หนังสือหนาไม่ถึง 200 หน้า ที่เล่าที่มาที่ไปของศิลปะโมเดิร์น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพแทนภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วรุนแรงในกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งการเปลี่ยนสังคม ณ วันนั้นก็คือ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ รากศัพท์ของ modern มาจากภาษาละติน แปลว่า เพียงปัจจุบัน (just now) แต่มันเป็นปัจุบัน เป็นเรื่องใหม่ ของเมื่อสักร้อยกว่าปีก่อน
ถึงตรงนี้ผู้อ่านทั่วๆ ไปที่ไม่ได้สนใจวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ อาจเลิกคิ้วสงสัยว่า แล้วจะอ่านไปทำไม แต่ผู้เขียนสื่อชัดเจน ว่าพวกเราทุกคนในปลายปี 2018 นี้ ต่างก็กำลังถูกเขย่าด้วยการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมเสียอีก ซึ่งการยกศิลปะโมเดิร์นมาเป็นกรณีศึกษา ย่อมสามารถช่วยให้เราเข้าใจกลไกบางอย่าง ที่เชื่อมโยงกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและ ‘ภาพแทน’ ที่ถูกสะท้อนออกมาในวัฒนธรรม ซึ่งศิลปะก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่สะท้อนนั้น
ส่วนแรกของหนังสือปูพื้นแวดวงของศิลปะก่อนจะ modern โดยเรียกรวมๆ ว่า ศิลปะตามจารีตตะวันตก (Academic art) อันเป็นยุคที่สถาบันการศึกษาทางศิลปะมีอิทธิพลอย่างสูง ครอบงำวงการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยสถาบันนั้นทำหน้าที่วางมาตรฐานของหลักวิชา กำหนดขั้นตอนของการศึกษา กระทั่งเรียนจบก็มอบตราตั้งรับรองความเป็นศิลปินอีกด้วย ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การศึกษา การจัดแสดงงาน การอุปถัมภ์จากโบสถ์และราชสำนัก ยกตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจชัดๆ ของแบบแผนและจารีตทางศิลปะในยุคก่อนโมเดิร์น ก็คือ การแบ่งลำดับงานศิลปะให้มีศักดิ์ต่างกันอย่างชัดเจน จากสูงไปต่ำ ดังนี้ ภาพเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ > รูปเหมือนบุคคล > ภาพวิถีชีวิตประจำวัน > ภาพทิวทัศน์ > ภาพหุ่นนิ่ง
ถ้าคุณวาดภาพชีวิตประจำวัน ภาพของคุณจะไม่สามารถมีคุณค่าทัดเทียมภาพจากเรื่องราวในไบเบิลอย่างแน่นอน
เมื่อแบบแผนขึ้นสูงสุดจนถึงจุดอิ่มตัว ศิลปะโมเดิร์นจึงผุดขึ้นมา (อันที่จริงต้องใช้คำว่า ค่อยๆ ประกอบสร้างขึ้นมา เพราะมาจากหลายเหตุปัจจัย) โดยสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ช่วงกลางเล่ม หนังสือเล่าถึงอาณาบริเวณอันไพศาลของงานสกุลโมเดิร์น ตามเส้นเวลาที่คาบเกี่ยวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แน่นอนว่าจุดโฟกัสอยู่ที่ยุโรปตะวันตก (นักสตรีนิยมหรือท้องถิ่นนิยมย่อมไม่ชอบใจ แต่นี่เป็นข้อจำกัดที่ผู้เขียนรู้อยู่แล้วและออกตัวไว้ตั้งแต่ต้น) การเล่าตามไทม์ไลน์แบบเป็นหย่อมๆ ให้ภาพของความเป็นกลุ่มก้อนของงานสกุลต่างๆ และเห็นถึงกลไกของการส่งอิทธิพลต่อกัน หรือตั้งใจตอบโต้หักล้างกัน ของแนวคิดต่างๆ ทั้งที่ถ้าเรามองดูเพียง form หรือรูปลักษณ์ทางกายภาพ งานต่างสกุลเหล่านี้อาจดูคล้ายๆ กัน เช่น ความบ้าของ Dada ที่แตกต่างสุดขั้วกับความบ้าของ Surrealism (ถ้าอธิบายสั้นๆ แบบไม่รัดกุม คงพูดได้ว่า Dada บ้าเพื่อต่อต้านสงคราม ส่วน Surrealism ตั้งใจบ้าเพื่อจะได้ไม่ต้องไปรบ)
แล้ว ‘เพียงปัจจุบัน’ (just now) ของปี 2018 นี้ล่ะ ศิลปะกำลังเป็นภาพแทนของอะไร ใช้กลวิธีในการสร้างงานแบบไหน เช่น ต่อยอดจากงาน conceptual art ที่บางชิ้นตัวศิลปินไม่ต้อง ‘ทำ’ เองด้วยซ้ำ โดยเพียงส่ง ‘คู่มือการติดตั้ง’ ให้ช่างในพื้นที่จัดการประกอบชิ้นงานกายภาพขึ้นมาเอง
หรือทุกวันนี้การแชร์มีม (ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือถ้ามีก็พร่าเลือนด้วยการปรับแต่ง กลายพันธุ์) ผ่าน social network โดยรังสรรค์แคปชั่นขึ้นมาใหม่ ก็นับเป็นศิลปะ?
อย่าลืมว่าปัจจุบัน เราสามารถโค้ดดิ้ง AI ให้เพนท์ (ตามแบบจารีต?) และเขียนวรรณกรรม (ที่อ่านรู้เรื่อง?) ได้แล้ว และแว่นตาที่เผลอทำตกในแกลเลอรี ก็ถูกเข้าใจว่าเป็นชิ้นงานศิลปะ
หนึ่งในคำถามและคำตอบที่วนเวียนอยู่ตลอดหนังสือเล่มนี้ในไทม์ไลน์ร้อยกว่าปี ตั้งแต่วันที่ศิลปะปลดแอกตนเองจากพันธกิจส่งเสริมศีลธรรมจรรยาของประชาชน ก็คือ แล้วศิลปะ…เป็นภาพแทนของอะไร
ภาพปกเป็นงานประติมากรรม TransPollock #1 ของผู้เขียน และ ณ ตอนนี้ มี solo exhibition ชื่อ ‘The Nerve that Eats Itself (ประสาทแดก)’ จัดแสดงที่ VER gallery ถึงวันที่ 23 ธันวาคม ซึ่งน่าเสียดายที่บางท่านอาจไม่ได้ไปชม ดูคลิปแก้ขัดก่อนได้ที่
นี่น่าจะเป็นหนึ่งในภาพแทนที่สะท้อนถึงสภาพสังคมร่วมสมัยของเรา — ความโกลาหล
กว่าจะโมเดิร์น: ประวัติย่อของศิลปะ ก่อนยุคสมองกลสารสนเทศ เถกิง พัฒโนภาษ CommDe Publication |