รู้จักกับ ‘Blob’ สิ่งมีชีวิต 720 เพศ

สวนสัตว์ Paris Zoological Park ในกรุงปารีสมีกำหนดจัดแสดง ‘บล็อบ’ (Blob) กลุ่มสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวสีเหลืองขนาดเล็กที่มีรูปร่างคล้ายเห็ดรา แต่แสดงพฤติกรรมคล้ายสัตว์ ในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคมนี้

เพื่อให้นึกภาพตามได้ง่าย บล็อบอาจมีลักษณะคล้ายสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ทำให้เกิด Venom ของ Marvel เพียงแต่มันเป็นสีเหลือง ไม่ใช่เส้นสีดำยืดเหมือนในภาพยนตร์

บล็อบมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไฟซารัม โพลีเซฟาลัม (Physarum Polycephalum) ในอาณาจักรโพรทิสตา (Protista) พบได้ตามป่าชื้น กินแบคทีเรียและเชื้อราเป็นอาหาร แต่อาหารโปรดที่สุดคือเกล็ดข้าวโอ๊ต บล็อบเกลียดอาหารรสเค็มเข้าไส้ (ถ้าเจ้าบล็อบมีไส้-น่าเสียดายที่ไม่มี) มันเป็นราเมือกที่ไม่มีปาก กระเพาะอาหาร ตา หรือขา แต่สามารถเคลื่อนที่ ค้นหาอาหาร กินอาหารโดยวิธีกลืนเข้าไปในเซลล์ (phagocytosis) และย่อยอาหารได้ตามปกติ 

ชื่อวิทยาศาสตร์ของมันอาจแปลได้ว่า ‘เมือกทศกัณฑ์พันหัว’ เนื่องจากบล็อบไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดี่ยวๆ แต่เป็นการรวมกลุ่มเข้าด้วยกันของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวชนิดเดียวกันจำนวนมาก ที่น่าทึ่งคือ เพื่อความหลากหลายและโอกาสในการผสมพันธุ์ บล็อบจึงมีถึง 720 เพศ และสามารถเยียวยาตัวเองได้ในเวลาเพียง 2 นาทีหากถูกตัดครึ่ง เรียกได้ว่าบล็อบเป็นสิ่งมีชีวิตคงกระพันที่แทบจะฆ่าไม่ตาย

“เดิมโครโมโซมจะอยู่เป็นคู่ จากนั้นเมื่อถึงช่วงสร้างสปอร์ โครโมโซมจะแยกออกเป็นกิ่งเดี่ยว ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสปอร์จะงอกและกลายเป็นอมีบาเล็กๆ อมีบาที่มีโครโมโซมเดียวจะใช้แฟลกเจลลา (flagella-เส้นใยที่ช่วยในการเคลื่อนที่) ทั้งสองช่วยว่ายผ่านน้ำไปผสมพันธุ์กับอมีบาเพศตรงข้ามเพื่อจับคู่โครโมโซมให้อยู่เป็นคู่อีกครั้ง” ออเดรย์ ดูสซูทัวร์ (Audrey Dussutour) ผู้เชี่ยวชาญด้านราเมือกจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (Center for Scientific Research: CNRS) อธิบาย “เพศของมันไม่ใช่การแบ่ง ‘เพศหญิง-ชาย’ แต่ในตัวบล็อบมีถึง 720 เพศอยู่ด้วยกัน”    

“บล็อบเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่แสดงถึงความน่าพิศวงของธรรมชาติ” บรูโน เดวิด (Bruno David) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติแห่งกรุงปารีส (Paris Museum of Natural History) กล่าว “มันน่าทึ่ง เพราะแม้บล็อบจะไม่มีสมอง มันก็มีทักษะในการเรียนรู้ และหากเราลองนำบล็อบสองตัวมารวมกัน ตัวที่เรียนรู้แล้วก็จะถ่ายเทความรู้ไปให้บล็อบอีกตัว”

สิ่งที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์รู้แน่ชัดแล้วคือ บล็อบไม่ใช่พืช แต่ยังต้องค้นหากันต่อว่าแท้จริงแล้วบล็อบควรถูกจัดให้อยู่ในอาณาจักรสัตว์หรือเห็ดราหรือไม่ เนื่องจากบล็อบมีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนเห็ด แต่มีพฤติกรรมการเรียนรู้คล้ายสัตว์

บล็อบถูกตั้งชื่อตามตัวละคร ‘บล็อบ’ เอเลียนในเมืองเพนซิลเวเนียที่กินทุกอย่างที่ขวางหน้าในหนังสยองขวัญแนววิทยาศาสตร์เกรดบีเรื่อง The Blob ที่ออกฉายเมื่อปี 1958

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
reuters.com
theguardian.com

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า