ขี้มูก กินดี มีประโยชน์?

นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น งานวิจัย (อีกแล้วเหรอ?) เสนอทางเลือกในการใช้ชีวิตและลบมายาคติของสังคมว่า ‘การกินขี้มูก’ ที่คุณก็คงเคยทำสมัยเด็กๆ และอาจยังทำอยู่ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เพราะมันดีต่อสุขภาพปากของคุณ

แต่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก่อนว่า ‘เฉพาะการกินขี้มูก’ เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับอาการแคะ หรือการทะลวงเข้าไปเกา เพราะโสต ศอ นาสิกแพทย์ คุณหมอเฉพาะทางด้านหู คอ จมูก อย่าง นายแพทย์เอริช โฟกท์ (Erich Voigt) แห่งมหานครนิวยอร์ค ก็ได้ออกมายืนยันว่า พฤติกรรมการแคะขี้มูกอาจทำให้เกิดการอักเสบ เป็นแผล และนั่นนำมาซึ่งการติดเชื้อได้

ภูมิคุ้มกันในนาม ‘ขี้มูก’

งานวิจัยที่ชื่อ Salivary mucins protect surfaces from colonization by cariogenic bacteria’ นำทีมโดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า เมือกในน้ำมูก หรือสิ่งที่เรียกว่า salivary mucins จะสร้างป้อมปราการ สร้างภูมิต้านทาน ป้องกันการกระจายของแบคทีเรียในช่องปากได้

มากไปกว่านั้น นักวิจัยยังค้นคว้าต่อว่า เราจะสร้าง salivary mucins เทียม ไปไว้ในยาสีฟันหรือหมากฝรั่งได้อย่างไร หมายความว่า ยาสีฟันในอนาคต อาจมีรสหรือสารขี้มูก วางขายในตลาดก็ได้…

นอกจากป้องกันการกระจายตัวของแบคทีเรียในช่องปาก ฟังก์ชั่นของ salivary mucins ยังป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และการเป็นแผลในช่องท้องด้วย

แพทย์ผู้เชื่อในหลักการนี้อย่าง ศาสตราจารย์ฟรีดริช บิสชิงเจอร์ (Friedrich Bischinger) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดสัญชาติออสเตรีย จากโรงพยาบาล Privatklinik Hochrum กล่าวว่า

“การกินสิ่งซึ่งออกมาจากจมูกของคุณ นั่นเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างภูมิต้านทาน ในทางการแพทย์ จมูกยังทำหน้าที่คล้ายตัวกลั่นกรองแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อแบคทีเรียเหล่านี้มารวมกันเป็นก้อนขี้มูกแล้ว เมื่อมันลงไปในช่องท้อง ในลำไส้ มันก็เหมือนกับเป็นยาที่สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายอย่างหนึ่ง”

แม้ขี้มูกจะกินได้และดี แต่การล้วง แคะ แกะ เกา อาจเป็นสิ่งไม่ควรทำ

ประเด็นนี้ นายแพทย์โฟกท์ อธิบายว่า เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus (หนึ่งในเชื้อที่เป็นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ) ซึ่งมักพบได้บริเวณแถวหน้าของโพรงจมูก และเมื่อคุณแคะจมูกจนเกิดการถลอกภายใน S. aureus จะยิ่งทำให้คุณรู้สึกระคายเคืองจนยิ่งต้องเกามากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นทำให้เส้นเลือดในจมูกแตก เลือดออกที่จมูกได้ และหากอาการร้ายแรงมากเข้า อาจทำให้คุณรู้สึกอยากอาเจียนเลยก็ได้


อ้างอิงข้อมูลจาก: independent.co.uk
mirror.co.uk
kidspot.com.au

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า