เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากกรณีการใช้กฎหมายปิดปากผู้เห็นต่าง จงใจบิดเบือนกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตน กวาดจับ-ตั้งข้อหาประชาชนกว่า 2,400 คน
เบญจาระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2557-2561 รัฐบาลประยุทธ์จะมีดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมากที่เป็นผู้เห็นต่าง และบ่อยครั้งเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาที่เกินจริง ในขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ และพวก ยังคงอ้างต่อสาธารณะว่าการดำเนินคดีเหล่านั้นชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคดีการเมืองจำนวนมากเกิดขึ้น มีพลเรือนขึ้นศาลทหารอย่างน้อย 2,408 คน ถูกดำเนินคดีจากคำสั่งห้ามชุมนุม 428 คน ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 197 คน ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 จำนวน 124 คน และถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 169 คน ตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นเพียงจำนวนของผู้ถูกดำเนินคดีในช่วงการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
หลังปี 2561 จำนวนคดีลดลงไปเล็กน้อย ก่อนที่จะกลับมาสูงอีกครั้งภายใต้ศาลยุติธรรม ผลักดันให้คนจำนวนมากต้องลี้ภัยทางการเมือง โดยผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ (UN) ต้องส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยใจความว่า การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมไปถึงแสดงความกังวลต่อลักษณะการใช้กฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานเครื่องมือปิดปากผู้ที่ต่อต้านอีกด้วย
เบญจาได้ยก ‘หมาย จ.14’ ซึ่งเป็นเอกสารที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ 6 แกนนำการชุมชุม ‘คนอยากเลือกตั้ง’ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ถือเป็นเอกสารสำคัญของคดี ซึ่งเอกสารระบุว่ามีการดำเนินคดีอย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินคดีซ้ำกับแกนนำและผู้ชุมนุมเพื่อให้ได้รับความกดดันและจำกัดเสรีภาพ การปราศรัยจะได้ลดลงตามไปด้วย รวมถึงระบุว่าให้ดึงเวลาในการแจ้งความออกไปเพื่อให้มวลชนหันไปสนใจข่าวสารอื่นแทนก่อน จึงค่อยกลับมาแจ้งความดำเนินคดีอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านรัฐบาลเริ่มปะทุมากขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการดำเนินคดีทางการเมืองกับประช่ชนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง รวมถึงการปราบปรามประชาชนที่ไม่เห็นด้วย แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวอ้างว่า “วันนี้กฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้” แต่กลับมีการคุกคามประชาชนแบบเชิงรุกเช่นเดียวกับยุค คสช. ครองอำนาจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ว่าจะเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติการ รวมถึงมาตรา 112 อีกด้วย
หลายปีที่ผ่านมามีการแจ้งข้อหามาตรา 112 ให้กับนักศึกษาและนักกิจกรรมเป็นจำนวนมาก อาทิ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปิยรัฐ จงเทพ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการตามกฎหมายปกติ แต่เป็นการทำตามใบสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีนายอภิวัฒน์ ขันทอง ทนายความของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้แจ้งความคดีมาตรา 112 เป็นหลัก
“ในช่วงแรกผู้ต้องหายังสามารถออกไปสู้คดีนอกเรือนจำได้ ทว่าก็ยังมีการจับกุม การให้ประกันตัว แล้วแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อจับใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารสำคัญ ‘จ.14’ เรียกได้ว่าเป็นการจงใจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเสียเงิน เสียเวลา และเสียสุขภาพจิตในการจัดการปัญหาคดีความดังกล่าวซ้ำๆ” เบญจากล่าว
อย่างไรก็ตาม เบญจากล่าวต่อไปว่า หลังช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 การให้ประกันตัวแกนนำจากคดีเหล่านี้ก็ยุติลง ทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีพฤติกรรมที่ส่อว่าจะหลบหนีแต่อย่างใด จนทำให้ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนต้องประท้วงด้วยการอดอาหาร ก่อนจะทยอยได้รับการประกันตัวภายใต้เงื่อนไขว่า ห้ามจำเลยทำความผิดซ้ำแบบเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือทำเรื่องให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ทว่าแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ได้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และหลายกรณีก็ไม่ได้เข้าข่าย แต่ก็ยังคงถูกกล่าวหา ทั้งยังมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับหรือไม่มีการเรียกพยานของฝ่ายจำเลยอีกด้วย
กลยุทธ์ ‘บีบแล้วคลาย’ มีการกำหนดเงื่อนไขด้วยจำกัดมากมาย รวมไปถึงการตั้งข้อแม้ในการให้ประกันตัว นี่คือเครื่องยืนยันถึงการใช้กระบวนการยุติธรรมในฐานะเครื่องมือกำจัดผู้เห็นต่างของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมีแบบแผน ไม่มีการตีความ หรือบังคับใช้อย่างเคร่งครัดตามหลักกฎหมาย และสิทธิพื้นฐานของประชาชน จนไม่สามารถให้การไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปแม้แต่เสี้ยวินาทีเดียว” เบญจาระบุ