การเดินทางของ ‘เขม่าดำ’ จากลมหายใจสู่ครรภ์มารดา

งานวิจัยพบ ‘เขม่าดำ’ หรือคาร์บอนดำ (Black Carbon: BC) ในรกด้านที่เชื่อมกับทารก นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบว่ามลภาวะทางอากาศจากการหายใจของแม่สามารถส่งต่อไปถึงเยื่อรกบางๆ (placental barrier) ได้ โดยรกตัวอย่างทุกชิ้นพบเขม่าดำเล็กๆ จำนวนหลายพันละอองต่อเนื้อเยื่อรก 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่ทารกจะสัมผัสเขม่าดำ เช่น จากควันไอเสียรถโดยตรงตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์

รกของคนเราประกอบด้วยสองส่วน คือส่วนที่อยู่ติดกับตัวอ่อน สร้างจากเนื้อเยื่อเดียวกับของทารก และอีกส่วนคือรกส่วนที่ติดกับแม่ สร้างจากเนื้อเยื่อมดลูกของแม่ โดยน้ำและสารอาหารจะถูกถ่ายทอดจากรกฝั่งแม่ไปสู่รกฝั่งลูก และจะลำเลียงสู่ตัวอ่อนผ่านสายสะดือ ส่วนของเสียจากตัวอ่อน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจจะถูกลำเลียงออกมาอีกทางหนึ่ง ระบบเลือดของแม่และลูกไม่ได้แลกเปลี่ยนสารต่างๆ กันโดยตรง แต่จะผ่านเยื่อรก (placenta barrier) เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ของแม่ตรวจจับเซลล์ลูกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม เยื่อนี้ยอมให้สารบางอย่างผ่านไปได้ เช่น DNA ลูกสู่แม่ หรือแอลกอฮอล์ นิโคติน ยาสเตียรอยด์จากแม่สู่ลูก และล่าสุดเราก็ทราบว่าเขม่าดำก็เป็นสารอีกตัวหนึ่งที่สามารถผ่านเยื่อรกไปได้

เขม่าดำเป็นหนึ่งในละอองมลภาวะทางอากาศที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงรถยนต์ การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว หรือควันจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน งานวิจัยฉบับนี้เสนอว่า เขม่าดำอาจเป็นอีกหนึ่งตัวการเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยและมีโรคประจำตัวในระยะยาว คลอดก่อนกำหนด หรือถึงขั้นแท้งบุตร เขม่าดำเป็นมลภาวะทางอากาศ มีผลต่อปัญหาทางเดินหายใจและหัวใจ

ศาสตราจารย์ทิม นอว์รอต (Tim Nawrot) ผู้วิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยฮัสเซลท์ (Hasselt University) ในประเทศเบลเยียม กล่าวว่า เมื่อตัวอ่อนในครรภ์ได้รับอันตรายก็จะส่งผลไปตลอดชีวิต เขาย้ำว่า “ระยะตัวอ่อนเป็นช่วงชีวิตที่บอบบางที่สุด เป็นขั้นตอนการพัฒนาอวัยวะทุกระบบ และเราต้องทำให้มารดาได้รับเขม่าดำน้อยลงเพื่อปกป้องเด็กๆ รุ่นต่อไป” การลดปริมาณเขม่าดำอาจทำได้ตั้งแต่การให้หญิงมีครรภ์หลีกเลี่ยงถนนที่รถติด ไปจนถึงการให้รัฐบาลประกาศควบคุมปริมาณมลภาวะทางอากาศ

“ผลลัพธ์ครั้งนี้บอกให้รู้ว่าละอองขนาดเล็กสามารถผ่านเยื่อรกของมนุษย์ได้ ขั้นต่อมาคือการวิจัยว่ามันผ่านไปถึงตัวอ่อนหรือไม่” นอว์รอตยอมรับว่าแม้จะทราบผลการวิจัยเบื้องต้นแล้ว แต่การป้องกันเขม่าดำก็เป็นเรื่องยาก “การให้คำแนะนำที่ใช้ได้จริงเป็นเรื่องยากมาก เพราะอย่างไรทุกคนก็ต้องหายใจ”

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Nature Communications นอว์รอตทำการวิจัยโดยเก็บตัวอย่างรกจากผู้หญิงชาวเบลเยียมที่ไม่สูบบุหรี่ 25 คนในเมืองฮัสเซลท์ พบว่ามีระดับละอองมลภาวะสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด แต่ก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนด นอว์รอตและคณะวิจัยใช้เทคนิคเลเซอร์เพื่อช่วยตรวจจับเขม่าดำ พบว่ามีเขม่าขนาดนาโนเล็กๆ เกาะอยู่บนรกด้านที่เชื่อมกับทารก ยิ่งแม่ได้รับมลภาวะทางอากาศมากเท่าไหร่ก็ยิ่งพบปริมาณเขม่าดำมากเท่านั้น เฉลี่ยแล้วหญิงตั้งครรภ์ที่พักใกล้ถนนใหญ่และน่าจะสัมผัสควันจากไอเสียรถมากมีเขม่านาโน ถึง 20,000 ชิ้นต่อตัวอย่างรก 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร และเฉลี่ย 10,000 ชิ้น ต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตรสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่พักห่างจากถนนใหญ่อย่างน้อย 500 เมตร

ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์เลือดของตัวอ่อนทารกในครรภ์เพื่อค้นหาว่าเขม่าดำสร้างความเสียหายแก่ DNA ของตัวอ่อนหรือไม่ นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบเขม่าดำในรกของตัวอ่อนอายุเพียง 12 สัปดาห์ที่เสียชีวิตจากภาวะแท้ง ในปี 2017 คณะวิจัยพบเขม่าดำเฉลี่ย 10 ล้านชิ้นต่อปัสสาวะ 1 มิลลิลิตรของเด็กประถมอายุ 9-12 ปี นอกจากนี้ก็เคยพบว่าละอองนาโนสามารถแพร่ผ่านตัวกลางระหว่างเลือดกับสมอง รวมถึงพบละอองนาโนหลายพันล้านชิ้นภายในอวัยวะหัวใจของคนหนุ่มสาวที่อาศัยในเขตเมือง แสดงให้เห็นว่าเขม่าดำจากปอดอาจเคลื่อนไปที่อวัยวะใดก็ได้ในร่างกาย

องค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศทั่วโลกมากกว่า 7 ล้านคนต่อปี ประชากรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์บนโลกนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยเขม่าดำเป็นหนึ่งในฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particular Matter: PM) ที่สามารถเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดและระบบทางเดินหายใจผ่านการสูดดมอากาศไม่บริสุทธิ์ เมื่อปี 2018 เว็บไซต์ตรวจสอบมลภาวะทางอากาศ AirVisual.com จัดอันดับประเทศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ได้ว่า ประเทศที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองเฉลี่ยรายปีมากที่สุดคือบังคลาเทศ รองลงมาคือปากีสถานและอินเดีย ส่วนประเทศไทยมีมลภาวะทางอากาศสูงเป็นอันดับ 23

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com/environment
bbc.com
bangkokpost.com
pharmacy.mahidol.ac.th
facebook.com/PCD.go.th
airvisual.com
thaipublica.org
who.int

สนับสนุนโดย

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า