Before Vanish: บันทึกบน ‘เรือช้าหลวงพระบาง’ ก่อนสรรพสิ่งจะจมลงใต้เขื่อนแม่นํ้าโขง

อีกเพียงชั่วอึดใจ เรือช้า (slow boat) จากเมืองห้วยทรายจะเทียบท่าที่เมืองหลวงพระบาง หลังจากใช้ชีวิตอยู่บนเรือล่องนํ้าโขงมาเป็นเวลากว่า 2 วัน 

ในโมงยามที่อาทิตย์อัสดง สาดแสงสีทองลงบนผืนนํ้าเป็นประกายระยิบระยับ นํ้ากระเซ็นซ่านออกทางด้านข้างของเรือช้าที่แหวกผิวนํ้าไปยังเมืองมรดกโลกที่งดงาม เงียบสงบในความคิดเห็นของใครหลายคน ภาพความทรงจำเมื่อเหลียวกลับไปมองที่ท้ายเรือ อาจเป็นภาพสุดท้ายของสรรพสิ่งที่กำลังสูญหายไปกับ ‘วาทกรรมการพัฒนา’ (development discourse) ผลิตผลล้าหลังแห่งยุคสงครามเย็นที่ยังคงชี้นำประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในเอเชียอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

 

 

อาศรมท้ายเรือ

พื้นที่ท้ายเรือช้าค่อนข้างเงียบสงบ ไม่มีคนพลุกพล่านนอกจาก 4 สมาชิกครอบครัวชาวลาวจากเมืองห้วยทรายกำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองหลวงพระบาง เพื่อไปงานดองหรืองานแต่งงานของน้องสาวภรรยาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า 

ผมถามพวกเขาว่า ทำไมถึงนั่งเรือช้าไปหลวงพระบาง ซึ่งใช้เวลาตั้ง 2 วันกว่าจะถึง พวกเขาตอบกลับมาว่า “นั่งรถมันเมื่อย ไม่สบายตัวเท่าไร นั่งเรือสบายกว่า ถือว่าพาลูกมาเที่ยวด้วย” คำถามจึงดำเนินต่อไปว่าแล้วนั่งรถใช้เวลาเท่าไร “11 ชั่วโมง” พวกเขาตอบ แม้ว่าการนั่งรถจะรวดเร็วกว่า แต่ก็คงได้คำตอบแล้วว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการนั่งเรือชมสองริมฝั่งโขงเพื่อชมความงดงามของลำนํ้าโขงอย่างที่ไม่มีใครได้เห็นบ่อยนัก ผมจึงจับจองพื้นที่ตรงนี้อยู่ตลอดการเดินทาง นั่งอิงหมอนจิบสุราต้มในขวดนํ้าเปล่าอย่างเพลิดเพลิน ประหนึ่งนั่งอยู่ในอาศรมบำเพ็ญเพียร 

เรือช้าเพิ่งแล่นออกจาก ‘ถํ้าติ่ง’ (Tham Ting) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวลาว จุดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ไกลจากตัวเมืองหลวงพระบาง ภายในเต็มไปด้วยพระพุทธรูปโบราณนับพันองค์ สะท้อนความเป็นเมืองหลวงพระบางในฐานะศูนย์กลางศิลปะและวัฒนธรรมของลาว อีกทั้งวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายนํ้าโขงทั้งการประมงนํ้าจืดและการเกษตร ความรุ่มรวยเช่นนี้ได้ประกอบร่างหลอมรวมกัน จนทำให้เมืองหลวงพระบางได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขึ้นทะเบียนเป็น ‘เมืองมรดกโลก’ (World Heritage Site) ในปี 2538

ผมหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบเคล้าบรรยากาศ หันมองจากอาศรมออกไปทางท้ายเรือด้วยระยะ 180 องศาแนวนอน ทั้งเหลือบซ้ายเหลือบขวา ทำให้หยุดคิดชั่วขณะกับภาพที่เห็นตรงหน้า อันเป็นเวิ้งนํ้ากว้างใหญ่ที่อีกฟากขวามือคือ เมืองปากอู (Pak Ou) ตั้งอยู่บริเวณปากแม่นํ้าอูที่ไหลลงมาสบแม่นํ้าโขง ทำให้รู้ว่า ทำไมแม่นํ้าโขงบริเวณนี้มันช่างกว้างใหญ่ ไม่เหมือนกับแม่นํ้าโขงในบริเวณอื่นๆ ที่เคยเห็นมาทั้งชีวิต 

แต่ในอีกชั่วขณะหนึ่ง เรือช้าได้ตีโค้งเข้ากลางลำนํ้าพอดี ความชัดลึกของสายตาตรงหน้าอันไกลลิบนั้นคือ ‘เขื่อนหลวงพระบาง’ โครงการเขื่อนพลังงานนํ้าเพื่อการผลิตไฟฟ้า (Luang Prabang Hydropower Project: LPHP) ขนาด 1,460 เมกะวัตต์ ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วราวร้อยละ 30 โดยบริษัทก่อสร้างสัญชาติไทย ผ่านการให้สินเชื่อโครงการ (project finance) โดยธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทย พร้อมด้วยกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทยเข้าไปถือหุ้นโครงการร่วมกับบริษัทสัญชาติประเทศต้นนํ้าโขงที่ร่ายโวหารว่า ‘เราดื่มนํ้าสายเดียวกัน’ 

เขื่อนแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับรัฐวิสาหกิจไทย จากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 โดยลงนามในข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นเวลา 35 ปี เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย ขณะที่ข้อมูลอีกด้านเผยว่า คนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากพลังงานสำรองที่ล้นเกินความจำเป็นเหล่านี้ 

ผมยื่นคอออกไปทางด้านหน้าเรือ เกาะแก่งบนแม่นํ้าโขงบริเวณปากอูโผล่พ้นนํ้าขึ้นมาให้เห็นเป็นระยะ บอกให้เรารู้ว่าแม่นํ้าไหลลงจากที่สูงสู่ที่ตํ่า เกิดเป็นวังนํ้าวนไปทั่วบริเวณ หมู่ปลา ฝูงนก ได้อาศัยเกาะแก่งเหล่านี้เป็นที่พักพิงตามฤดูกาลต่างๆ ที่ได้สร้างระบบนิเวศอันสมบูรณ์ขึ้นมา กลับกันคลื่นแห่งวาทกรรมการพัฒนาที่อยู่เหนือแม่น้ำขึ้นไป กำลังจะซัดเมืองหลวงพระบางที่อยู่ห่างออกไปเพียง 25 กิโลเมตรจากท้ายเขื่อน ให้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากอุทกภัยในช่วงนํ้าหลากจากการปล่อยนํ้าจากเขื่อน และอาจต้องจมไปกับมวลน้ำในที่สุด หรือในบางฤดูกาลอาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งจากการเก็บกักนํ้าเหนือเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในหน้าแล้ง โดยที่คนตัวเล็กตัวน้อยต้องยอม ‘เสียสละ’ เพื่อความมั่งคั่งของกลุ่มทุนเหล่านั้น

โชคดีมี ‘ไซ’ ใหญ่หลวง 

ไซดักปลาแขวนอยู่ทางขวาของประตูบ้านนับสิบอัน ผมจึงถามชาวบ้านไปว่า “ทำไซดักปลาไปขายแม่นบ่” เขาตอบกลับมาว่า “บ่แม่น ทำไซสำหรับการขึ้นบ้านใหม่ คนในหมู่บ้านมาจ้างทำ” ไซที่ว่านี้คือ เครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อของชาวลาวเมื่อต้องขึ้นบ้านใหม่ โดยไซขนาดประมาณ 30-40 เซ็นติเมตรนี้ จะถูกแขวนที่หน้าประตูบ้านเพื่อเรียกทรัพย์สินโชคลาภ อีกทั้งคำว่า ‘ไซ’ (ໄຊ) คือ เครื่องมือดักปลา ในภาษาลาวนั้นพ้องทั้งรูปและเสียงกับคำว่า ‘ไซ’ ที่แปลว่า ชัย ชัยชนะ การติดไซที่หน้าบ้านก็เหมือนวลีที่ว่า “ມີໂຊກໄຊ ໃຫຍ່ຫລວງ” หรือ “มีโชคชัย ใหญ่หลวง” 

บ้านลาดหาน (Lat Han) แขวงอุดมไซ (Oudomxay) หมู่บ้านขนาดใหญ่กว่า 200 หลังคาเรือน ตั้งอยู่เหนือเขื่อนหลวงพระบางเพียง 6 กิโลเมตร (ใช้เวลาเดินทางทางเรือราว 20 นาที) ภาพเบื้องหลังท้ายหมู่บ้านคือความเจริญอันรุดหน้าแบบเหยียบคันเร่งสูงสุดของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นั่นคือ สะพานรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่ปรากฏให้เห็นพร้อมขบวนรถไฟความเร็วสูงที่พุ่งทะยานไปสู่เมืองบ่อเต็น สามารถข้ามพรมแดนไปจนถึงเมืองคุนหมิงในประเทศจีน ทะลุอุโมงค์ที่กัปตันเรือว่ายาวที่สุดมาหมาดๆ ผมจึงรีบคว้ากล้องบันทึกภาพไว้ได้ทัน เพียงไม่กี่วินาทีรถไฟขบวนสีเขียวนั้นก็ไปหายไปเรียบร้อยแล้ว 

ในชั่วเวลาไม่นานนัก คลื่นการพัฒนาด้วยอัตราเร่งสูงสุดก็ได้ซึมซาบเข้าสู่บ้านลาดหาน เหมือนระดับนํ้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนหมู่บ้านนี้ต้องจมอยู่ใต้บาดาลในฐานะอ่างเก็บนํ้าของเขื่อนหลวงพระบาง หากการก่อสร้างเสร็จสิ้นตามแผนคือปี 2573 

ในช่วงปี 2568-2569 ที่จะถึงนี้ ชาวบ้านลาดหานจะต้องละทิ้งถิ่นที่อาศัยและที่ทำกินเดิมของตนไป อพยพโยกย้ายขึ้นไปอยู่บนที่สูง สูงกว่าสันเขื่อนที่ 317 เมตรจากระดับนํ้าทะเล คือ ภูเขาท้ายหมู่บ้าน พวกเขาจะต้องละทิ้งวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายนํ้าไว้เบื้องหลัง ปราศจากหลักประกันใดว่า ชีวิตของพวกเขาจะมี ‘โชคชัยใหญ่หลวง’ เหมือนกับเครื่องรางที่แขวนอยู่หน้าประตูบ้านหรือไม่ 

เหนือขึ้นไปบนประตูบ้าน ผู้แทนบริษัทพัฒนาเขื่อนหลวงพระบางและเจ้าหน้าที่รัฐ ตีสัญลักษณ์ว่าผู้แทนบริษัทและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำเครื่องหมายเลขที่กำกับการสำรวจเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ชาวบ้านจะต้องย้ายออกไปยังพื้นที่จัดสรรใหม่ที่รัฐเตรียมไว้ให้ภายใน 2 ปีนี้

สมองภายในหัวกำลังประมวลผลว่า ถ้าพวกชาวบ้านถูกบังคับให้พลัดถิ่น (forced displacement) บ้านใหม่ของพวกเขาจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร ผมจึงถามชาวบ้านคนหนึ่งและได้คำตอบว่า “บ้านใหม่จะมีขนาดเล็กกว่าบ้านหลังนี้ เพราะถูกตีว่าเป็นบ้านประเภทที่ 1 ก็จะได้พื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร”

ข้อมูลตรงนี้ได้นำพาไปสู่การสืบค้นว่าค่าชดเชยมีมูลค่าเท่าไร ข้อค้นพบจากงานศึกษาของนักวิชาการด้านกฎหมายที่เชี่ยวชาญประเด็นที่ดินและการชดเชยเยียวยาในลาว ตีพิมพ์การศึกษาผ่าน Heinrich Böll Stiftung พบว่า ที่ดินและสิ่งปลูกติดริมถนนใหญ่มีมูลค่าชดเชย 150,000 กีบ หรือประมาณ 238 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น ที่ดิน เรือกสวน และนาข้าว ยังถูกตีมูลค่าเพียง 3,000 กีบ หรือ 5 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น ราคาถูกยิ่งกว่า ‘เฝอ 1 ชาม’ ถึง 15 เท่าเลยทีเดียว ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อเดินลึกเข้าไปในหมู่บ้านจะพบกับโรงเรียนประถมและมัดทะยมสมบูนลาดหาน ศูนย์กลางการศึกษาของลูกหลานชาวบ้านในละแวกนั้น เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนมากถึง 600 คน เพราะจำเป็นต้องย้ายตามหมู่บ้านขึ้นไปด้วย 

เช่นเดียวกับวัดบ้านลาดหานใต้รัตนะโพไซยาราม วัดเก่าแก่นับร้อยปีที่เต็มไปด้วยศรัทธาของชาวบ้านที่ทำนุบำรุงวัดให้มีความสวยงาม ซึ่งหมายความว่าบ้านลาดหานมีเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนมีกำลังทรัพย์สูง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่า บานประตูอุโบสถไม้แกะสลักอายุนับร้อยปี กับพระพุทธรูปองค์ประธานศิลปะแบบล้านช้างเหล่านี้ จะถูกย้ายไปยังสถานที่จัดสรรใหม่หรือไม่อย่างไร หรือศรัทธาจะต้องจมนํ้า

เพียง 1 เขื่อน สะเทือนถึงไทย

บ้านลาดหานเป็นเพียง 1 ใน 26 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบทางสังคมจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง รวมจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบราว 10,000 คน 2,100 หลังคาเรือน ทั้งในแขวงอุดมไซ แขวงหลวงพระบาง ลากยาวถึงแขวงไซยบุรี (Xayaburi) กินพื้นที่ผลกระทบทั้งเหนือและใต้เขื่อนกว่าหลายร้อยกิโลเมตร และเป็น ‘ผลกระทบข้ามพรมแดน’ มาถึงประเทศไทยอย่างไม่น่าเชื่อจนกว่าใครหลายคนจะจินตนาการได้ว่า เขื่อนที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยบนลำนํ้าโขงด้วยระยะทางกว่า 190 กิโลเมตรนั้น จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนได้อย่างไรเชียว 

“ชาวไทยและชาวจีนต่างพึ่งพิงสายน้ำจากแม่น้ำล้านช้าง จึงถือว่าพวกเรามีความผูกพันกันแต่กำเนิด” หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เคยให้สัมภาษณ์กับทาง China Business Leader 

แม่นํ้าล้านช้าง หรือ หลานชางเจียง (瀾滄江) คือ ชื่อเรียกในภาษาจีนของแม่นํ้าโขงตอนบน (upper Mekong) ที่ไหลลงมาจากที่ราบสูงทิเบต ผ่านปราการสกัดกั้นนํ้า 12 ด่านในประเทศจีน โดยมีด่านสุดท้ายที่ ‘เขื่อนจิงหง’ เมืองเชียงรุ้ง หรือ จิงหง (景洪市) เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา ก่อนเข้าพรมแดนลาว-เมียนมา ในบริเวณแม่นํ้าโขงตอนล่าง (lower Mekong) ยาวลงไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่นํ้าโขงที่ประเทศเวียดนาม ทำให้แม่นํ้าโขงเป็นสายนํ้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตในพื้นที่ทางตอนล่างกว่า 60 ล้านชีวิต หลากหลายชาติพันธุ์วรรณาใน 5 ประเทศ หากรวมจีนเข้าไปแล้วก็เป็น 6 ประเทศที่ต้องพึ่งพาอาศัยนํ้าจากแม่นํ้าสายเดียวกัน 

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในฟากเหนือของแม่นํ้าโขงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อด้านใต้เช่นกัน ไม่สามารถบิดพลิ้วความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้แต่อย่างใด 

หากย้อนกลับไปเมื่อราว 2-3 เดือนก่อนหน้า อุทกภัยครั้งใหญ่ที่จังหวัดเชียงราย ปี 2567 ในบริเวณอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น ล้วนได้รับผลกระทบจากเขื่อนจิงหงของจีน ที่อยู่ห่างออกไปราว 340 กิโลเมตร จากมวลนํ้ามหาศาลที่ถูกปล่อยลงมาหลังเขื่อน จนเกิด ‘ภาวะนํ้าเท้อ’ มวลน้ำมหาศาลจากแม่น้ำโขงจึงดันกลับท่วมปากแม่น้ำสาขาของแม่นํ้าโขง ทำให้นํ้าจากแม่นํ้าสาขาไม่สามารถไหลลงสู่แม่นํ้าโขงได้ ส่งผลให้เอ่อท่วมพื้นที่ราบลุ่มแม่นํ้าสาขาเป็นเวลากว่า 1 เดือนเต็ม ลำพังเขื่อนจิงหงเขื่อนเดียวคงไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากว่าเหตุจากต้นนํ้าย่อมส่งผลต่อปลายนํ้าอย่างไร 

สวนส้มโอของเกษตรกรในอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จมอยู่ใต้นํ้าเป็นเวลา 1 เดือน ระดับนํ้าที่เอ่อท่วมเข้ามามีความสูงท่วมหัวคน เกือบถึงยอดของต้นส้มโอ

 

อย่างไรก็ตาม โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Chinese Embassy Bangkok ว่า เขื่อนจิงหงไม่ได้ดำเนินการระบายนํ้าในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาแต่อย่างใด 

หากเขื่อนหลวงพระบางสร้างเสร็จในปี 2573 ผลกระทบจะส่งผลข้ามพรมแดนอาจส่งผลมาถึงที่อำเภอเวียงแก่น ประกอบกับนํ้าที่ไหลลงมาจากการปล่อยนํ้าจากเขื่อนในประเทศจีนในฤดูนํ้าหลาก อาจจะทำให้พื้นที่ริมนํ้าโขงทั้งหมดได้รับผลกระทบจากอุทกภัยข้ามพรมแดนที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างซํ้าซาก 

ไม่เพียงเท่านั้น หากโครงการเขื่อนปากแบง (Pak Beng) ที่อยู่ห่างจากแก่งผาได เขตแดนไทย-ลาว อำเภอเวียงแก่นเพียง 90 กิโลเมตร เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาวันใด ผลกระทบข้ามพรมแดนเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

ยุคตื่นทองในเมืองปากแบง

นับตั้งแต่เรือออกเดินทางจากเมืองปากแบงตอน 8 โมงเช้า มุ่งหน้าสู่หลวงพระบางนับเป็นวันที่ 2 ยังไม่ทราบถึงหนทางข้างหน้าว่า หน้าตาของแม่นํ้าโขงจากตรงนี้ไปจะเป็นเช่นไร เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เดินทางบนเส้นทางสายนี้ แม้ว่า 2 ปีที่แล้วจะได้มีโอกาสไปเที่ยวหลวงพระบางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากเวียงจันทน์ที่ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ท่าเรือเมืองปากแบง เรือช้าจากเมืองห้วยทรายจะจอดพักค้างแรมที่นี่ 1 คืน ก่อนเดินเรือต่อในรุ่งสางของวันต่อไป

เรือช้าแล่นออกจากท่าเมืองปากแบง สะบัดท้ายเรือหันเข้ายังฝั่งก่อนตีโค้งเข้าสู่กลางลำนํ้า พลันได้เห็นตลิ่งสูงที่ถูกกระแสนํ้ากัดเซาะ ตรงนั้นเองคือ บริเวณข้างโรงแรมที่ได้นอนพักผ่อนเมื่อคืน 

แม้จะดื่มสุราท้องถิ่นไปไม่น้อย แต่ก็มีสติมากพอจะจดจำเรื่องราวการพูดคุยกับเจ้าของโรงแรมเมื่อคืนก่อนได้ เขาดูทีวีไทย เสพข่าวไทย และรู้ข่าวว่าเชียงรายนํ้าท่วม เขาบอกว่าช่วง 2-3 เดือนก่อน ที่นี่นํ้าท่วมเช่นกัน ผมจึงถามว่าท่วมสูงถึงขนาดไหน เขาให้คำว่าตอบว่า “พื้นโรงแรม” คำตอบเช่นนี้ก็คงทำให้ตกใจไม่น้อยว่า โรงแรมอยู่สูงจากพื้นนํ้าโขงราว 20 เมตร ยังสามารถเอ่อท่วมถึงตรงพื้นที่เรานั้นยืนคุยกัน

ร่องรอยของมวลนํ้ามหาศาลที่เชี่ยวกราก ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เราเห็นตลอดเส้นทางการเดินเรือระยะหลายร้อยกิโลเมตรนี้ ต้นไม้โค่นล้ม เน่าตายคาต้น เพราะจมอยู่ได้นํ้า ชั้นดินชั้นทรายถูกกระแสนํ้าตีเส้นบ่งชี้ตามระดับนํ้าในแต่ละช่วงชัดเจน 

 

เมืองปากแบงยามคํ่าคืนนั้นไม่ได้เงียบฉี่เสียทีเดียว ร้านอาหาร บาร์ และร้านขายของชำเปิดให้บริการสว่างไสวไปทั่ว แม้ว่าเมืองปากแบงจะตั้งอยู่กลางป่าเขาห่างไกล แต่เพราะเป็นจุดหมายแวะพักเรือระหว่างเส้นทาง เมืองแห่งนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจากโลกตะวันตกจำนวนมากที่ไม่ต้องการหาประสบการณ์ระดับ 5 ดาว ความดั้งเดิม (authenticity) แปลกใหม่ คือ สิ่งที่พวกเขาแสวงหา จนทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการงอกงามบนหน้าผากลางลำนํ้าโขงนี้

ผมเดินจากโรงแรมเข้าไปในเมืองหาบุหรี่สักซอง พร้อมนํ้าอมฤต ก็พบกับร้านอาหารจีนขายทั้งอาหารตามสั่ง หมาล่าย่างควันขโมงโฉงเฉง และร้านหม้อไฟหมาล่า ตั้งรายเรียงไปตามถนนกลางเมืองยาวไปถึงท่าเรือ 5-6 ร้านเห็นจะได้ เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมถึงมีร้านอาหารจีนเยอะแยะเพียงนี้ในเมืองที่มีแต่ฝรั่งหัวทองเดินเต็มเมือง จนในที่สุดก็ถึงบางอ้อในช่วงรุ่งสางวันที่ 2 ของทริป

ตลอดเส้นทางการเดินเรือในฝั่งลาวหลายช่วงนั้น เมื่อทอดสายออกไปนอกเรือจะพบว่า ชาวบ้านออกมา ‘ร่อนทอง’ ตามริมหาดทรายหรือหิน 2 ฝั่งโขง บ้างก็ใช้อุปกรณ์ง่ายๆ ในการขุดสายแร่ ก่อนนำมาร่อน บ้างก็ทำทำนบดินเตี้ยๆ ขึ้นมาเพื่อระบุพื้นที่ร่อนทอง หรือแม้กระทั่งตั้งปั๊มนํ้าดูดทรายไปร่อนอย่างจริงจัง ยุคตื่นทองมาถึงริมฝั่งโขงแล้วจริงๆ

 
ในขณะที่ทุนจีนนั้นก็เข้ามาลงทุนในป่าเขาลำเนาไพร พร้อมเครื่องจักรและเรือขุดที่ทันสมัยเช่นกัน ทำให้ได้เห็นชาวจีนมากมายหลายคนในเมืองปากแบง 

จากการสอบถามชาวบ้านแถวนั้นพบว่า รายได้จากการร่อนทองนั้นดีกว่าการทำประมงหรือการเกษตรเสียอีก อาจมากถึง 1,000 บาทต่อวัน แต่ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะมีรายได้เช่นนี้ทุกวัน

‘ดอนเทด’ พื้นที่แห่งอนาคตของสิ่งที่เรียกว่า ‘พลังงานสะอาด’

พระอาทิตย์คล้อยตํ่ากำลังจะลับเหลี่ยมเขาตรงหน้า ทอดแสงสีทองสะท้อนลงบนผิวนํ้าเป็นประกาย ทำให้นึกถึงเพลงเก่าเพลงหนึ่ง “โอ้ฝั่งลำนํ้าโขง ยามเมื่อแลงคํ่าลง สาวเจ้าคงลงเล่นตามท่า” ท่อนเปิดเพลง สาวฝั่งโขง ของ ปอง ปรีดา พร้อมบรรยากาศยามเมื่อแลงชวนให้ดูดดื่ม 

แม่นํ้าโขงทั้งสองฝั่งในห้วงเส้นทางก่อนถึงเมืองปากแบงและเวลาที่เหมาะเจาะ คงสวยงามไม่ต่างจากหญิงสาวเหมือนเพลงของ ปอง ปรีดา ความงดงามที่น่าจดจำไม่มีวันลืม 

เรือช้าจากห้วยทรายตีโค้งเข้าเทียบเมืองปากแบง เมื่อเวลา 17.00 นาฬิกา จอดพักเรือเป็นเวลา 1 คืน ทุกคนยกของสัมภาระเดินขึ้นบนเนินทรายสูง 10 เมตร เพื่อขึ้นไปรอรถกระบะก่อนเดินทางต่อไปโรงแรมที่พัก

ทิวทัศน์บนเนินทรายบริเวณท่าเรือปากแบง เรือช้าหลายลำจอดรับแสงยามเย็น ท่าเรือคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะหยิบยื่นประสบการณ์รูปแบบใหม่ตรงหน้าให้ รถกระบะและรถบรรทุกจอดรอรับพวกเขาแล้ว พร้อมลุยไปตามถนนที่ยังไม่ปลอดฝุ่น ผู้โดยสารเรือลำเดียวกันก็เช่นกัน ทุกคนอยากรีบเข้าที่พักกันเต็มแก่ หลังล่องเรือชมความยิ่งใหญ่ของลำนํ้าโขงมาทั้งวัน รวมถึงแวะหยุดกระโดดออกจากเรือ เหยียบแผ่นดินลาวครั้งแรกของทริปอย่างเต็มรูปแบบที่ ‘ดอนเทด’ หลังใช้ชีวิตบนเรือมาเป็นเวลาครึ่งวันแล้ว

ดอนเทด เกาะแก่งขนาดใหญ่กลางลำนํ้าโขงระหว่างแขวงอุดมไซกับแขวงไซยบุรี ด้านหน้าเป็นช่องเขาลาดลงมาเป็นรูปตัว ‘V’ มีความสูงสองฝั่งเท่ากันที่ 400 เมตรจากระดับนํ้าทะเล อันเป็นโลเคชันที่เหมาะเจาะสำหรับการสร้าง ‘เขื่อนปากแบง’ (Pak Beng hydropower project) หน้ากว้างแนวสันเขื่อนจะมีความยาว 896 เมตร สูง 64 เมตร มีช่องทางเรือผ่าน พื้นที่กักเก็บนํ้าเหนือเขื่อนลากยาวทั้งสิ้น 97 กิโลเมตร โดยมีปลายอ่างเก็บนํ้าคือ อำเภอเวียงแก่นนั่นเอง

เขื่อนปากแบง เป็นอีกหนึ่งโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนํ้า ขนาด 912 เมกะวัตต์ บริษัท ปากแบงพาวเวอร์ จำกัด (Pak Beng Power Company Limited: PBPC) เป็นผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด (China Datang Overseas Investment Co., Ltd.) ของจีน ถือหุ้นทั้งสิ้น 51 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (Gulf Energy Development Public Co., Ltd.) ถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์

ความคืบหน้าของโครงการสร้างเขื่อนปากแบง อยู่ในระหว่างการขอสินเชื่อโครงการ (project finance) ที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนตามเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับ บริษัท ปากแบงพาวเวอร์ จำกัด ก่อนการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ ด้านภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรไม่แสวงหากำไรได้ส่งหนังสือถือธนาคารพาณิชย์ 18 แห่ง เพื่อระงับการให้สินเชื่อในโครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบง โดยให้เหตุผลว่า ผู้พัฒนาโครงการไม่มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมข้ามพรมแดน ออกมาเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ อีกทั้งยังยึดตามข้อมูลการศึกษาแต่เดิมตั้งแต่ปี 2553 ที่ล้าสมัย ไม่วางอยู่บนความเป็นจริงของแม่นํ้าโขงในปัจจุบัน

ช่องเขาบริเวณดอนเทด สถานที่สร้างเขื่อนปากแบง 

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ International Rivers ให้ข้อมูลว่า “การขอสินเชื่อโครงการเขื่อนปากแบง อยู่ในระหว่างการรอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (Transboundary EIA-TbEIA) โดยข้อนี้เป็นเงื่อนไขของธนาคารที่ได้ยอมรับหลักการ Equator Principles (กรอบบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงิน ที่ต้องประเมินและจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการที่จะเข้าไปการลงทุน) หวังว่า จะมีการทบทวนพิจารณาการให้สินเชื่อโครงการอย่างครอบคลุมและรอบด้าน เพราะทุกฝ่ายต่างรับรู้ทั่วกัน เขื่อนปากแบงจะทำให้แม่น้ำสาขาระบายลงโขงได้ช้า เกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งนํ้าท่วมใหญ่เชียงราย ปี 2567”

เพียรพรเชื่อเสมอว่า “เรายังมีหวัง” ในกรณีของเขื่อนปากแบงจะไม่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อสิทธิของพี่น้องหลากชาติพันธุ์ริมสองฝั่งโขงที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบง รวมไปถึงคนไทยในเมืองที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากพลังงานที่ล้นเกินเหล่านี้

สายนํ้าที่ไหลย้อนกลับ

“สายนํ้าไม่ไหลย้อนกลับ” มิอาจเป็นสำนวนที่จะสามารถใช้ได้กับแม่นํ้าโขงตอนล่างได้นับแต่นี้ โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหลวงพระบางและปากแบง จะทำให้ภาพของสายนํ้าสาขาที่ไหลมารวมกันเป็นแม่นํ้าโขงที่ยิ่งใหญ่ ไหลลงไปหล่อเลี้ยงชีวิตของพี่น้องริมฝั่งโขงกว่า 60 ล้านคน ทั้งคนพม่า ลาว ไทย กัมพูชา จนถึงคนเวียดนามที่เมืองหมีเทอ (Mỹ Tho) ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่นํ้าโขง แหล่งเกษตรกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถึงกาลสูญสิ้นลง

นับแต่นี้แม่นํ้าโขงจะไม่สามารถไหลผ่านสิ่งกีดขวางได้อย่างสะดวก แตกต่างไปจากการไหลทะลวงของกลุ่มทุนพลังงานที่มาพร้อมกับมวลน้ำเท้อท่วม สร้างผลกระทบให้แก่คนที่อยู่เหนือเขื่อน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรอบด้าน จนอาจต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน โอกาสทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่สั่งสมมาเป็นเวลาช้านาน

ขณะที่นํ้าท้ายเขื่อนจะเหือดแห้งลง สวนทางกับความมั่งคั่งสั่งสมของกลุ่มทุนเฉกเช่นนํ้าที่เก็บกักไว้ ในอีกทางหนึ่งเมื่อเขื่อนของพวกเขาตกอยู่ในภาวะอันตราย คนที่ท้ายเขื่อนจะเป็นผู้รับเคราะห์กรรมจากการปล่อยนํ้าเหนือเขื่อนออกมา กลายเป็นอุทกภัยซํ้าซากที่ส่งต่อไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ไม่ต่างอะไรจากคนที่อยู่เหนือเขื่อนนัก และท้ายสุดก็ย้อนกลับมาหาคนไทยทุกคนในนามของค่า FT ในบิลค่าไฟ

ภาพของแม่นํ้าโขงในช่วงเมืองห้วยทรายถึงเมืองหลวงพระบางที่ตระการตายิ่งใหญ่ ในทุกกิโลเมตรกำลังจะต้องสูญหายไป หากโครงการเขื่อนไม่ว่าจะกี่แห่งก็ตามเสร็จสมบูรณ์ ความสวยงามเหล่านี้ต้องถูกฝังกลบอยู่ใต้ผืนนํ้าจากมวลนํ้าที่ไหลย้อนกลับมานั่นเอง และสิ่งที่ผมเห็นตลอดการเดินทางอาจเป็นภาพจำครั้งสุดท้ายของชีวิต หากไม่ได้กลับไปในเวลาอันใกล้นี้อีก ก่อนที่แม่นํ้าโขงจะถูกเปลี่ยนไปตลอดกาล

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า