สำรวจนิยาม ‘สิ่งเทียมอาวุธ’ และช่องว่างในกฎหมายปืน 2490 ผ่านกรณีศึกษา ‘ญี่ปุ่น’ เจ้าแห่งปืนอัดลม

ในรอบหลายปีที่ผ่าน ประเทศไทยเผชิญกับโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจาก ‘อาวุธปืน’ หลายต่อหลายครั้ง โดยก่อนหน้านี้เพียง 1 ปี เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก เมื่ออดีตตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเพราะพัวพันกับยาเสพติด ก่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้มีเด็กเสียชีวิต 24 คน และผู้ใหญ่อีก 12 คน โดยอาวุธปืนที่ใช้คือ ‘ปืนสวัสดิการ’ 

ล่าสุดวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญไปทั่วโลกอีกระลอกหนึ่ง เมื่อเด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน ศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือนักท่องเที่ยวชาวจีนและพนักงานชาวเมียนมา โดยในครั้งนี้ปืนที่ใช้ก่อเหตุไม่ใช่ปืนสวัสดิการ แต่เป็น ‘ปืนลูกแบลงค์’ (blank guns) ที่มีการดัดแปลงลำกล้องเพื่อใช้กับกระสุนจริงได้ 

ปืนที่ว่านี้หาซื้อได้อย่างง่ายดายตามอินเทอร์เน็ต การดัดแปลงปืนลูกแบลงค์ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็น เนื่องจากมีเนื้อหาในยูทูบ (Youtube) สอนวิธีการดัดแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งยังมีช่องว่างทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม จนกระทรวงมหาดไทยถึงกับงัดยาแรงออกมาตรการแก้ไขทั้งในระยะสั้นด้วยการห้ามนำเข้า ส่วนในระยะยาวจะมีการแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะการนิยามคำว่า ‘สิ่งเทียมอาวุธปืน’ ให้ครอบคลุมถึงแบลงค์กันด้วย 

‘สิ่งเทียมอาวุธปืน’ และ ‘อาวุธปืน’ ความเหมือนและต่างในนิยาม พ.ร.บ.อาวุธปืน 

ปัญหาของการระบุว่า อะไรคือ ‘สิ่งเทียมอาวุธปืน’ นั้น หากพิจารณาจาก พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ได้นิยามสิ่งเทียมอาวุธปืนในมาตรา 4(5) หมายถึง “สิ่งซึ่งมีรูปและลักษณะอันน่าทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน” ด้วยนิยามเพียงสั้นๆ จากเมื่อ 70 กว่าปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดช่องว่างในการตีความทางกฎหมาย เพราะเป็นการนิยามที่กว้างขวาง และไม่มีการระบุชัดว่า สิ่งไหนคือสิ่งเทียมอาวุธปืน 

เมื่อความนิยมในกีฬา BB Gun เกิดขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 20 ปีก่อน กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำการพิสูจน์และวินิจฉัยว่า ปืน BB ไม่ใช่อาวุธปืน แต่เป็น ‘สิ่งเทียมอาวุธปืน’ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 เนื่องจากชิ้นส่วนของ BB gun ต่างจากอาวุธปืน ไม่อาจทำให้ผู้พบเห็นหลงเชื่อได้ว่าเป็นอาวุธปืน ซึ่งคำนิยามของสิ่งเทียมอาวุธปืนแตกต่างกับนิยามของ ‘อาวุธปืน’ ที่กฎหมายให้ความหมายครอบคลุมไปถึงว่า หากมีเพียง “ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาวุธปืน ให้ถือเป็นอาวุธปืนด้วย”

ขณะที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาต ได้กำหนดนิยามอาวุธปืนตามมาตรา 4(1) ของ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ว่า อาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊ส หรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้นๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง”

Blank Guns เป็น ‘สิ่งเทียมอาวุธปืน’ หรือ ‘อาวุธปืน’ กันแน่? 

ปืนลูกแบลงค์ เป็นปืนที่จำลองรูปแบบและหลักการทำงานของอาวุธปืนจริง แต่ภายในลำกล้องจะมีแท่งเหล็กอยู่ ทำให้ไม่สามารถบรรจุกระสุนจริงได้ ต้องบรรจุ ‘ลูกแบลงค์’ หรือลูกกระสุนที่มีแต่เสียงเท่านั้น ไม่มีหัวกระสุน ขณะที่กลไกบางส่วนมีความใกล้เคียงกับปืนจริง เช่น การใช้แก๊สดันสไลด์ปืนเพื่อคัดปลอกกระสุนออกมา กระสุนมีดินปืนขับจุดชนวนใกล้เคียงกับกระสุนจริง วัตถุประสงค์ของปืนลูกแบลงค์คือ การนำมาใช้เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์หรือละคร การยิงสัญญาณเสียงเพื่อปล่อยตัวนักกีฬา และการฝึกซ้อมทางการทหาร เท่านั้น 

หากตีความตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ปืนลูกแบลงค์จัดเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน ไปตามมาตรา 4(5) เช่นเดียวกับ BB Gun ซึ่งในกรณีของเด็กอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุกราดยิงด้วยปืนลูกแบลงค์นี้ ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นอาวุธปืนหรือไม่ แต่น่าจะเข้าข่ายมาตรา 4(1) เพราะมีการดัดแปลงให้สามารถส่งเครื่องกระสุนปืนด้วยการจุดระเบิด 

ความไม่ชัดเจนของนิยามตามกฎหมายในการะบุว่า ปืนลูกแบลงค์เป็นอาวุธปืนหรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ถูกตอกยํ้าด้วยการออกมาตรการระยะยาวของรัฐบาลล่าสุดหลังเกิดเหตุได้ 2 วันคือ การแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 เพื่อจะให้ความหมายและนิยาม ‘สิ่งเทียมอาวุธปืน’ ไม่ให้หมายความรวมถึง ปืนลูกแบลงค์ BB Gun หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่นๆ ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย ซึ่งหมายความว่า หากมีการดัดแปลงปืนลูกแบลงค์ หรือ BB Gun ให้เป็นอาวุธปืน จะถือว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนนั้นเป็นอาวุธปืน รวมไปถึงการกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาต เพราะที่ผ่านมาไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต แต่เวลาซื้อจะต้องให้สำเนาบัตรประชาชนกับผู้ค้า เพื่อที่ทางร้านจะได้นำไปลงบันทึกไว้ในรายการ 

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ หมวด 4 มาตรา 52 ถึง 54 ว่าด้วยการสั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืน แม้จะมีการระบุไว้ชัดเจนว่าต้องขออนุญาตนำเข้าจากนายทะเบียน แต่จากรายงานของกระทรวงการคลังระบุว่า การนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 30 จึงทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าผ่านช่องทางไปรษณีย์ เพื่อหลบเลี่ยงขั้นตอนการขออนุญาตและภาระภาษี โดยประเทศต้นทางหลักคือ จีน

ญี่ปุ่น: ประเทศแรกที่ผลิต ‘ปืนอัดลม’ สู่กีฬายอดนิยม ภายใต้กฎหมายเข้มงวด

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของโลกที่ผลิตปืนอัดลม (airsoft gun) เทียมอาวุธออกมาในช่วงทศวรรษ 1970 และเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้เล่นกีฬา BB Gun ว่า สิ่งเทียมอาวุธปืนของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น BB Gun (ทั้งแบบอัดลมและไฟฟ้า) หรือแบลงค์กัน ล้วนมีคุณภาพดี ราคาแพง มีผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกอย่างแบรนด์ ‘โตเกียวมารุอิ’ (東京マルイ; Tokyo Marui) เป็นต้น ทั้งยังเป็นประเทศแรกที่มีวัฒนธรรมการเล่นกีฬา BB Gun หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘ซาไบบารุเกมุ’ (サバイバルゲーム; survival game) ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน

นากะตะ อิชิโระ ผู้ให้กำเนิดปืนอัดลม

กฎหมายอาวุธปืนของญี่ปุ่นมีความเข้มงวดมากประเทศหนึ่งของโลก แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังคงชื่นชอบในการยิงปืน ทำให้ นากะตะ อิชิโระ ผู้มีอาชีพช่างภาพ กลายมาเป็นผู้ให้กำเนิดและเจ้าพ่อปืนอัดลม (The Godfather of Airsoft) ต้องการทำปืนเสมือนจริงขึ้นมา (แต่ไม่สามารถฆ่าใครตายได้) ด้วยการใช้ลมแรงดันตํ่าในการยิงกระสุนพลาสติกออกมา หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า ‘airsoft’ จนต่อมามีการออกแบบให้สามารถยิงกระสุนด้วยไฟฟ้าและกรีนแก๊สได้ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ได้มีกฎหมายในการควบคุมสิ่งเทียมอาวุธปืนที่เคร่งคัดเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจุดประสงค์หลักของชาวญี่ปุ่นผู้นิยม BB Gun คือเกมกีฬาก็ตาม 

กฎหมายควบคุมอาวุธปืนและมีดดาบปี 1958 ของญี่ปุ่น เป็นผลมาจากการปลดอาวุธญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประสงค์เพื่อป้องกันการกระทำผิดด้วยอาวุธปืนและมีดดาบของกลุ่มยากูซ่า และสิ่งเทียมอาวุธปืนก็อยู่ภายใต้การควบคุมและทำให้ถูกกฎหมายภายใต้กฎหมายฉบับนี้ด้วย เช่น การกำหนดความแรงของปืนตํ่ากว่า 90 เมตร/วินาที ขนาดกระสุน 6 มม. นํ้าหนักไม่เกิน 20 กรัม วัสดุกระสุนต้องเป็นพลาสติกเท่านั้น เป็นต้น จากกฎหมายที่ควบคุมเช่นนี้ ทำให้สนาม BB Gun ทั่วญี่ปุ่นมีการกำหนดระเบียบการเข้าใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ยังกำหนดอายุผู้เข้าใช้บริการต้องไม่มีอายุตํ่ากว่า 18 ปี มีการสวมหน้ากากและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอีกด้วย 

ในด้านของผู้ผลิตนั้น ถูกกำหนดให้ผลิตสิ่งเทียมอาวุธปืนเพื่อป้องกันการดัดแปลงให้เป็นอาวุธปืน เช่น การใช้โลหะจุดหลอมเหลวตํ่า การใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบของกลไกภายใน และการออกแบบชิ้นส่วนที่ไม่สามารถใช้ร่วมกับอาวุธปืนจริงได้ ทั้งยังต้องนำไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นทำการทดสอบว่าสามารถดัดแปลงได้หรือไม่อีกด้วย 

แน่นอนว่านโยบายการควบคุมสิ่งเทียมอาวุธปืนของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยอัตราการก่ออาชญากรรมด้วยอาวุธปืนที่ตํ่า และการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนของญี่ปุ่นมีเพียง 0.02 คนต่อประชากร 100,000 คน เท่านั้น รั้งอันดับ 191 ของโลกแทบจะท้ายตาราง ขณะที่ไทยเสียชีวิตด้วยอาวุธปืน 3.11 คนต่อประชากร 100,000 คน ตามข้อมูลจาก Wisevoter ในปี 2023

ในปี 2020 ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น รายงานสถิติการขึ้นทะเบียนอาวุธปืนมีทั้งสิ้นจำนวน 177,719 กระบอก โดยส่วนใหญ่เป็นการขึ้นทะเบียนอาวุธปืนเพื่อการล่าสัตว์ รวมไปถึงปืนอัดลมบางชนิดที่ต้องควบคุมอีกด้วย 

จะเห็นว่าภายใต้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดของญี่ปุ่นนั้น แม้แต่ตำรวจก็ยังได้รับอนุญาตให้พกปืนเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ด้วยความเข้มงวดนี้ทำให้องค์กรอาชญากรรมอย่างยากูซ่ามีการลักลอบนำอาวุธปืน เครื่องกระสุน หรือชิ้นส่วนอาวุธปืนสำหรับนำมาดัดแปลง นอกจากนี้เมื่อปีที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ถูกลอบสังหารระหว่างปราศรัยช่วยลูกพรรคหาเสียงที่จังหวัดนารา โดยคนร้ายใช้อาวุธปืนประดิษฐ์อีกด้วย ซึ่งสังคมญี่ปุ่นก็ได้ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะมีกฎหมายที่เข้มงวดมากเพียงใดก็ตาม

หันกลับมามองประเทศไทย หากรัฐบาลยืนยันในการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 จริง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องระบุนิยาม ความหมาย และรายละเอียดปลีกย่อยของวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตสิ่งเทียมอาวุธปืนเพื่อป้องกันมิให้เกิดการดัดแปลงได้ง่าย ขณะเดียวกันในแง่การสั่งนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกสิ่งเทียมอาวุธปืนรายใหญ่ในปัจจุบัน ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซซึ่งจีนเป็นเจ้าของ รวมไปถึงการควบคุมเนื้อหาในโลกออนไลน์ ซึ่งรัฐจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายอื่นเพื่อควบคุมควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 เพียงฉบับเดียว

อ้างอิง: 

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า