ลดราคามหาประลัย

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเริ่มขึ้นอีกปีแล้ว

หลายคนคงกำลังมองหาหนังสือใหม่ เล็งแคมเปญลด แลก แจก แถม ก็แหม อุตส่าห์ฝ่าแดดเบียดคนบนรถไฟฟ้ามาถึงที่ มันก็ต้องมีข้อเสนอดีๆ หน่อย

แต่…เดี๋ยวนะ ทำไมคนเก๋ๆ เขาถึงชอบบอกว่าไม่มางานหนังสือหรอก รออุดหนุนตามร้านดีกว่า

ทำไหมบางคนชอบพูดราวกับว่า การลดราคาหนังสือใหม่ในบูธเป็นเรื่องผิดบาป

เอ่อ…แล้วทำไม ราคาปกหนังสือเดี๋ยวนี้ถึงตั้งกันแพงจัง

ในประเทศไทยมีคนเถียงกันเรื่องนี้มาแล้วพักใหญ่ เถียงเท่าไหร่ก็ยังไม่จบ เพราะเราเป็นสังคมอุดมปัญญา

อย่ากระนั้นเลย ไปดูหน่อยไหมว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเขาตกลงเรื่องนี้กันยังไง

(หลายที่ก็ยังตกลงกันไม่ได้เหมือนเรานี่แหละ…แต่รู้ไว้ซะหน่อยก็จะเกร๋ดี)

 


 

เยอรมนี: ห้ามลดราคาหนังสือใหม่

เยอรมนีเป็นประเทศแรกที่ใช้ข้อตกลงราคาหนังสือมาตรฐาน (Fixed Book PriceAgreement: FBPA) เป็นข้อตกลงระหว่างสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ เพื่อกำหนดราคาขั้นต่ำหนังสือ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่แต่ปี 1888 ก่อนตราเป็นกฎหมายในปี 2002

ปัจจุบัน ข้อตกลงดังกล่าวใช้แพร่หลายไปทั่วยุโรป โดยมีประเทศฝั่งเอเชียสองประเทศร่วมใช้ข้อตกลงนี้ นั่นคือ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ข้อตกลงดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้ร้านหนังสืออิสระในเยอรมนี เลือกสรรประเภทการวางหนังสือได้หลากหลาย และเป็นกลไกรองรับช่วยให้ร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กสามารถแข่งขันกับร้านหนังสือขนาดใหญ่

สาระสำคัญของข้อตกลงราคาหนังสือมาตรฐานของเยอรมนีคือ  ห้ามลดราคาหนังสือใหม่ รวมถึงหนังสือ E-book เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง นับตั้งแต่หนังสือเริ่มวางขาย ข้อห้ามนี้รวมถึงหนังสือต่างชาติที่เข้ามาขายในเยอรมนีด้วย (เป็นการบล็อค Amazon ไม่ให้ใช้ข้ออ้างว่า หนังสือที่ขายมาจากสหรัฐ ไม่ใช่หนังสือของเยอรมนี)

เห็นตึงๆ แบบนั้น แต่ก็มีข้อผ่อนปรนที่เป็นเหตุเป็นผล กล่าวคือหนังสือใหม่บางประเภทสามารถลดราคาได้ อาทิ หากเป็นการซื้อขายหนังสือจำนวนมากเพื่อนำไปแจกฟรีให้นักเรียน กรณีนี้ลดราคาได้ไม่เกิน 8-15 เปอร์เซ็นต์ หรือหากเป็นการขายซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดตามสถาบันการศึกษา สามารถลดได้ 10  เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

 

ฝรั่งเศส: จาก Lang Law ถึง Anti-Amazon Law

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งเศสมีร้านหนังสืออิสระเท่ๆ เปี่ยมด้วยคาแรคเตอร์จำนวนมากคือ กฎหมาย Lang Law ที่เริ่มใช้ในปี 1981 เป็นข้อตกลงห้ามลดราคาหนังสือเกิน 5 เปอร์เซ็นต์จากราคาปก ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อสร้างมาตรฐานราคาหนังสือ และเพื่อให้ร้านหนังสือรายย่อยต่อสู้กับร้านหนังสือใหญ่ๆ ได้

แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ผู้คนหันมาซื้อของผ่านเว็บไซต์ออนไลน์กันมากขึ้น กฎหมายของฝรั่งเศสก็เริ่มขยับตาม ราวปี 2013 Lang Law จึงครอบคลุมไปถึงการซื้อขายหนังสือออนไลน์ด้วย

เริ่มจากปี 2004 ร้านหนังสืออิสระรวมตัวกับรัฐบาลฝรั่งเศสว่า กรณีร้านค้าออนไลน์อย่าง Amazon ไม่คิดค่าจัดส่ง ทำให้ราคาหนังสือต่ำกว่าราคาตลาด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ไม่ได้

ปี 2008 ศาลฝรั่งเศสออกคำสั่งให้ Amazon เริ่มคิดค่าจัดส่งหนังสือได้แล้ว ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียค่าปรับวันละ 1,000 ยูโรไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยอมทำตาม อย่างไรก็ตาม Amazon ต่อสู้คำสั่งศาลด้วยการยอมจ่ายค่าปรับ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า Amazon กดเครื่องคิดเลขเรียบร้อยแล้วว่า ทำแบบนี้คุ้มกว่า

ปี 2013 ฝรั่งเศสประกาศใช้กฎหมายใหม่บังคับใช้กับร้านค้าออนไลน์ทุกร้านว่า ต้องบวกค่าบริการจัดส่ง และห้ามลดราคาหนังสือเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ Amazon ยอมทำตาม โดยคิดค่าจัดส่งสำหรับสมาชิกในราคา 0.1 ยูโร

และต้องบันทึกไว้ว่า เหตุการณ์นี้เป็นการร่วมมือกันเขียนและผลักกฎหมายจากทั้งพรรคอนุรักษนิยม (Union pour un Mouvement Populaire: UMP) และ พรรคสังคมนิยม (Parti Scialiste: PS) พรรคการเมืองฝ่ายกลาง-ซ้ายด้วย

 

อังกฤษ: E-book และส่วนลด ดีดสำนักพิมพ์และร้านค้าออกจากเกม

ปี 2013 สำนักพิมพ์กว่า 98 เปอร์เซ็นต์ในอังกฤษพากันล้มหายตายจาก จำต้องเดินออกจากสนามธุรกิจหนังสือ เนื่องจากผู้คนเริ่มหันไปซื้อ E-book รวมถึงของการซื้อขายหนังสือออนไลน์ ทำให้ราคาหนังสือตามร้านค้าออนไลน์ถูกกว่าที่วางขายตามร้านหนังสือทั่วไป

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1900 ประเทศอังกฤษเคยประกาศใช้ข้อตกลง ‘Net Book Agreement: NBA’ สาระสำคัญคือสำนักพิมพ์เป็นผู้กำหนดราคาหนังสือ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ราคาเท่ากันทั้งประเทศ แต่ข้อตกลงนี้ยกเลิกไปในปี 1997 ด้วยเหตุผลว่าการกำหนดราคาหนังสือเช่นนี้ ทำให้กลไกราคาไม่ทำงาน ไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน

หลังยกเลิกข้อตกลง NBA สงครามราคาหนังสือก็เดือดระอุ ตัวละครในธุรกิจหนังสือของอังกฤษแข่งกันทุบราคา ทำการตลาดหนังสือด้วยการให้ส่วนลด รายงานข่าวในปี 2009 ระบุว่าร้านหนังสืออิสระกว่า 500 แห่งในอังกฤษ โบกมือลาจากธุรกิจหนังสือ และแน่นอนหลังจากนั้นไม่กี่ปี สำนักพิมพ์กว่า 98 เปอร์เซ็นต์ก็ม้วนเสื่อกลับบ้านตามไปติดๆ

มีรายงานว่า ในช่วงที่ข้อตกลง NBA มีผลบังคับใช้ ร้านหนังสือบางรายก็ใช้วิชาโจรหาช่องโหว่ เช่น เอาปากกาขีดไปที่ขอบหนังสือ ทำให้เกิดตำหนิ จากนั้นจึงนำไปขายราคาถูกได้

 

ฟินแลนด์: ดินแดนแห่งข้อยกเว้น

ยุค 1970 เป็นช่วงที่กระแสการค้าเสรีก่อตัว ข้อตกลงราคาหนังสือมาตรฐานถูกวิพากษ์วิจารณ์จากปีกการค้าเสรีว่าเป็นข้อตกลงที่ล้าสมัย ไม่เปิดโอกาสให้ตลาดทำงาน ไม่ส่งเสริมการค้าเสรี

เสียงเรียกร้องดังขึ้น รวมถึงกลุ่มไม่เห็นด้วยในบางประเทศมีอำนาจร่วมในการออกแบบนโยบาย ส่งผลให้รัฐบาลฟินแลนด์ยกเลิกข้อตกลงนี้ในปี 1971

เมื่อไม่มีข้อตกลงมาตรฐานราคา รูปแบบการขายหนังสือในฟินแลนด์จึงหลากหลายมาก หนังสือปกเดียวกันบางร้านอาจจำหน่ายราคา 20 ยูโร ขณะที่บางร้านอาจพุ่งสูงถึง 40 ยูโร ส่วนกรณีหนังสือปกอ่อนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6-10 ยูโร

ทั้งนี้อย่าลืมว่า บริบทสังคมของฟินแลนด์อาจนับเป็นข้อยกเว้น เพราะที่นี่คือประเทศที่เอาจริงเอาจังด้านการศึกษาที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทัศนะต่อการลงทุนซื้อหนังสือจึงอาจแตกต่างจากเงื่อนไขประเทศอื่น

นอกจากนี้ฟินแลนด์ยังคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) หนังสือ 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าชนิดอื่นอยู่ที่ 24 เปอร์เซ็นต์

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ ปัจจุบันร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กในฟินแลนด์ ล้วนต้องถอนตัวจากการแข่งขัน เหลือเพียงร้านหนังสือขนาดใหญ่อยู่ไม่กี่แบรนด์ เช่น Suomalainen Kirjakauppa เป็นต้น

 

เกาหลีใต้: จะโหดไปไหนจ๊ะ

นับแต่ปี 1837 เกาหลีใต้มีข้อตกลงทางธุรกิจเพื่อกำหนดมาตรฐานราคาหนังสือร่วมกัน โดยมีตัวละครร่วมคิดตั้งแต่สำนักพิมพ์ไปจนถึงตัวนักเขียน

ปี 2007 สภาแห่งชาติเกาหลีใต้ออกกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมสิ่งพิมพ์และอุตสาหกรรม (The Publishing Culture and Industry Promotion Act) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องปรามสงครามลดราคาระหว่างร้านค้า โดยเฉพาะร้านหนังสือออนไลน์และร้านหนังสือออฟไลน์

กฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดให้หนังสือออกใหม่ หมายถึงอายุไม่เกิน 18 เดือนนับตั้งแต่วันแรกวางแผง ลดราคาได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์

ปลายปี 2014 มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายใหม่ ระบุว่าหนังสือทุกประเภทไม่ว่าจะวางแผงนานแค่ไหนแล้วก็ตาม ลดราคาได้สูงสุดไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  สมาคมผู้จัดพิมพ์เกาหลีใต้ถึงกับออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหากฎหมายนี้อีกครั้ง

วันสุดท้ายก่อนที่กฎหมายใหม่นี้จะบังคับใช้ ร้านหนังสือออนไลน์อย่าง Yes24 จึงแก้เกมด้วยแคมเปญลดกระหน่ำหนังสือเก่าทุกประเภทสูงสุด 90 เปอร์เซ็นต์จนเว็บล่ม


อ้างอิง:
https://www.techdirt.com/articles/20140711/12493527855/france-passes-anti-amazon-law-eliminating-free-shipping-amazon-responds-with-001-shipping-fees.shtml
https://www.theguardian.com/books/2013/nov/04/ebooks-discounts-98-publishers-closure
https://www.theguardian.com/books/booksblog/2010/jun/17/net-book-agreement-publishing
https://en.wikipedia.org/wiki/Net_Book_Agreement

Click to access finnland_buchmarktdaten_stand_oktober_2014_engl_46892.pdf

http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20141120001018
https://en.wikipedia.org/wiki/Net_Book_Agreement
https://en.wikipedia.org/wiki/Fixed_book_price_agreement

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า