลการเสียภาษี ป.ป.ช. จึงติดต่อไปยังบริษัทนาฬิกาต่างประเทศเพื่อขอความร่วมมือ แต่กลับเป็นการส่งหนังสือไปเฉยๆ ไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมายอย่างทางการ ซึ่งโดยปกติไม่มีใครเขายอมเปิดเผยข้อมูลทางการค้าเช่นนี้
ในเวลาต่อมา ป.ป.ช. มีมติให้ยุติคดีนี้โดยไม่รอข้อมูลจากต่างประเทศ แล้วสรุปว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นของเพื่อน พล.อ.ประวิตร จริง ซึ่งนายธีรัจชัยให้ข้อมูลเพิ่มว่า ป.ป.ช. เข้าตรวจสอบล่าช้ากว่า 2 เดือน จึงอาจมีการอำพรางคดีในระหว่างนั้น และทำให้ตั้งข้อสงสัยได้อีกว่า พล.อ.ประวิตร อาจใช้อิทธิพลบารมีแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. เพื่อไม่ให้ตนมีความผิด
นอกจากนี้ นางมนพร เจริญศรี ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ยังได้อภิปรายถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ล้มเหลวของ พล.อ.ประวิตร ทำให้ยาบ้าราคาถูกลงจนระบาดทั่วประเทศ และยังมีการแสวงหาผลประโยชน์ในขบวนการยาเสพติดโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของชาติ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ตอบกลับว่า ยังคงปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวดและรัดกุม และสามารถทลายเครือข่ายค้ายาได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
ส่วนประเด็น ‘แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน’ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนไม่ขอออกความเห็น เพราะไม่สามารถไปก้าวล่วงอำนาจการทำงานของ ป.ป.ช. ได้ และยังกล่าวอีกว่า คงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ตนเองก็มีเพื่อนที่ดี ซึ่งสามารถแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ให้กันได้
“ผมจะมีเพื่อนดีสักคน คุณคงไม่เคยมีนะครับ”
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
- ปล่อยเครื่องบินรบเมียนมารุกล้ำน่านฟ้า
- ส่อเอี่ยวอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมา
- ‘สร้างก่อน เซ็นทีหลัง’ กองทัพล็อกผลประมูลเอื้อผู้รับเหมา
- ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา เสี่ยงแพ้คดี เสี่ยงจ่ายค่าโง่มหาศาล
- ‘ตั๋วช้าง ภาค 2’ ทุจริตกองบินตำรวจ
- อยู่เกินวาระ 8 ปี
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการของเมียนมา จะทำให้ประเทศไทยมีสถานะตกต่ำในเวทีโลก โดยเฉพาะการปล่อยให้เครื่องบินรบของเมียนมารุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าและเข่นฆ่าประชาชนเมียนมานับสิบราย เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในฐานะรู้เห็นเป็นใจให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวตามกฎหมายระหว่างประเทศ ARSIWA มาตรา 16
ทางด้าน อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พูดถึงกรณีความผิดปกติในการประมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำลายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ บริเวณวงเวียนหลักสี่ ที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ามีลักษณะของการล็อกผลประมูลให้กับผู้รับเหมาเพียงบางราย
จากการตรวจสอบยังพบว่า ผู้รับเหมาได้เริ่มเข้าดำเนินการรื้อถอนอนุสาวรีย์ก่อนที่จะมีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาถึง 15 เดือน นอกจากนี้ การสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่จะนำมาแทนที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่เพิ่งทำการรื้อถอนออกไป ก็เกิดขึ้นก่อนจะรู้ผลว่าใครชนะการประมูลถึง 7 เดือน อมรรัตน์จึงเรียกว่าเป็นการ ‘สร้างก่อน เซ็นทีหลัง’ ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรนอกจากการล็อกผลประมูลไว้ล่วงหน้า
ฝ่ายค้านยังรุมจวกนายกฯ ไม่ยั้ง ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยส่ง จิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจในกรณีใช้มาตรา 44 และมติ ครม. 10 พฤษภาคม 2559 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำอัครา แม้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศจะคัดค้าน เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเหมืองทองอัคราสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังดึงดันจะใช้ ม. 44
การใช้กฎหมายที่มีความเผด็จการในขณะที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด จำกัด ของออสเตรเลีย เจ้าของสัมปทานเหมือง โดยมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะแพ้คดีสูงจนต้องจ่ายเงิน ‘ค่าโง่’ ชดเชยจำนวนมหาศาล
รังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ กรณีปล่อยให้มีการทุจริตของกองบินตำรวจ รวมถึงยังปล่อยให้มีการใช้ ‘ตั๋วช้าง’ ภาค 2 ในนามของการถวายการเดินทางให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย
รังสิมันต์พูดถึงกรณีใช้จ่ายงบประมาณเกินตัวจนเป็นหนี้มหาศาลของกองบินตำรวจภายใต้น้ำมือของ พล.ต.ต.กําพล กุศลสถาพร ผู้บังคับบัญชากองบินฯ ในขณะนั้น ซึ่งได้รับงบประมาณประจำปี 2563 สำหรับโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน 950 ล้านบาท โดยทำสัญญาว่าจ้างการบินไทย
อย่างไรก็ดี พล.ต.ต.กำพล ก็ได้ก่อหนี้มากถึง 1,824 ล้านบาท ซึ่งงบหลายส่วนไม่เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบินแต่อย่างใด อาทิ ระบบไฟฟ้าไล่นก 5 ล้านบาท ซึ่งตรวจสอบแล้วกลับพบเพียงตาข่ายคลุมเครื่องบินที่มีราคาขายในอินเทอร์เน็ตเพียงหลักแสนเท่านั้น จึงเกิดข้อสงสัยว่าคงเกิดการทุจริตขึ้นเป็นแน่
แต่เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนข้อเท็จจริง กลับไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆ ที่ พลต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. และ พล.อ.ประยุทธ์ ต่างก็ทราบเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ผลักดันเรื่องให้เร็วขึ้น ในทางกลับกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้อนุมัติให้นำเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินไปจ่ายหนี้แก่ สตช. โดยอ้างว่ามีเหตุจำเป็น
นอกจากนี้ พล.ต.ต.กำพล ยังมีเอี่ยวในการทุจริตที่เกิดขึ้นอื่นๆ อีก เช่น การแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานอย่างไม่เหมาะสม คิดเป็นมูลค่า 1,157 ล้านบาท แต่เป้าหมายการทำสัญญาครั้งนี้ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนอะไหล่กับเศษเหล็ก หากแต่เป็นการฮั้วกันเพื่อเอาอะไหล่ราคาแพงไปขายในราคาเศษเหล็ก
รังสิมันต์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ รู้ปัญหาดีมาตลอด เพราะเป็นผู้เซ็นรับทราบเอง แต่กลับปล่อยปละให้มีการทุจริต เขาตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะ พล.ต.ต.กำพล ได้รับตำแหน่งใหม่ที่ใกล้ชิดกับพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรูปแบบใหม่ของ ‘ตั๋วช้าง’ ที่สร้างปัญหาให้วงการตำรวจมาอย่างยาวนาน
และหมัดน็อคสุดท้ายก็มาถึง เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากนายกฯ โดยอ้างมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า
“นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งจะครบ 8 ปีเต็มในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ นั่นหมายความว่าเขาเหลือระยะเวลาดำรงตำแหน่งอีกเพียง 32 วันเท่านั้น