เมื่อ ‘ดีกว่า’ ทรยศ ‘ดีที่สุด’

dualism50

 

นเรศ ดำรงชัย

ภาพประกอบ : k-9

 

โนบิตะไปเที่ยวบ้านเพื่อนแล้วเกิดฝนตก จึงขอยืมร่มคันหนึ่งจากบ้านของเพื่อน พอให้ได้กันฝนเพื่อเดินกลับบ้าน ด้วยความเป็นคนขี้เกรงใจ โนบิตะจึงขอเลือกร่มของเพื่อนคันที่เก่าที่สุดและมีรอยขาดบ้างหลุดบ้าง

“หลังกลับถึงบ้านแล้วโนบิตะควรทำอย่างไรจ๊ะ?”

เป็นคำถามของคุณครูในชั้นเรียนประถมที่ญี่ปุ่น เด็กในชั้นเรียนได้ฟังคำถาม ต่างครุ่นคิดคำตอบที่ถูกต้อง บางคนหันไปปรึกษาเพื่อน บางคนตะโกนบอกเพื่อนดังๆ ให้รู้ว่า เขาคิดว่าควรทำอย่างไร ในที่สุดเด็กชายเคนก็ยกมือตอบ

“โนบิตะควรรีบนำร่มกลับไปคืนที่บ้านเพื่อนทันทีหลังจากที่กลับถึงบ้านครับ”

คำตอบนี้แสดงถึงความรับผิดชอบสูงสุด ดูเข้าท่า น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด คุณครูชมเด็กชายเคนว่าเป็นคำตอบที่ดี และขอฟังความคิดของเด็กคนอื่นๆ บ้าง

เด็กหญิงชิสุกะยกมือตอบบ้าง

“โนบิตะควรผึ่งร่มให้แห้งก่อนค่ะ แล้วพับร่มที่แห้งแล้วให้เรียบร้อยก่อนค่อยนำไปคืนในเช้าวันรุ่งขึ้นค่ะ”

ชิสุกะเป็นเด็กที่ถูกอบรมสั่งสอนมาให้รักความเป็นระเบียบเรียบร้อยในแบบญี่ปุ่น อันนี้จึงฟังดูเข้าท่ากว่าคำตอบแรก เพราะร่มที่ยืมมาก็เป็นร่มเก่า ที่บ้านเพื่อนคงมีร่มใหม่ๆ คันอื่น ถ้าฝนยังไม่หยุดตกก็ไม่ต้องรีบเอาไปคืนก็ได้มั้ง ผึ่งให้แห้งเรียบร้อยดีกว่า เพื่อนจะได้ไม่ต้องเอาไปผึ่งอีก คุณครูชมเด็กหญิงชิสุกะว่ามีความคิดที่ดีมาก

ทั้งห้องเรียนดูเหมือนจะพอใจกับคำตอบที่ถูกต้องทั้ง 2 ข้อจากเด็ก 2 คนนี้ แต่ทันใดนั้นเด็กชายเคสุเกะขอยกมือตอบบ้าง

“ผมคิดว่าร่มที่ยืมมามันเก่าและขาด ไหนๆ จะคืนแล้ว โนบิตะควรจะซ่อมร่มให้เพื่อนให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยเอาไปคืนวันหลังดีกว่าครับ”

นี่คือบทเรียนที่ได้จาก ‘วัฒนธรรมการคิด’ ของชาวญี่ปุ่น ทุกปัญหามีคำตอบ แต่คำตอบที่ถูกต้องนั้นมีได้หลายคำตอบ

สิ่งที่ ‘ดีที่สุด’ เหมาะสมที่สุดในวันนี้ หากบริบทเปลี่ยนไปก็จะมีคำตอบที่ ‘ดีกว่า’ ขึ้นมาแทนที่ได้ง่ายๆ แม้แต่ในสถานการณ์เดียวกันก็ยังมีทางออกได้หลายทาง

การศึกษาที่สอนให้ท่องจำและเชื่อโดยไม่สอนให้ ‘หยุดคิด’ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่สังคมถูกฉุดรั้งไว้ไม่ให้เดินไปข้างหน้า

ในอดีตเมื่อเร็วๆ นี้เอง เรายังเคยมี ‘ผู้ใหญ่’ จากหลายชนชั้นวรรณะ สงฆ์และฆราวาส ที่คอยออกมาชี้นำค่านิยมในเรื่องความดีงามและความถูกต้อง ท่านเหล่านั้นเป็นทั้งปราชญ์และผู้ทรงคุณธรรม พวกเราก็ไม่ต้องทำอะไรมาก คอยติดสอยห้อยตามขบวนคาราวานทางความคิดไปก็พอ

เราคงมัวเพลิดเพลินกับทางออกทางปัญญาที่ยืนอยู่บนกรอบความถูกต้องและความดีเหล่านั้น จนลืมตั้งคำถามและสร้างความหลากหลายให้กับคำตอบที่ ‘ดีที่สุด’ เพื่อแสวงหาสิ่งที่อาจจะ ‘ดีกว่า’ หรืออย่างน้อยก็ควรต้องหาสิ่งที่อาจจะ ‘เหมาะสมกว่า’ เพราะเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ‘ความเหมาะสม’ คือสิ่งแรกที่จะเปลี่ยน จากนั้น ‘ความดี’ และ ‘ความถูกต้อง’ ก็เริ่มจะเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน

ครั้งหนึ่งเคยไปดูนิทรรศการภาพถ่าย มีภาพของหญิงไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์แต่งกายเปลือยไหล่ หรือแม้แต่เปลือยอกในที่สาธารณะ ภาพเหล่านั้นเคยเป็นเรื่องธรรมดา จึงไม่มีอาการเคอะเขินปรากฏให้เห็นในภาพ

ในทางตรงกันข้าม นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยอธิบายไว้ว่า ในยุคก่อนที่จะมีการสร้างค่านิยมปัจจุบันขึ้นมา ไม่มีราษฎรคนไหนที่กล้าเรียกพระเจ้าอยู่หัวตรงๆ ห้วนๆ ว่า ‘พ่อ’ และการแม้แต่คิดว่าจะ ‘เลิฟ’ พระเจ้าแผ่นดินยิ่งไม่เหมาะสมใหญ่

สมัยก่อนเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ที่ผู้หญิงจะแสดงสิทธิทางการเมืองด้วยการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้แต่ในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ก็เพิ่งให้สิทธิผู้หญิงได้ไปเลือกตั้งได้เท่าเทียมกับผู้ชายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บางประเทศก็มาช้า อย่างเช่นฝรั่งเศสผู้หญิงเพิ่งเลือกตั้งได้ปี 1944 และสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1971 นี้เอง แต่วันนี้เรามีคำตอบที่ดีกว่าสมัยนั้นเยอะ

เมื่อสิ่งที่เคยเป็น ‘คำตอบที่ดีที่สุด’ เกิดอาการสั่นไหว ห้วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของค่านิยมในสังคมอย่างเวลานี้ ก็ไม่น่าแปลกใจถ้าหากจะปรากฏมีคำตอบที่ดีกว่าขึ้นมาเบียดคำตอบที่เคยคิดกันว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดตกเวทีไป

ในเวลาเดียวกัน ถ้าการผูกขาด ‘ความดี’ เริ่มคลายเกลียวเมื่อไหร่ ช่องทางที่จะให้ใช้จินตนาการใหม่ๆ ในการทำความดีก็จะมากขึ้น เพราะแม้แต่ในหมู่คนที่เชื่อในความดีอันเดียวกัน ‘วิธีทำความดี’ ก็อาจแตกต่างกันได้ กลุ่มที่ตั้งชื่อตัวเองว่า ‘ทำดีได้มากกว่านี้’ ในเฟซบุ๊คก็ดูจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่รวมตัวกันโดยสมัครใจ เพื่อนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาใช้ทำประโยชน์ต่อสังคม เช่น ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วยหยาดเหงื่อและแรงกาย เพราะพวกเขาไม่ได้พอใจอยู่กับบรรทัดฐานของการทำความดีแบบเดิมด้วยการบริจาคเงินและกด Like เท่านั้น

เครือข่ายสังคมเป็นเพียงตัวเร่ง และเปิดประตูให้อิสรภาพแก่จินตนาการใหม่ๆ และเปิดพื้นที่ในการถกเถียงกันมากขึ้น ในการทำความดีให้ดีกว่าเดิม แม้ว่าการทำให้ ‘ดีกว่า’ บางครั้งก็จำเป็นต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังกับบรรทัดฐานของสิ่งที่เคยเชื่อกันว่า ‘ดีที่สุด’ ในบริบทเดิม เช่น การเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองของรัฐด้วยการแบ่งแยกหรือยึดถือชาติกำเนิด เพศสภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือเชื้อชาติศาสนา

จึงไม่แน่ว่าเราอาจจะต้องการแม้กระทั่งระบบคุณค่าแบบใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เคลื่อนตัวไปแล้วเหมือนเปลือกโลกแถวบริเวณจังหวัดภูเก็ต

สังคมที่มีวุฒิภาวะเท่านั้น ที่จะเปิดกว้างยอมให้มีการทบทวนและตั้งคำถามแบบนี้

โชคดีที่เด็กหญิงชิสุกะ เด็กชายเคน และเด็กชายเคสุเกะ อยู่ในสังคมที่ให้อิสระที่จะตั้งคำถาม และอิสระที่จะจินตนาการ เพื่อก้าวข้ามสิ่งที่ดีที่สุดไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาคิดว่า สิ่งที่ดีที่สุดนั้น มันยังดีไม่พอ

**********************************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Dualism พฤษภาคม 2555)

Author

นเรศ ดำรงชัย
นักคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยี ผ่านงานในสายวิทยาศาสตร์หลายแขนง ทั้งศึกษาวิจัยและบริหาร ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ นเรศ ดำรงชัย รักที่จะหยิบเรื่องราวของงานวิจัยล่าสุดมาแบ่งปันในคอลัมน์ Dualism เสน่ห์ที่เป็นจุดเด่นคือการแบ่งปันมุมมองที่เปี่ยมอารมณ์ในทุกตัวอักษร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า