ในหนึ่งวันเราอาจมีอาหารเพียงพอสำหรับกินได้สามมื้อ โดยที่ไม่รู้เลยว่าอาหารเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร ในขณะเดียวกัน ยังมีผู้คนอีกกว่าครึ่งโลกที่ต้องประสบกับปัญหาความอดอยากหิวโหย โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เขาปลูกและเลี้ยงมานั้นถูกกระจายไปอยู่ที่ใดบ้างเช่นกัน
‘อธิปไตยทางอาหาร’ เป็นแนวคิดที่เริ่มจากกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่นในแถบอเมริกาใต้ ก่อนจะขยายไปในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก สืบเนื่องจากแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ให้ความสำคัญกับความเพียงพอและการเข้าถึงอาหารในระดับปัจเจก (individual) เท่านั้น โดยลืมคำนึงถึงผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อโลกเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหารโดยทำให้เกษตรกรรมเป็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่เน้นปริมาณและใช้สารเคมี สิทธิและเสียงของเกษตรกรรายย่อยก็ถูกเบียดขับไปสู่จุดที่ไม่มีทางเลือกมากขึ้น กลายเป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงอาหารเพราะความยากจน และผู้บริโภคที่อยู่ปลายทางของสายพานอุตสาหกรรมอาหารก็ไม่อาจทราบว่าอาหารบนจานประกอบสร้างจากอะไร เป็นมิตรแค่ไหนกับร่างกายและสิ่งแวดล้อม
วิกฤติโควิด-19 กับโอกาสของอธิปไตยทางอาหาร
สายพานของอุตสาหกรรมอาหารที่ควบคุมโดยบริษัทยักษ์ใหญ่กลายเป็นระบบที่เปราะบางเมื่อโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก วิกฤติครั้งนี้ส่งผลให้แรงงานที่ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานและรายได้ที่ไม่เป็นธรรมอยู่แล้วต้องลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่มีรายได้เพื่อเข้าถึงอาหาร จึงเกิดปรากฏการณ์แรงงานอพยพกลับบ้าน เพราะอย่างน้อยที่บ้านของพวกเขาอาจยังมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่เข้าถึงได้ ดังเช่นกรณี ‘ข้าวแลกปลา’ ที่กลุ่มชาวประมงและกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยสามารถผลิตอาหารจากพื้นที่ตนเองเพื่อแบ่งปันกันในยามวิกฤติ
วิกฤติโควิดทำให้เราต้องกลับมาทบทวนถึงความซับซ้อนในระบบอาหารอีกครั้ง ซึ่ง ‘การผลิตอาหาร’ ต้องอาศัยทรัพยากรสำคัญคือ ‘ที่ดิน’ ในขณะที่เมืองขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ดินถูกกลืนกลายไปเป็นตึกรามบ้านช่อง แล้วเราจะผลิตอาหารกันอย่างไรถ้าเรายังต้องใช้เกษตรกรรม? ยิ่งไปกว่านั้น หากเกษตรกรรายย่อยไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง จะผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยได้อย่างไร?
หากเราสามารถเปลี่ยนพื้นที่ในเมืองให้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารได้ ก็อาจทำให้เราเข้าถึงอาหารได้มากยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยสายพานที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อขนส่งหลายต่อ เกษตรกรรมในเมือง (urban agriculture) จึงอาจเป็นทางเลือกที่ช่วยให้คนเมืองเข้าถึงอาหารได้ ในขณะที่เกษตรกรท้องถิ่นมีทางเลือกในการผลิตอย่างมีคุณภาพเพื่อป้อนตลาดท้องถิ่นโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางหลายต่อ แต่ในความเป็นจริงกลับมีความพยายามผูกขาดอาหารการกินผ่านข้อบังคับมากมายเพื่อให้โครงสร้างของระบบเช่นนี้ดำรงอยู่ต่อไป
นอกจากเครือข่ายของผู้ผลิตรายย่อยด้วยกันเอง เสียงของผู้บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถสร้างทางเลือกในการกินของตนเองเช่นกัน
Blockchain ในอุตสาหกรรมอาหาร นวัตกรรมติดตามทุกขั้นตอน
เมื่อปี ค.ศ. 2018 มีผู้เสียชีวิตถึง 5 รายและเจ็บป่วยกว่า 197 ราย จากการบริโภคผักกาดหอมปนเปื้อนเชื้ออีโคไล (E. coli – Escherichia coli) ในสหรัฐอเมริกา โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเชื้อดังกล่าวระบาดในผักกาดหอมได้อย่างไร เกิดขึ้นในขั้นตอนใดกว่าจะมาถึงผู้บริโภค เหตุการณ์ในลักษณะนี้ทำให้ผู้คนเริ่มคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารมากขึ้นนอกเหนือจากปริมาณและคุณภาพ และต้องการระบบที่สามารถตรวจสอบที่มาของอาหารได้อย่างชัดเจน เทคโนโลยี Blockchain จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
เราอาจคุ้นเคยกับ Blockchain จากวงการสกุลเงินดิจิทัลมากกว่าบริบทอื่นๆ แต่ด้วยจุดแข็งด้านความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ทำให้ Blockchain เหมาะกับการนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนเช่นกัน เพราะเมื่อเราสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนของอาหารในจานก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารรับรองความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คุณสมบัติสำคัญของระบบ Blockchain คือการไม่มีบุคคลที่ 3 เป็นตัวกลาง (decentralize) ระหว่างผู้ใช้งานในระบบทั้งหมด เหมือนกับที่เงินดิจิทัลไม่มีธนาคารเป็นตัวกลาง ความท้าทายที่เกิดขึ้นคือการทำให้ระบบ Blockchain เข้ากับข้อบังคับด้านมาตรฐานอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และปัญหาเรื่องนโยบายความลับทางการค้าของบริษัทอาหารที่ยังไม่ลงตัวว่าสามารถเปิดเผยได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีเช่นนี้อาจยังคงจำกัดอยู่เฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ทุนหนา ในขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) รายย่อยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในสายพานอาหารอาจไม่มีอำนาจในการสร้างข้อมูลที่แท้จริงเพราะเข้าไม่ถึงระบบนั่นเอง
Blockchain จะช่วยสร้างอธิปไตยทางอาหารได้อย่างไร
เมื่อโลกหมุนไปข้างหน้าทุกวินาที อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรก็ไม่อาจหนีพ้นการใช้เทคโนโลยีได้ แต่จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เทคโนโลยีถูกผูกขาดอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยเพื่อควบคุมการกินของคนส่วนใหญ่ ในขณะที่ทุกคนต้องการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและตรวจสอบแหล่งที่มาได้ตลอดเวลา
หากเรามองว่าจุดแข็งของ Blockchain สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างอธิปไตยทางอาหารได้ อย่างน้อยสิ่งที่ต้องมีคือ ‘เครือข่าย’ ของเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ เพราะเครือข่ายที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องอาศัยสายพานซับซ้อนจะทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้มากขึ้น ในขณะที่ Blockchain ถูกสร้างมาเพื่อจัดการกับข้อมูลที่ซับซ้อนและมหาศาล แต่เครือข่ายเกษตรกรรายย่อยสามารถแลกเปลี่ยนและตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันบนแพลตฟอร์มมาตรฐานอย่าง Facebook หรือ Line ได้โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้าถึงยาก
ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคที่ตื่นตัวกับปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น โดยมีพื้นฐานเรื่องสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งที่เครือข่ายเกษตรกรต้องทำคือการสร้างความน่าเชื่อถือของเครือข่าย เพราะผู้บริโภคเองย่อมตามหาเครือข่ายเกษตรกรรมที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเชื่อถือได้เช่นกัน เมื่อเชื่อมต่อกันได้แล้ว สิ่งที่เครือข่ายต้องทำคือการสร้างแพลตฟอร์มบันทึกข้อมูลที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยผู้ผลิตและผู้บริโภคทั้งหมดในเครือข่ายนั้นสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ตลอดเวลา สิ่งที่จะช่วยให้เกิดระบบแบบ Blockchain ในเครือข่ายได้คือการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ในขณะที่ผู้ที่เข้าถึง Blockchain ได้ควรขยายขอบเขตในการตรวจสอบอาหารให้ครอบคลุมความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยต่อไป
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Blockchain หรือเทคโนโลยีรูปแบบใดก็ตาม การสร้างพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด Blockchain อาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงที่มาของอาหารมากขึ้น ในขณะที่แนวคิดอธิปไตยทางอาหารยังคงต้องพัฒนาต่อไป เพราะการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ มีคุณภาพ ภายใต้ระบบที่เป็นธรรม เป็นเรื่องของทุกคนที่ยังต้องอาศัยอาหารเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิต
อ้างอิง
- J.F Galvez, Jesus Simal-Gandara and Juan C. Mejuto. (2018). Future challenges on the use of blockchain for food traceability analysis. Trends in Analytical Chemistry, 107(2018), 222-232.
- Ali Loker & Charles Francis (2020) Urban food sovereignty: urgent need for
- agroecology and systems thinking in a post-COVID-19 future, Agroecology and Sustainable Food Systems, 44:9, 1118-1123, DOI: 10.1080/21683565.
- 2020.1775752
- สิรินทิพย์ นรินทร์ศิลป์. (2561). แนวคิดอธิปไตยทางอาหาร: ข้อถกเถียงเชิงวิพากษ์กับแนวคิดทางด้านอาหารอื่นๆ. วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย, 10(3), 217-246.
- จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา. (2562). เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้ ! เทคโนโลยีบล็อกเชนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารอย่างไร. สืบค้น 15 มีนาคม 2564, จาก https://www.marketingoops.com/exclusive/insider-exclusive/blockchain-technology-with-the-food-industry/
- ไทยโพสต์. (2564). ‘ชาวเลอันดามัน’ ขนปลาแห้งมอบชาวบางกลอย แนะรัฐปล่อยทำไร่หมุนเวียนเพราะเป็นแปลงเก่าไม่ได้บุกรุก. สืบค้น 15 มีนาคม 2564, จาก https://www.thaipost.net/main/detail/94012